รายวิชาศึกษาทั่วไป : ๐๐๓๒๐๐๓ ศิลปะวิจักษ์ (๑)


วันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ งาน CADL และอาจารย์ผู้สอนรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๓ ศิลปะวิจักษ์ จัดกิจกรรมถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอน หลังจากที่ผ่านภาคศึกษาแรกของการใช้หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๕๘ มีคณาจารย์ผู้สอนจากทั้งคณะศิลปกรรมศาสตร์ และวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จะขาดก็เพียงอาจารย์ด้านศิลปะการแสดงที่ไม่สามารถมาได้

ก่อนจะเสนอสรุปผลการประชุมแลกเปลี่ยนและถอดบทเรียน ผมจะกล่าวเกริ่นถึง ความเป็นมาเป็นไป และเจตนารมณ์ของรายวิชาศิลปะวิจักษ์ ทั้งมุมมองของผู้บริหารการศึกษาทั่วไป และสะท้อนจากความเข้าใจของตนเองจากที่ได้เรียนรู้จากอาจารย์ผู้สอน

"เจตนา" ของรายวิชา ๐๐๓๒๐๐๓ ศิลปะวิจักษ์

การศึกษาทั่วไป มุ่งพัฒนาให้นิสิตมีชีวิตที่สมบูรณ์ เป็นคนที่สมบูรณ์ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เป็นคนดีมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นพลเมืองที่มีคุณค่าทั้งต่อสังคมไทยและสังคมโลก ทั้งหมดนี้สรุปลงเป็นปรัชญาของศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยมหาสารคาม คือ "เข้าใจตนเองและผู้อื่น อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข"

รายวิชาศิลปะวิจักษ์เป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้นิสิต เข้าถึง "ความสุข" ในการดำเนินชีวิต ซาบซึ้งถึงความหมายและคุณค่าของธรรมชาติ งานศิลปะ เสียงเพลง และการแสดงต่างๆ รู้จักสุนทรียศาสตร์ด้านต่างๆ สามารถเข้าถึงความงามของสรรพสิ่งในชีวิต ดังที่กำหนดไว้ในคำอธิบายรายวิชาว่า ...

สุนทรียศาสตร์ ความซาบซึ้งทางความงามและคุณค่าของธรรมชาติ งานสร้างสรรค์ทางศิลปะ ทัศนศิลป์ การละคร ศิลปะการแสดง งานศิลปหัตถกรรม ดนตรี ลักษณะดนตรีพื้นบ้าน ดนตรีกลุ่มประเทศอาเซียน และดนตรีตะวันตกความเชื่อมโยงทางสุนทรียศาสตร์

Aesthetics, appreciation of beauty and value of nature, creative art, visual art, drama, performancing art, handicrafts, music, folk music, ASEAN and Western music, aesthetic connections

และกำหนดวัตถุประสงค์และจุดุม่งหมายของรายวิชา ไว้ ๓ ประการสำคัญคือ ๑) มีความรู้พื้นฐาน ๒) มีความซาบซึ้ง และ ๓) เห็นคุณค่า ของงานด้านทัศนศิลปื ดุริยางคศิลป์ และศิลปะการแสดง

การบริหารจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาแรก ๑/๒๕๕๘

การจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาแรกนี้ อาจารย์ผู้สอนแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน ให้อาจารย์ผู้สอนจาก ๒ คณะ รวมทั้งหมด ๑๒ ท่าน ได้แก่ ศิลปกรรมศาสตร์ ๖ ท่าน และจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ๖ ท่าน โดยมีผู้ประสานงานรายวิชาคือ อาจารย์ ดร.กฤษกร อ่อนละมุล

คณาจารย์จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านทัศนศิลป์ ๓ ท่าน คือ ผศ.ชำนาญ เล็กบรรจง อาจารย์ยุทธศิลป์ จุฑาวิจิตร และอาจารย์ปรีชา นวลนิ่ม ส่วนอีก ๓ ท่านเป็นอาจารย์ด้านศิลปะและการแสดง ได้แก่ อาจารย์พีระ พันลูกเท้า อาจารย์นฤบดินทร์ สาลีพันธ์ และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริมงคล โลหะมาตย์

คณาจารย์จากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีตะวันตก ๔ ท่าน คือ อาจารย์ ดร. กฤษกร อ่อนละมุล อาจารย์เฉลิมพล โลหะมาตย์ อาจารย์อรรถพงศ์ ภูลายยาว และอาจารย์สยาม จวงประโคน และด้านดุริยางคศิลป์ตะวันออก ๒ ท่าน คือ อาจารย์ยศพรรณ พันธะศรี และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คมกริช การินทร์

การจัดการเรียนการสอนในภาคเรียนแรก แบ่งเนื้อหาออกเป็น ๓ ส่วน คือ ทัศนศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และศิลปะการแสดง ส่วนละ ๕ สัปดาห์ แต่ละส่วนจะมีอาจารย์จากแต่ละสาขาเข้ามารับผิดชอบ นั่นคือ ใน ๑ กลุ่มเรียน จะมีอาจารย์ผู้สอน ๓ ท่าน เวียนกันตลอดเทอม

มีการบริหารจัดการสูงสุดโดยผู้ประสานงานรายวิชา และกำหนดผู้ประสานงานสาขาวิชาไว้สาขาละ ๑ ท่าน ได้แก่ อาจารย์ชำนาญ เป็นผู้ประสานงานด้านทัศนศิลป์ อาจารย์นฤบดินทร์ เป็นผู้ประสานงานด้านศิลปะการแสดง และอาจารย์สยาม เป็นผู้ประสานงานด้านการดนตรี และมีอาจารย์ ดร.กฤษกร ผู้ประสานงานหลัก

เนื่องจากรายวิชาศิลปะวิจักษ์แยกเนื้อหาตามประสบการณ์แต่ละด้านที่นิสิตจะได้เรียนรู้ จึงจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเป็นอาจารย์ผู้สอน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องแยกเป็น ๓ ด้านชัดเจน อาจารย์ ดร. กฤษกร ท่านจัดทำตารางแต่ละกลุ่มออกมาอย่างละเอียด ดังภาพด้านล่าง .. การจัดการแบบนี้น่าจะเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างของการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม


จะสังเกตว่า ในภาคการศึกษาแรกนี้ เนื้อหายังมีลักษณะของการบรรยายสูง เช่น ความหมาย ประวัติความเป็นมา องค์ประกอบหรือประเภท ฯลฯ แม้จะมีส่วนตอนท้ายที่เน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ... ในส่วนนี้ ในที่ประชุมอาจารย์ผู้สอนก่อนการสอนครั้งแรก ได้ทำความเข้าใจร่วมกันแล้ว สิ่งที่ควรจะเน้นที่สุดคือ การเข้าถึงหรือซาบซึ้งในสุนทรียศาสตร์ด้านต่างๆ ในการดำเนินชีวิต หรือก็คือ เน้นการนำไปใช้มากที่สุด โดยจัดให้เกิดกระบวนการเรียนรู้แบบตื่นตัว (Active Learning) มากกว่าการบรรยาย


อาจารย์ผู้สอนบอกว่า ในการสอนจริงๆ นั้น อาจารย์ผู้สอนได้ใช้ใบงานหรือใบกิจกรรม และใช้สื่อที่หลากหลาย รวมทั้งการสาธิตหรือแสดงจริงหน้าชั้นเรียนอยู่แล้ว แต่เนื่องจากระยะเวลาในการพัฒนารายวิชานั้นกระชั้นเกินไป จึงขอพักไว้พัฒนาร่วมกันในปีการศึกษาต่อไป





บันทึกหน้า มาว่ากันเรื่องสรุปการแลกเปลี่ยนและผลการถอดบทเรียนจากภาคเรียนแรกครับ

หมายเลขบันทึก: 600098เขียนเมื่อ 28 มกราคม 2016 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2016 22:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท