ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น


ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น

ความสำคัญของการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น

สรณะเทพเนาว์, ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๗. [1]

ปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมาที่ผู้เขียนเห็นว่ามีความสำคัญ ๒ ประการคือ (๑) ปัญหาร่างกฎหมายที่ต้องอนุวัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่มีการจัดเตรียมไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับการตราเป็นกฎหมาย และ (๒) ปัญหาการศึกษาและงานวิจัยที่เกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นมีจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับนำไปปฏิบัติ ในที่นี้ได้แก่ ปัญหาการศึกษาด้านการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๒๘๘ บัญญัติให้มี "คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่น" ซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น มีลักษณะเป็น "ไตรภาคี" และกำหนดให้มี "องค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น" หรือ "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น" เรียกย่อว่า "ก.พ.ถ." [2]

ดร.สุรพงษ์มาลี (๒๕๕๔) [3] ผู้ศึกษาปัญหาการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้เหตุผลสำคัญที่ต้องมี ก.พ.ถ. ว่าเนื่องจาก อปท. มีเรื่องอุทธรณ์และร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้อำนาจการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมิชอบและมีการกลั่นแกล้งกันมาก ดังนั้นหากการลงโทษมีผลกระทบถึงความเป็นธรรมและความมั่นคงในการดำรงสถานภาพการเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น อันเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของระบบคุณธรรม จึงควรมีองค์กรที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมเช่นเดียวกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการพลเรือนสามัญ ซึ่งออกตามความในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตร ๒๗๙ วรรคสี่ ว่า "การพิจารณา สรรหา กลั่นกรอง หรือแต่งตั้งบุคคลใด เข้าสู่ตำแหน่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษบุคคลนั้น จะต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมและคำนึงถึงพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลดังกล่าวด้วย" ดังนั้น ก.พ.ถ. จึงเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์และสามารถสั่งการได้โดยไม่ต้องเสนอให้ผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้สั่งการ

ก.พ.ถ. ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะในกรณีที่ข้าราชการส่วนท้องถิ่นมีความขัดแย้งกับผู้บริหารท้องถิ่นจะได้ใช้ช่องทางนี้ในการเยียวยาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ รูปแบบกระบวนการขั้นตอนที่เหมาะสมของการคัดเลือกหรือการสรรหา และแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.พ.ถ. อันจะทำให้การบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นมีระบบการพัฒนาได้อย่างประสิทธิภาพและมีระบบคุณธรรมอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๕๐ แต่ปรากฏว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้ายึดและควบคุมอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง [4] โดยยังมิได้มีการตรากฎหมายออกมาบังคับใช้ในส่วนของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่นเพื่ออนุวัติให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวแต่อย่างใด

เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของ ก.พ.ถ. ต่อข้าราชการส่วนท้องถิ่น เฉกเช่นเดียวกับ "ข้าราชการพลเรือน" ในที่นี้ขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ "คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม" หรือ เรียกโดยย่อว่า "ก.พ.ค."

ปรัชญาการคุ้มครองระบบคุณธรรมของ ก.พ.ค. เปรียบเสมือน Watch Dog of Merit System มีลักษณะเป็นองค์กรกึ่งตุลาการ มีความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง ทำหน้าที่คล้ายศาลปกครอง มีหลักพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ [5]

(๑) หลักประกันความเป็นมืออาชีพ คือ กรรมการ ก.พ.ค. ต้องทำงานเต็มเวลา มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน เสมือนเช่นตุลาการศาลปกครอง

(๒) หลักความเป็นกลางและความเป็นอิสระในการใช้ดุลพินิจ เนื่องจากคณะกรรมการคัดเลือก ก.พ.ค. ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง และไม่ข้องเกี่ยวกับฝ่ายการเมือง กรรมการ ก.พ.ค. จึงมีความเป็นกลาง และมีอิสระในการใช้ดุลพินิจ ทำให้สามารถวินิจฉัยคดีได้อย่างเป็นธรรม

(๓) หลักการรับฟังความทั้งสองฝ่าย คือ เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งคัดค้านการนำเสนอ หรือกล่าวอ้างของอีกฝ่ายหนึ่งเสมอ เพื่อความเป็นธรรมตามหลัก Both sides must be heard.

(๔) หลักประกันความเป็นธรรม มีการกำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน ๑๒๐ วัน สามารถขอขยายได้ไม่เกินสองครั้งแต่ละครั้งต้องไม่เกิน ๖๐ วัน รวมแล้วไม่เกิน ๒๔๐ วัน อันเป็นการรับรองไม่ให้ผิดหลักที่ว่า Justice delayed is justice denied.

ทั้งนี้เพื่อรักษาประโยชน์ของทางราชการ และให้ความคุ้มครองรักษาความเป็นธรรมแก่ข้าราชการ ตามระบบ "คุณธรรม" ในระบบบริหารงานบุคคล (Merit System) ๔ หลักได้แก่ หลักความสามารถ (Competence) หลักความเสมอภาค (Equality) หลักความมั่นคงในการดำรงสถานภาพ (Security) และ หลักความเป็นกลางทางการเมือง (Political neutrality)

ก.พ.ค. ประกอบด้วยกรรมการจำนวน ๗ คน จำนวน ๗ คน ตามมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ [6]

ตามมาตรา ๒๖ ก.พ.ค. ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกโดย ก.พ.และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ [7]

ตามมาตรา ๓๑ สรุป ก.พ.ค.มีหน้าที่หลัก คือ [8]

(๑) การพิจารณาคุ้มครองระบบคุณธรรม โดยเสนอแนะ ท้วงติง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องถ้ากฎ ระเบียบหรือคำสั่ง ที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปที่ออกตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ไม่สอดคล้องกับระบบคุณธรรม

(๒) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ และ

(๓) พิจารณาเรื่องร้องทุกข์ของข้าราชการ เป็นต้น

สาระสำคัญของอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.ค. ในการอุทธรณ์และร้องทุกข์ คือ

(๑) ผู้ถูกสั่งลงโทษทางวินัยหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการ ตามมาตรา ๑๑๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ บัญญัติว่า ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง

สำหรับผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา ๑๑๐ (๑) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ต่อ ก.พ.ค. ได้ทำนองเดียวกัน

(๒) เหตุแห่งการร้องทุกข์ ก.พ.ค. ต้องมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดดังนี้

(๒.๑) ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการนั้น หรือโดยไม่สุจริต

(๒.๒) เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร

(๒.๓) เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

(๒.๔) ประวิงเวลา หรือหน่วงเหนี่ยวการดำเนินการบางอย่างอันเป็นเหตุให้เสียสิทธิหรือ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงมีพึงได้ในเวลาอันสมควร

(๒.๕) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรมตามมาตรา ๔๒ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑

ผู้เขียนมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

(๑) จากบทวิเคราะห์ของ ดร.สุรพงษ์มาลี (๒๕๕๔) ต่อร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น มีข้อคิดที่น่าสนใจ คือ

(๑.๑) ตามมาตรา ๔๒ [9] แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่ร่างกฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่นใช้เป็นต้นแบบ ได้มีการกำหนดหลักคุณธรรมเพิ่มเติมไว้อีกถึง ๒ ประเด็น คือ ระบบคุณธรรมนั้นยังต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง (Political Neutrality) ถือเป็นหลักการของ "ระบบคุณธรรม" เพื่อแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังในการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นจาก "การแทรกแซงจากผู้บริหารฝ่ายการเมือง" ซึ่ง ดร.สุรพงษ์เห็นว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับท้องถิ่นที่ต้องมีการบัญญัติไว้ในกฎหมาย

(๑.๒) เพื่อลดระบบอุปถัมภ์ในการใช้ดุลพินิจของผู้บริหาร ก็คือ การจัดทดสอบความรู้มาตรฐานสำหรับปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้ผู้บริหารคัดเลือกจากผู้ที่ผ่านการทดสอบ โดยมีการกำหนดเกณฑ์ นอกเหนือจากผลการทดสอบไว้เป็นกรอบด้วย เช่น พิจารณาถึงความโดดเด่นในผลงาน ภาวะผู้นำและการเป็นที่ยอมรับทั้งในด้านการงานและพฤติกรรมส่วนตัวด้วย

(๑.๓) ควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกลไกการดำเนินการในการโอนย้าย เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดจากกรณีผู้บริหารท้องถิ่นเกิดความขัดแย้งกับข้าราชการไว้ในร่างพระราชบัญญัติด้วย นอกเหนือจากการให้อำนาจ ก.กลางออกคำสั่งแก้ไขหรือเพิกถอนคำสั่งเดิมของผู้บริหารที่ไม่กระทำตามหน้าที่หรือกระทำการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ผู้เขียนเห็นควรบัญญัติในกรณีผู้บริหารท้องถิ่นไม่ปฏิบัติตาม คำสั่งผู้มีอำนาจวินิจฉัย อุทธรณ์ ร้องทุกข์ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ ในฐานะผู้กำกับดูแล อปท. ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้ง อปท. ย่อมมีอำนาจสั่งการให้ผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ด้วย

(๑.๔) มีบทบัญญัติให้มี ก.พ.ถ. ซึ่งถือเป็นกลไกใหม่ สำหรับรับประกันความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคลของ อปท. เพื่อเป็นการรับประกันกระบวนการพิทักษ์ระบบคุณธรรมในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดมีขึ้นอย่างแท้จริง โดยแยกบทบาทการกำหนดทิศทาง นโยบาย มาตรการ กฎระเบียบการบริหารงานบุคคล หรือหน้าที่การเป็น "ผู้บริหารงานบุคคล" ให้เป็นของ ก.ถ. และสำนักงาน ก.ถ. ไม่ทำหน้าที่พิทักษ์ระบบคุณธรรมเพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งในบทบาทและขัดกับหลักการตรวจสอบ สอบทานและถ่วงดุลการใช้อำนาจการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น

ความเป็นอิสระของ ก.พ.ถ. โดยกำหนดให้ เลขานุการ ก.พ.ถ. มิได้มีตำแหน่งเป็นกรรมการ ก.พ.ถ. และกรรมการ ก.พ.ถ. เป็นกรรมการที่ปฏิบัติงานเต็มเวลา

(๒) ตามประกาศคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนท้องถิ่น (ก.กลาง) เรื่อง มาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับสิทธิการอุทธรณ์ การพิจารณาอุทธรณ์และการร้องทุกข์ ข้อ ๒๒ บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับข้อ ๒๑ พนักงานส่วนท้องถิ่นผู้ใดเห็นว่าผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้อง หรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือปฏิบัติให้เกิดความคับข้องใจต่อตน ผู้นั้นอาจร้องทุกข์เพื่อขอให้แก้ไขหรือแก้ความคับข้องใจได้ ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีที่มีสิทธิอุทธรณ์ตามหมวด ๑ ซึ่งต้องใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่กำหนดในหมวดนั้น" ซึ่งหาก อปท. มีการตั้ง ก.พ.ถ. ขึ้นอาจมีเนื้อหาอำนาจหน้าที่ในการ "ร้องทุกข์" ที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. ได้ กล่าวคือ อปท. ใช้คำรวมเหตุแห่งการร้องทุกข์ที่ไม่ชัดเจนว่า "ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจหน้าที่ทำให้เกิดความคับข้องใจต่อตน" โดยยังมิได้มีการบัญญัติถึงเหตุแห่งการร้องทุกข์อันเนื่องมาจากเหตุอื่นที่ชัดเจนอันได้แก่ "(๑) ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย (๒) การเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระให้เกิดขึ้นเกินสมควร (๓) การใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ (๔) ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอื่นใดที่ไม่เป็นไปตามระบบคุณธรรม" สมควรนำมาพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมและบัญญัติไว้ในร่างกฎหมายบุคคลส่วนท้องถิ่นด้วย

(๓) เนื่องจาก อปท. มีลักษณะเป็น "องค์กรทางการเมือง" (Political Organization) ผู้เขียนขอเสนอรูปแบบ โครงสร้างของ ก.พ.ถ. ซึ่งน่าจะมีโครงสร้างที่แตกต่างจาก ก.พ.ค. ของข้าราชการพลเรือน ดังนี้

มีคณะกรรมการร่วม ๕ ฝ่าย รวม ๗ คน ได้แก่ ผู้แทนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้แทนจากส่วนราชการ ผู้แทนผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย หน่วยละ ๑ คน และ ผู้แทนองค์กรพนักงานส่วนท้องถิ่นที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ผู้ทรงคุณวุฒิจากการคัดเลือกจากปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ผู้เกษียณอายุ) หน่วยละ ๒ คน

ผู้เขียนหวังว่าข้อเขียนนี้ จะเป็นคำชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วนประการหนึ่งที่ต้องมีการจัดตั้ง "องค์กรคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการส่วนท้องถิ่น" (ก.พ.ถ.) ของ อปท. เหมือนข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) โดยเร็ว เพื่อให้มีองค์กรทำหน้าที่รับและตรวจสอบเรื่องร้องทุกข์ของพนักงานส่วนท้องถิ่น ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลอันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้รับความเป็นธรรม จนส่งผลกระทบต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ขาดการกำหนดมาตรการเยียวยาตามระบบคุณธรรม ทำให้พนักงานส่วนท้องถิ่นที่ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรม ไม่มีที่พึ่งพา ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา โดยที่ไม่อาจจะเสนอปัญหาให้คณะกรรมการกลาง พิจารณาดำเนินการได้โดยตรง เนื่องจากไม่เป็นไปตามขั้นตอน แนวทางปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการกลาง ซึ่งกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้


[1] สรณะเทพเนาว์, สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, ปลัดเทศบาลตำบลแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ ๖๒ ฉบับที่ ๑๗ วันศุกร์ที่ ๙ - วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๘ หน้า ๘๐

[2] มาตรา ๒๘๘ การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่ง ต้องเป็นไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของแต่ละท้องถิ่น โดยการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และอาจได้รับการพัฒนาร่วมกันหรือสับเปลี่ยนบุคลากรระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วยกันได้ รวมทั้งต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นองค์กรกลางบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่นก่อน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ในการบริหารงานบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรมของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบคุ้มครองคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารงานบุคคล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

คณะกรรมการข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะต้องประกอบด้วย ผู้แทนของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนข้าราชการส่วนท้องถิ่นและผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีจำนวนเท่ากัน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่ง การเลื่อนเงินเดือน และการลงโทษข้าราชการและลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ

[3] ดร.สุรพงษ์ มาลี, " บทวิเคราะห์ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ....", สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนสถาบันพระปกเกล้า, ๒๕๕๔, http://thailawwatch.org/wp-content/uploads/2013/06/Localorder.pdf & http://www.kpi.ac.th/kpith/downloads/55-09-11/4%20ร่างประมวลฯ%20(1).pdf

[4] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช ๒๕๕๗, ราชกิจจานุเบกษา หน้า ๑ – ๑๗, เล่ม ๑๓๑ ตอนที่ ๕๕ ก วันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๗, http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2557/A/055/1.PDF

[5] ดร.จรวยพรธรณินทร์, "๓๓ คำถามคำตอบเกี่ยวกับก.พ.ค.", http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538689059& สาระเกี่ยวกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม, http://www.acfs.go.th/documentfile/acfs_23-06-54-02.pdf & ดู บุญยิ่ง ประทุม, คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม : กับการบริหารบุคคลส่วนท้องถิ่น, 29 ธันวาคม 2551, https://www.gotoknow.org/posts/232449& คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และ สหราชอาณาจักร,

http://www.charuaypontorranin.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538666106

[6] มาตรา ๒๔ ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมคณะหนึ่ง เรียกโดยย่อว่า "ก.พ.ค." ประกอบด้วยกรรมการจำนวนเจ็ดคนซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งตามมาตรา ๒๖

กรรมการ ก.พ.ค. ต้องทำงานเต็มเวลา

ให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นเลขานุการของ ก.พ.ค.

[7] มาตรา ๒๖ ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน รองประธานศาลฎีกาที่ได้รับมอบหมายจากประธานศาลฎีกาหนึ่งคน กรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิหนึ่งคนซึ่งได้รับเลือกโดย ก.พ. และให้เลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการและเลขานุการ

ให้คณะกรรมการคัดเลือกมีหน้าที่คัดเลือกบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามมาตรา ๒๕ จำนวนเจ็ดคน

ให้ผู้ได้รับคัดเลือกตามวรรคสองประชุมและเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ ก.พ.ค. แล้วให้นายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้ง

หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกกรรมการ ก.พ.ค. ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการคัดเลือกกำหนด

[8] มาตรา ๓๑ ก.พ.ค. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอแนะต่อ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น เพื่อให้ ก.พ. หรือองค์กรกลางบริหารงานบุคคลอื่น ดำเนินการจัดให้มีหรือปรับปรุงนโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคลในส่วนที่เกี่ยวกับการพิทักษ์ระบบคุณธรรม

(๒) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามมาตรา ๑๑๔

(๓) พิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์ตามมาตรา ๑๒๓

(๔) พิจารณาเรื่องการคุ้มครองระบบคุณธรรมตามมาตรา ๑๒๖

(๕) ออกกฎ ก.พ.ค. ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎ ก.พ.ค. เมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

(๖) แต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ ก.พ.ค. กำหนด เพื่อเป็นกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์หรือเป็นกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์

[9] มาตรา ๔๒ การจัดระเบียบข้าราชการพลเรือนสามัญตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คำนึงถึงระบบคุณธรรมดังต่อไปนี้

(๑) การรับบุคคลเพื่อบรรจุเข้ารับราชการและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต้องคำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคล ความเสมอภาค ความเป็นธรรม และประโยชน์ของทางราชการ

(๒) การบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องคำนึงถึงผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพขององค์กรและลักษณะของงาน โดยไม่เลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม

(๓) การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง และการให้ประโยชน์อื่นแก่ข้าราชการต้องเป็นไปอย่างเป็นธรรมโดยพิจารณาจากผลงาน ศักยภาพ และความประพฤติ และจะนำความคิดเห็นทางการเมืองหรือสังกัดพรรคการเมืองมาประกอบการพิจารณามิได้

(๔) การดำเนินการทางวินัย ต้องเป็นไปด้วยความยุติธรรมและโดยปราศจากอคติ

(๕) การบริหารทรัพยากรบุคคลต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง

หมายเลขบันทึก: 583236เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2014 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2016 21:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท