การลดทอนมาตรการ QE กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างไร


มาตรการQE คือ มาตรการผ่อนคลายในเชิงปริมาณทางการเงิน ย่อมาจากคำว่า (Quantitative Easing) เป็นนโยบายด้านการเงินที่ไม่เป็นแบบแผน ที่ดำเนินการโดยธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศเมื่อเกิดเหตุการณ์ในกรณีที่นโยบายทางการเงินที่เป็นแบบแผนตามปกตินั้นเริ่มไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถขับเคลื่อนในระบบเศรษฐกิจได้ โดยการเข้าไปซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ ฯลฯ จากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินของเอกชนทั้งในและนอกประเทศ มาตรการ QE เป็นที่รู้จักว่าเป็นการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มเติม (Printing Money) ซึ่งก็คือเม็ดเงินใหม่ๆ ที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจนั่นเอง สามารถใช้ประโยชน์ในการกระตุ้นการจ้างงานในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันการเงินสามารถดำเนินการปล่อยสินเชื่อในการดำเนินธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย QE ถ้าจะพูดแบบชาวบ้านก็คือการเพิ่มเพดานหนี้นั่นเอง นอกจากนี้การลดทอนมาตรการ QE จะกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศและตลาดเกิดใหม่โดยมีสามประเด็นหลัก

ประเด็นแรก ที่ต้องตระหนักก็คือ การลดทอนการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านมาตรการ QE ที่ขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐอัดฉีดอยู่ที่วงเงิน 85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน การลดทอนหมายถึงสภาพคล่องใหม่ที่จะปล่อยเพิ่มจะลดลงแต่การลดไม่สำคัญเท่ากับนัยทางนโยบายที่ชี้ว่า เวลาของการผ่อนคลายนโยบายการเงินแบบสุดๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังหมดลง เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นดี มองไปข้างหน้า ทิศทางนโยบายการเงินสหรัฐคงจะเปลี่ยนจากอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก เข้าสู่ช่วงที่อัตราดอกเบี้ยจะเริ่มปรับขึ้น ทำให้เงินทุนต่างประเทศที่เคยมาลงทุนในประเทศตลาดเกิดใหม่จะไหลกลับสหรัฐ ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังฟื้นตัว และอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับสูงขึ้นในอนาคต เทียบกับเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ที่การเติบโตของเศรษฐกิจกำลังชะลอ (จากผลของเงินทุนไหลออก) และจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐและประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มลดลง กระตุ้นให้เงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่กลับเข้าสหรัฐ

ประเด็นที่สอง การไหลออกของเงินทุน เมื่อเกิดขึ้น จะกระทบเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างน้อยสามทาง หนึ่ง การไหลออกจะกดดันให้ค่าเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เงินทุนไหลออกอ่อนค่าลง เงินทุนสำรองทางการจะลดลง สอง สภาพคล่องในระบบการเงินของประเทศเหล่านี้จะลดลง ผลักดันให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น และสาม ผลของสภาพคล่องที่ลดลงจะทำให้เศรษฐกิจชะลอ เพราะประเทศมีสภาพคล่องทางการเงินน้อยลงที่จะสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงขนาดของความรุนแรงของผลกระทบต่อแต่ละประเทศจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจว่าจะสามารถทัดทานแรงกดดันของการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศได้ดีแค่ไหน

ประเด็นที่สาม เมื่อเศรษฐกิจชะลอและสภาพคล่องลดลง สินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ได้ปล่อยไปอาจมีปัญหาการชำระคืนหนี้ เพราะเศรษฐกิจชะลอ รายได้เติบโตได้น้อยลง ทำให้ระบบการเงินจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากขึ้น นอกจากนี้สภาพคล่องของแต่ละธนาคารพาณิชย์ก็จะจำกัดเพราะเงินฝากจะไม่ขยายตัวมากจากที่เศรษฐกิจชะลอ และการกู้ยืมจากต่างประเทศก็คงทำได้น้อยลงเพราะธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศจะจำกัดการปล่อยกู้ ทั้งหมดเป็นความเสี่ยงต่อธนาคารพาณิชย์ ขณะที่ต้นทุนการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ก็สูงขึ้น

แหล่งอ้างอิง

http://www.thaibond.com/blog/blog_1213_AsiaEco.htm...

http://www.isstep.com/quantitative-easing-qe/#stha...

คำสำคัญ (Tags): #มาตรการQE
หมายเลขบันทึก: 602430เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 20:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2016 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท