​พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)


พระธรรมเทศนาเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (๗)

พระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กัณฑ์ ที่ ๒

พระราชประวัติ ก่อนเสด็จดำรงสิริราชสมบัติ

บัดนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในธรรมจริยาสมจริยาและพรรณนาพระราชประวัติ แห่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในเวลาเมื่อพระองค์ยังไม่ได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติในเบื้องต้น เพื่อให้เป็นที่ทรงระลึกถึงพระเดชพระคุณ ซึ่งพระองค์ได้ทรงประพฤติราชกิจและการพระราชกุศลทั้งปวง เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ประชุมชนเป็นอันมาก และการซึ่งพระองค์ได้ทรงพระอุตสาหะจัดการทั้งปวงนั้นๆไว้ ยังได้ปรากฏเป็นคุณแก่ชนภายหลังจนกาลปัจจุบันนี้เป็นอเนกประการ ควรที่สาธุชนบัณฑิตยชาติจะยกย่องสรรเสริญ แล้วระลึกถึงพระเดชพระคุณโดยความกตัญญูกตเวทีเป็นนิจกาล

ก็แล พระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระองค์ได้เสด็จมายังโลกนี้ ในอัชสังวัจฉรผคุณมาสกาฬปักษ์ทสมีดิถีศิวาร พระองค์เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่เมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร สมเด็จบรมอัคราโชรสแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งเสด็จดำรงราชมไหสุริยสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ในขณะนั้น กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย เป็นพระบรมราชชนนี ได้เสด็จประสูติ ณ พระราชวังเดิมซึ่งเป็นพระราชวังเก่าแห่งกรุงธนบุรี ณ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝ่ายตะวันตก พระองค์ทรงพระเจริญขึ้นโดยลำดับ ได้รับพระมหากรุณาและพระเมตตา แห่งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชแต่ทรงพระเยาว์มา จนตลอดถึงเวลาพระชนมายุครบกำหนดโสกันต์ ในขณะนั้นยังหาได้มีธรรมเนียมพระหน่อเจ้าต่างกรมโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังดังในปัจจุบันนี้ได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระมหากรุณา ใน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นพระราชนัดดา จึงโปรดเกล้าฯ ให้โสกันต์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวังเป็นการพิเศษ แล้วก็ได้ทรงบรรพชาและอุปสมบทเฉพาะพระพักตร์สมเด็จพระบรมอัยกาธิราชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้งสองสมัย ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชอุปราชาภิเษก เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในท้ายรัชกาลที่ ๑ นั้น พระองค์ได้ดำรงพระยศเป็นพระเจ้าหลานเธอ และได้รับราชการในพระบรมชนกนาถทั่วไป เป็นที่ไว้วางพระราชหทัยอันสนิท ยิ่งกว่าพระราชโอรสพระองค์อื่น จนถึงสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จสวรรคต ทรงมอบสิริราชสมบัติพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในขณะนั้นมีหนังสือทิ้งกล่าวโทษ เจ้าฟ้าอภัยธิเบศร์ กรมขุนกษัตรานุชิต ผู้เป็นพระราชโอรสแห่งเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ เมื่อได้ทรงทราบแล้วก็ทรงพระราชดำริด้วยพระวิจารณปัญญาอันอุดม ทรงเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้อื่น จะไม่มีผู้ใดกรอบด้วยสติปัญญาและกล้าหาญ ซื่อตรงจงรักภักดีต่อพระองค์ยิ่งขึ้นไปกว่าพระเชษฐโชรสพระองค์นี้ ถ้าจะให้ผู้อื่นชำระเนื้อความจะยืดยาว หรือเคลื่อนคลายไป ไม่เป็นการจับมั่นทั่วถึงโดยรอบครอบ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดเสี้ยนศัตรูลุกลามมากไป หรือเป็นเชื้อสายให้เกิดอันตรายสืบไปภายหน้า ด้วยเหตุว่าในเวลานั้นข้าราชการซึ่งเป็นคนเก่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งเจ้ากรุงธนบุรี ก็ยังมีปะปนอยู่โดยมาก ที่มีความนิยมนับถือต่อพระบารมีพระบรมเดชานุภาพในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทั่วหน้าก็จริงอยู่ แต่ที่มีความยินดีต่อพระบรมเดชานุภาพและพระบารมีของพระองค์ก็มีโดยมาก ที่มีความนิยมยินดีต่อบุญบารมีของเชื้อวงศ์เจ้ากรุงธนบุรี อันเนื่องประพันธ์ด้วยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก แล้วคิดเห็นว่าได้เจ้านายเช่นนั้นเป็นแผ่นดิน จะเป็นอันได้ฉลองพระเดชพระคุณทั้งเจ้ากรุงธนบุรีที่เป็นเจ้านายเก่า และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเป็นเจ้านายใหม่ ทั้งสองฝ่ายดังนี้ก็มีอยู่โดยมาก ที่คิดเห็นแก่ประโยชน์ตนที่จะได้โอกาสทำการทุจริตเพราะจะได้เป็นผู้มีความชอบต่อผู้ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินก็จะมีบ้าง ซึ่งเป็นการยากที่จะไว้วางพระราชหทัยในท่านผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งจำเป็นจะต้องให้ประกอบพร้อมทั้งสติปัญญาและความกล้าหาญและความจงรักภักดีทั้งสามประการ จึงจะสามารถที่จะชำระเสี้ยนศัตรูทั้งนี้ให้สิ้นรากเหง้าระงับการจลาจลซึ่งจะเกิดขึ้นในพระนครในเวลาที่ตั้งพระราชธานีใหม่ ยังไม่มั่นคงสมบูรณ์ ฉะนั้น ให้ความสงบเรียบร้อยตั้งอยู่ไม่เป็นที่เดือดร้อนแก่สมณจารย์ประชาราษฎรภายในพระนคร และไม่เป็นที่หมิ่นประมาทแก่ราชดัสกรภายนอกซึ่งจะคอยซ้ำเติมได้ เพราะทรงพระราชดำริเห็นการเป็นข้อสำคัญยิ่งใหญ่ดังนี้ จึงทรงมอบให้พระบรมเชษฐราโชรสอันทรงทราบพระราชหทัยชัดว่า ประกอบพร้อมด้วยคุณสามประการดังพรรณนามาแล้วนั้นให้ทรงพิจารณาข้อความทั้งปวง แต่ในเวลาซึ่งพระองค์ยังตั้งอยู่ในปฐมวัย ปีพรรษามายุเพียง ๒๓ พรรษา พระองค์ก็ได้ทรงพิจารณาตัดรอน เลือกเฟ้นได้ตัวผู้ซึ่งมีความเห็นอันวิปริตทั้งหลายทั่วทุกคนมิได้เหลือหลง แล้วนำความขึ้นกราบทูลแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถ จึงโปรดให้ลงโทษระงับเหตุการณ์ทั้งปวงได้โดยเร็วพลัน การก็เรียบร้อยมิได้มีเหตุอันตรายแก่ความสงบเรียบร้อยเกิดขึ้นอย่างหนึ่งอย่างใดได้อีก เป็นความชอบอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ได้ทำไว้ในแผ่นดินเป็นปฐม เป็นการที่ได้ฉลองพระเดชพระคุณพระบรมชนกนาถ และได้ระงับอันตรายซึ่งจะเกิดมีแก่ประชาชนทั้งปวงทั่วหน้า ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้เสด็จเถลิงถวัลยราชปราบดาภิเษกแล้ว จึงได้พระราชทานพระสุพรรณบัฏเลื่อนพระเกียรติยศพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นเจษฏาธิบดินทร์ พระราชทานที่วังและเครื่องอุปโภคศฤงคารบริวารของหม่อมเหม็นให้เป็นบำเหน็จ ที่ได้ทำความชอบไว้ในแผ่นดิน

ก็แลในเวลารัชกาลมี่ ๒ นั้น พระองค์ได้ทรงรับราชกิจน้อยใหญ่ให้สำเร็จไปเป็นอันมากมิได้เว้นว่าง ในราชการซึ่งเป็นการประจำนั้นพระองค์ได้ทรงบังคับบัญชาราชการกรมท่าสิทธิ์ขาดทั่วไป แต่ในขณะนั้นราชการกรมท่าหาสู้จะมีคนต่างประเทศไปมาค้าขายมากนักไม่ ด้วยมิได้มีหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ ซึ่งจะเป็นเหตุให้มีราชการมากเหมือนปัจจุบัน พระราชทรัพย์ซึ่งจะจับจ่ายราชการแผ่นดินที่ได้แต่ค่านาอากรสมพัตสรในพื้นบ้านพื้นเมืองก็มีน้อย ไม่พอที่จะจ่ายราชการ เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดินจึงต้องทรงแต่งสำเภา บรรทุกสินค้าออกไปค้าขายยังประเทศจีน เมื่อได้ประโยชน์กำไรก็พอได้มาเจือจานใช้ในราชการซึ่งจะรักษาพระนคร และการแต่งสำเภาออกไปค้าขายเมืองจีนนี้ ตกเป็นหน้าที่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงจัดการแต่งสำเภาหลวงตลอดมา จึงเป็นงานของพระองค์ที่จะต้องทรงขวนขวายหาพระราชทรัพย์ ถวายสมเด็จพระบรมชนกนาถที่จะทรงใช้จ่ายในราชกิจทั้งปวง ถึงแม้นว่าเป็นเวลาซึ่งการค้าขายมิได้บริบูรณ์ พระราชทรัพย์ซึ่งจะได้จากส่วนกำไรการค้าขายบกพร่องไม่พอจ่ายราชการ พระองค์ก็ทรงพระอุตสาหะขวนขวายมิให้เป็นที่ขุ่นเคืองฝ่าละอองธุลีพระบาทสมเด็จพระชนกนาถ ด้วยในเวลานั้นเจ้านายและข้าราชการ ที่มีทุนรอนพอจะแต่งสำเภาไปค้าเมืองจีนได้ ก็ได้แต่งสำเภาไปค้าขายอยู่ด้วยกันมา พระองค์ก็ได้ทรงแต่งสำเภาไปค้าขายในส่วนพระองค์อีกส่วนหนึ่งต่างหาก จึงถึงซึ่งความสมบูรณ์ด้วยทรัพย์พอที่จะฉลองพระเดชพระคุณ มิให้ขัดขวางในทางราชการได้ เป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระมหากรุณาแล้วตรัสประกาศออกพระนามพระองค์ว่าเจ้าสัวเสมอมา

ส่วนราชการงานโยธาก่อสร้าง ซึ่งพระองค์ได้ทำการฉลองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๒ นั้น พระองค์ได้ทรงทำการ ทั้งการที่จะป้องกันพระนครและการซึ่งจะเป็นที่เจริญพระราชหฤทัย เกื้อกูลแก่พระบรมสุขแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถทั้งสองประการ คือพระองค์ได้ทรงรับหน้าที่เป็นแม่การสร้างป้อมประโคนชัย ๑ ป้อมนารายณ์ปราบศึก ๑ ป้อมปราการ ๑ ป้อมกายสิทธิ์ ๑ และป้อมซึ่งตั้งอยู่ ณ เกาะกลางน้ำชื่อป้อมผีเสื้อสมุทร ทั้งป้อมนาคราชซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก ทั้งหกป้อม พระองค์เสด็จลงไปประทับอยู่ ณ เมืองสมุทรปราการ สร้างบังคับจัดการก่อสร้างป้อมทั้งปวงนี้เนืองๆมิได้ขาด เป็นราชกิจติดพระองค์อยู่ตลอดสิ้นทุติยรัชกาล ส่วนการซึ่งเป็นที่สำราญพระราชหฤทัย พระองค์ทรงเป็นแม่กองจัดการขุดสระทำสวนสร้างเก๋งน้อยใหญ่ในพระราชอุทยานเบื้องบุรพาแห่งพระมหามนเฑียร ซึ่งปรากฏในขณะนั้นว่าสวนขวา ให้เป็นที่เสด็จประพาสรื่นรมย์สำราญพระราชหฤทัยเป็นอันมาก ครั้นเมื่อปีมะโรงโทศกจุลศักราช ๑๑๘๒ ได้ข่าวพม่าข้าศึกยกล่วงเข้ามาตั้งยุ้งฉางอยู่ ณ ปลายด่านเมืองกาญจนบุรี เพื่อจะก่อการสงครามกับพระนคร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริปรึกษาพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ท่านเสนาบดี คิดจัดกองทัพออกไปตั้งรับข้าศึก ทรงพระราชดำริเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบด้วยพระสติปัญญาชำนิชำนาญในการพิชัยสงคราม แกล้วกล้าสามารถอาจจะป้องกันอริราชดัสกร มิให้เข้ามาย่ำยีในพระราชอาณาเขตได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จยกพยุหโยธาหาญออกไปตั้งขัดทัพอยู่ ณ ตำบลปากแพรก เมืองกาญจนบุรี ตั้งทัพอยู่ถึงปีหนึ่ง ก็มิได้มีพม่าข้าศึกยกล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต และในเวลาเมื่อเสด็จแรมทัพอยู่ ณ ปากแพรกนั้น พระองค์ก็ได้ทรงเป็นแม่กองจัดการส่งศิลาก้อนใหญ่ๆเข้ามาก่อเขาในพระราชอุทยานอยู่เสมอมิได้ขาด

อนึ่งพระองค์ทรงประกอบไปด้วยพระศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งนัก ได้ทรงสร้างพระพุทธปฏิมากรเป็นหลายพระองค์ และพระธรรมไตรปิฎกทั้งคำอรรถคำแปล มีมังคลัตถทีปนีแปล ยังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ เป็นต้น และทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ทรงปฏิบัติเลี้ยงพระสงฆ์และมีธรรมเทศนาที่วังทุกวันมิได้ขาด และพระราชทานเงินเดือนให้อาจารย์บอกพระคัมภีร์พุทธวจนะแก่ภิกษุสามเณรเป็นอันมาก แล้วให้ตั้งโรงทานไว้ที่วังสำหรับเลี่ยงยาจกวณิพกทั่วหน้า ถึงวันพระก็ทรงปล่อยสัตว์และแจกเงินคนที่สูงอายุและคนยากจนเป็นนิจมิได้ขาด เป็นพระราชกุศลนิพัทธทานเสมอมา ส่วนพระราชกุศลซึ่งเป็นการจรตามกาลสมัย พระองค์ก็ได้ทรงบำเพ็ญเนื่องๆ แต่ในคราวซึ่งปรากฏเป็นการใหญ่นั้น คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชเป็นสามเณร พระองค์ได้ทรงแต่งกระจาดใหญ่อันงามวิจิตร เป็นเครื่องบูชาพระธรรมเทศนา แล้วเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทรงเทศนาพระมหาเวสสันดรชาดกกัณฑ์มัทรี ทรงถวายเครื่องไทยธรรมกระจาดใหญ่ ในครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการราษฏรทั้งปวง ก็พากันชื่นชมยินดีอนุโมทนาเป็นการเอกเกริกยิ่งใหญ่ในกิจการซึ่งพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวงนี้ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็ทรงอนุโมทนาและสรรเสริญเป็นอันมาก แล้วดำรัสว่า แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแค่พระลูกเธอยังทำทานอยู่เนื่องนิจดังนี้ ควรที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญทานให้ยิ่งกว่านั้นบ้าง จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงทานหลวงเลี้ยงพระสงฆ์และยาจกวณิพกทั้งปวง แล้วให้มีธรรมเทศนาแจกเงินคนชราพิการ เป็นแบบอย่างมาจนทุกวันนี้

อนึ่งพระองค์ปราศจากความมัจฉริยตระหนี่เหนียวแน่น โอบอ้อมอารีเจือจานทั่วไป ในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ บรรดาที่เข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทและอยู่ประจำราชการในพระบรมมหาราชวังก็ได้ไปรับพระราชทานอาหารที่วังพระองค์แทบจะทั่วหน้าทุกวันทุกเวลามิได้ขาด พระองค์ก็ถึงซึ่งความสรรเสริญและเป็นที่นิยมรักใคร่ ในพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั่วหน้า และในขณะเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลยังดำรงพระชนม์อยู่นั้น เสด็จลงมาประทับพิพากษาคดีใหญ่ๆ และความรับสั่งที่โรงละครใกล้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระองค์ก็ได้เสด็จอยู่ในที่ประชุมพิพากษาคดีทั้งปวง เป็นประธานด้วยพระองค์หนึ่งมิได้ขาด ครั้นเมื่อกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จสวรรคตแล้ว พระองค์จึงได้ทรงรับตำแหน่งบังคับการสิทธิ์ขาดในกรมพระตำรวจ ว่าความรับสั่งทั้งปวงด้วยอาศัยเมตตาพระกรุณาของพระองค์ต่อราษฎรทั้งปวงทั่วหน้า และพระปรีชาญาณประกอบด้วยพระเดชานุภาพ ทรงพิจารณาไต่สวนข้อความของราษฎรให้แล้วไปโดยยุติธรรมโดยเร็ว เป็นที่ชื่นชมนิยมยินดีของประชาราษฎรทั้งปวง ต่างคนมีจิตคิดสวามิภักดิ์ต่อพระองค์เป็นอันมาก ทั้งเป็นที่เบาพระราชหฤทัยในพระบรมชนกนาถ มิได้มีพระราชกังวลอันใดให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชกมล พระองค์ทรงอุตสาหะเสด็จเข้ามาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ในเวลาซึ่งเสด็จพระราชดำเนินออกประทับ ณ ท้องพระโรงและพระบัญชร ทุกวันมิได้ขาดทุกเช้าค่ำ ทั้งเสด็จเข้ามาประจำว่าราชกิจการต่างๆตามตำแหน่งของพระองค์อยู่เนื่องนิจเช่นนั้น เมื่อถึงวัสสานฤดู ถึงเป็นเวลาฝนตกมากน้อยเท่าใดก็ดี พระองค์ก็มิได้รั้งรออยู่จนฝนหายให้เคลื่อนคลายจากเวลาราชการ จึงเป็นการลำบากแก่พระองค์ซึ่งทรงพระเสลี่ยงมาในที่โถง ต้องผลัดพระภูษาในเวลาเมื่อเสด็จมาประทับถึงที่ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระราชดำริแปลงแคร่กันยา ซึ่งเป็นของสำหรับข้าราชการใช้ในขณะนั้น ให้เป็นพระวอขนาดน้อยหุ้มด้วยผ้าขี้ผึ้ง สำหรับทรงเสด็จเข้าในพระบรมมหาราชวังในฤดูฝน ครั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงพระราชทานนามพระวอนั้นว่าวอพระประเวศวัง และได้เป็นแบบอย่างสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเป็นกรมทรงทำตามอย่างนั้นสำหรับทรงเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทสืบมา พระองค์ทรงพระอุตสาหะในราชกิจมิได้ย่อหย่อนถึงเพียงนี้ จึงเป็นที่ต้องพระราชอัธยาศัยเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยแห่งสมเด็จพระบรมชนกนาถยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ก็ได้ทรงบังคับกิจราชการทั้งปวงมากขึ้นเกือบจะทั่วไปในกาลครั้งนั้น

รับพระราชทานพรรณนาพระราชประวัติในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังมิได้เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ สิ้นความเพียงนี้ ก็แลการที่พระองค์ทรงประพฤติในการพระราชกุศลทั้งปวงก็ดี ในพระราชกรณีย์กิจทั้งปวงก็ดี ซึ่งได้รับพระราชทานพรรณนามาแล้วนั้น ล้วนเป็นไปโดยธรรมจริยาสมจริยา ต้องตามพระพุทธภาษิต(ต่อนี้ไปแสดงอธิบายธรรมตามนิเขปบท)

คัดลอกโดย ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

๒๕ ธันวาคม ๒๕๕๘



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท