การวิ่งงบประมาณของ อปท.ที่ “ไม่มีใบเสร็จ” ตอนที่ 2


การวิ่งงบประมาณของ อปท.ที่ “ไม่มีใบเสร็จ” ตอนที่ 2

4 กุมภาพันธ์ 2559

ทีมวิชาการ สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

ตรรกะของท้องถิ่น

ผู้เขียนได้วิเคราะห์ความไม่ชอบมาพากลของท้องถิ่นมาแล้วหลายบท มิได้มีความหมายว่า ผู้เขียนมีอคติหรือภาพลบต่อท้องถิ่น การนำสภาพปัญหาที่เป็นจริงมานำเสนอ การยอมรับความจริง น่าจะดีเสียกว่าการอำพะนำปิดบังอำพราง ไม่พูดไม่กล่าว เพราะหลายสิ่งหลายอย่างคือความจริงที่ไม่ปรากฏหลักฐาน ที่เรียกว่า “ไม่มีใบเสร็จ” ซึ่งถือเป็นตรรกะของผู้ที่กระทำผิดทุจริตคดโกงมิชอบไม่ว่ากรณีใด ๆ ย่อมฉลาดพอที่ไม่ทิ้งพยานหลักฐานไว้ให้ตรวจจับได้ เรียก “จับไม่มั่นคั้นไม่ตาย” เหลือไว้เพียงข่าวลือเล่าขานเป็นตำนานพูดเล่นกันเท่านั้น วันนี้ขออนุญาตนำเรื่อง “การวิ่งงบประมาณ” ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะ “งบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ” มาเล่าขานต่อจากสัปดาห์ก่อน หวังว่าคงไม่แทงใจดำใคร หรือ คงไม่สร้างความคับข้องใจให้แก่ผู้หนึ่งผู้ใด

เส้นทางการเดินเอกสารโครงการที่ยุ่งยาก

ในการขอรับงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจ ของ อปท. [2] ในที่นี้ได้แก่ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น ว่ากันว่ามีเส้นทางที่น่าสนใจศึกษา เริ่มจากเมื่อ อปท. ได้จัดทำโครงการขอรับการอุดหนุนผ่านสำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นอำเภอ (ท้องถิ่นอำเภอ) สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด (ท้องถิ่นจังหวัด) และผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดโดยส่งเอกสาร [3] ทั้งแบบประมาณการโครงการ พร้อมแผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น [4] เพื่อส่งไปให้หน่วยงานที่จะอุดหนุนงบประมาณ จากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานหลัก ก็คือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่เต็มไปด้วยเอกสารโครงการมากมายมหาศาล คิดเป็นจำนวนรถบรรทุกสิบล้อได้หลายคัน เพราะในแต่ละปี อปท. ทุกแห่งได้จัดโครงการผ่านจังหวัดไปกองรวมกันไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น บางครั้ง อปท. เดียวกันได้จัดส่งโครงการซ้ำแล้วซ้ำอีก และเอกสารดังกล่าวก็ยิ่งส่งมารวมทับทวีมากขึ้นทุกปี เจ้าหน้าที่ อปท. ที่ไปติดตามโครงการถึงกับอึ้งตะลึงเมื่อได้เห็นกองเอกสารกองพะเนินเทินทึก จึงไม่แปลกใจว่า เหตุใดโครงการที่ อปท. เสนอมาไม่ได้รับการพิจารณาก็เพราะหลายโครงการยังคงกองอยู่ที่เดิมนั่นเอง เพราะระบบการตรวจสอบควบคุมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ไม่มีกฎเกณฑ์แน่นอน ผู้มีอำนาจอนุมัติจะสนใจหยิบหรือดึงโครงการใด จากจังหวัดใด และ อปท. ใด ก็ย่อมได้

หลักการจัดทำและขอรับงบประมาณที่ไม่ชัดเจน

กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นของบประมาณจากรัฐบาลกลางเช่นเดียวกระทรวง ทบวง กรมอื่น ข้อแตกต่างจากกรมอื่น เช่น กรมทางหลวง หรือกรมชลประทาน ที่สำคัญคือ การไม่กำหนด ชื่อโครงการ และสถานที่ก่อสร้างที่ชัดเจนแน่นอน เป็นเพียงการกำหนดจำนวนเนื้องาน และยอดงบประมาณเป็นตัวเลขที่ไม่ชัดเจนแน่นอน เรียกว่าเสนอของบเป็น “ตัวเลขกลมๆ” อาทิเช่น ของบประมาณอุดหนุนการก่อสร้างศูนย์พัฒนาเด็ก จะระบุโครงการเพียงจำนวนงบประมาณคร่าว ๆ จำนวนหลัง อาจไม่ระบุสถานที่ และรายละเอียดโครงการที่ชัดเจน เหมือนดังเช่นกรมทางหลวง ที่การขออนุมัติงบประมาณจะขอเป็นโครงการที่ชัดเจน ระบุสถานที่ชัดเจน เช่น กำแพงเพชร - นครสวรรค์ หลัก กม. ใดถึงหลัก กม. ใด งบประมาณ เท่าใด เป็นรายโครงการไป หากโครงใดได้รับการอนุมัติ ก็มีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างต่อไป สำหรับโครงการที่เหลือไม่ได้รับอนุมัติ ก็จะได้รับการเสนอของบประมาณในปีถัดไป การดำเนินการในลักษณะเช่นนี้ จึงมีความโปร่งใส และตรวจสอบได้

ฉะนั้น จึงเกิดข้อครหาในความโปร่งใสของการพิจารณาอนุมัติโครงการ และทำให้เกิดการวิ่งเต้นแข่งขันแย่งชิงกันเพื่อให้ได้มาซึ่งงบประมาณ หรือที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้านว่า “การวิ่งงบประมาณ” โดยไม่มีหลักเกณฑ์ในการจัดสรรงบประมาณที่แน่นอน เพราะตัวเลขงบประมาณที่ขอมาและที่จะได้รับการจัดสรรไม่แน่นอน จากข้อมูลย้อนหลังสัก 5 ปีพบว่า อปท. ใดที่เคยได้รับงบอุดหนุนเฉพาะกิจ อปท. นั้นก็มักจะได้รับการอนุมัติโครงการอยู่เสมอ

ขั้นตอนการดำเนินการพัสดุมีปัญหา

ในการดำเนินการเมื่อ อปท. ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว คนท้องถิ่นมักพูดกันว่า “ไม่มีของฟรี” การได้รับการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นต้องมีการต่างตอบแทน “แลกมา” ปัจจุบันการวิ่งงบประมาณจึงมีวิธีการแบบ “ต่างตอบแทน” จ่ายเงินล่วงหน้า (ใต้โต๊ะ) ก่อนได้รับอนุมัติใบจัดสรรงบประมาณ จำนวนเงินจ่ายมากน้อยขึ้นกับเงื่อนไขลักษณะโครงการงานก่อสร้างหรืองานขุดลอกฯ หรือ ความสนิทสนมมักคุ้นกันเป็นการส่วนตัว หรือ ความจำเป็นเร่งด่วนที่อยากได้โครงการ หรือ ความได้เปรียบของผู้ที่จะมารับงานจ้างที่มีขีดความสามารถในต้นทุนที่แตกต่างกัน เป็นต้น

เมื่อได้รับการจัดสรรเงินงบประมาณมาแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนพัสดุ หรือ “การจัดซื้อจัดจ้าง” ในหลายโครงการเป็นการสอบราคา หรือการประกวดราคา โดยมีข้าราชการ อปท. ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการพัสดุ [5] ได้แก่ คณะกรรมการกำหนดราคากลาง [6] คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรืองานจ้าง คณะกรรมการควบคุมงานจ้าง

เมื่อมีต้นทุนในการวิ่งงบประมาณ สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผลพวงที่ตามก็คือ “การลดต้นทุน” หรือ “การถอนทุนคืน” [7] จะมากน้อยขึ้นกับต้นทุน และขาใหญ่ของผู้รับเหมาที่อยู่เบื้องหลังหรือที่ได้รับงานจ้าง มักมีปรากฏการณ์ปัญหาทางปฏิบัติที่สร้างความลำบากใจแก่เจ้าหน้าที่ อปท. ผู้ปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง อาทิเช่น การกำหนดราคากลางตามใบสั่งที่ค่อนข้างสูง มีการฮั้วประมูลงานของกลุ่มผู้รับจ้าง การตรวจรับงานจ้างที่ต่ำกว่ามาตรฐาน ความกริ่งเกรงใจของเจ้าหน้าที่ที่มีต่อผู้บังคับบัญชาฝ่ายการเมือง ฯลฯ นี่คือบ่อเกิดของการทุจริตคอร์รัปชั่นในท้องถิ่น ซึ่งหากมีการร้องเรียนหรือตรวจจับการเรียกรับผลประโยชน์ในโครงการฯ ข้าราชการท้องถิ่นก็มักตกเป็นจำเลยอยู่เสมอ โดยไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินการแก่ผู้อยู่เบื้องหลังได้

ฉะนั้น “ขาใหญ่ หรือผู้รับเหมา หรือผู้อยู่เบื้องหลัง” โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ทุกคนต่างมุ่งหวังกำไร หรืออย่างน้อยที่สุด “ถอนทุนคืน” ให้คุ้มกับค่าเหนื่อยในการวิ่งงบประมาณนั่นเอง ข้ออ้างแรกๆ อ้างว่าทำเพื่อรับใช้ประชาชน แต่พอหนักเข้ามีค่าใช้จ่ายค่าอำนวยการเป็นภาระต้นทุนของโครงการที่เพิ่มขึ้นมา ก็จำต้องถอนทุนคืนเป็นธรรมดา ยิ่งจำนวนงบประมาณที่สูง ยิ่งต้องมีค่าใช้จ่ายอำนวยการวิ่งงบประมาณที่สูงขึ้น เหล่านี้จึงเกิด “ธุรกิจการวิ่งโครงการ” ขึ้น ที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายทั้งเจ้าหน้าที่ราชการ นักการเมือง นายทุน พ่อค้า เอกชน นับตั้งแต่ ผู้อนุมัติงบประมาณ ผู้ประสานการส่งโครงการฯ ผู้วิ่งงบประมาณในพื้นที่และนำเงินส่วนแบ่งมาจ่ายกระจายให้แก่ผู้เกี่ยวข้องใน อปท. ที่เป็นลูกข่าย การแบ่งงานเฉลี่ยให้แก่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ รวมทั้งเฉลี่ยจ่ายเป็นค่าสมยอมในการเสนอราคา รวมทั้งจ่ายแก่ผู้มีหน้าที่จัดสมยอมราคา ฯลฯ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจนอกระบบที่มีเครือข่ายกว้างขวาง

ข้าราชการท้องถิ่นเป็นตีนเป็นมือ

ข้าราชการท้องถิ่นมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายและการบริหารงานของผู้บริหารท้องถิ่น หรือ นายก อปท. เพราะอำนาจในการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย พิจารณาอนุญาตให้ลา ให้ไปราชการ การประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนขั้นเงินเดือน การตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย การลงโทษทางวินัย ล้วนอยู่ในอำนาจของนายก อปท. ที่ถือเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น การฝ่าฝืน การขัดขืน การทำบันทึกแย้ง การร้องเรียน การกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาในทางปฏิบัติจึงเป็นไปได้ยาก อาจส่งผลกระทบต่อความก้าวหน้าในชีวิตราชการของตนเอง เพราะนายก อปท. มีอำนาจให้คุณและให้โทษแก่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นทุกประการ และที่สำคัญด้วยระบบ “การบริหารงานบุคคลท้องถิ่น” ปัจจุบันที่ยังไม่มี “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการท้องถิ่น” [8] ยิ่งไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือพิทักษ์ปกป้องได้ การร้องเรียนกล่าวหาฟ้องร้องผู้บังคับบัญชาที่เป็นฝ่ายการเมืองท้องถิ่น ทำให้เกิดการเผชิญหน้า และเผชิญอิทธิพล ท้าทายอำนาจเด็ดขาดของนายก อปท. ซึ่งข้าราชการท้องถิ่นผู้นั้นไม่สามารถโยกย้ายไปรับราชการ อปท. แห่งอื่นได้ คงต้องถูกกลั่นแกล้งในระบบราชการต่อไป ครั้นหากจะยุติความขัดแย้งดังกล่าว ด้วยการให้ข้าราชการท้องถิ่นผู้นั้นย้ายออกจาก อปท. แห่งนั้น หรือให้ไปช่วยราชการหรือทำงานที่อื่นซึ่งเขามีความปลอดภัยกว่าเป็นการชั่วคราว เช่นเดียวกับระบบข้าราชการพลเรือนก็ไม่อาจกระทำได้ เพราะมีข้อจำกัดในระเบียบบริหารงานบุคคลท้องถิ่น แม้ต่อมาผลในทางคดีปรากฏว่าข้าราชการท้องถิ่นผู้นั้นจะชนะในคดี แต่เขาก็อาจหมดสิทธิ์ในการแต่งตั้งโยกย้ายโดยปริยาย เพราะข่าวและภาพลักษณ์ดังกล่าวส่งผลทางลบให้นายก อปท. อื่นที่มีเครือข่ายทางการเมืองอยู่ครอบคลุมทั่วประเทศต่างมีอคติและไม่ยอมรับ

ในสถานการณ์ปัจจุบันหาก อปท. ใดไม่มีการวิ่งงบประมาณมาลงในพื้นที่ก็ถือว่าข้าราชการท้องถิ่นนั้นโชคดี และหาก อปท. ใดมีการวิ่งงบประมาณได้เป็นจำนวนมาก ก็ถือเป็นโชคร้ายของข้าราชการท้องถิ่นนั้น เพราะชีวิตราชการท้องถิ่นแขวนอยู่บนความเสี่ยงต่อการผิดวินัย และการทุจริตคอร์รัปชั่นดังกล่าว อาจถูกไล่ออกปลดออกจากราชการ หรือต้องโทษทางอาญาจำคุก หมดอนาคตในชีวิตราชการได้

ขอเสนอการแก้ไขปัญหาของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

(1) การจัดสรรงบประมาณ ควรมีหลักการพิจารณาให้เป็นมาตรฐาน การของบประมาณควรมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีธรรมมาภิบาล และในการของบประมาณจากรัฐบาล ควรมีแบบรายการ งบประมาณสถานที่ เตรียมไว้ให้ตรวจสอบได้ทุก อปท. มีหน่วยงานในระดับจังหวัดอำเภอจัดทำระบบการควบคุมตรวจสอบว่าในแต่ละปีมีโครงการใดบ้างที่ส่งไปของบประมาณจากรัฐบาลเช่นเดียว กรมทางหลวง กรมชลประทาน หรือกรมอื่นๆ

(2) ควรลดเงินงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจลง และเพิ่มเงินอุดหนุนทั่วไป [9] เพื่อลดปัญหาความยุ่งยากในการพิจารณาโครงการที่มีจำนวนมากของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เพราะหากเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปให้ท้องถิ่นก็สามารถดำเนินการโครงการได้ตามความต้องการของ อปท. ทันที เป็นการลดงาน ลดความซ้ำซ้อน ลดภาระและตอบสนองปัญหาความต้องการของประชาชนได้ตรงจุด รวดเร็ว โดยงบประมาณไม่ต้องผ่านตัวกลางเหมือนเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

กรณีนี้เป็นการตัดเหตุปัญหาที่ต้นทาง กล่าวคือ การตัดวงจรการจัดสรรเงินงบอุดหนุนเฉพาะกิจลงก็จะทำให้การทุจริตส่วนบนลดลงได้ ทำให้ปัญหานายหน้าและขบวนการในระดับล่างหมดไป เป็นการทำให้ปัญหาปลายทางเล็กลงได้ ข้อสังเกตในปรากฏการณ์ที่ผ่านมาพบว่า บุคคลตัวต้นเหตุแห่งปัญหามักจะใหญ่และมองเห็นได้ยากกว่าบุคคลปลายแถวที่มองเห็นแยกแยะได้ง่ายกว่า

(3) สร้างขวัญกำลังใจแก่ข้าราชการ พนักงานของรัฐ ในการแจ้งเบาะแสและตรวจจับการทุจริต และการสร้างเครือข่ายการต่อต้านการทุจริต [10] ขึ้นใน อปท. ซึ่งในทางปฏิบัติข้าราชการท้องถิ่นจะไม่กล้าให้ความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตด้วยเกรงอำนาจของนายก อปท. รวมทั้งการลดปัญหาผู้ร่วมกระทำความผิด โดยการสร้างเสริมจริยธรรมและคุณธรรม ทั้งฝ่ายการเมืองท้องถิ่น และ ฝ่ายประจำที่ประกอบด้วยข้าราชการและลูกจ้าง

(4) จัดสรรปรับบทบาทอำนาจหน้าที่ในการบริหารงานบุคคลของนายก อปท. ให้มีการตรวจสอบ กำกับควบคุมการใช้อำนาจได้ และให้มีการถ่วงดุลอำนาจของนายก อปท. [11] กับข้าราชการท้องถิ่น เพราะสิ่งที่ข้าราชการท้องถิ่นเกรงกลัวที่สุด ก็คือ อำนาจที่ไม่จำกัดของนายก อปท. หากมีกรณีความขัดแย้งในการบริหารงานเกิดขึ้นระหว่างฝ่ายการเมืองท้องถิ่นและฝ่ายข้าราชการประจำ การอยู่ในพื้นที่ทำให้ข้าราชการเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้ง การถูกดำเนินการทางวินัย หรือเรื่องอื่น ควรมีมาตรการและหลักประกันในการปกป้องช่วยเหลือในชีวิตตำแหน่งหน้าที่ราชการด้วย โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งที่เกิดมาจากปัญหาการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับวิ่งงบประมาณ เป็นต้น

ข้อสรุป

ตราบใดที่ยังมีการวิ่งโครงการฯ และมีความต้องการในโครงการฯ ที่มีมากกว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาจึงค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตาม การแก้ไขโดยการทำให้การวิ่งงบประมาณยากขึ้นก็โดยการตัดวงจรการจัดสรรงบประมาณลงเสีย หรือให้มีการพิจารณางบประมาณที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีหลักเกณฑ์แน่นอนย่อมกระทำได้



[1] Phachern Thammasarangkoon & Ong-art saibutra, Municipality Officer ทีมวิชาการ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22927 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 20 วันศุกร์ที่ 5 – วันพฤหัสบดีที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] ดู ประเภทของเงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, เวบไซต์สำนักงบประมาณ, 4 มกราคม 2551, http://www.bb.go.th/BBfaq/asp/extn/asp/desc_topic.asp?cid=2551/0005&cbxtype=&no=167

[3] ดูตัวอย่างจาก หนังสือจังหวัดอุทัยธานีที่ อน 0037.3/ว 3965 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2555 เรื่อง ซักซ้อมแนวทางการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเงินอุดหนุนเฉพาะกิจจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.uthailocal.go.th/dnm_file/govdoc_stj/1746_center.PDF

[4] ดูตัวอย่าง โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปี 2556, www.dla.go.th/upload/template/tempNews/2012/10/21547_1.doc

เอกสารโครงการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจะต้องส่งเพื่อประกอบการพิจารณา จำนวน 2 ชุด โดยเอกสารโครงการแต่ละชุดให้จัดเรียงตามลำดับ ดังนี้

(1) รายละเอียดโครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจสำหรับพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกรณีเร่งด่วน ปีงบประมาณ พ.ศ.2556

(2) ประมาณการราคาโครงการ

(3) แบบแปลนโครงการ

(4) รูปภาพตัดขวางงานถนนดินลูกรัง ถนนหินคลุก ถนนลาดยาง ถนนแอสฟัลท์ติก ถนนเคปซิลและงานขุดลอกแหล่งน้ำ

(5) ผังบริเวณสถานที่ดำเนินการ

(6) รูปถ่ายสภาพสถานที่ดำเนินโครงการ

(7) สำเนาแผนพัฒนาสามปี (พ.ศ.2556 – พ.ศ.2558) ที่ระบุโครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณ

(8) เอกสารอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น หนังสือแสดงเอกสารสิทธิ์หรือหนังสือ ที่ได้รับอนุมัติหรืออนุญาตให้ใช้พื้นที่ดำเนินการโครงการ (ถ้ามี)

& ดู หนังสือจังหวัดพิษณุโลก ด่วนที่สุด ที่ พล 0023.3/ว511 ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2558, http://www.pitloklocal.org/govdoc_detail.php?id=5134

ขอให้อปท.กรอกข้อมูลตามแบบตรวจสอบข้อมูลการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ โครงการเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคแก่ประชาชน

[5] ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 (แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 10 พ.ศ. 2558) ลงวันที่ 2 กันยายน 2535, http://www.athiwat.com/images/docs/patdu35.pdf (แก้ไขถึงฉบับที่ 9 พ.ศ. 2553)

ข้อ 27 ในการดำเนินการซื้อหรือการจ้างแต่ละครั้ง ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อปฏิบัติการตามระเบียบนี้ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี คือ (1) คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา (2) คณะกรรมการรับและเปิดซองประกวดราคา (3) คณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคา (4) คณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ (5) คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ (6) คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ (7) คณะกรรมการตรวจการจ้าง

[6] ราคากลาง หมายถึง ราคาค่าก่อสร้างในงานก่อสร้างของทางราชการในแต่ละงาน/โครงการ ซึ่งได้จากการประเมิน หรือคำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งเป็นราคาที่ทางราชการยอมรับได้ ไม่สูงจนผู้ประกอบกอบการได้กำไรมากเกินกว่าที่ควรได้รับ และไม่เป็นราคาที่ต่ำจนผู้ประกอบการไม่สามารถที่จะดำเนินการก่อสร้างได้ ดังนั้น ราคากลางงานก่อสร้างของทางราชการจึงไม่ไช่ราคามาตรฐานของงานก่อสร้าง แต่เป็นราคาที่ได้จากการคำนวณตามหลักเกณฑ์

(1) งานจ้างก่อสร้าง ทุกครั้ง/ทุกวงเงิน ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางเพื่อเปรียบเทียบกับวงเงินงบประมาณที่ได้รับและราคาของผู้เข้าเสนอราคา(มติ ครม.มีนาคม 2555)

(2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 “ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้

ดู การบริหารงานพัสดุภาครัฐ และการกำหนดราคากลางตามกฎหมาย ป.ป.ช, สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง, http://www.dockyard.navy.mi.th/doced/NEWS/P_P_CH25-08-57/document.ppt

[7] ทีดีอาร์ไอ เผย ผลโกงกินผ่าน “ โครงสร้างพื้นฐาน “ กัดกร่อนประเทศหนักสุด, หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3126 วันที่ 28 – 30 มกราคม 2559, http://www.thansettakij.com/2016/01/31/28098

[8] สรณะ เทพเนาว์, ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น, 30 ธันวาคม 2557, https://www.gotoknow.org/posts/583236

& สรณะ เทพเนาว์, ข้อสังเกตการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น (ก.พ.ถ.), 17 เมษายน 2558, http://www.gotoknow.org/posts/589013

& ดร.จรวยพรธรณินทร์, “33 คำถามคำตอบเกี่ยวกับก.พ.ค.”, http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538689059

& สาระเกี่ยวกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, http://www.acfs.go.th/documentfile/acfs_23-06-54-02.pdf

& ดู บุญยิ่ง ประทุม, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม : กับการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น, 29 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/232449

& คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ สหราชอาณาจักร, http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538666106

[9] ดู ประกาศคณะกรรมการการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง การจัดสรรเงินอุดหนุนทั่วไปเพื่อสนับสนุนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2558, ราชกิจจานุเบกษา หน้า 52-53 เล่ม 132 ตอนพิเศษ 260 ง วันที่ 20 ตุลาคม 2558, www.nmt.or.th/Lists/List5/Attachments/223/กระจายอำนาจปี59.PDF

[10] คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 69/2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ สำหรับเป็นกลไกในการต่อสู้เพื่อเอาชัยชนะปัญหาการทุจริต โดยมุ่งเน้นให้ทุกภาคส่วนร่วมกันบูรณาการแก้ไขปัญหาการทุจริตให้เกิดผลสัมฤทธิ์เพื่อสนองความความต้องการของสังคมและประชาชนอย่างยั่งยืนโดยเร็ว

และ นายกรัฐมนตรีจึงได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 226/2557 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้นภายในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติเพื่อให้การแก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยู่ภายใต้คณะกรรมการอำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ

ดู ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.), http://www.pacc.go.th/cnac/

[11] สรณะ เทพเนาว์, ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่ควรพิจารณา, 28 ธันวาคม 2557, http://www.gotoknow.org/posts/583196

หมายเลขบันทึก: 600421เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 22:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท