วิชาการพัฒนานิสิต 2/2558 : ว่าด้วยกระบวนการเรียนรู้เรื่องจิตสาธารณะ


หากพิจารณาโดยสังเขปจะเห็นได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ ไม่เน้นภาคทฤษฎีว่า “จิตสาธารณะ” คืออะไร หากแต่เน้นการอธิบายผ่านเรื่องราว (คลิป) ที่เป็นเหตุการณ์จริง โดยให้สื่อเหล่านั้นทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นคุณค่าและนิยามความหมายแทนการบรรยายของผู้สอน



กระบวนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการพัฒนานิสิต เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2559 เป็นเรื่อง “จิตสาธารณะ” โดยออกแบบการเรียนรู้ผ่าน “กระบวนการ” มากกว่าการบรรยายภาคทฤษฎี




เปิดเวที : คลิป “น้ำท่วมชาวบ้านจะให้ฉันสุขสำราญได้อย่างไร”

ภายหลังนิสิตรับ “ใบงาน” และเข้ามานั่งในห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีมกระบวนกร เข้ามาพบปะทักทาย ทวนความรู้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพอสังเขป ก่อนฉายคลิป “น้ำท่วม” ให้นิสิต (ผู้เรียน) ได้ชมร่วมกัน

คลิปดังกล่าวสะท้อนภาพของบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนที่ประสบภัยน้ำท่วม (อุทกภัย) เมื่อปี พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นชุมชนขามเรียงที่อยู่รายรอบมหาวิทยาลัย โดยก่อนหน้านี้เมื่อปี พ.ศ.2551 ก็เคยได้จัดกิจกรรมนี้มาแล้วอย่างไม่อิดออด





เมื่อนิสิตได้ชมคลิปเสร็จสิ้นแล้ว ทีมกระบวนกร ได้ขยับออกมาสรุปผลการเรียนรู้ผ่านคลิปที่ว่านี้ร่วมกับนิสิต เพื่อเชื่อมโยงกรณีศึกษาการขับเคลื่อนเรื่อง “จิตสาธารณะ” ที่มีต่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัย โดยสะท้อนให้เห็นการไม่นิ่งดูดายต่อชะตากรรมที่ชุมชนกับประสบปัญหา รวมถึงการผูกโยงให้นิสิตได้เห็นคุณค่าและความหมายของคำว่า “จิตสาธารณะ” ที่ร้อยรัดเป็นหนึ่งเดียวกับวาทกรรม/วลีสำคัญๆ เช่น

  • ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)
  • ค่านิสิตนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้)




ทั้งนี้ทั้งนั้นจะเห็นได้ว่า คำว่าจิตสาธารณะล้วนสัมพันธ์กับวาทกรรม/วลีอันเป็นหมุดหมายปลายฝันของการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยฯ อย่างไม่ผิดเพี้ยน เพราะบ่มเพาะให้นิสิตได้ตระหนักถึงการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม อันหมายถึง “การรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม” นั่นเอง

ยิ่งหยิบยกกรณีศึกษาจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริงในเรื่อง “น้ำท่วม” ยิ่งช่วยตอกย้ำคุณค่าและความหมายของจิตสาธารณะได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน มิหนำซ้ำยังสะท้อนกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรกับนิสิต และระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนท่ามวิกฤตทางธรรมชาติที่มีบุคลากรของ “กองกิจการนิสิต” เป็นหัวใจหลัก หรือกลไกหลักของการขับเคลื่อน โดยใช้กิจกรรมนอกชั้นเรียนเป็นเครื่องนำพา

ตลอดจนการสื่อสารให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า เรื่องจิตสาธารณะนั้น นอกจากการรับผิดชอบต่อตนเองแล้ว ย่อมหลีกไม่พ้นต่อการต้องขยับออกจากตัวเองสู่การหนุนเสริมผู้อื่น เมื่อใดก็ตามหากสามารถผนึกกำลังร่วมกับผู้อื่น/ภาคีอื่นๆ ในแบบ “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” ย่อมทำให้การงานมีพลานุภาพแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์ทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม/ทีม หรือสังคม มิใช่ต่างคนต่างทำเพื่อตอบโจทย์ตัวเอง แต่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาที่ผู้อื่น หรือสังคมกำลังแบกรับ

หรือกระทั่งทำตัวในแบบ “ทำอะไรตามใจ เป็นไทยแท้” โดยไม่คิดคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น นั่นก็ไม่ใช่ค่านิยม หรือพฤติกรรมที่เหมาะสมตามครรลองของคำว่า “จิตสาธารณะ”




แบ่งกลุ่ม : สถานที่สำคัญในชุมชน (บ้านเกิด)

กระบวนการเรียนรู้ถัดมา ทีมกระบวนกรแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 10 คน โดยกำหนดให้นิสิตได้ “บอกเล่า” เรื่องราวอันเป็นสถานที่สำคัญในหมู่บ้าน หรือชุมชนบ้านเกิดของตนเองให้กับเพื่อในกลุ่มฟังพร้อมๆ กับการให้ช่วยกันบันทึกเรื่องราวทั้งหมดลงในกระดาษบรุ๊ฟที่จัดเตรียมไว้ให้

กระบวนการดังกล่าว มุ่งกระตุ้นให้นิสิตได้ทบทวนทุนทางสังคมของชุมชนบ้านเกิดตนเอง รวมถึงการทดสอบองค์ความรู้ของนิสิตที่มีต่อชุมชนบ้านเกิด หรือกระทั่งการฝึกให้นิสิตได้วิเคราะห์โครงสร้างของชุมชนผ่านสถานที่สำคัญๆ ในชุมชนและฝึกให้นิสิตได้อธิบายความเป็นเหตุเป็นผลว่าสถานที่เหล่านั้นสำคัญอย่างไร – สถานที่ดังกล่าวทำหน้าที่ใดต่อคนในชุมชน ฯลฯ

จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มได้นำเสนอหน้าชั้นเรียน เพื่อสร้างเวทีการเรียนรู้อย่างเปิดกว้างร่วมกัน




แบ่งกลุ่ม : เตรียมลงสู่การเรียนรู้จริง

ครั้นเสร็จสิ้นกระบวนการของการทบทวนชุมชนบ้านเกิดแล้วก็ถึงกระบวนการเรียนรู้ในอีกขั้นตอนหนึ่ง กล่าวคือ ทีมกระบวนกรจัดแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้นิสิตได้ระดมความคิดร่วมกันในประเด็น “เมื่อต้องลงชุมชน นิสิตจะไปค้นหาข้อมูลชุมชนจากที่ใดได้บ้าง”

กลุ่มที่แบ่งครั้งนี้คือกลุ่มที่จะต้องเดินทางออกไปเรียนรู้ “บริบท” หรือ “สภาพทั่วไปของชุมชนขามเรียง” ซึ่งการเรียนรู้ในครั้งนี้เน้นการศึกษาบริบท หรือสภาพทั่วไป เพื่อให้ได้วัตถุดิบมาสังเคราะห์เป็นกิจกรรมที่ต้องจัดขึ้นแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับชุมชน

หากแต่ครั้งนี้ไม่ได้เน้นให้หยั่งรากลึกลงถึงขั้นการวิเคราะห์สภาพปัญหาเพื่อนำมาสู่การจัดทำแผน/โครงการเสียเลยทีเดียว ทว่าย้ำเน้นในกระบวนการของการสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชนให้ละเอียดที่สุด ซึ่งนิสิตต้องออกแบบกระบวนการด้วยตนเองอย่างเป็นทีมว่าจะไปสู่การเรียนรู้ข้อมูลเหล่านั้นอย่างไร ---

ด้วยเหตุนี้ ในขั้นตอนนี้จึงเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมก่อนออกสู่ชุมชนในอีกมิติหนึ่ง เพราะชี้ชวนให้นิสิตได้ทบทวนต้นทุนชุนชนบ้านเกิด เพื่อสอนให้นิสิตรู้จักวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของชุมชนตนเองในแบบสุภาพๆ ตลอดจนการสอนให้นิสิตได้มองเห็นองค์รวมว่าการไปเรียนรู้ชุมชนในแต่ละครั้งจะต้องเชื่อมประสานไปยังใคร หรือที่ใดบ้าง




เหนือสิ่งอื่นใด

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาโดยสังเขปจะพบว่ากระบวนการเรียนรู้ในวันนี้ ไม่เน้นภาคทฤษฎีว่า “จิตสาธารณะ” คืออะไร หากแต่เน้นการอธิบายผ่านเรื่องราว (คลิป) ที่เป็นเหตุการณ์จริง โดยให้สื่อเหล่านั้นทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวอันเป็นคุณค่าและนิยามความหมายแทนการบรรยายของผู้สอน

รวมถึงการฝึกให้นิสิตได้เกิดทักษะการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านการ “เล่าเรื่อง” และการทำ “แผนผังความคิด” (ผังมโนทัศน์) ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเน้นการเรียนรู้จากระดับปัจเจกบุคคลสู่ความเป็นกลุ่มทีมและดำเนินการแบบมีส่วนร่วมระหว่าง “นิสิตกับนิสิต” (ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง) เป็นที่ตั้ง

หรือกระทั่งการฝึกให้นิสิตมีทักษะในการ “คิดวิเคราะห์ คิดตีความ และคิดเชื่อมโยง” มิติความสัมพันธ์ของคำว่า “จิตสาธารณะ” (การรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม) กับวาทกรรม/วลีอันเป็นหมุดหมายของการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามไปอย่างเสร็จสรรพ



รวมถึงการเตรียมความพร้อมในเรื่องการเรียนรู้ชุมชนผ่านโครงสร้างชุมชนและเรื่องราวสำคัญๆ ในชุมชน ซึ่งจะมีการบรรยายและการฝึกปฏิบัติการในชั้นเรียนอีกครั้งถึงสองครั้ง

หรืออื่นๆ ซึ่งขอละข้ามไปก่อน
ไว้โอกาสหน้าค่อยมาบอกเล่าใหม่อีกรอบ

แต่ที่แน่ๆ ... เรียนแบบนี้ บันเทิงเริงปัญญาอย่างไม่ต้องสงสัยแน่นอนครับ !




หมายเลขบันทึก: 600449เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2016 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2016 06:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

"การเรียนรู้ จนทำให้เข้าใจลึกซึ้ง ผ่านเรื่องราว คลิป

จนทำให้เกิดแรงบันดาลใจ

ให้คนมีจิตสาธารณะ"

กระบวนกรเก่งๆๆๆมากค่ะ

สวัดีครับ แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

การตัดสินใจนำคลิป/วีดีทัศน์ที่เป็นเรื่องจริงที่ "เรา" ได้ทำกิจกรรมจริงมาเปิดให้นิสิตได้เรียนรู้ เราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็น "เรื่องจริงใกล้ตัว" ไม่ใช่เรื่องปรุงแต่ง

เรื่องจริง จึงง่ายต่อการสื่อสารถึงแนวคิดที่เราอยากให้นิสิต-ผู้เรียนได้คิด ได้ตระหนัก และมีแรงบันาลใจในการที่จะเรียนรู้ในเรื่องจิตสาธารณะ อย่างน้อยก็เริ่มจากการรับผิดชอบตัวเอง เพียรพยายามไม่ให้ตัวเองเป็นภาระของสังคมให้ได้มากที่สุด พร้อมๆ กับการช่วยเหลือคนรอบข้างและค่อยๆ ขยายวงกว้างสู่สังคม ต่อไป

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท