ปฏิรูปหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต เพื่อความเป็นธรรมทางสุขภาพ



เช้าวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๙ ในการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษา สำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ ๒๑ ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา ได้เล่าเรื่อง โครงการศึกษาแพทย์ เพื่อความเท่าเทียมกันทางสุขภาพ ที่จะดำเนินการที่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง

หลักการคือ จะเริ่มปฏิรูประบบบริการสุขภาพก่อน ให้เป็น One Health Service มีลักษณะเป็น Population-Based Proactive Total Team Care ซึ่งเวลานี้กำลังดำเนินการ นำโดยนายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดตรัง ภายใต้คำแนะนำของ ศ. นพ. จรัส ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพของอำเภอห้วยยอดเป็นระบบที่นำสมัย ในรูปแบบที่พัฒนาขึ้นเอง มีการใช้เทคโนโลยี ไอซีที ช่วยให้ข้อมูลสุขภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบดูแลสุขภาพ ที่ทรงประสิทธิผล และใช้เงินไม่มาก

เป็นระบบที่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมทางสุขภาพ (Health Equity)

วัตถุประสงค์ของโครงการ ได้แก่

  • บุกเบิกการจัดการศึกษาแพทยศาสตร์ ตามหลักการและแนวความคิดใหม่ เพื่อสนองความจำเป็น และแก้ปัญหาของการศึกษาแพทยศาสตร์ในปัจจุบัน ให้สอดคล้องกับสภาพอนาคต (future transformation)
  • ดำเนินการร่วมกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างมหาวิทยาลัย กับกระทรวงสาธารณสุข โดยมีนวัตกรรมในการจัดโครงสร้างของโครงการ (structural reform)
  • วางแผนจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับแผน และระบบบริการสุขภาพในท้องถิ่น โดยมุ่งให้บัณฑิตเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความเสมอภาคด้านสุขภาพมากขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำ (transformative education)
  • จัดการเลือกผู้เข้าเรียนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เรียนจากท้องถิ่น พร้อมกับมีพันธะที่ชัดเจนให้ไปปฏิบัติงานในท้องถิ่น และกำหนดไว้ก่อนการคัดเลือก (intake & deployment)
  • จัดวางหลักสูตรและประสบการณ์การเรียนรู้ ให้สอดคล้องกับแนวคิดใหม่ ที่สร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณสมบัติ สมรรถนะ ทักษะ และเจตคติ ที่เหมาะสม (knowledge, skills & competencies)
  • พัฒนาผู้สอน ทั้งในคณะแพทยศาสตร์ และผู้ร่วมสอนในพื้นที่ (teacher/mentor training)
  • พัฒนาระบบเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมาใช้ในการเรียนการสอน และในระบบบริการในอนาคต (ICT development)

ในขณะนี้ ได้เริ่มโครงการวิจัยเพื่อเตรียมปฏิรูประบบบริการสุขภาพระดับปลาย ประกอบด้วย ๕ โครงการย่อยคือ

  • โครงการประเมินประชากรเป้าหมาย จากฐานข้อมูลที่มีอยู่
  • โครงการประเมินปัญหาสุขภาพในประชากรเป้าหมาย
  • โครงการประเมินความจำเป็นสำหรับบริการสุขภาพระดับอำเภอ
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับบริการสุขภาพระดับปลาย
  • โครงการวิจัยและนวัตกรรมบริการสุขภาพเฉพาะด้าน

ผมเชื่อว่า กว่าจะเริ่มรับนักศึกษาแพทย์ในปี ๒๕๖๐ และนักศึกษาแพทย์เข้าไปเรียน และฝึกปฏิบัติงานที่ห้วยยอดในอีก ๓ ปีต่อมา ระบบสุขภาพของอำเภอห้วยยอดจะก้าวหน้าไปไกล และเป็นตัวอย่างที่ดีของ DHS – District Health System

ศ. นพ. จรัส สุวรรณเวลา เคยบรรยายเรื่อง หนทางข้างหน้าของการศึกษาวิชาชีพสุขภาพ อ่านได้ ที่นี่


วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 600845เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016 16:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2016 16:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท