ประสบการณ์ดูงาน ณ โรงพยาบาลกรุงเทพและโรงพยาบาลมนารมย์


การศึกษาดูงานที่ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ Bangkok Mental Health Rehabilitation and Recovery Center (BMRC) และโรงพยาบาลมนารมย์

ฉันและเพื่อนๆนักศึกษากิจกรรมบำบัดชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ ก่อนไปได้รับข้อมูลมาคร่าวๆว่าเป็นศูนย์ที่ให้บริการทางจิตเวช มีคุณหมอเบิร์ท อภิสมัย ศรีรังสรรค์อดีตนางสาวไทย เป็นจิตแพทย์ประจำศูนย์อยู่ด้วยก่อนไปก็มีความกังวลและตื่นเต้นเล็กน้อยเนื่องจากโรงพยาบาลกรุงเทพเป็นโรงพยาบาลเอกชนจึงไม่งายนักที่จะเข้าไปศึกษาดูงาน แต่ทางเราโชคดีที่มีรุ่นพี่ พี่โบว์ นักกิจกรรมบำบัดรุ่นที่ 2 ทำงานอยู่ จึงทำให้เราได้เข้าไปศึกษาดูงานกัน

เมื่อได้เข้าพบพี่โบว์ก็ได้ให้ข้อมูลว่าศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพเป็นศูนย์ที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเน้นบริการวินิจฉัย รักษา และบำบัดฟื้นฟูสุขภาพใจ ตามหลัก Recovery Oriented Services (ROS) ด้วยกระบวนการการรักษาและการใช้กิจกรรมบำบัดให้ผู้ป่วยตระหนักถึงคุณค่าในตัวเอง และมีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดที่ออกแบบให้เหมาะสมกับความต้องการ และศักยภาพของผู้ป่วยแต่ละราย

ที่ศูนย์ก็จะประกอบไปด้วยสหวิชาชีพทางการแพทย์ ทั้งจิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด นักกิจกรรมบำบัด พยาบาลจิตเวชและเภสัชกร จะดูแลคนที่เป็นโรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, โรคอารมณ์ 2 ขั้ว (ไบโพล่า), ติดสุราหรือสารเสพติด, มีความเครียด ความผิดหวัง ต้องการกำลังใจ พี่โบว์เล่าว่าคนไข้ที่นี่มักมาบำบัดด้วยโรคอารมณ์ 2 ขั้ว เป็นส่วนใหญ่ มีทั้งต่างชาติและคนไทยในอัตราส่วนที่พอๆกัน การออกแบบจะคำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้บริการเป็นหลัก เน้นความปลอดภัยตามมาตราฐานสากล แม้กระทั่งการเลือกโทนสีการตกแต่งที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และอบอุ่นเหมือนอยู่บ้านพร้อมด้วยบริการอย่างเข้าใจ

พวกเราได้เข้าไปเยื่ยมชมทั้งหมด2ห้องคือห้องพักเดี่ยวและห้องทำกิจกรรมทำอาหาร ห้องทำกิจกรรมทำอาหารพี่โบว์ได้อธิบายว่าเป็นห้องที่ใช้การทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ทำให้คนไข้คลายความกังวล ละทิ้งจากเรื่องเครียด และได้พูดคุยกันส่วเสริมด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น โดยจะให้ทำอาหารตามแต่ล่ะเทศกาลเพื่อเป็นแรงจูงใจ (motivation) ให้คนไข้อยากทำอาหารมากขึ้นเช่น คัพเค้กวัน ฮาโลวีน ส่วนการที่จะเข้าห้องทำอาหารได้นั้นจะต้องเป็นคนไข้ที่ถูกพิจารณาแล้วว่าเหมาะสม เพราะในห้องจะมีอุปกรณ์ของมีคม สายไฟ ซึ่งไม่เหมาะอย่างยิ่งกับคนไข้ที่ยังมีความคิดที่อยากจะทำร้ายตนเอง

พี่อิ๋ว พี่พยาบาลก็ได้พาเราชมห้องพักคนไข้ ห้องพักเดี่ยวมีทั้งหมด 7 ห้อง ตัวห้องถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ (Environment modification) เน้นความปลอดภัย ป้องกันการทำร้ายตนเองของคนไข้ เช่น ราวจับเป็นแบบทึบไม่กลวงไม่สามารถสอดเชือกได้ ฝาชักโครกด้านหลังไม่สามารถเปิดออกได้ ฝักบัวเป็นแบบแบนไม่มีก้านยื่นออกมา กระเป็นกระจกนิรภัย กลอนหากล็อคด้านในสามารถเปิดออกจากด้านนอกได้ เพราะห้องน้ำเป็นที่ที่คนไข้ต้องอยู่คนเดียวลำพังจึงต้องวิเคราะห์และออกแบบให้ปลอดภัยป้องกันความเสี่ยงต่างๆที่เกิดขึ้นให้ได้มากที่สุด สิ่งที่ประทับใจอย่างมากคือที่นี่รักษาสิทธิของคนไข้อย่างดีมาก เริ่มจากการเข้าเยื่ยมคนไข้จะต้องมีรหัสลับที่รู้กันแค่คนไข้กับผู้ที่ต้องการให้เยี่ยมเท่านั้น หากใครไม่มีรหัสลับก็ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้เลยเพื่อป้องกันสิทธิของคนไข้ คนไข้มีสิทธิรักษาความเป็นส่วนตัว ส่วนใหญ่คนไข้มักเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้ต้องการให้บุคคลรับรู้ว่าตนเองเข้ารับการบำบัดทางจิต ซึ่งจะส่งผลต่อหน้าที่การงานได้ ขณะที่พวกเราเข้าไปเยี่ยมชมตามห้องต่างๆพี่พยาบาลก็คอยระวังไม่ให้รบกวนคนไข้หรือเข้าไปในห้องที่คนไข้ทำกิจกรรมอยู่ และห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด

ก่อนกลับพวกเราก็ได้พูดคุยพี่โบว์และพี่อิ๋วถึงเรื่องการรับเข้าทำงานที่ศูนย์จิตตรักษ์ ก็ได้ทราบว่าความเก่งหรือเกียรตินิยมไม่ได้สำคัญ หากแต่คือทัศนคติของคุณที่มีต่อคนไข้ หากคุณมองเขาว่าเป็นโรคก็จะทำได้แค่รักษาเขาให้หายไม่ได้มองถึงบริบทในชีวิตของเขาเช่น เขาอาจจะเป็นนักธุรกิจพันล้านหรือคุณแม่ผู้มีภาระต้องเลี้ยงดูลูกที่ยังเล็ก มันจะดีกว่าไหมหากเรามองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ที่เราอาจจะไม่ต้องทำให้เขาหายจากโรคทั้งหมดแต่ทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ ฉันรู้สึกว่าสังคมเรากำลังมองคนเหล่านี้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ เป็นแค่คนทั่วไปเรียกว่า แปลกหรือบ้า แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันเกิดจากตัวโรคของเขา โรคที่สามารถบำบัดให้หายได้ ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาไม่สามารถควบคุมมันได้ จากคำพูดของพี่โบว์และพี่อิ๋วทำให้ฉันและเพื่อนๆมีแรงบันดาลใจที่อยากจะเป็นนักกิจกรรมบำบัดที่ดีมีคุณภาพต่อไป

เมื่อเข้าชมครบแล้วก็ถึงเวลาเดินทางกลับเพื่อที่จะเดินทางต่อไปโรงพยาบาลมนารมย์ก่อนกลับก็ได้ถ่ายภาพร่วมกันกับพี่โบว์และพี่อิ๋ว พี่พยาบาลที่คอยดูแลเราตั้งแต่เช้า ร่วมกับอ.แอนและอ.เดียร์รวมถึงเพื่อนชั้นปีที่ 3 ทุกคน

เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจึงขอนำเนื้อหาด้านบนมาวิเคราะห์แบบ “SMART TREES

S : Self คือ ศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

M : Motivation คือ มีแรงจูงใจที่จะจัดตั้งศูนย์ พร้อมด้วยสหวิชาชีพที่สามารถบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยทางจิตเวชให้สามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตนเอง ถัดเทียมมาตราฐานสากล

A : Ability คือ ความสามารถของสหวิชาชีพที่ร่วมกันบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย

RT : Role Transformation คือรูปแบบการรักษาที่เปลี่ยนไปเฉพาะตามแต่ผู้ป่วยแต่ล่ะราย เพื่อให้เขาสามารถกระทำหน้าที่และบทบาทในสังคมที่เปลี่ยนไปได้

TR : Therapeutic Relationship คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในศูนย์กับผู้ป่วยและญาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ดูแลไปถึงสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและญาติ

TE : Therapeutic Environment คือ การปรับสภาพแวดล้อมของศูนย์ที่แตก ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป เน้นความปลอดภัยและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตทุกๆด้านๆ

TE : Therapeutic Empathyคือ ความเข้าใจมองว่าเขาเป็นมนุษย์ เข้าใจว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นผลจากโรคไม่ใช่ตัวตนของคนไข้ ไม่โกรธหรือตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง

TS :Therapeutic Skill คือ ทักษะความสามารถของสหวิชาชีพในการบำบัดฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว


จากนั้นพวกเราทั้งหมดก็ได้เดินทางต่อไปที่โรงพยาลมนารมย์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางจิตเวชของเอกชนที่แรกๆของอาเซียน โดยก่อตั้งเป็นโรงพยาบาลมากว่า 10ปีแล้ว ซึ่งหนึ่งในผู้บุกเบิกของที่นี่ก็คือ อ.แอนของพวกเรานั่นเอง ท่านเคยทำงานอยู่ถึง 8 ปี ก่อนที่จะมาสอนเราที่มหิดล เหตุที่ก่อตั้งนั้นเพราะในปัจจุบัน ความต้องการทางการบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คณะจิตแพทย์ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้จึงได้ก่อตั้งขึ้น โรงพยาบาลตั้งอยู่บนพื้นที่ 7 ไร่ ย่านบางนา เพื่อให้บริการด้านสุขภาพจิต จิตเวชที่ครบสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพและคุณภาพตามมาตราฐานสากล พร้อมด้วยจรรยาบรรณให้บริการทั้งเด็ก ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุเพราะทางโรงพยาบาลมีปรัชญาที่ว่า สุขภาพจิตที่ดี คือรากฐานที่สำคัญของคุณภาพพชีวิต ครอบครัว และสังคม

ใช้เวลาเดินทางไม่นานก็ถึงโรงพยาบาลพวกเราทั้งหมดได้เข้าฟังบรรยายของพี่สัน หัวหน้านักกิจกรรมบำบัดของโรงพยาบาลมนารมย์ และพี่เน็ต รุ่นพี่นักกิจกรรมบำบัดมหิดลรุ่นที่ 1 ร่วมบรรยายถึงบทบาทหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัดที่นี่ และโปรแกรมการรักษาในแต่ล่ะวันรวมถึงแนะนำสหวิชาชีพที่ร่วมกันบำบัดรักษาผู้ป่วยในรูปแบบต่างๆ โดยหนึ่งในโปรแกรมที่น่าสนใจของที่นี่คือ โปรแกรมรายวัน (Day Program) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่พี่เน็ตดูแลอยู่ โดยกิจกรรมในแต่ล่ะวันจะแตกต่างกันตามแต่ที่ได้จัดไว้เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย โดยที่นี่จะให้ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเข้าร่วมกิจกรรมไหนบ้าง เช่น ละครบำบัด ก็จะมีในทุกวันพฤหัสและวันอาทิตย์ พี่สันได้บอกกับพวกเราอย่างติดตลกว่า โปรแกรมยอดฮิตที่ผู้ป่วยนิยมเข้าร่วมมากที่สุดคือ การทำอาหาร ห้องทำอาหารมักจะมีผู้เข้าร่วมล้นห้องอยุ่เสมอๆ โปรแกรมรายวันจะจัดเรียงตามระดับการตื่นตัวของผู้ป่วย โดยในช่วงเช้า จะเป็นหน้าที่ของนักพูดบำบัด นักละครบำบัด หรือนักศิลปะบำบัด โดยกิจกรรมจะเน้นเป็นการเรียนรู้ เคลื่อนไหวน้อย ส่วนตอนบ่ายจะเป็นหน้าที่ของนักกิจกรรมบำบัด เน้นเป็นกิจกรรมที่ตื่นตัว เช่นการทำอาหารนั่นเอง

จากนั่นพี่สันและพี่เน็ตก็ได้พาพวกเราเยี่ยมชมห้องต่างๆที่ใช้บำบัดผู้ป่วย สิ่งที่สังเกตได้คือที่นี่แม้จะมีพื้นที่ไม่มาก แต่ก็สามารถทำให้รู้สึกปลอดโปร่งและมีธรรมชาติโอบล้อม เนื่องจากภายในโรงพยาบาลจะเน้นทำเพดานสูง โปร่งแสงสว่างเพียงพอมีการตกแต่งภายในที่ให้ความรู้สึกสบายใจ ภายนอกมีสนามหญ้าและต้นไม้ร่มรื่นชวนให้คิดแทนผู้ป่วยว่าบางคงรู้สึกสบายใจกว่าการอยู่บ้านของตนเอง เพราะพี่ๆบุคลากรที่นี่เองก็น่ารักยิ้มแย้มต้อนรับพวกเราอย่างดี ระหว่างทางที่ผนังมีผลงานการวาดรูปของผู้ป่วยติดอยู่ตลอดทาง

ห้องที่ฉันประทับใจห้องหนึ่งคือ ห้องศิลปะบำบัด เป็นห้องที่เข้าไปแล้วไม่อยากออก อยากจะอยู่และสังเกตสิ่งต่างๆรอบห้องนานๆ เริ่มจากผนังที่มีการทาสีแบบไล่โทนสีทั่วทั้งห้อง ภายในมีอุปกรณ์เกี่ยวกับศิลปะมากมาย ดิฉันและเพื่อนได้สอบถามกับนักศิลปะบำบัดว่าเราสามารถทายอารมณ์ความคิดจากสิ่งที่ผู้ป่วยวาดได้หรือไม่ ท่านตอบว่า เราจะไม่เน้นไปแปลความหมายสิ่งที่เขาวาด แต่ในขณะที่เขาทำงานศิลปะอยู่นั้นเมื่อเขารู้สึกสบายใจ เขาจะพูดเรื่องที่อยู่ในใจออกมาเอง

หลังจากเยี่ยมชมห้องต่างๆแล้วเราก็กลับมารวมตัวกันที่ห้องประชุมอีกครั้งเพื่อสรุปความคิดและสอบถามถึงข้อสงสัยของโรงพยาบาลแห่งนี้ มีเพื่อนคนหนึ่งถามพี่สันว่าในห้องกิจกรรมบำบัดสำหรับเด็กนั้น ภายในห้องมีแทมโพลีนไว้กระโดด เป็นการฝึกทางกิจกรรมบำบัด แล้วทำไมภายในห้องถึงไม่มีการบุนวมที่พื้นและผนังห้องเพื่อความปลอดภัย พี่สันได้ให้คำตอบว่า ที่นี่เราจะไม่ป้องกันอันตรายจนเด็กไม่ได้เกิดการเรียนรู้ ล้มบ้าง เจ็บบ้างเป็นธรรมชาติของเด็ก หากเขาสามารถอยู่ได้ในโรงพยาบาลที่ป้องกันอันตรายไว้ทุกส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาจะอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกได้ ฉันได้ข้อคิดที่ว่า เราเป็นบุคคลากรทางสาธารณสุข ทางการแพทย์ชีวิตและความปลอดภัยสำคัญที่สุดก็จริง แต่จะดีกว่าไหมที่เราจะไม่ป้องกันจนเกินไปเพื่อให้เกิดการได้เรียนรู้ และสามารถอยู่ในสังคม สิ่งแวดล้อมจริงๆได้ด้วยตนเอง


เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นจึงขอนำเนื้อหาด้านบนมาวิเคราะห์แบบ SMART TREES

S : Self คือ โรงพยาบาลมนารมย์

M : Motivation คือ มีแรงจูงใจที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นเนื่องจากเล็งเห็นปัญหาของผู้ป่วยจิตเวชที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อที่จะสามารถบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยทางจิตเวช เพราะสุขภาพจิตที่ดี คือรากฐานที่สำคัญของคุณภาพพชีวิต ครอบครัว และสังคม

A : Ability คือ ความสามารถของสหวิชาชีพที่ร่วมกันบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วย

RT : Role Transformation คือรูปแบบการรักษาที่เปลี่ยนไปเฉพาะตามแต่ผู้ป่วยแต่ล่ะราย เพื่อให้เขาสามารถกระทำหน้าที่และบทบาทในสังคมที่เปลี่ยนไปได้

TR : Therapeutic Relationship คือ ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในศูนย์กับผู้ป่วยและญาติ ให้ความรู้สึกอบอุ่นสบายใจ ดูแลไปถึงสภาพจิตใจของทั้งผู้ป่วยและญาติ

TE : Therapeutic Environment คือ การปรับสภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลให้ร่มรื่น เสมือนอยู่บ้าน เน้นระบบความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยรวมถึงบุคคลากรทางการแพทย์ด้วย

TE : Therapeutic Empathyคือ ความเข้าใจผู้ป่วย ไม่ตอบโต้ต่อการกระทำที่รุนแรง บำบัดด้วยใจที่อยากจะให้ผู้ป่วยดีขึ้น

TS :Therapeutic Skill คือ ทักษะความสามารถของสหวิชาชีพในการบำบัดฟื้นฟู พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว


ขอขอบพระคุณ

ศูนย์จิตรักษ์โรงพยาบาลกรุงเทพ http://www.bangkokhospital.com/index.php/th/center...

โรงพยาบาลมนารมย์ http://www.manarom.com/

หมายเลขบันทึก: 602439เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท