วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : ว่าด้วยการบูรณาการทีมสอนแบบยกทีมยกคณะ (คณะวิทยาการสารสนเทศ)


เป็นกระบวนการที่พยายามสื่อให้นิสิตได้ทำความรู้จักกับตัวเองและคนรอบข้างอย่าง “จริงจังและจริงใจ” รวมถึงการกล้าหาญที่จะแบ่งปันสิ่งต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร และพร้อมที่จะเกี่ยวก้อยประคองกันในระยะเส้นทางที่ยังต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกัน



จากการได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะวิทยาการสารสนเทศ เมื่อวันที่ 13-15 มกราคม 2559 มีประเด็นมาเล่าสู่กันฟัง ดังนี้นะครับ




บูรณาการยกทีม : ยกคณะ

วิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของคณะวิทยาการสารสนเทศ มิใช่แค่การบูรณาการการเรียนการสอนในทุกหลักสูตร (6 หลักสูตร) เข้าด้วยกันเท่านั้น หากแต่เป็นการบูรณาการของสองฝ่ายเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน คือ “ฝ่ายกิจการนิสิต” (ฝ่ายพัฒนานิสิต) ที่มีอาจารย์ธิติพัทธ์ ลิ้มสัมฤทธิ์นิภา (รองคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและศิลปวัฒนธรรม) และ “ฝ่ายบริการวิชาการ” ที่มี ดร.คชากฤษ เหลี่ยมไธสง (รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรมและบริการวิชาการ) กำกับดูแล

นอกจากนั้นยังออกแบบระบบและกลไกการเรียนการสอนโดยให้มีผู้ประสานงานขึ้นมาอีก 1 คนนั่นก็คือ “ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา” ผู้ซึ่งเป็นผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิต และเป็นฟันเฟืองสำคัญของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่กำลังขับเคลื่อนเรื่องงานบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “หนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน”

ซึ่งในทุกๆ ชั่วโมงของการจัดการเรียนการสอน จะพบว่ามีคณาจารย์อยู่ประจำอย่างหลากหลาย บ้างทยอยแวะเวียนมาสังเกตการณ์ หรือไม่ก็ฝังตัวดูแลจนจบชั่วโมง เช่นเดียวกับมีทีม “นิสิต” มาช่วยงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง นับตั้งแต่ช่วยจัดห้อง เตรียมสื่อ แจกใบงาน บันทึกภาพ
– เรียกได้ว่ายกกันมาทั้งคณะก็ไม่ผิด

นี่คือภาพแห่งการมีส่วนร่วมที่น่าสนใจ ตราบเมื่ออาจารย์เป็นหนึ่งเดียว นิสิตก็ง่ายต่อการเป็นหนึ่งเดียว เพราะอย่างไรเสีย “ลูกเป็ดย่อมเดินตามแม่เป็ด” อยู่วันยังค่ำ




เปิดหัว จั่วเรื่อง : เชื่อมประสานสู่การเรียนรู้

ก่อนการบรรยายอย่างเป็นทางการ ร องคณบดีฝ่ายพัฒนานิสิตฯ รับหน้าเสื่อเป็นโต้โผหลักในการมา “เปิดหัวจั่วเรื่อง” เพื่อนำเข้าสู่การเรียนรู้ นับตั้งแต่เปิดคลิปว่าด้วย “ความเป็นนิสิต มมส” เชื่อมโยงวาทกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยม หรือกระทั่งวาระ 48 ปีของมหาวิทยาลัยฯ

รวมถึงการบอกเตือนเกี่ยวกับกฎกติกามารยาทพื้นฐานของการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น การแต่งกาย การใช้มือถือ เป็นต้น

มิหนำซ้ำยังเชื่อมโยงความเป็นวิชาหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนกลับไปอยู่วิชาการพัฒนานิสิตพอเป็นพิธี ซึ่งผมว่าสำคัญมาก ไม่ใช่การยึดติดกับอดีต หากแต่กำลังสื่อถึงพัฒนาการของการเรียนรู้ของทั้งสองรายวิชาการ และเชื่อมประสานให้เห็นองค์ความรู้ที่เหมือนหรือคล้ายกันนั่นเอง

ถัดจากนั้นจึงทำการสะท้อนผลการเรียนรู้ของชั่วโมงที่ผ่านมาให้นิสิตได้รับรู้ร่วมกัน เสมือนยกกระจกบานใหญ่กลับมาให้นิสิตได้ “ส่องดูตัวเอง” อีกรอบ –

ทั้งปวงนั้นผมถือว่าเป็นเสมือนการปฐมนิเทศกรายๆ เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อนำเข้าสู่บทเรียนอย่างมีกระบวนการให้ตื่นตัวและชวนคิดตามเป็นระยะๆ มิใช่ป้อนความรู้ผ่านการบรรยายโดยไร้ซึ่งสื่อการเรียนรู้ หรือหากมีก็เป็นแต่เพียงสื่อที่ไร้ซึ่งวิธีการอันมีชีวิตชีวา




คณบดีพบปะ : บอกเล่าหมุดหมายของการเป็นนิสิต มมส

ประเด็นหลักการเรียนรู้ในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ยุทธศาสตร์ของการพัฒนานิสิต” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ล้วนๆ นับตั้งแต่นโยบายการพัฒนานิสิตระดับชาติ คุณลักษณะพึงประสงค์ของนิสิต มมส – ปรัชญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และค่านิยมของนิสิต มมส –

สำหรับผู้บรรยายจะเป็นใครอื่นไม่ได้เลย นั่นคือ ผศ.ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ ผู้ซึ่งเป็นคณบดีคนปัจจุบัน และเป็นแกนหลักในการหนุนเสริมให้เกิดวลี/วาทกรรมอันเป็นค่านิยมของนิสิตที่ว่า MSU FOR ALL” (พึ่งได้)




เอาจริงๆ เลยนะ ไม่ได้มายกยอปอปั้นเป็นพิเศษ ผมชอบการบรรยายของท่านมาก สั้น กระชับ คมกริบ ได้สาระ แถมยังเห็นท่วงท่าอันสุขุม เรียบงาม อบอุ่น และแฝงพลังบางอย่างอยู่ในที

ที่ว่าชอบอีกอย่างก็คือ ท่านสามารถเชื่อมโยงให้นิสิตเห็นความเป็นมาเป็นไปของวิชาที่กำลังเรียนกับโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของมหาวิทยาลัยได้อย่างเป็นรูปธรรม แถมยังเชื่อมโยงมิติระดับมหาวิทยาลัยกับมิติทางคณะเข้าหากันได้อย่างน่าสนใจ

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อบรรยายเรื่องวิสัยทัศน์ เอกลักษณ์ ค่านิยม อัตลักษณ์ในระดับมหาวิทยาลัย ท่านก็นำประเด็นเดียวกันแต่เป็นใน “ระดับคณะ” มาผูกโยง และเทียบเคียงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อย้ำเน้นว่าทุกอย่าง “เป็นไปในทิศทางเดียวกัน... มิใช่มหาวิทยาลัยไปในอีกทิศทางหนึ่ง แต่คณะกลับเดินสวนทาง หรือเดินไปคนละทิศคนละทางกับมหาวิทยาลัยฯ"





ใช่ครับ-นั่นคือสิ่งที่ท่านกำลังสื่อสารให้นิสิตได้เรียนรู้ที่จะทำความเข้าใจกับ “หมุดหมาย (เป้าหมาย) ความเป็นนิสิต” ที่สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์และทิศทางที่มหาวิทยาลัยกำลังมุ่งไปสู่การรับใช้สังคม หรือการผลิตบัณฑิตออกสู่การเป็นพลังของการสร้างสรรค์สังคมนั่นเอง

- ผมว่า นั่นคือส่วนหนึ่งของการสะท้อนให้เห็นความเป็นหนึ่งเดียวที่ไม่สามารถแยกส่วนออกจากกันได้เลย ผมเองก็เชื่อว่า วันนี้นิสิตชั้นปีที่ 1 อาจจะยังเด็กเกินที่จะเข้าใจว่าหมุดหมาย หรือยุทธศาสตร์คืออะไร แต่ในภายภาคหน้าผมเชื่อเหลือเกินว่าพวกเขาจะเข้าใจ และยิ่งเมื่อผันตัวเข้าสู่การทำงาน หรือประกอบอาชีพ เขาจะยิ่งเข้าใจว่ายุทธศาสตร์องค์กรสำคัญกับเขาอย่างไร




รู้จักฉันรู้จักเธอ : เรามิได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้

รู้จักฉันรู้จักเธอ เป็นกระบวนการหลักที่ทีมกระบวนกรชอบนำไปใช้เปิดเวทีการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต โดยให้นิสิตวาดภาพอันเป็นเรื่องราวความสุข หรือความทรงจำของแต่ละคน จากนั้นก็นำภาพมาบอกเล่าสู่เพื่อนๆ ให้ได้ร่วมรับรู้ รับฟัง เพื่อบ่มเพาะหลักคิดแห่งการแบ่งปันประสบการณ์ชีวิต และย้ำเน้นถึงหลักคิดของการเป็น “สัตว์สังคม” ที่ยังต้องใช้ชีวิตและพึ่งพิงกันอย่างไม่รู้จบ โดยเฉพาะการพึ่งพิงในหลักสูตร-คณะ-มหาวิทยาลัยฯ ที่เป็นเศษเสี้ยวความจริงของสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ที่รอเวลาให้นิสิตได้ออกไปใช้ชีวิต

ดังนั้นกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอ จึงเป็นกระบวนการที่พยายามสื่อให้นิสิตได้ทำความรู้จักกับตัวเองและคนรอบข้างอย่าง “จริงจังและจริงใจ” รวมถึงการกล้าหาญที่จะแบ่งปันสิ่งต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร และพร้อมที่จะเกี่ยวก้อยประคองกันในตลอดระยะเส้นทางที่ยังต้องเผชิญชะตากรรมร่วมกัน

โดยส่วนตัวแล้ว-ผมมองว่า นี่คือกระบวนการที่ทำให้นิสิตได้เรียนรู้กันและกัน เป็นกระบวนการที่ขับเคลื่อนผ่านระบบและกลไกของความเป็น “ศาสตร์และศิลป์” หากแม้มีเวลากับกระบวนการนี้อย่างเต็มที่ ผมเชื่อเหลือเกินว่า จะกล่อมเกลาจิตใจของผู้ร่วมกระบวนการได้เป็นอย่างดี --






คลิป : เรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา 3 มิติ

ไม่เพียงแต่เฉพาะกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอเท่านั้นที่ทีมกระบวนกรหยิบยกไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ ทว่ายังได้นำคลิปกรณีศึกษาของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนไปให้นิสิตได้ดูได้ชมร่วมกันอีกต่างหาก

คลิปที่นำไปให้ดู เป็นภาพการทำงานของหลักสูตรในสังกัดคณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสายวิทย์-เทคโนโลยีเหมือนกับคณะวิทยาการสารสนเทศ แต่มีมิติทางสุขภาพ และสังคมศาสตร์มาเกี่ยวโยงอย่างเด่นชัด และบูรณาการได้ครบ 4 In 1 หรือกระทั่ง 5 In 1 ที่หมายถึง บริการวิชาการ > การเรียน > ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม > วิจัย และกิจกรรมนอกชั้นเรียน/กิจการนิสิต




กรณีคลิปที่นำไปเปิดนั้น เรามีเจตนาชัดเจนคือการสร้างความเข้าใจแก่นิสิตในเรื่องหลักคิดของการเรียนรู้ในวิชาดังกล่าวว่าเชื่อมโยงอยู่กับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยฯ ที่ว่าด้วยการ “บริการวิชาการแก่สังคม” อย่างไร และการบริการวิชาการดังกล่าวเชื่อมยึดอยู่กับวิชาชีพของนิสิตอย่างไร หรือกระทั่งนิสิตจะมีบทบาทต่อการเรียนรู้คู่บริการเช่นนั้นแค่ไหน

หรือกระทั่งการสรุปองค์รวมให้เห็นว่า เ ครื่องมือในกระบวนการรู้จักฉันรู้จักเธอร้อยรัดเป็นส่วนหนึ่งกับการขับเคลื่อนการเรียนรู้ว่าด้วยวิชานี้ หรือโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนอย่างไร –

ใช่ครับ มันอาจจะยังไม่ตกผลึกถึงขั้นความรู้-ทักษะ-ทัศนคติเสียทั้งหมด แต่ผมก็เชื่อมั่นว่า นี่คือบทเริ่มต้นที่ดีของการจัดการเรียนรู้ที่พยายามชี้ให้เห็นหลักคิดการเรียนรู้ 3 มิติ ได้แก่...

  • การใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
  • เรียนในแบบกระบวนการ/กิจกรรม
  • ใช้ชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ (ห้องเรียน)

หรือกระทั่งการเรียนจริง เพื่อให้รู้จริงผ่านการลงมือทำ และเรียนจริงเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้จริง ทั้งต่อตัวเราและผู้อื่น ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาเอาเป็นเอาตายกับการเรียนทางวิชาชีพในชั้นเรียนแต่ไม่ใยดีต่อการเรียนรู้ความเป็นจริงของสังคม...



หมายเหตุ

1.ค่านิยมคณะวิทยาการสารสนเทศ SMART – IT

S = Smart : เก่ง

M = Morality : คุณธรรม

A = Active, Alert : กระตือรือร้น

R = Responsibility : ความรับผิดชอบ

T = Team work : การทำงานเป็นทีม

I = Integrity : ความซื่อสัตย์

T= Technology literacy : รู้เท่าทันเทคโนโลยี

2.ภาพ โดย ผศ.ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา เยาวภา ปรีวาสนา



หมายเลขบันทึก: 599661เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2016 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)


“จริงจังและจริงใจ” ..... เป็นแนวคิดที่เยี่ยม มากๆ ค่ะ ขอบคุณค่ะ

การ เปิดสอนในรายวิชานี้เป็นเรื่องยากมากในการหาทีมทำงาน แต่ด้วยความมีจิตอาสาของคณาจารย์คณะวิทยการสารสนเทศ สามารถรวมกลุ่มในการทำงานได้ด้วยวิธีการเป็นพี่เป็นน้องและเป็นญาติกัน มากกว่าวิธีการอื่น ประกอบกับทีมที่เข้ามาทำงานนั้นมองทิศทางของการพัฒนานิสิตร่วมกันนั้นเอง อย่างไรก็ตามพวกเราทำงานแบบLearning by doing แบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ โดยก่อนการเรียนการสอนต้องมีการร่วมกินข้าวเที่ยงโส่เหล่กันทุกเที่ยงวันจันทร์ด้วยการเปลี่ยนกันจัดเตรียมอาหาร ผู้ประสานงานจะต้องเตรียมประเด็นในการประชุมร่วมกัน สัปดาห์แรกเราทำงานด้วยการที่มองไม่เห็นอะไร ทุกคนในทีมมโนตามผู้ประสานงาน แต่เมื่อถึงหน้างานเราสามารถแก้ไข จัดการได้อย่างลงตัว สัปดาห์ที่สอง ได้ทีมงานจากกองกิจการนิสิต มมส. มาร่วมทำกระบวนการ (ประกอบด้วย Phanat Preewatsana Rungrod Chalaemthaisong Suriya Ya Sonsura Yaowapa Preewassana จิรัฎฐ์ อภิวิชญ์ทีปกรและทีมสารสนเทศกองกิจการนิสิต มมส) กลุ่มแรกที่เรียน เกิดปัญหาหลายเรื่อง แต่พอกลุ่มที่ 2 และ 3 ทำให้งานราบรื่นดี หัวใจการทำงานครั้งนี้คืออาจารย์ทุกท่านต้องการพัฒนานิสิต ต้องการปฏิรูปการเรียนให้ออกนอกห้องเรียน ขอบคุณทีมงานทุกภาคส่วนที่มีส่วนคิด ทำ ช่วยเหลือ ส่งกำลังใจ อะไรก็ตามแต่ไม่สำคัญเท่าใจคนทำงาน Phanat Preewatsana ควรบอกว่า เพื่อนและลูกหลานเป็ดเดินตามป้าเป็ด 55555555555555 จบด้วยขำๆๆๆๆวันละนิดจิตแจ่มใส

แล้วจะมาขยายต่ออีกนะเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท