จัดการความรู้ จัดการอะไร


มีโอกาสไปคิดต่อยอดเพื่อแปลงแผนยุทธศาสตร์ KM 3.0 KM 3.0_????????? าสตร์ KM 3.0.pdf ให้เป็นรูปธรรม ทีมทำงานท่าน อาจารย์ วิจารณ์ พานิช สรุปแผนยุทธศาสตร์ไว้ได้ชัดเจน รวบรวมหลากมุมมองจากภาคีได้ดี ทำให้คิดต่อยอดไปหลายเรื่อง จนมาถึงหัวเรื่องที่ตั้งไว้

ประเด็นที่ KM 3.0 ชวนกันมาช่วยหาคำตอบคือ ถ้าเราอยากเห็นการจัดการความรู้ สร้างการเรียนรู้ของผู้คนทั้งในการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน น่าจะช่วยกันทำอะไรได้บ้าง โดยคำนึงถึง 3S คือ space, speed, spiral

แทนที่จะเริ่มที่ การจัดการความรู้ แต่เริ่มที่การเรียนรู้ ผมเกิดคำถามว่า มนุษย์เราเรียนรู้ยังไง และที่ผ่านๆมาในประวัติศาสตร์ มนุษย์เราเรียนรู้ยังไง โดยไม่มีการพูดถึงการจัดการความรู้เลย

คงไม่มีใครกล้าบอกว่า ก็เพราะไม่มีการจัดการความรู้ไง มนุษย์เราจึงเรียนรู้ได้ช้า และน้อยกว่าที่ควร เพราะเห็นๆกันอยู่ว่า มนุษย์ทั้งปัจเจกและสังคมโดยรวม มีการเรียนรู้มหาศาล จึงพัฒนามาได้อย่างที่เห็นกัน

ถ้าจะสรุปให้ไม่ผิดไปจากความจริงมากนัก (ความจริงที่คงไม่มีใครบอกได้ว่าจริงแค่ไหน) มนุษย์มีการจัดการความรู้มานานแล้ว การจัดการความรู้เป็นความสามารถสำคัญ ที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนเกิดการเรียนรู้

การสื่อสาร การบันทึก และการส่งต่อความรู้ ช่วยให้การจัดการความรู้ในระดับปัจเจก มีความซับซ้อนมากขึ้น และน่าจะมีคุณภาพดีขึ้น เพราะมีความรู้จากภายนอก(ร่างกาย ซึ่งก็คือสมอง นั่นเอง)ให้ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

เมื่อปริมาณความรู้มีมากขึ้น การสื่อสารซับซ้อนขึ้น การบันทึกและการส่งผ่านข้อมูลความรู้ ซับซ้อนขึ้น การจัดการความรู้ที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ ส่วนที่อยู่ภายนอก (ร่างกายและจิตใจ) จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครที่เคยบอกว่า ความรู้จัดการไม่ได้ จึงพูดไม่ผิดในมุมหนึ่ง เพราะเราน่าจะยากที่จะไปจัดการ กระบวนการที่เกิดขึ้นในตัวตนของใครคนใดคนหนึ่ง

แต่อีกมุมหนึ่งคือการจัดการที่อยู่ภายนอกร่างกาย ซึ่งน่าจะต้องให้ความใส่ใจกับ การจัดการเพื่อให้ได้ผู้คน (หลากหลาย) ได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์ หรือได้ประโยชน์จากความรู้ที่มีมากขึ้นแต่ยังอยู่ภายนอก

ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อการทำมาหากิน หรือประโยชน์เพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ที่ไม่เกี่ยวโดยตรงกับการทำมาหากิน

มาถึงตรงนี้ ทำให้เกิดคำถามตามมาอีก คำถาม

จริงเหรอ ที่ต้องมีใครมาจัดการความรู้ที่อยู่ภายนอกร่างกาย เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้คนในสังคม

มนุษย์ไม่มีความสามารถที่จะเลือก หรือจัดการกับข้อมูลและสารพัดความรู้ ที่อยู่ภายนอกร่างกาย อย่างนั้นหรือ

คำตอบที่มีให้กับตัวเอง คือ จำเป็น

ด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก ความรู้และข้อมูลที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และอาจเป็นประโยชน์ ไม่ได้มาอยู่ตรงหน้าให้เราได้รู้ ได้เห็น ถ้ามีใครทำเครื่องมือ ทำระบบให้ผู้คนในสังคม ได้มีโอกาสเข้าถึง ก็จะเป็นประโยชน์มาก

เครื่องมือก็มีสารพัด ตั้งแต่สมัยก่อนก็จารึกบนแผ่นหิน หนังสัตว์ มาจนเป็นกระดาษ

มีการสร้างห้องสมุด ให้คนที่อยากรู้ไปอ่าน

มีระบบโรงเรียน สอนคนที่อยากรู้

เทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นก็มีคนเอาความรู้ต่างๆ มาสื่อสารมาเผยแพร่ต่อในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ วิทยุ โทรทัศน์

มาจนถึง อินเตอร์เน็ต ในยุคปัจจุบัน ที่นอกจากเป็นช่องทางสื่อสาร ทำนองเดียวกับวิทยุ โทรทัศน์แล้ว ยังเพิ่มการเก็บรวบรวม ให้สืบค้นด้วยตนเอง ทำนองเดียวกับห้องสมุดได้อีกด้วย

อันที่จริง อินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดเครื่องมือจัดการความรู้ ที่มีลักษณะตรงกันข้ามอยู่ในตัว

อินเตอร์เน็ตทำให้เกิด กูเกิล เป็นตัวอย่างเครื่องมือที่ดี สำหรับคนช่างตั้งคำถาม เพิ่มความสามารถในการสืบค้น ด้วยตนเอง เพลิดเพลินกับการหาข้อมูลและความรู้ ที่อยากรู้

โซเลียลมีเดียสารพัด ที่ช่วยให้ผู้คนติดต่อถึงกันได้คล่องตัวขึ้น เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี สร้างนิสัย “รับและส่งต่อความรู้(โดยไม่จัดการ)” และไม่ตั้งคำถาม

นั่นนำมาสู่ เหตุผลประการที่สอง ซึ่งอาจจะสำคัญกว่า ข้อแรก และทำให้คนที่จะทำเรื่องจัดการความรู้ (นอกร่างกาย) ต้องคิดหนัก (ทำไมต้องคิดหนัก ต้องอ่านต่อไปจนจบและต่อตอนหน้า) ก็คือ ความจริงที่ว่า ปัจจุบันมีการเผยแพร่ ให้ความรู้/ข้อมูล ด้วยหวังประโยชน์ส่วนตน จนนำไปสู่ “สภาวะไม่พึงประสงค์”

วันนั้นมีการพูดถึง สภาวะไม่พึงประสงค์ อย่างน้อยสองอย่าง

อย่างแรก คือ พฤติกรรมบริโภค ที่นำไปสู่อันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ

จะเรียกสั้นๆว่าบริโภค “เกินพอดี” ก็คงไม่ผิด

และอาจสร้างค่านิยม เสพมากกว่าสร้างจนเป็นนิสัยถาวร

อีกอย่างหนึ่ง คือ สภาวะ “แตกแยกเพราะแตกต่าง” แทนที่จะเกิดสภาวะ “อยู่ร่วม แม้แตกต่าง” ไม่ว่าจะเป็นความแตกต่าง ทางกายภาพ (ที่กำหนดโดยชีววิทยา) ทางความคิด ความเชื่อ หรือสารพัดสถานะ ที่สังคมช่วยกำหนดขึ้น

แต่พอสรุปว่า เราต้องจัดการความรู้ เพื่อให้ผู้คนในสังคมได้รับความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ เช่น มีการบริโภคที่ไม่เกินพอดี กลายเป็นคำถามตามมาอีกว่า

ใครจะเป็นคนบอกว่า อะไรพอดี หรือเกินพอดี อะไรเป็นประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์

ไม่น่าจะมีใครสามารถเป็นคุณพ่อ/แม่ รู้ดี มา”จัดการ” ได้หรอก

ทำให้นึกถึง แนวคิดสำคัญหนึ่งในสมัยเรียนสาธารณสุขศาสตร์ ที่คนทำงานด้านสาธารณสุขคุ้นเคยกันดี

นั่นคือ การแยกแยะ สิ่งที่เรียกว่า ความต้องการ (demand) กับ ความจำเป็น (needs)

อยากรู้ว่า เกี่ยวกับ เรื่องการจัดการความรู้ยังไง ต้องไปรออ่านตอนต่อไป

หมายเลขบันทึก: 600100เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2016 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 มกราคม 2016 16:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มาถึง แผนยุทธศาสตร์ KM 3.0

ไวมากครับ

ขอบคุณมากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท