​"๒๔๕ ปี ประเทศสวางคบุรี - วัดคุ้งตะเภา วัดพระเจ้าตาก ที่ไม่มีพระเจ้าตาก"


"๒๔๕ ปี ประเทศสวางคบุรี - วัดคุ้งตะเภา วัดพระเจ้าตาก ที่ไม่มีพระเจ้าตาก"

สวางคบุรี เป็นเมืองพุทธศาสนา เหนือสุดของสยามในสมัยสุโขทัยอยุธยา โดยมีมหาธาตุเมืองฝางเป็นหมุดหมายสักการะดุจพระบาทสระบุรี

หลังกรุงศรีเสียแก่พม่า ในปี ๒๓๑๐ ได้เกิดชุมนุมอิสระมากมาย หนึ่งในนั้นคือชุมนุมเจ้าพระฝาง (พระสังฆราชเรือน) อันมีเมืองสวางคบุรีเป็นศูนย์กลาง (ปัจจุบันอยู่ใน ต.ผาจุก อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์) ภายใต้สุญญากาศทางอำนาจแห่งกรุงศรีที่พึ่งล่มสลายลง "สวางคบุรี" ที่ก่อตั้งใหม่โดยเจ้าพระฝาง อาจเกิดขึ้นภายใต้สำนึกของความเป็น "คนเมืองเหนือ" สวางคบุรี จึงนับเป็นประเทศ ๆ หนึ่ง (State) ได้ในทางกฎหมาย (หากมองในบริบทนิยามของรัฐในปัจจุบัน)

หากมองแบบค่อนข้างเพ้อฝัน สวางคบุรี กลายเป็นประเทศใหม่ ที่มีเจ้าผู้ปกครองรัฐเป็นพระสงฆ์ (เหมือนทิเบตที่มีดาไลลามะ) เป็นอิสระ มีอธิปไตยโดยสมบูรณ์ ทั้ง นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ดังปรากฎภาพการกรีฑาทัพด้วยธรรม ยึดพิษณุโลกอย่างง่ายดาย โดยชาวบ้านเปิดประตูเชิญเข้าเมืองโดยไม่ต้องรบ มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลตลอดดินแดนสุโขทัยโบราณ (Upper Siam) จากชัยนาท พิษณุโลก จนไปจรดหลวงพระบางราชธานี

อย่างไรก็ดี สวางคบุรีในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรอัปเพอร์ไซแอม มีอายุได้เพียง ๓ ปี จึงมาสิ้นสุดลง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จยกทัพขึ้นมาปราบปรามเอาชนะชุมนุมเจ้าพระฝางเมืองสวางคบุรี ได้ในปลายปี ๒๓๑๓ พร้อมกับการกล่าวถึงเจ้าพระฝาง ในฐานะ "ผู้ร้าย" ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร

การปรามชุมนุมเจ้าพระฝางสวางคบุรีได้เป็นชุมนุมสุดท้ายนั้น นับเป็นการสิ้นสุดแห่งยุคจลาจลหลังกรุงศรีแตก พระเจ้าตากสิน ได้ประทับอยู่เมืองสวางคบุรีถึง ๒ เดือน เพื่อเกลี้ยกล่อมราษฎรที่แตกฉานซ่านเซ็นให้กลับมาอยู่ตามภูมิลำเนาเดิม แล้วสำรวจไพร่พลเมืองเเหนือทั้งปวง รวมทั้งชำระคดีสงฆ์ จัดการสมโภชอาราม และเย็บไตรถึง ๑,๐๐๐ ไตร เพื่อบวชพระทั้งหัวเมืองฝ่ายเหนือใหม่ตลอดฤดูน้ำ

นัยหนึ่ง การสมโภชทั้งปวง อาจเป็นการพักรบอันยาวนาน เพื่อบำเพ็ญกุศลฉลองการสถาปนาอาณาจักรธนบุรี เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจหนึ่งเดียวหลังกรุงศรีแตก ได้อย่างสมบูรณ์

ดังปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล วัดคุ้งตะเภา เป็นเพียงวัดแห่งเดียวในปริมณฑลเมืองพิชัยและสวางคบุรี ที่ปรากฏหลักฐานการสถาปนาวัดในปีเดียวกันนั้น จึงเป็นอื่นไปไม่ได้ว่า วัดคุ้งตะเภา ย่อมมีความเกี่ยวข้องกับการอันเนื่องด้วยสมโภชสถาปนาอาณาจักรธนบุรี และปฐมบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าแห่งกรุงธนบรีอย่างแยกเสียไม่ได้

ชื่อ "คุ้งตะเภา" จึงอาจเป็นมงคลนามที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระราชทานไว้ให้ตั้งแต่ครั้งนั้นเป็นต้นมา พร้อม ๆ กับ ครัวเรือนชาวคุ้งตะเภาจากสวางคบุรีดั้งเดิม ที่ได้รับพระราชทานไร่นาที่ดินให้โยกย้ายมาตั้งถิ่นฐานในถิ่นใหม่ การปรากฎขึ้นของ ขุนภูมิคุ้งตะเภา บรรดาศักดิ์พระราชทาน และการเจริญขึ้นของชุมชนท่าเสา ท่าอิฐ พร้อมกับความโทรมทรุดของสวางคบุรี เมืองโบราณ ๗๐๐ ปี ที่บทบาทในฐานะทางผ่านการค้าสำคัญ และเมืองหลวงแห่งอาณาจักรระยะสั้น (เมืองกบฎ) ถูกลดลงในภายหลัง ผนวกกับการเปิดเส้นทางการค้าใหม่กับหัวเมืองล้านนาในยุคต่อมา

รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม...

วันนี้ บรรจบครบรอบ ๒๔๕ ปี แห่งเหตุการณ์ใหญ่ในอดีต ก็ทำให้หวนคิดไม่ได้ว่า หรือทว่าบุญญาบารมีแห่งสวางคบุรี ควรได้เวลาแห่งการรื้อฟื้นคืนถาม เพื่อย้อนคืนความสำคัญในฐานะอารามสำคัญแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย หลังจากวัดแห่งนี้ถูกละเลยมานานนับหลายสิบ ๆ ปี

หากพระบารมีแห่งพระสารีริกธาตุ และพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าผู้เคยทรงมีพระราชศรัทธาเป็นที่ยิ่ง ตั้งแต่สมัยอาณาจักรสุโขทัย (พญาลิไทย มาสักการะประดิษฐานพระพุทธบาท ปลูกมหาโพธิ์) อยุธยา (พระเจ้าบรมโกศ มาซ่อมบูรณะสักการะศรัทธา) ธนบุรี (พระเจ้าตาก เคยเสด็จมาสักการะ) รัตนโกสินทร์ (ร.๑,๒,๔,๕,๖ เคยเสด็จมาสักการะทั้งสิ้น) เป็นพยานช่วยค้ำ ถึงความสำคัญสูงสุดในฐานะอารามอันมีประวัติศาสตร์ ศักดิ์สิทธิ์ สืบต่อยาวนานสูงค่า กว่าทุกวัดอารามแม้ทั้งปวงในเขตแดนอุตรดิตถ์นี้

การรองรับถวายศักดิ์ศรีแห่งพระราชศรัทธาของพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ผู้ทรงมีพระราชศรัทธาต่อวัดพระฝางสวางคบุรี ทุก ๆ พระองค์ ด้วยการร่วมเป็นกำลังใจและช่วยกันผลักดันการพัฒนาวัดต่อจากนี้ไป เพื่อยกสถาปนาวัดพระฝางกลับคืนคงเป็นพระอารามหลวงดุจเดิมอีกครั้ง จึงควรแก่ฐานานุศักดิ์แห่งพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าเท่านั้นเทียว!

/// วัดคุ้งตะเภา อาจดูห่างเหิน ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระฝาง แต่ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ดังกล่าวมาข้างต้น วัดคุ้งตะเภากับวัดพระฝางฯ นับว่ามีความเกี่ยวข้องอย่างสูงยิ่ง ในบริบทความเปลี่ยนแปลงและการโยกย้ายของผู้คน เมื่อ ๒๔๕ ปี ที่ผ่านมา ภายใต้การมาถึงของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช...

ปัจจุบัน

* * * เมืองสวางคบุรี ที่ถูกละทิ้งชื่อจากราชการ ไม่ปรากฎแม้ในนามหมู่บ้านตำบล?

* วัดพระฝาง วัดของพระฝาง ที่ยังคงไม่มีอนุสาวรีย์พระฝาง?

* วัดพระฝาง อารามอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่มีแม้เจ้าอาวาส?

* วัดคุ้งตะเภา วัดพระเจ้าตาก ที่ยังคงไม่มีอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก?

* * * ตำบลคุ้งตะเภา นามพระราชทาน ที่คนในตำบลก็ยังไม่รู้ที่มาที่ไป (บางคนดูถูกชื่อนี้ กลับไปใช้ชื่อแปลก ๆ มาตั้งถนนแทน - ...เมื่อไม่รู้ จึงไม่ภูมิใจ)

ไม่ว่าปัจจุบันจะเป็นเช่นไร แต่ประวัติศาสตร์ ย่อมย้ำเตือนเสมอ ถึงความเกี่ยวข้องสำคัญยิ่งนี้ ๒๔๕ ปี แห่งการสถาปนาวัดคุ้งตะเภา และอาณาจักรธนบุรีอย่างสมบูรณ์!

อนาคต ย่อมดีกว่านี้... ถ้าหันมาร่วมกันภาคภูมิใจรากตน

อ้างอิง

La Loubère, Simon de (1693). A New Historical Relation of the Kingdom of Siam. tr. A.P. Gen. R. S.S.. London: F.L..

Pallegoix, Jean Baptiste. (1854). Description du Royaume Thai ou Siam. Paris : Mission de Siam.

_____________. (ม.ป.ป.). พระราชพงษาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ระหว่างจลาจล จุลศักราช ๑๑๒๙-๑๑๓๐. กรุงเทพฯ : (ม.ป.ท.).

ขอบคุณ

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร, ฝ่ายบริการหนังสือตัวเขียนและจารึก กองหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร


File:Wat Phra Fang 09.JPG

หมายเลขบันทึก: 598927เขียนเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 22:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ธันวาคม 2015 22:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท