​การทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ


คนพิการก็คือคนที่ยังมีชีวิตเหมือนคนทั่วไป เขามีร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ แต่ เขาอาจมีใจที่เข้มแข็งกว่าคนที่ปกติครบ ๓๒ ก็ได้

การทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการ *

ความนำ

บทความนี้เรียบเรียงจากการถอดบทเรียน โครงการพัฒนาส่งเสริมศูนย์ประสานงานคนพิการในชุมชน จัดทำแผนการดูแลคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนพิการในพื้นที่เป้าหมายได้มีหลักประกันสุขภาพและได้รับการดูแลแบบองค์รวมและพัฒนาการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จแก่คนพิการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมการถอดบทเรียน“จัดทำแผนการดูแลคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ” เป็นหนึ่งในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ที่มีอาสาสมัครดูแลคนพิการเป็นคนต้นเรื่องในการขับเคลื่อนในบทบาทของภาคประชาชน มีการประสานความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมลงมือปฏิบัติการจริง ร่วมประเมินผล กับกองสวัสดิการสังคม กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โดยมีสมาชิกจิตอาสา อาสามาช่วยเหลือกลุ่มคนผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะคนพิการ ที่พวกเขามีสิทธิมีโอกาส หรือทราบว่ามีโอกาสแต่ไม่ทราบว่าจะขอรับโอกาสนั้นได้อย่างไร

ความสำคัญของการพัฒนาคนพิการโดยชุมชน

แนวคิดการพัฒนาและฟื้นฟูคนพิการโดยชุมชนริเริ่มมาจากองค์การอนามัยโลก WHO เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว มีชื่อศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Community-based Rehabilitation: CBR ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยแบบง่ายๆได้ว่าการพัฒนาคนพิการโดยชุมชน เรียกเป็นตัวย่อภาษาอังกฤษได้ว่า ซี.บี.อาร์ C.B.R. แนวคิดดังกล่าวเน้นการสร้างและสนับสนุนให้ชุมชนซึ่งเป็นสถาบันหลักหนึ่งในสังคมเป็นฐานในการพัฒนาคนพิการโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเราสามารถค้นพบศักยภาพและภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่ามากมายอยู่ในชุมชนข้อดีของการพัฒนาและฟื้นฟูคนพิการโดยชุมชนมีหลายประการ ได้แก่ประการแรกเป็นการประหยัดและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการช่วยเหลือคนพิการ และผู้ด้อยโอกาสรวมทั้งการใช้แนวทางการพัฒนาคนพิการโดยชุมชนเป็นการประหยัดกว่าการจัดตั้งสถานสงเคราะห์ศูนย์หรือบ้านพักคนพิการเป็นอย่างมาก เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเงินเดือนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ ค่าสาธารณูปโภค ค่าอาหาร ฯลฯแต่เน้นที่การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้วในชุมชน เช่น สมาชิกในครอบครัวของคนพิการอาสาสมัครในชุมชนสามารถช่วยดูแลและฝึกคนพิการได้หากได้รับการฝึกฝนอย่างดีพออุปกรณ์ที่ใช้ในการพัฒนาศักยภาพสามารถประยุกต์จากของใช้พื้นบ้านในท้องถิ่นประการที่สองการพัฒนาคนพิการโดยชุมชนเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนเองคนในชุมชนได้เรียนรู้ได้ฝึกปฏิบัติร่วมกันให้สามารถบริหารจัดการโครงการหรือกิจกรรมด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการได้ซึ่งประสบการณ์บทเรียนดังกล่าวสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานพัฒนาชุมชนพัฒนากลุ่มผู้ด้อยโอกาสอื่นๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วยและประการสุดท้ายเป็นการสนับสนุนให้คนพิการได้ใช้ชีวิตอยู่อย่างกลมกลืนกับสังคมชุมชนโดยไม่แบ่งแยกซึ่งจะทำให้คนพิการได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนและสังคมอย่างมีความสุข แทนที่จะต้องย้ายตัวเองไปอยู่ในสถานสงเคราะห์หรือบ้านพักคนชรา และใช้ชีวิตที่มีวิถีชีวิตแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง

ในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ.๒๕๓๔ ได้กำหนดความหมาย การเสริมสร้างสมรรถภาพหรือการเสริมสร้างความสามรถของคนพิการให้มีสภาพที่ดีขึ้น โดยอาศัยวิธีการทางการแพทย์ ทางการศึกษา ทางสังคม และการฝึกอาชีพ เพื่อให้คนพิการได้มีโอกาสทำงานหรือดำรงชีวิตในสังคมทัดเทียมคนปกติ และในมาตรา ๑๕ ได้กำหนดไว้ว่าคนพิการที่ได้รับการจดทะเบียนตามมาตรา ๑๔ ให้ได้รับการพัฒนาและฟื้นฟูสมรรถภาพดังต่อไปนี้

๑. บริการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยวิธีทางการแพทย์และค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ เพื่อปรับสภาพร่างกาย ทางสติปัญญาหรือทางจิตใจหรือเสริมสร้างสมรรถภาพให้ดีขึ้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

๒. การศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับหรือการศึกษาสายอาชีพหรืออุดมศึกษา ตามแผนการศึกษาแห่งชาติตามความเหมาะสมซึ่งให้ได้รับโดยการจัดเป็นสถานศึกษาเฉพาะหรือจัดรวมในสถานศึกษาธรรมดาก็ได้ โดยให้ศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาการสนับสนุนตามความเหมาะสม

๓. คำแนะนำชี้แจงและปรึกษาเกี่ยวกับการประกอบอาชีพและการฝึกอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและสมรรถภาพที่มีอยู่เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้

๔. การยอมรับและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่างๆที่จำเป็นสำหรับคนพิการ [๑]


กล่าวโดยสรุป สิทธิคนพิการในด้านการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพ ตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ มีดังนี้

๑. ด้านการแพทย์ การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ในด้านต่างๆ รวมทั้ง อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ในการบำบัดรักษา

๒. ด้านการศึกษา ให้การศึกษาในทุกระดับที่เหมาะสมกับสภาพความพิการ รวมทั้งอุปกรณ์การศึกษา

๓. ด้านอาชีพ การแนะนำอาชีพ การฝึกอาชีพ การประกอบอาชีพและการเข้าทำงานสถานประกอบการในอัตราที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น

๔. ด้านสังคม การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม โดยมีสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะและความช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐ

สิทธิและศักดิ์ศรีของคนพิการ

ประกาศขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของคนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ โดยกรอบแนวคิดนี้ยืนยันให้การส่งเสริมสนับสนุนคนพิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้ให้มีสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆในสังคม ให้คนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิที่จะได้รับการบริการทางการแพทย์การศึกษา และฝึกฝนอาชีพตามความสามารถสูงสุด ได้รับหลักประกันทางเศรษฐกิจในระดับที่สามารถจะดำรงชีพได้ได้อาศัยอยู่กับครอบครัวและชุมชนรวมถึงสิทธิที่จะมีผู้ปกครองเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์สิทธิได้รับความคุ้มครองไม่ถูกแสวงประโยชน์หรือถูกกระทำอันทารุณกรรมดูถูกเหยียดหยามหรือการใช้ความรุนแรง เป็นต้น และในวันที่๙ ธันวาคม ๒๕๑๘ องค์การสหประชาชาติได้ประกาศปฏิญญาว่าด้วยสิทธิคนพิการซึ่งได้รับ ได้เน้นให้เห็นถึงสิทธิของคนพิการที่จะต้องได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์มีสิทธิโดยปราศจากข้อโต้แย้งใดๆ อันระบุไว้ในประกาศตามหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิของคนพิการได้มีการกำหนดไว้อย่างเด่นชัดเพิ่มเติมจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนเพื่อย้ำให้คนพิการพึงได้รับการคุ้มครองในฐานะของมนุษย์อย่างสมบูรณ์เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีพมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมและสมบูรณ์ดังนี้ [2]

๑. คนพิการ หมายถึง ใครก็ตามที่ไม่สามารถปฏิบัติตามสิ่งที่จำเป็นที่คนปกติหรือชีวิตสังคมทั่วไปต้องทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือทั้งหมดได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นผลมาจากความบกพร่องทางร่างกายหรือสมอง โดยเป็นมาแต่กำเนิดหรือไม่ก็ตาม

๒. คนพิการควรได้รับสิทธิที่กล่าวถึงในประกาศนี้สิทธิเหล่านี้จะจัดให้คนพิการโดยไม่มีข้อแม้ใดๆ และไม่มีการแบ่งแยกเนื่องจาก เชื้อชาติผิว ศาสนา ภาษา สิทธิสถานการณ์อื่นใดเกี่ยวข้องกับคนพิการหรือครอบครัว

๓. คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนมีมาแต่กำเนิดคนพิการไม่ว่าจะมาจากชาติกำเนิดใด หรือมีลักษณะธรรมชาติและความมากน้อยของความพิการ และความบกพร่องต่างกันเพียงใดมีสิทธิพื้นฐานต่างกับเพื่อนร่วมชาติที่มีอยู่ในวัยเดียวกัน ซึ่งหมายถึงสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีพอสมควร และมีชีวิตสมบูรณ์เท่าที่จะเป็นได้เช่นเดียวกับคนปกติ

๔. คนพิการมีสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป

๕. คนพิการมีสิทธิตามที่ประกาศไว้ที่จะได้รับการฝึกให้เป็นคนพึ่งตนเองให้ได้มากที่สุด

๖. คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการรักษาด้านการแพทย์จิตวิทยา และการรักษาเพื่อให้ทำงานได้ดีรวมทั้งอวัยวะเทียมและกายอุปกรณ์ต่างๆ มีสิทธิที่จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านการแพทย์ด้านสังคม ด้านการศึกษา ด้านการฝึกอบรม และการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านอาชีพ มีสิทธิได้รับความช่วยเหลือคำแนะนำ การบริการเกี่ยวกับการจัดหางานทำ และบริการอื่นๆ ที่จะช่วยให้คนพิการได้พัฒนาความสามารถทักษะให้ถึงขีดสุด และช่วยทำให้กระบวนการที่จะจัดให้คนเหล่านี้เข้าร่วมชีวิตกับสังคมของคนปกติได้เร็วขึ้น

๗. คนพิการมีสิทธิได้รับความมั่นคง ปลอดภัยทางเศรษฐกิจและสังคม และมีสิทธิที่จะมีชีวิตดีพอควร เขามีสิทธิขึ้นอยู่กับความสามารถของเขาที่จะทำงานในหน้าที่หรือเข้าร่วมในอาชีพที่มีประโยชน์มีผลดีและได้รับความพอใจและมีสิทธิที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน

๘. คนพิการมีสิทธิที่จะทำให้ความต้องการพิเศษของเขาได้รับการพิจารณาในทุกขั้นตอนของการวางแผนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ และสังคม

๙. คนพิการมีสิทธิที่จะอาศัยอยู่กับครอบครัวของเขา หรือกับผู้ปกครอบที่รับเลี้ยง และเข้าร่วมในกิจกรรมสังคม การสร้างสรรค์หรือกิจกรรมด้านนันทนาการทั้งหมดจะไม่มีใครสามารถต่อต้านเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของคนพิการ หรือปฏิบัติต่อคนพิการแตกต่างไปจากคนปกติโดยไม่มีความจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในสถานที่ที่จัดให้เป็นพิเศษ สภาพแวดล้อม และความเป็นอยู่จะต้องคล้ายกับคนปกติที่อยู่ในวัยเดียวกันมากที่สุด

๑๐. คนพิการมีสิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการปฏิบัติที่จะเป็นการกีดกัน ทำร้าย หรือดูถูก

๑๑. คนพิการจะต้องทราบว่า เขามีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อความช่วยเหลือนั้น

จำเป็นมากต่อการที่จะช่วยป้องกันคนพิการเองและทรัพย์สินของเขา ถ้ากระบวนการทางศาลตัดสินไม่เห็นชอบต่อการให้ความช่วยเหลือกระบวนการทางกฎหมายที่จะนำไปใช้ตัดสินต่อไปก็จะต้องพิจารณาถึงสภาพร่างกายและสติปัญญาของคนพิการด้วย

๑๒. องค์กรของคนพิการต่างๆ อาจเป็นประโยชน์ในการให้คำแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับสิทธิของคนพิการ

๑๓. คนพิการ ครอบครัวของคนพิการ และชุมชน จะต้องได้รับการบอกเล่าโดยใช้วิธีการ

ที่เหมาะสมเกี่ยวกับสิทธิที่ประกาศไว้นี้ปฏิญญาสากลที่ว่าด้วยสิทธิคนพิการไทย พ.ศ. ๒๕๔๑ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๑ โดยมีเนื้อหาสาระ ดังนี้

๑๓.๑. คนพิการมีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพแห่งบุคคลย่อมได้รับคุ้มครองในฐานะพลเมืองไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีสิทธิต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ภายใต้ปฏิญญาฉบับนี้โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ และโดยปราศจากการแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา การเมือง ถิ่นกำเนิด เพศ อายุหรือสถานะอื่นใด

๑๓.๒. คนพิการมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง

๑๓.๓. คนพิการมีสิทธิเข้าร่วมในการตัดสินใจกำหนดนโยบาย และแผนงานทุกด้านที่เกี่ยวกับคนพิการทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น

๑๓.๔. คนพิการมีสิทธิได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนา ตั้งแต่แรกเกิดและแรกเริ่มที่พบความพิการ รวมทั้งผู้ปกครองและครอบครัวของคนพิการต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐในทุกด้าน เพื่อให้สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนาคนพิการอย่างเต็มศักยภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคล

๑๓.๕. คนพิการมีสิทธิได้รับการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพ เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างอิสระได้ด้วยตนเองอย่างเต็มศักยภาพของแต่ละบุคคล

๑๓.๖. คนพิการมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพในทุกระดับ ทุกรูปแบบของการจัดการศึกษา ตามความต้องการของคนพิการอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ และการศึกษาต่อเนื่องตลอดชีวิตโดยไม่จำกัดกีดกัน เลือกปฏิบัติหรือข้อยกเว้นใดๆ

๑๓.๗. คนพิการมีสิทธิและโอกาสได้รับการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ การฝีกอาชีพ การประกอบอาชีพทุกประเภท ได้รับการจ้างงาน หรือว่าจ้างเข้าทำงานตามความต้องการและความสามารถโดยได้รับค่าตอบแทนและสวัสดิการ ได้รับความก้าวหน้ารวมทั้งได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่มีการกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ

๑๓.๘. คนพิการมีสิทธิได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกคุกคามทางเพศ ทำร้ายร่างกายและจิตใจ กักขัง เอารัดเอาเปรียบ หรือแสวงหาประโยชน์ใดๆจากความพิการทั้งนี้ให้ได้รับความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

๑๓.๙. คนพิการมีสิทธิอยู่ร่วมกับครอบครัว ชุมชนของตน และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในกิจกรรมของครอบครัว ชุมชน และสังคม

๑๓.๑๐.คนพิการมีสิทธิได้รับสิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นจากรัฐเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป

๑๓.๑๑.คนพิการมีสิทธิได้รับการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ให้ครอบครัว ชุมชนและสังคมได้รับรู้และเข้าใจคนพิการในทางสร้างสรรค์โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิศักยภาพและความสามารถ รวมทั้งการบำเพ็ญประโยชน์ของคนพิการ

๑๓.๑๒. คนพิการมีสิทธิได้รับและเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของคนพิการ ทั้งนี้ต้องได้รับการสนับสนุนให้มีสื่อทุกประเภทที่เหมาะสมกับความพิการ รวมทั้งต้องจัดให้มีล่ามภาษามือ อักษรเบรลล์สื่ออิเลคโทรนิคหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆที่ใช้ในการสื่อสาร

๑๓.๑๓. คนพิการและครอบครัว ชุมชน สังคม มีสิทธิได้รับและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อทราบถึงสิทธิอันระบุไว้ในปฏิญญาฉบับนี้โดยทั่วถึง

๑๓.๑๔. รัฐต้องให้ความสำคัญและปฏิบัติตามพันธะสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ซึ่งได้ลงนามหรือตกลงร่วมกันในระดับประเทศและระดับนานชาติจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิคนพิการขององค์การสหประชาชาติและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิคนพิการไทยนั้น ได้ระบุสิทธิของคนพิการไว้อย่างครอบคลุมในทุกด้านไว้อย่างเด่นชัด และเพื่อให้คนพิการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีสิทธิและเสรีภาพแห่งบุคคลย่อมได้รับได้รับในฐานะพลเมืองไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมีสิทธิต่างๆ ตามที่ได้ระบุไว้ภายใต้ปฏิญญาฉบับนี้โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ดังนั้นคนพิการทางสายตาก็ควรได้รับแนวคิดและแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการตำบลปากพูนสิทธิต่างๆ ตามที่ระบุไว้ภายใต้ปฏิญญาฉบับนี้ด้วย [3]

การทำงานด้านคนพิการที่ผ่านของอาสาสมัครดูแลคนพิการ หลายครั้งหลายคราที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นักพัฒนา รวมทั้งคนในชุมชนไม่เห็นความสำคัญและไม่ให้ความร่วมมือกับการทำงานของอาสาสมัคร ต่างก็เห็นว่าสาเหตุ อาสาสมัครไม่มีความรู้ จึงทำให้มีผลต่อการดูแลคนพิการในด้านการฟื้นฟูฯ และพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของอาสาสมัครดูแลคนพิการอย่างมาก ที่สำคัญ คือต้องเปลี่ยนวิธีคิดของทุกภาคส่วนเสียใหม่ รวมทั้งคนในชุมชนเองด้วย โดยเปลี่ยนจากที่เคยมองว่า คนพิการ เป็นผู้น่าสงสาร ทำไม่ได้ ทำไม่เป็น แล้วหันมามองว่า คนพิการก็สามารถทำอะไรได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆ ที่เป็นคนปกติ สามารถที่จะเรียนรู้ได้ พัฒนาได้ และเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงการทำงานของอาสาสมัครดูแลคนพิการ ในการพยายามเปลี่ยนจากการเข้าไปค้นหาว่าอะไรคือปัญหาของคนพิการที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือและพัฒนา เปลี่ยนมาเป็นการพยายามเข้าไปค้นหาว่าอะไรคือโอกาสและต้นทุนเดิมที่คนพิการและครอบครัวมีอยู่ และอะไรคือสิ่งที่ควรจะส่งเสริม สนับสนุนเพิ่มเติม และแน่นอนว่าแนวคิดเหล่านี้มิใช่จะสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยเวลาในการคิดทบทวน ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง และพิจารณา รวมถึงการอาศัยกระบวนการที่เอื้อให้เกิดการคิดทบทวนเรื่องราวเหล่านี้ว่า คนพิการทุกคนต่างมีคุณค่าของความเป็นคนที่เท่าเทียม เพราะคนพิการทุกคนต่างก็มี ความหวัง ความห่วงกังวล สามารถที่จะเรียนรู้ เติบโต เปลี่ยนแปลง และพัฒนาได้

ดังนั้นในการพัฒนาศักยภาพคนพิการ การทำงานของอาสาสมัครดูแลคนพิการที่มุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคนพิการที่ยั่งยืน เป็นแนวคิดทีผ่านกระบวนการที่อาศัยการกระตุ้นหนุนเสริม และการเรียนรู้ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบทุกภาคส่วน ผู้ดูแลคนพิการ ชุมชน และอาสาสมัคร เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ คนพิการ ผู้ดูแล ชุมชน สามารถใช้ศักยภาพของตนเองในการจัดการพัฒนาด้านความหวัง ความห่วงกังวล และประเด็นที่จะพัฒนาด้านต่างๆ การพัฒนาศักยภาพคนพิการในส่วนการดำเนินงานของอาสาสมัครดูแลคนพิการมีดังนี้

๑. การเรียนรู้จากการกระทำในการปฏิบัติงานด้านคนพิการในชุมชน และประสบการณ์ของอาสาสมัครที่ต้องการพัฒนาคนพิการ

๒. การเปลี่ยนแปลงขบวนทัศน์ของอาสาสมัคร องค์ภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคีเครือข่าย ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตคนพิการใน

๓. มีการปรับแผนงานพัฒนานโยบายการทำงานด้านคนพิการขององค์กรที่รับผิดชอบ

๔. การถ่ายทอดองค์ความรู้ แนวคิด ความเชื่อกระบวนการทำงานด้านคนพิการ และรวมถึงการขยายผล

นอกจากนี้หัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ของการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการสังคม ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมและสามารถจัดการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพชีวิตของคนพิการ ได้ด้วยตนเอง คือ การเริ่มต้นจากการมองหาความเข้มแข็งหรือศักยภาพของคนพิการและคนในชุมชน แทนการเริ่มต้นจากการค้นหาปัญหาของคนพิการและคนในชุมชน เนื่องจากการมองหาปัญหาของคนพิการและคนในชุมชน แล้วจึงคิดหาวิธีการแก้ไขเป็นครั้งๆ ไปนั้นไม่สามารถที่จะช่วยแก้ปัญหาในระยะยาวได้ หรือไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ยั่งยืนนั่นเอง ทั้งนี้ทั้งนั้นประเด็นปัญหาในการดูแคนพิการคือ พยายามแก้ไขอยู่นั้นอาจไม่ใช่รากเหง้าที่แท้จริงของปัญหา การมองหาความเข้มแข็งและศักยภาพของคนพิการและชุมชน จึงเปรียบเสมือนการมองหาทุนตั้งต้นสำหรับการดำเนินงานด้านคนพิการ อีกทั้งยังเป็นการมองหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนพิการและชุมชน โดยชุมชน เพื่อชุมชน ในการดูแลคนพิการแบบเบ็ดเสร็จที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งมีองค์ประกอบหลักประกอบด้วย

๑. ความเป็นชุมชน คือ การมีส่วนร่วม การอยู่รวมกัน การมีความหลากหลายของคนพิการ การช่วยเหลือสนับสนุน ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสามัคคี การดูแลรักษาวัฒนธรรม ประเพณี มีการใช้และถ่ายทอดปัญญาภูมิท้องถิ่น มีการทรัพยากรร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น

๒. การดูแลใส่ใจ คือ การดูแลเอาใจใส่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ตนเอง ครอบครัว และชุมชน การทำงานแบบจิตอาสาหรืออาสาสมัคร ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และการมีจิตสำนึกรับผิดชอบต่อชุมชนร่วมกัน

๓. ภาวะผู้นำ คือ การที่คนในชุมชนมีความสามารถในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ลงมือปฏิบัติ ทบทวน ปรับปรุง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีความสามารถในการตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่คนในชุมชนมีการสร้างความสามัคคีและมีการทำงานเป็นทีม

๔. การเปลี่ยนแปลง คือ สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่หรือผลที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีความแตกต่างจาก กระบวนการทำงานร่วมกันของคนในชุมชน การเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึง การเปลี่ยนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ วิธีให้คุณค่าการทำงานคนพิการในชุมชน ที่นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการอย่างยั่งยืน

๕. ความหวัง คือ การมีเป้าหมายร่วมกันระหว่าง กองสวัสดิการสังคม กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม อาสาสมัครดูแลคนพิการ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ภายใต้ความสามารถ การลงมือทำ และการผลักดันให้เกิดได้จริง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

สรุป การทำงานเพื่อพัฒนาศักยภาพคนพิการในการให้บริการแก่คนพิการในทุกๆ ด้าน มีการสนับสนุน ให้โอกาส ให้ความช่วยเหลืออนุเคราะห์จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่ครบวงจรแก่คนพิการในทุกเพศ ทุกวัย ทุกประเภทของความพิการครอบคลุมแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถให้บริการและเสริมสร้างสมรรถภาพแก่คนพิการได้ ยังมีคนพิการอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบว่าตนเองมีสิทธิมีโอกาส หรือทราบว่ามีโอกาสแต่ไม่ทราบว่าจะขอรับโอกาสนั้นได้อย่างไรเช่นเดียวกับคนพิการอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ขอรับโอกาส หรือปฏิเสธโอกาส ต่างจากกลุ่มที่เรียกร้องหรือใช้ความพิการเป็นเครื่องมือต่อรองกับสังคมเพื่อหาโอกาสให้ตนเองตลอดเวลาและจะพบว่าคนพิการที่ประสบผลสำเร็จในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพต้องผ่านการต่อสู้เอาชนะปัญหาอุปสรรคมากมาย ต้องมีคุณสมบัติส่วนตัวที่สำคัญ คือมีพื้นฐานของความคิด อารมณ์ จิตใจ ที่ยอมรับในสภาพปัญหาของตนเอง ของครอบครัว มีขวัญกำลังใจในการต่อสู้ มีความอดทน ความมานะพยายามอย่างสูง และองค์ประกอบที่จะทำให้บุคคลมีคุณสมบัติดังกล่าวคือ มีความรู้ มีความเข้าใจที่ถูกต้อง คู่กับคุณธรรมที่ปลูกฝังในตัวคนพิการเอง ทั้งนี้เพราะสภาพทางสังคมที่ยังดูถูกความสามารถของคนพิการบวกกับรูปแบบและระบบการให้บริการที่ยึดติดกับทัศนคติของตัวบุคคล ไม่ใช่นโยบายที่ถือปฏิบัติเป็นหน้าที่ชัดเจน ในการให้บริการการฟื้นฟูสมรรถภาพและการเยี่ยมบ้านของทีมอาสาสมัครดูแลคนพิการ นั้นยังมองปัญหาเฉพาะด้านไม่ครอบคลุม มักให้ความสำคัญกับการให้คำแนะนำแต่ไม่ติดตามว่าเกิดการปฏิบัติตามหรือไม่ ไม่มีการวิเคราะห์และแก้ไขที่ต้นเหตุไม่ได้ตั้งเป้าหมายอนาคตระยะยาวสำหรับคนพิการเฉพาะราย ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ถือเป็นอุปสรรคที่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อปรับเปลี่ยนปรับปรุงแก้ไขภายใต้เหตุและปัจจัยที่เหมาะสม เพื่อให้คนพิการได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีตามอัตภาพของแต่ละบุคคลเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมที่สงบสุข

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๕, ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๔.

จีรพร แผ้วกิ่ง และ โสภา อ่อนโอภาส. วิถีชีวิตคนพิการทางสายตาในเขตกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๖.

อรรถพงศ์ สงวนเดือน. ความต้องการของคนพิการด้านบริการและการสงเคราะห์จากภาครัฐ. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๔๗.



* พระกัมพล ขิปฺปวิญฺญู (แย้มพรม) นางสาวพรทิพย์ แท่นทอง และคณะ นิสิตหลักสูตรพุทธศาตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช

[๑] สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ, พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ, ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๕ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔, หน้า ๒๗.

[2] จีรพร แผ้วกิ่งและโสภา อ่อนโอภาส, วิถีชีวิตคนพิการทางสายตาในเขตกรุงเทพมหานคร, กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, ๒๕๔๗. หน้า ๘.

[3] จีรพร แผ้วกิ่ง และโสภา อ่อนโอภาส, อ้างแล้ว หน้า ๒๗.

หมายเลขบันทึก: 599181เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2016 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2016 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เนื้อหาการตีพิมพ์ครั้งนี้เป็นการร่วมกันของสมาชิกกลุ่ม ทุกๆท่านขอจงรับส่วนบุญกุศลไปทุกท่านเทอญ


  • น่าสนใจมากเรื่องนี้เราควรให้ความสำคัญกับคนพิการบ้าง

บทความเรื่องนี้น่าจะนำไปต่อยอดเพื่อศึกษางานวิจัยเพราะเป็นเรื่องที่พิเศษ เหมาะแก่การวิจัยเพื่อพัฒนาสังคม โดยเฉพาะคนพิการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี