ห้องเรียนกลับทาง Flipped Classroom


ในช่วงสามถึงสี่ปีก่อนวิธีการสอนห้องเรียนกลับทาง(Flipped classroom) โดย Bergman and Sams (2012) ได้ออกหนังสือออกซึ่งพยายามที่จะกลับวิธีการเรียนการสอนโดยให้นักเรียนเอาการบ้านมาทำในห้องเรียนและเอาการบรรยายไปเรียนที่บ้าน ด้วยวิธีนี้จะทำให้ครูมีเวลาที่จะทำกิจกรรมในห้องเรียนมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลกับเนื้อหาจำนวนมากที่สอน และสามารถที่จะรู้ว่านักเรียนเข้าใจในสิ่งที่สอนหรือไม่จากการทำกิจกรรม ดังนั้นการที่จะทำการสอนวิธีนี้ได้โดยพื้นฐานคือ คนสอนจะต้องอัดวีดีโอคลิปเนื้อหาของตัวเองเพื่อให้นักเรียนได้เตรียมฟังบรรยายนอกห้องเรียนได้ ส่วนหนึ่งที่เป็นความท้าทายของ Flipped classroom สำหรับนานาชาติคือ ถ้าผู้เรียนไม่เตรียมเนื้อหาก่อนเข้าห้องเรียน ผู้สอนจะเริ่มทำกิจกรรมยากขึ้นเนื่องจากผู้เรียนไม่มีความรู้พื้นฐานเพียงพอที่จะทำกิจกรรม ส่วนนี้จึงเป็นที่มาของการทดลองดัดแปลงหลักการของ Flipped classroom เพื่อให้เข้ากับบริบทของผู้เรียนไทย ในช่วงสามปีที่แล้วข้าพเจ้าได้ทำการทดลองกับวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ จากการสัมภาษณ์นักศึกษาที่ตกวิชานี้ซึ่งมีปริมาณมากถึง 30 คนต่อปีพบว่านักศึกษาส่วนใหญ่ที่เรียนไปจำเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้เรียนอาจจะไม่ได้เข้าใจเนื้อหาตัวบริบทของประวัติศาสตร์ศิลป์อย่างถ่องแท้

ทางทีมงานจึงได้ไปปรึกษาบริษัท EITS ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ Apple computer และได้ขอความอนุเคราะห์ยืม iPad จำนวน 30 เครื่องมาใช้ทดลอง นักศึกษาสามารถนำ iPad กลับบ้านได้ แต่ส่วนที่ต้องควบคุมคือ นักศึกษาไม่สามารถโหลด App ที่ตนเองชอบลงในเครื่อง(ป้องกันนักศึกษานำไปใช้ประโยชน์ในการณ์อื่น เช่น เล่นเกมส์) ที่ปรึกษาบริษัท EITS ได้แนะนำให้ใช้หลักยึดของ Bloom taxonomy ในการที่จะพัฒนานักศึกษาเพราะสาเหตุที่ว่านักศึกษาไม่สามารถจำเนื้อหาที่ประวัติศาสตร์สร้างขึ้นอย่างมากมายแต่ละยุคสมัย ถ้าลองคิดดูว่าประวัติศาสตร์ของคนรุ่นหลังจะเป็นผลรวมของประวัติศาสตร์มนุษย์กี่พันปี เนื่องจากเวลาเตรียมการสอนมีจำกัดเราจึงได้หาวัสดุวีดีโอคลิปที่เป็นมาตรฐาน ดูเข้าใจง่ายและสนุก ของ Khan Academy ซึ่งมีเนื้อหาที่เรียกว่า Smart History เป็นเรื่องราวการเล่าเรื่องจากการเยี่ยมชมวัตถุโบราณ สถาปัตยกรรมที่สำคัญในวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ในพิพิธภัณฑ์โดยจะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ศิลปะในแต่ละยุค และ ebook ที่อุดมไปด้วยเนื้อหาสาระที่ครบ หลังจากนั้นเราก็นำข้อมูลทั้งหมดใส่ใน Server ประจำห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาได้ download ออกมาได้ง่าย ทางทีมงานได้ขอให้อาจารย์ที่สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ทำการสอนด้วยวิธีการใหม่ การทดลองทำในห้องที่เราสร้างบรรยากาศขึ้นมาด้วยโดยในตัวห้องจะประกอบด้วยโต๊ะทำงานเป็นกลุ่มๆ แต่ละกลุ่มจะมีโทรทัศน์ นักศึกษาสามารถที่จะแชร์เนื้อหาเรื่องราวขึ้นบนโทรทัศน์ด้วย Apple TV ได้โดยไม่จำเป็นต้องต่อสาย อาจารย์ผู้สอนจึงไม่จำเป็นต้องยืนอยู่หน้าห้องตลอดเวลา สามารถเดินไปไหนมาไหนได้สะดวกในการทำกิจกรรม

เนื่องจากเด็กไทยไม่คุ้นเคยกับการเตรียมการเรียนก่อนเข้าห้องเรียน คือ ยัง Flipped นอกห้องไม่ได้จริงๆ ทางทีมงานจึงให้นักศึกษามาดูวีดีโอคลิปและอ่านวิชาในห้องเรียน มีการเสริมส่วนเนื้อหาในแต่ละยุคสมัยตามประวัติศาสตร์ศิลป์ให้สนุกขึ้น เช่น การตกแต่งห้องด้วยศิลปะจากการทำวัตถุเสมือนด้วยโปรแกรม Aurasma (Augmented reality) การวาดระบายสีแบบ Strain glass โดยเอา iPad มาต่อกันเป็นภาพสามสิบเครื่อง จากการทดสอบเราพบทักษะบางอย่างได้พัฒนาขึ้น โดยเฉพาะทักษะการจด การอ่านด้านภาษาอังกฤษ App ที่นักศึกษาชอบมากที่สุด(จากแบบสอบถาม)กลับไม่ได้เกี่ยวกับความสนุกสนาน ส่วนที่นักศึกษาชอบมากที่สุดคือ App ชื่อ Noteability ที่นักศึกษาสามารถที่ค้นหาข้อมูล และเน้นส่วนสำคัญของเนื้อหาโดยการใส่รูป พิมพ์ หรือ จดได้ นอกจากนี้เราได้ฝึกทักษะหลายด้าน เช่น ทักษะเชิงวิพากษ์ ทักษะด้านการวิเคราะห์ ทักษะการทำงานเป็นทีม Appที่ใช้สำหรับบันทึกเรื่องราวที่จดก็สำคัญเนื่องจากเราจะสังเกตว่าเมื่อผู้เรียนซื้อตำราเรียนมาส่วนใหญ่นักศึกษาก็ไม่อยากที่จะจดลงบนตำราหรือเนื้อหาสำคัญด้วยสี แต่ถ้าเป็นหนังสือดิจิตอล นักศึกษาสามารถที่จะเขียนหรือตัดปะหนังสืออะไรก็ได้ทับลงไปบน ebook มี App ต่างๆที่สามารถช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจบริบทของประสบการณ์ที่ตัวเองเข้าถึงไม่ได้ ยกตัวอย่าง 360 cities ซอฟแวร์นี้ทำให้นักศึกษาไทยที่ไม่มีโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศสามารถดูภาพได้ถึง 360 องศาทำให้เข้าใจตัวสภาพแวดล้อมทางสถาปัตยกรรมได้ดีขึ้น

สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่เราเจอในห้องเรียนก็มีบ้าง เช่น นักศึกษาเอารายการมวยปล้ำ หรือดูบอลแทนที่จะทำกิจกรรม ดังนั้นผู้ที่สอนอาจจะต้องไม่ปล่อยให้กิจกรรมว่างเว้น การให้นักศึกษาทำการสะท้อนการเรียนรู้ด้วยวีดีโอด้วย App ชื่อ Touchcast ก็จะทำให้เราเข้าใจวิธีคิดของนักศึกษามากขึ้นด้วย นักศึกษาสามารถเล่าเรื่องราววิชาประวัติศาสตร์ศิลปผ่านการพูดและเชื่อมโยงกับข้อมูลบนอินเตอร์เน็ทได้ หลังจากเราทดสอบพบว่านักศึกษามีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีในห้องเรียน ถึงแม้ว่าช่วงแรกๆพวกเขาอาจจะไม่คุ้นเคยวิธีการใช้ App ต่างๆ ซึ่งส่วนนี้เราสังเกตได้ว่า ผู้สอนไม่จำเป็นต้องสอนวิธีการใช้ App กับผู้เรียนมากนักเนื่องจากนักศึกษากลุ่มนี้โตขึ้นมาในยุคที่คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นแล้ว นักศึกษาก็ได้เรียนรู้โดยไม่ต้องจำเนื้อหา เขาจะจำประวัติศาสตร์ไปอย่างอัตโนมัติ ส่วนสำคัญที่เราสัมภาษณ์พบว่านักศึกษามีส่วนร่วมกับการเรียนการสอนมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีในห้องเรียนจึงอาจจะไม่ใช่แค่เครื่องมือที่ช่วยให้ผู้เรียนเรียนดีขึ้นได้อย่างเดียว แต่เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้เรียนและผู้สอน เราพบว่า Student Engagement มีมากขึ้น อาจารย์แทนที่จะทำบทบาทหน้าที่เป็นผู้บรรยายแต่ต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนแทน ส่วนนี้คือข้อดีที่ว่าอาจารย์จะมีความสนิทกับผู้เรียนมากขึ้น สามารถรู้ วิเคราะห์พฤติกรรมลักษณะของการเรียนรู้ได้อย่างถ่องแท้

ผู้อ่านสามารถอ่านเนื้อหารายละเอียดผลงานวิจัยเพิ่มเติมได้ ที่ลิงค์นี้



คำสำคัญ (Tags): #flipped classroom#tablet
หมายเลขบันทึก: 598841เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2015 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2015 05:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท