โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชน : เก็บตกการสะท้อนข้อมูล (ก่อนคืนข้อมูลกลับสู่ชุมชน)


ครับ-ผมอยากให้นิสิตวิเคราะห์ถึงต้นธารอันเป็นสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่เด็ดยอดจากสถานการณ์ที่พบเห็น แต่กลับอธิบายถึงต้นตอสาเหตุไม่ได้ ประหนึ่งเห็นปรากฏการณ์เหนือท้องน้ำ แต่บอกไม่ได้ว่าใต้ท้องน้ำที่ว่านั้น...มีอะไรซุกซ่อนอยู่

วันนี้ (วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘) ผมมีโอกาสได้เดินทางไปเป็นวิทยากรภาคสนามเนื่องใน โครงการพัฒนาสุขภาพชุมชนณ ชุมชนบ้านปอแดง ตำบลนาดี อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ และคณะสัตวแพทยศาสตร์

โครงการดังกล่าวฯ จัดต่อเนื่องมาในแต่ละปีการศึกษาโดยมีคณะแพทยศาสตร์เป็นเจ้าภาพหลัก ประกอบด้วยวัตถุประสงค์สำคัญๆ เป็นต้นว่า ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตได้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพผ่านงานบริการสังคม หรือ “เรียนรู้คู่บริการ” ด้วยการ “ฝังตัว” ใช้ชีวิตอยู่กับชาวบ้านเป็นเวลา ๑๐ วัน ฝึกการเรียนรู้บริบท-สภาพทั่วไปของชุมชน วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบกิจกรรมเพื่อการแก้ปัญหาร่วมกันอย่างเป็นทีม ทั้งระหว่างนิสิตกับชุมชน หรือนิสิตกับอาจารย์และชุมชน ตลอดจนภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


โดยหลักแล้วคณาจารย์ผู้เกี่ยวข้องได้ออกแบบกระบวนการด้วยเทคนิคการพัฒนาชุมชนในแนวคิด “A-I-C” (A : Appreciation, I : Influence, C : Control) ที่เน้นการร่วมระดมความคิด ร่วมวางแผนและร่วมทำงาน สอดคล้องกับแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ” และหลักคิด “การมีส่วนร่วม” ของโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ประกอบด้วย “ร่วมคิด-ร่วมตัดสินใจ-ร่วมลงมือทำ” หรือกระทั่งการ “ร่วมรับผิดชอบ” ต่อดอกผลของการลงมือทำร่วมกัน






บูรณาการเครื่องมือเรียนรู้คู่บริการ

การเรียนรู้คู่บริการครั้งนี้ โดยหลักคือมุ่งเน้นแนวคิดการเรียนรู้คู่บริการที่หมายถึงการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมตามแนวคิด “A-I-C” ที่ประกอบด้วยฐานคิดสำคัญ ๓ ระดับคือ ๑) กิจกรรมที่ชุมชนสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง ๒) กิจกรรมที่ชุมชนสามารถขับเคลื่อนร่วมกับภาคี ๓) กิจกรรมที่ชุมชนต้องร้องขอ หรือจัดขึ้นโดยอาศัยภาคีเป็นหัวใจหลัก

การการจัดกิจกรรมครั้งนี้เน้นไปยังประเด็นแรก นั่นก็คือ กิจกรรมที่ชุมชนสามารถจัดการได้ด้วยตนเองและกิจกรรมที่สามารถขับเคลื่อนร่วมกับภาคีอื่นๆ เพราะทั้งสองประเด็น หรือทั้งสองระดับนี้คือตัวชี้วัดสำคัญของความ “เข้มแข็งและยั่งยืน” ของชุมชน

ครั้งนี้- นอกจากการใช้เครื่องมือในแบบของแบบสำรวจ-สัมภาษณ์ รวมถึงการสังเกตการณ์ผ่านพฤติกรรมในวิถีชีวิตประจำวันและกิจกรรมทางสังคมแล้วยังใช้ “เครื่องมือศึกษาชุมชน ๗ ชิ้น” ที่นายแพทย์โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะได้ริเริ่มสร้างสรรค์ไว้เมื่อหลายปีก่อน ประกอบด้วย

  • แผนที่เดินดิน
  • ผังเครือญาติ
  • โครงสร้างองค์กรชุมชน
  • ระบบสุขภาพชุมชน
  • ปฏิทินชุมชน
  • ประวัติศาสตร์ชุมชน
  • ประวัติชีวิตบุคคลสำคัญ





วัดสว่างชัยศรี : ชุมชนบ้านปอแดง



ก่อนใช้เครื่องมือ คือเรียนรู้เครื่องมือ

จากการพบปะพูดคุยกับนิสิต หรือกระทั่งคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องทั้ง ๓ คณะ ทำให้รู้ว่านิสิตที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นกลุ่มที่เรียนในรายวิชาที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการทางชุมชนด้วยกันทั้งสิ้น แตกต่างกันแค่ชั้นปีและแยกเรียนในสังกัดคณะนั้นๆ ไม่ใช่การลงทะเบียนเรียนคละคณะกัน เพราะเป็นวิชาชีพ หรือวิชาเอกของแต่ละสาขา-แต่ละหลักสูตร

กระบวนการก่อนปฏิบัติการเรียนรู้คู่บริการร่วมกันในภาคสนาม เริ่มต้นจากการบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของการใช้เครื่องมือศึกษาชุมชน โดยอาจารย์จากคณะแพทยศาสตร์เป็นแกนหลักในการสัญจรไปบรรยายตามชั้นเรียนที่เกี่ยวข้องของทั้งสองคณะ เน้นการบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจ แต่ไม่ใช่การบรรยายเชิงปฏิบัติการ หรือฝึกทักษะก่อนลงพื้นที่ –




ครั้นถึงเวลาก่อนการเดินทางสู่พื้นที่จึงมีการประชุม (ปฐมนิเทศ) ร่วมกันทั้งสามคณะ แ ต่ก็เป็นการประชุมชี้แจงการงาน หรือภารกิจที่ต้องขับเคลื่อนเป็นหัวใจหลัก และเป็นการประชุมที่ใช้เวลาไม่มากมายนัก – เรียกกึ่งประชุมกึ่งปฐมนิเทศก็ไม่ผิด

โดยส่วนตัวผมมองว่าสองกระบวนการนี้สำคัญมาก การเรียนรู้คู่บริการโดยใช้ชมชนเป็นฐานนั้น การใช้เครื่องมือศึกษาชุมชนถือว่าสำคัญมาก สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า “ความรู้” ที่จะนำไป “บริการ” ต่อชุมชน เพราะเครื่องมือคือสิ่งที่เป็นตัวสืบค้น เสาะหา หรือช่วยสกัดความเป็นชุมชน (ทุนทางสังคม) ออกมาให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่ง “วัตถุดิบ” ในการที่จะนำมาวิเคราะห์-ออกแบบเป็นกิจกรรม ทั้งในมิติของการแก้ปัญหา หรือพัฒนาแบบมีส่วนร่วม

หรือกระทั่งการประชุม (ปฐมนิเทศ) ก็เช่นกัน ผมถือว่าสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ใช่เวทีอธิบายว่า “จะไปทำอะไร เพื่ออะไร” หรือ “มีแนวปฏิบัติอย่างไร” ทว่าน่าจะหลอมรวมถึงปรัชญาของการเรียนรู้ แรงบันดาลใจของการเรียนรู้คู่บริการ ภารกิจและพันธกิจของการเรียนรู้เพื่อการรับใช้สังคม รวมถึงประเด็นอื่นๆ เช่น การสะท้อนข้อมูลเบื้องต้นของชุมชน การละลายพฤติกรรมเบื้องต้นของนิสิต รวมถึงการประเมินความคาดหวังของการเรียนรู้ (BAR)





ดอกดาวเรือง : เริ่มนิยมปลูกในครัวเรือนเพื่อสร้างรายได้เสริม



โคเนื้อ : เป็นสัตว์เลี้ยงที่นิยมในแต่ละครัวเรือน


ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยฯ ตั้งอยู่ในบริเวณวัดสว่างชัยศรี



เวทีสะท้อนข้อมูลร่วมในกลุ่มนิสิต : ก่อนคืนข้อมูลสู่ชุมชน

เวทีวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นเวทีการร่วมสะท้อนข้อมูลของนิสิตทั้งหมดร่วมกัน โดยมีอาจารย์ (พี่เลี้ยง) รวมถึงผมเข้าร่วมรับฟังและร่วมให้ข้อเสนอแนะ ณ ศาลาการเปรียญวัดสว่างชัยศรี

ซึ่งข้อมูลที่ได้คือข้อมูลบริบทชุมชน-สภาพทั่วไปที่ศึกษารวบรวมจากปากคำของชุมชนและเอกสารชั้นต้นในชุมชนในช่วงวันที่ ๑๔-๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๘

ก่อนหน้านี้-กระบวนการศึกษาข้อมูลชุมนถูกออกแบบโดยแบ่งนิสิตออกเป็น ๔ กลุ่ม (คละทุกคณะเข้าหากัน)

เหตุที่แบ่งเป็น ๔ กลุ่มก็เพราะว่า “บ้านปอแดงมี ๔ หมู่” นั่นเอง ครั้นถึงขั้นตอนการสะท้อนข้อมูลก็เปิดเวทีให้แต่ละกลุ่ม (แต่ละหมู่) ได้สะท้อน หรือนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เสมอเหมือนการวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนำกลับออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันก่อนที่จะประมวลซ้ำอีกรอบเพื่อนำเสนอ (คืนข้อมูล) ต่อชุมขนในวันรุ่งขึ้น (๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๘)




กระบวนการเช่นนี้ผมถือว่าสำคัญมาก เพราะทำให้นิสิตทุกคนได้รับรู้ข้อมูลร่วมกัน ไม่ใช่รับรู้ข้อมูลอันเป็นสถานการณ์เฉพาะหมู่ที่ตนเองได้รับผิดชอบ –

เช่นเดียวกับการคละนิสิตจากทุกคณะเข้าด้วยกันก็ถือว่าสำคัญมาก เป็นเสมือนการบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ร่วมกันอยู่ในที- ส่วนนิสิตจะเปิดใจ หรือใส่ใจต่อการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งในการเก็บข้อมูลและสะท้อนข้อมูลหรือไม่ ผมคิดว่า “นิสิตต้องตระหนักและใส่ใจ” หรือรับผิดชอบต่อการเรียนรู้เช่นนี้ด้วยตนเอง !

ซึ่งนิสิตปรารถนาจะเรียนรู้แบบแยกส่วน หรือเรียนรู้ในแบบองค์รวมที่ยึดโยงถึงกัน –ทุกอย่างมันอยู่ที่นิสิต เพราะกระบวนการที่ออกแบบเช่นนี้ ผมถือว่าออกแบบไว้ค่อนข้างดีมากแล้ว





มือใหม่หัดขับ : ทำไปเรียนรู้ไป

ด้วยความที่ว่านี่คือปีแรกที่นำเอาเครื่องมือศึกษาชุมชน ๗ ชิ้นเข้ามาใช้ในโครงการฯ จึงยังพบว่าข้อมูลที่นิสิตค้นพบนั้นมีทั้งที่ “ลึกซึ้งและผิวเผิน” ซึ่งผมเองได้ให้กำลังใจและฝากให้นิสิตได้ให้ความสำคัญกับการ “ถอดรหัสความรู้” ที่มีในชุมชนผ่านเครื่องมือ หรือข้อมูลที่เก็บมาได้




  • ครับ-ผมอยากให้นิสิตวิเคราะห์ถึงต้นธารอันเป็นสาเหตุของปัญหา ไม่ใช่เด็ดยอดจากสถานการณ์ที่พบเห็น แต่กลับอธิบายถึงต้นตอสาเหตุไม่ได้ ประหนึ่งเห็นปรากฏการณ์เหนือท้องน้ำ แต่บอกไม่ได้ว่าใต้ท้องน้ำที่ว่านั้น...มีอะไรซุกซ่อนอยู่

  • ครับ-ผมอยากให้นิสิตวิเคราะห์ให้เห็นถึง “บ่อเกิดของความรู้ในชุมชน” เช่น ใครคือผู้รู้ – รู้มาจากที่ไหน-ร่ำเรียนมาอย่างไร- กระทั่งในปัจจุบันมีวิธีการถ่ายทอดความรู้ (จัดการความรู้) อย่างไร เพราะนี่คือต้นทุนทางสังคมที่เป็นเสมือนตัวชี้วัด หรือคำพยากรณ์ว่าด้วย ความเป็นไป (ยั่งยืน) ในอนาคต

  • ครับ-ผมย้ำให้นิสิตตระหนักว่า “ไม่มีที่ใดปราศจากความรู้” เ พราะชุมชนล้วนเต็มไปด้วยความรู้ การเรียนรู้คู่บริการ คือการผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับองค์ความรู้ใหม่จากมหาวิทยาลัย ซึ่งนี่คือความท้าทายอย่างยิ่งใหญ่ในการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม






  • ครับ-นั่นยังรวมถึงการให้ความสำคัญกับเหตุการณ์สำคัญๆ ประเพณีสำคัญๆ สถานที่สำคัญๆ เพราะสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยกำหนด “ระบบสุขภาพของชุมชน” ด้วยเหมือนกัน

  • ครับ-ผมอยากให้นิสิตไปตรวจทานดู "คำขวัญประจำชุมชน" สักหน่อย เพราะคลังความรู้ต่างๆ อาจซ่อนซุกอยู่ในนั้น และท้าทายการถอดรหัสความรู้จากนิสิต

  • ครับ-ผมอยากให้นิสิตนิยามความหมายของคำว่า "บุคคลสำคัญ" หรือ "บุคคลที่น่าสนใจ" ให้ชัดเจนอีกรอบ โดยพึงระวังการสถาปนาใครสักคนโดยที่ประชาคมของชุมชนอาจจะยังไม่รับรอง หรือเห็นพ้อง ซึ่งบางทีอาจหมายถึงการกระตุกประเด็นสุ่มเสี่ยงในบางเรื่องอย่างคาดไม่ถึง

  • ครับ-ผมอยากให้นิสิต ถอดรหัสวิถี "ฮีตฮอต" อันเป็นประเพณีในชุมชนอีกสักครั้งว่าเกี่ยวพันและร้อยรัดกับระบบสุขภาพชุมชนอย่างไร

  • ครับ-ผมอยากให้นิสิตนำข้อมูลทั้งหมดหลังการตกผลึกร่วมกับชุมชนไปออกแบบกิจกรรมอย่างจริงจัง และต่อเนื่องในรูปขององค์กรนิสิต หรือยกระดับสู่งานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย หรือการตรวจทานซ้ำกับแผนงาน-แผนพัฒนาท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว
  • ฯลฯ




บทส่งท้าย

ผมไม่กังขากับระบบคิดที่ว่าด้วยโครงการฯ นี้เลย เพราะนี่คือกระบวนการเรียนรู้ที่จะสร้างประโยชน์แก่นิสิตและชุมชน หรือกระทั่งอาจารย์อย่างแท้จริง –เป็นการเรียนเพื่อให้รู้จริงโดยใช้ความจริงเป็นฐาน/โจทย์การเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง เป็นการเรียนรู้ที่มีกลิ่นอายในมิติการศึกษาเพื่อรับใช้สังคมอย่างไม่ผิดเพี้ยน หรือกระทั่งเป็นการเรียนรู้อย่างเป็นทีม ไม่ใช่เรียนรู้ในแบบศิลปินเดี่ยว –

ส่วนการเรียนรู้เช่นนี้จะก่อเกิดความรู้และทักษะใดบ้างแก่นิสิต เอาไว้หลังเสร็จสิ้นโครงการ คงได้รับรู้ผลพวงของการเรียนรู้อย่างเป็นทางการร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

แต่ที่แน่ๆ พรุ่งนี้ นิสิตจะต้องคืนข้อมูลให้กับชุมชน …
วาระนี้ เอาเป็นว่า “ชื่นชม และให้กำลังใจ” อย่างเต็มล้น (สู้ๆ ครับ)



หมายเหตุ :
1.เขียนขึ้นจากสภาวะ "เก็บตกวิทยากร"
2. ภาพโดย พนัส ปรีวาสนา และนิสิตโครงการฯ


</span>

หมายเลขบันทึก: 598563เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2015 17:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2016 13:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ฟวักกีจ้พ มาทักทาย

และให้กำลังใจคนทำงานก่อนนอนจ้าา


ขอบพระคุณครับ พี่ คุณมะเดื่อ

และขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจในการทำงานเช่นกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท