คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม:กับการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น


คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

 

คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม :

กับการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น

บาว นาคร*

 

พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 นั้นในมาตรา 24 – มาตรา 33 ได้บัญญัติให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ทั้งหมด 7 คน และกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ หลักๆ ที่สำคัญคือ 1) เสนอแนะต่อ กพ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้หรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม 2) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ ร้องทุกข์ของข้าราชการพลเรือนสามัญ 3) พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมโดยในกรณี ที่ ก.พ.ค. เห็นว่า กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใดที่มุ่งหมายให้ใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม ก.พ.ค.จะแจ้งให้หน่วยงานหรือผู้ออกกฎ ระเบียบ หรือคำสั่งดังกล่าวทราบ เพื่อดำเนินการแก้ไขหรือยกเลิกตามควรแก่กรณี การบรรจุแต่งตั้ง การโยกย้าย การพิจารณาความดีความชอบ การดำเนินการทางวินัยเหล่านี้ต้องคำนึงถึงระบบคุณธรรมทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันได้มีการคัดเลือก คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ขึ้นทั้งหมด 7 ท่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

            ส่วนในรายละเอียดของ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงการรับโอนเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ไม่ได้เป็นข้าราชการพลเมืองสามัญ เช่น การโอนพนักงานส่วนท้องถิ่น (มาตรา 64) และการบรรจุกลับข้าราชการประเภทอื่น พนักงานส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการนับเวลาราชการ ให้ถือเวลาราชการหรือเวลาทำงานของผู้เข้ารับราชการในขณะที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นนั้นเป็นเวลาราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย (มาตรา 65)

ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นได้มีการบัญญัติไว้เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 288 ว่า การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่นโดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และอาจได้รับการพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น แต่ว่ากฎหมายในส่วนของท้องถิ่น ยังไม่ได้ออกมาบังคับใช้ในส่วนของ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น อยู่ในระหว่างการร่างเพื่อออกมาบังคับใช้และที่สำคัญนั้นมีส่วนสำคัญในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก และที่สำคัญคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น จะมีการคัดเลือกหรือการสรรหาอย่างไร และรูปแบบคณะกรรมการฯ ในส่วนของท้องถิ่นจะเป็นอย่างไรบ้าง จะมีทำให้การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมีระบบการพัฒนาอย่างประสิทธิภาพและมีระบบคุณธรรมอย่างแท้จริงได้อย่างไร เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการปกครองท้องถิ่นไทยและเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

 

เอกสารอ้างอิง

สำนักงาน ก.พ. .พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551.กรุงเทพฯ:สวัสดิการ

            สำนักงาน ก.พ. ,2551.

 



* บุญยิ่ง ประทุม.[email protected].

หมายเลขบันทึก: 232449เขียนเมื่อ 29 ธันวาคม 2008 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท