​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๙ : ชีวิตครู ชีวิตคือครู


ชีวิตครู ชีวิตคือครู

เขียนช้าไปกว่าวันครู คล้อยหลังไปสองสามวันเพราะติดเดินทางไปเดินทางมา ไม่ได้นั่งตกผลึกความคิด แต่ก็อยากจะเขียนเพราะอยาก

จำได้ว่าตอนที่คณะฯรับเป็นอาจารย์ ได้ไปสัมมนาอบรมเรื่องการเป็นอาจารย์ รู้สึกจะเป็นที่ตรัง โรงแรมธรรมรินทร์ และให้เราบรรยายความรู้สึก มีอยู่ตอนหนึ่งที่ได้พูดว่า "อาชีพหมอกับอาชีพครูนั้นมีความคล้ายคลึงหลายประการ และประการหนึ่งก็คือ ครูคือคนที่เมื่ออยู่ตรงหน้านักเรียน จะเกิดความคิดคำนึงว่าคนข้างหน้าเติบโตได้ รู้มากขึ้นได้ มีปัญญามากขึ้นได้ และในการนั้นสิ่งที่เราพูด เรากระทำ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ด้วย ส่วนหมอก็คือคนที่เมื่ออยู่ตรงหน้าผู้ป่วยก็จะเกิดความคิดคำนึงว่า คนข้างหน้ากำลังทุกข์ แต่ความทุกข์ของเขานั้นบรรเทาได้ หายได้ และในการนั้น สิ่งที่เราพูด เรากระทำ อาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ด้วย"

น่าจะเป็นประมาณปี ๒๕๓๕ หรือ ๒๒ ปีมาแล้ว ถ้าจะนำมาใช้กับสิ่งที่เคยได้รับและสิ่งที่พยายามจะกระทำ "ครูแพทย์ก็คือ คนที่เมื่ออยู่ตรงหน้าผู้ป่วยและนักเรียนแพทย์ จะเกิดความคิดคำนึงว่า คนเบื้องหน้าจะทุกข์น้อยลง และนักศึกษาเบื้องหน้ากำลังจะรำ่เรียนวิธีทำให้คนทุกข์น้อยลง ในการนั้นสิ่งที่เราทำ และสิ่งที่เราพูด จะมีส่วนเกี่ยวข้องได้ด้วย"

วิชาแพทย์นั้นคือการเยียวยามนุษย์ เป็นศักยภาพที่ทรงพลังของเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิต ศิลปศาสตร์แห่งการเยียวยาจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อหัวใจของเราศิโรราบต่อหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์นี้ และเมื่อวันที่เราประกาศปวารณาตนเองต่อคณาจารย์และสังคมว่าเราจะใช้ศิลปศาสตร์นี้ให้ตรงต่อธัมมะแห่งวิชาชีพ เป็นสัจจะที่จะคุ้มครองชีวิตเราตลอดไป สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ได้มาตอนเป็นนักเรียน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา และเราได้พบว่าศิลปศาสตร์ทั้งหมดไม่ได้อยู่แต่เฉพาะในห้องบรรยายอีกต่อไป จริยะต่างๆได้มาจากการแสดงของครูบาอาจารย์ และกล่อมเกลาโดยพ่อแม่ที่บ้าน ผสมกลมกลืนกัน ความสำคัญของจริยะต่างๆนั้นสะท้อนกลับมาจากครูผู้ยิ่งใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งคือ ผู้ป่วยและญาติ ที่สละร่างกาย ความทุกข์ ความหวัง เข้ามาสัมพันธ์กับสิ่งที่เรากำลังจะคิด กำลังจะพูด และกำลังจะกระทำ

ไม่เพียงแค่นั้น ยังสัมพันธ์กับสิ่งที่เราไม่ได้คิด สิ่งที่เราไม่พูด และสิ่งที่เราไม่กระทำด้วย คือ ชีวิตเราทั้งหมด

การเป็นครู รวมทั้งการเป็นครูแพทย์จึงเป็นการภาวนาที่ดี ที่ประเสริฐ อยู่ในสถานะหรือสถานที่อันเป็นสัปปายะ คือ เอื้อต่อการเจริญภาวนา เอื้อต่อการเกิดปัญญา

สิ่งเดียวที่พอจะทำได้ในกำลังที่มี ก็คือ ดำเนินรอยตามปรมาจารย์ผู้ได้อบรมสั่งสอนมา แม้ว่าจะเหนื่อยและท้อแท้บ้างเป็นปกติ แต่สิ่งที่ได้รับมานั้นมากเกินไปกว่าเราจะเลิกเพียงเพราะอุปสรรคเล็กๆน้อยๆเหล่านี้

รำลึกถึงครูบาอาจารย์ พ่อแม่ และคนไข้ทุกๆคน รวมทั้งนักเรียนทุกท่าน

นพ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันจันทร์ที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๗ เวลา ๙ นาฬิกา ๔๓ นาที
วันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 599659เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2016 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2016 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท