​ทพญ. วิสาขา ไผ่งาม : การเยียวยาตนเองหลังการสูญเสียบุคคลในครอบครัว


หลังจากที่พ่อเสียชีวิตลง บรรยากาศในบ้านก็เปลี่ยนไป แม่ย้ายจากห้องนอนใหญ่ที่เคยอยู่กับพ่อมานอนกับน้องสาวและหลานเป็นเวลา 6 เดือน คาดว่าแม่คงทำใจไม่ได้......แต่แม่ก็ไม่ได้มีอาการซึมเศร้าใด เพราะทุกคนในครอบครัวเชื่อว่า พ่อได้ใช้ชีวิตอย่างดีงามแล้ว ถึงพ่อไม่อยู่บนโลกนี้แต่โลกใหม่ที่พ่ออยู่ต้องสบายแน่ๆ เรามักจะพูดถึงพ่อเวลาเดินทางไปร้านอาหารกันว่า วันนี้ไปกินข้าวกันนะพ่อนะ พ่อมาด้วยต้องสั่งเมนูนี้แน่ๆ เลยแล้วก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนาน.....แม่ไม่ได้มีอาการเศร้าให้เห็น สิ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจชั้นดีของแม่ได้ก็คงเป็น การทำหน้าที่ต่างๆแทนพ่อ การไปจ่ายตลาดและใส่บาตรทุกวัน เปลี่ยนดอกไม้และพวงมาลัยในห้องพระ และสวดมนต์เป็นประจำบทละหลายๆ ครั้ง ทั้ง อิติปิโส และบทอื่นๆ คงเป็นสิ่งที่ทำให้แม่ได้รำลึกถึงพ่ออย่างมีความสุข

น้องสาวก็เช่นกันการรำลึกถึงพ่อโดยการทำความดีและขยันสวดมนต์มากขึ้น ส่วนหลานวัย 4 ขวบ ก็บ่นถึงตาเป็นระยะๆ ว่าคิดถึง เวลาขึ้นไปกราบรูปตาที่บนห้องก็จะเข้าไปกระซิบกระซาบข้างๆ รูปเสมอๆ นานๆ ไปก็บ่นออกมาว่า "คิดถึงตา เมื่อไหร่จะกลับมานะ" หรือบางครั้งก็พูดว่า "อยากจะขอเวลาสวรรค์ซักแป๊บนึงได้มั๊ยให้ตา กลับมาเยี่ยมบ้าง คิดถึง” ....ทำเอาคนในบ้านทั้งซึ้งทั้งขำปนกันไป

ในส่วนของตัวเอง....วันแรกที่สูญเสียพ่อนั้น...ร้องไห้อย่างหนักจนแม่ต้องมาปลอบ...มีความคิดแว่บหนึ่งเข้ามาว่า พ่อไม่อยู่ก็ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปแล้ว แต่มันก็เป็นแค่ความคิด เพราะเราก็รู้ว่าเราก็ต้องอยู่เพื่อคนในครอบครัวต่อไปอีกเช่นกัน ช่วงนั้นตัดสินใจลางาน 1 เดือน เพื่อรักษาใจตนเอง ระหว่างที่ลางานได้ทบทวนเรื่องราวหลายๆ อย่าง และทำสิ่งดีๆให้กับตัวเอง พบสิ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและตระหนักรู้ว่า

  • การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักในบ้านเป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่มีผลกระทบใจ...แต่ก่อนเคยรู้สึกว่า คนเราเกิดมาทุกคนก็ต้องตาย เดี๋ยวแก่ เดี๋ยวป่วย มันเป็นธรรมดาของโลกจึงมองการสูญเสียเหล่านั้นเป็นของธรรมดา แม้ในวันที่ ลุงข้างบ้านเสียชีวิต เราก็มองเช่นนั้น ไปงานศพเท่าที่ว่าง เหมือนไปงานทั่วๆไป เห็นน้องสาวลูกของลุงร้องไห้ก็รู้สึกว่ามันธรรมดา….แต่พอมาวันนี้..เป็นวันที่เราสูญเสีย...มองน้องข้างบ้านที่ช่วยงาน...เข้าใจความรู้สึกเค้ามากขึ้น...เดินไปขอโทษเค้าที่ตอนงานศพพ่อเค้า เราไม่ค่อยได้ใส่ใจ ตอนนี้เราเข้าใจแล้ว
  • การทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการรักษาของพ่อ ที่มีผลกระทบกับใจ ทำให้เราเกิดความตระหนักว่า เมื่อเราได้พบเจอกับคนๆ หนึ่ง คนไข้ ผู้ที่มาติดต่ออะไรก็ตามกับเรา สำหรับเรามันอาจจะเป็นงานที่ทำอยู่บ่อยๆ เคยชิน แต่กับบางคนเป็นครั้งแรกและอาจจะเป็นครั้งเดียวที่เจอกัน อาจจะพูดไม่รู้เรื่อง เบลอๆ งงๆ ก็จะปฏิบัติต่อกันด้วยความเมตตาที่สุดเท่าที่ทำได้
  • การเยียวยาตนเอง
  • 1. เมื่อเสร็จงานศพพ่อก็ได้เดินทางไปค่ายสุขภาพวิถีธรรม หมอเขียว ใจเพชร กล้าจน จ.มุกดาหาร เป็นค่ายสุขภาพและมีการปฏิบัติธรรมด้วย เป็นค่ายพระไตรปิฎก กินอาหารสุขภาพ มื้อเดียวและฟังธรรมะ ทำให้น้ำตา เหือดแห้งไปได้ ใจดีขึ้น มีกัลยาณมิตรรอบๆ ตัวให้กำลังใจ

    2. เดินทางไปปฏิบัติธรรมที่ วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร เป็นวัดปฏิบัติแนววัดป่า ก็ทำให้จิตใจ สบาย มีความสุข และสวดมนต์ ภาวนาทุกวัน

    3. ลงเรียนศิลปะบำบัดแนว มนุษยปรัชญา ได้ใช้งานศิลปะ วาดรูป ปั้นดินเป็นการเยียวยาตนเอง

    ทั้งหมดที่ได้ทำเพื่อช่วยฟื้นฟูตัวเอง คลายความเศร้าจากการคิดถึงพ่อ เวลาผ่านไปร่วมปีทุกอย่างค่อยๆ ดีขึ้นจากที่เห็นรถ ambulance วิ่งผ่านแล้วใจสั่นทุกครั้งนึกถึงเหตุการณ์วันที่พ่อเสียชีวิต น้ำตาจะไหลเป็นอยู่ร่วมปี นึกถึงเรื่องราวช่วงนั้นเมื่อไหร่ก็น้ำตาจะไหล ก็ค่อยๆ คลี่คลายขึ้น เมื่อไหร่ที่นึกถึงพ่อ...พ่อก็อยู่ในตัวเราเสมอ...การทำสิ่งดีๆ พูดอะไรดีๆ ก็เป็นการทำเพื่อพ่อได้ แม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว

    หมายเลขบันทึก: 600417เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (1)

    ได้เข้ามาอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกประทับใจในวิธีคิดของทพญ. วิสาขา ไผ่งามและครอบครัว
    ที่ได้ก้าวผ่านประสบการณ์นั้นมาได้อย่างงดงามครับ

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท