718. "วิถีแห่งพลัง"


เรียน OD ผ่าน "สามก๊ก" (ตอนที่ 48)

ถ้าจะสรุปสามก๊กให้เหลือคำๆเดียว เราจะนึงถึงอะไร ...ผมนึกถึงคำว่า “พลัง (Energy)”.... สามก๊กคือปรากฏการณ์ของ “พลัง” พลังนี่เองที่อธิบายได้ทุกอย่าง สั้นๆ นะครับว่ากันตั้งแต่หน้าแรกๆ ...

ว่ากันตามประวัติศาสตร์ ...ราชสำนักฮั่นสูญเสีย “พลัง” เพราะคนรอบตัวฮ่องเต้คือเหล่าขันทีทำลาย “พลัง” ซึ่งก็คือขุนนางดีๆ ที่ให้ความคิด การกระทำดีๆ หรือพลังดีๆ ให้บ้านเมือง ...บ้านเมืองจึงปั่นป่วน โจรโพกผ้าเหลืองก่อความวุ่นวาย.. จนมีคนพยายามดึง “พลัง” ใหม่เข้ามาสู่ฮั่น...“ตั๋งโต๊ะ” ที่กลับกลายเป็นพลังทำลายล้าง บ้านเมืองสูญเสียพลัง อ้วนเสี้ยวเป็นคนแรก ที่รู้สึกว่าอยู่ไปก็ไม่มีพลัง เลยแยกตัวออกไปสร้างขุมพลังแห่งใหม่ๆ ที่ขุนศึกทุกชนชั้นตั้งแต่โจโฉ เล่าปี่ ซุนเซ็ก (ผู้ก่อตั้งง่อก๊ก) ก็ต่างหันไปร่วมงานด้วย แต่เมื่ออ้วนเสี้ยวบั่นทอนพลังพวกเขา ด้วยการปกครองเมืองที่ย่ำแย่ หย่อนยาน ให้ความสำคัญกับญาตมิตร มากกว่าคนมีความสามารถ ที่สุด คนเก่งก็หันไปหาที่อยู่ใหม่ แหล่งพักพิงใหม่ๆ ที่สร้างพลังให้พวกเขา ต่างมีเป้าหมายที่ทรงพลังใหม่ๆ คือการกอบกู้ราชวงค์ จากนั้นเล่าปี่ โจโฉ ซุนเซ็กก็ดึงพลังต่างๆ เข้ามาขับเคลื่อนจนก่อร่างสร้างตัว สร้างสามก๊กมา แต่เนื่องจากดูแลกันไม่ดี ที่สุดหมดพลัง ตระกูลสุมาซึ่งรวบรวมพลังได้มากกว่าจึงก้าวขึ้นมารวบรวมทั้งหมดเป็นประเทศจีน พลังดูเหมือนจะขับเคลื่อนทุกองคาพยพในสามก๊ก

ไม่ว่าจะเป็นภาพใหญ่หรือภาพเล็ก คุณจะเห็นว่าในสามก๊ก ใครอยากทำอะไรให้สำเร็จ ต้องมีเป้าหมายที่สูงส่งทรงพลัง และต้องใส่พลังเข้าไป พลังที่ใส่เข้าไปได้แก่ คนเก่งๆ นโยบายดีๆ และกลยุทธ์สุดยอด โดยเฉพาะคนเก่งๆ มีการเสาะแสวงหาจากทุกฝ่าย ได้ไปหนึ่งคนนี่พลิกทุกอย่าง พลิกแผ่นดิน นโยายดีๆ ก็พลิกได้ทุกอย่าง เช่นพยายามรบกวนประชาชนให้น้อยที่สุด นี่ก็เล่าปี่ โจโฉ ไม่ทำร้ายประชาชน กฎหมายเข้มงวด ...นโยบายดีๆ ทำให้หลังบ้านเรียบร้อยการเป็นพลังหนุนที่สำคัญ กลยุทธ์ ก็คือลงทุนน้อยได้ผลมาก เช่นเล่าปี่ไปตั้งก๊กที่เสฉวน ก็ยังวุยก๊กได้เป็นชั่วคน สุมาอี้เน้นอดทนรอคอยจนขงเบ้งตาย ด้วยความอดทนจึงกลายเป็นคนที่มีอำนาจที่สุดในประวัติศาสตร์

“พลังสร้างสรรค์ทุกอย่าง และทำลายทุกอย่าง”

ไม่รู้จักพลังนี้ไม่ได้ซะแล้ว มันคืออะไรเล่า

ในฐานะคนในวงการวิชาการ เรามีข้อเสนอที่จะอธิบายคำว่าพลังนี้ครับ ลองมาทำรู้จักคำสองคำนี้ Outcome Measures หรือเรียกว่า Key Performance Indicator (KPI) ก็ได้ มันตัวชี้วัดความสำเร็จ คือผลที่เราต้องการเห็น อีกคำคือ Performance Driver พลังที่เราใส่เข้าไป เพื่อให้ Outcome Measures เกิดขึ้นจริง

เวลาคุณจะทำอะไรคุณต้องตั้งเป้าที่ทรงพลัง ในขณะเดียวกันคุณต้องค้นหาพลังที่จะใส่เข้าไป

ถ้าคุณต้องการผลเลิศ (Outcome Measures) หรือ KPI ที่ดีมากๆ คุณก็ต้องสร้างเหตุ หรือใส่พลังดีๆ (Performance Driver) ไปด้วย

Outcome Measures (KPI) ต้องมีความสุมดุลกับ Performance Driver

จะว่าไปในสามก๊ก ผู้นำที่โดดเด่นคือคนที่ต้องการสร้างผลเลิศ คือการกอบกู้ราชวงค์ โดยไม่เคยอยู่นิ่ง ทั้งหมดใช้เวลาทั้งชีวิตดึงพลัง และใส่พลังดีๆ เข้าไป เพื่อสร้างฝัน และเมื่อหยุดใส่พลัง ทุกอย่างก็สูญสลาย

จะว่าไปตั้งแต่ก่อนยุคสามก๊ก จนถึงปัจจุบัน องค์กรต่างๆมีการทำกลยุทธ์กันมาตลอดครับ เป็นเรื่องที่ต้องทำกันเลย ในโลกปัจจุบันคุณไปไหน คุณจะเจอคำว่าวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ ค่านิยมองค์กร ตัวชี้วัด (KPI) เต็มไปหมด แต่ที่น่าตกใจมากๆ คือส่วนใหญ่ 99% ที่ผมเห็นในบ้านเราน่ากลัวมากๆครับ บางที่มีแต่ KPI ตั้งไว้หน้าโรงอาหาร ในลิฟท์ก็มี มีแต่ยอดขายครับ บางที่มีรูปลูกเจ้าของที่เพิ่งมาเป็น CEO ตั้งเป้าไว้ครับจะโตหมื่นล้าน นี่คือ KPI ครับ แต่มองเห็นพลังข้างในแทบไม่มี (Performance Driver) มีแต่ข่าวลือว่าจะปลดคนออก ตัวใครตัวมันครับ

ไม่ว่าจะในทางวิชาการ หรือบทเรียนจากยุคสามก๊ก ชัดมากๆ ว่า Outcome Measure ต้องมี Performance Driver ดีๆ คือคนเจ๋งๆ นโยบาย กลยุทธ์ วิสัยทัศน์ ค่านิยม พันธกิจดีๆ มาช่วย และต้องออกแบบอย่างระวัดระวัง

มาดูกันครับว่าทำอย่างไร

  1. ค้นหาจุดแข็ง แล้วเอาจุดแข็งของคุณไปแก้ปัญหาให้คนจำนวนมากที่สุด ผ่านวิสัยทัศน์ดีๆ วิสัยทัศน์ทรงพลัง ดึงดูดทุกอย่างมาหาคุณ เหมือนเล่าปี่ดึงดูดคนเก่งมาสร้างประเทศทั้งประเทศให้เลยครับ ลองมาดูตัวอย่างของ IKEA และ Uniclo สองยี่ห้อนี้ ชัดมากๆ

ผมชอบเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA ครับ เพราะถูกและสร้างสรรค์มากๆ เจ้าของ IKEA ถือเป็นปูชนียะด้านธุรกิจของโลกเลย ลองดูนะครับ เขาเอาความสามารถของเขามาช่วยโลกผ่านวิสัยทัศน์ที่สุดยอดดังนี้ครับ

“วิสัยทัศน์ของ IKEA ในการดำเนินธุรกิจคือ การสร้างคุณภาพความเป็นอยู่ที่ดีกว่าให้กับคนทั่วไป ซึ่งสามารถประสบความสำเร็จได้ด้วยนโยบายทางธุรกิจที่ชัดเจน คือ การจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์และสินค้าตกแต่งบ้านที่มีความหลากหลาย ได้รับการออกแบบอย่างสร้างสรรค์ เน้นประโยชน์ใช้งานและรูปแบบเรียบง่ายสวยงาม ในราคาย่อมเยาที่คนทั่วไปสามารถเป็นเจ้าของได้”

คุณเข้าไปคุณรู้ได้เลยว่าเขาทำได้จริง ที่สุด IKEA เป็นผู้นำโลกด้านเฟอร์นิเจอร์ที่สุดยอดมากๆ ถูกด้วย ดีด้วย คนธรรมดาๆก็มีสิทธิได้ของดี ราคาอาจไกล้เคียงกับของจีนห่วยๆ

อีกยี่ห้อที่ผมเป็นลูกค้า และชื่นชอบมากๆ ก็คือ Uniclo ลองมาดูวิสัยทัศน์และพันธสัญญาของเขา ทรงพลังไหมครับ ข้างในมีทุกอย่างทั้งปลายทางต้นทาง

“เราจะส่งมอบผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าลำลองคุณภาพดี (Basic Casual) ที่มีความเป็นแฟชั่นนำสมัย ที่ใครก็สามารถสวมใส่ได้ ไม่ว่าเมื่อไหร่หรือที่ไหนก็ตาม ในราคาที่ถูกที่สุดในท้องตลาดให้แก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง

เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ เราจึงใช้วิธีบริหารแบบควบคุมต้นทุนให้ต่ำ ในขณะเดียวกันยังสร้างระบบการจัดตารางการผลิตและลดราคาสินค้าปลีก

นอกจากนี้ เรายังจะส่งมอบบริการที่มีคุณภาพสูงที่สุดรวมถึงสรรหาบริการที่อยู่เหนือความคาดหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เราจะสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับบุคลากรให้ได้ตามมาตรฐานโลกโดยไม่ใช้วิธีการบริหารแบบราชการ เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถผลิตผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์จากการทำงานเป็นทีมเดียวกันได้ เราจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าลำลองอันดับหนึ่งของโลกโดยมีเป้าหมายการเจริญเติบโตของทั้งยอดขายและกำไรต่อปีอยู่ที่ 30%”

ไม่แปลกที่ตอนนี้ผู้ก่อตั้ง Uniclo คือคนที่รวยที่สุดในญี่ปุ่น

ถ้าจะสร้างอาณาจักร ต้องเอาจุดแข็งของเราไปแก้ปัญหาให้คนจำนวนมากที่สุด จริงไหมครับ ชัดมากๆ สองบริษัทระดับโลกนี้พูดชัดเจนมากๆ ... คล้ายๆเล่าปี่พูดถึงประชาชนของตนเองเลย เล่าปี่ไม่ทิ้งใคร โจโฉก็ไม่ทิ้งประชาชน

2. แน่นอนคุณต้องมีเป้าหมาย KPI ครับ แต่หากมียอดขายก็ต้องตั้งเป้าอย่างมีเหตุผล ที่สำคัญต้องสร้างพลัง Performance Driver ใส่เข้าไปทุกจุด ถ้าว่ากันตั้งแต่ยุคสามก๊ก ก็ชัดมากๆ มีการแสวงหาคนดีๆ เก่งๆ มีฝีมืออยู่ตลอด และก็เอามาฝึกฝน พัฒนาใส่พลังเข้าไป เกียงอุยทายาทของขงเบ้งนี่จริงๆ เป็นฝ่ายศัตรู แต่ขงเบ้งใช้แม่ของเกียงอุยดึงมาอยู่จ๊กก๊ก เมื่อดึงมาได้ ก็เพิ่มพลังด้วยการเอามาฝึกมาโค้ช จนกลายมาเป็นพลังสำคัญในที่สุด ไม่ใช่ดึงมาเฉยๆ เรื่องนี้องค์กรจำนวนมากในปัจจุบันมองข้าม ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องการฝึกคน หลายที่ปล่อยเป็นหน้าที่ของ HR จัดการอบรมปีละครั้ง ทั้งๆที่จริงแล้วสามารถใช้ทรัพยากรภายในได้ อาจใช้เทคนิดง่ายๆเช่นการโค้ชก็ได้ หรือจะใช้วิธี Mentoring อย่างสมัยผมทำงานใหม่ๆ คณบดีคนแรกของ MBA จัดให้ผมไปเป็นผู้ช่วยสอน ไปเดินตามอาจารย์ผู้ใหญ่ ซึ่งแต่ละคนเก่งๆทั้งนั้น ผมไปนั่งเรียนกับคนเก่งๆ เริ่มซึมซับวิธีการ นอกจากเนื้อหาล้ำยุคแล้ว ยังมีวิธีการสอน การจัดการห้องเรียน ซึ่งไปหาอ่านเองจากที่ไหนไม่ได้ ไม่ต้องคิดมากครับคณบดีไม่ต้องทำอะไร สองปี อยู่ดีๆ ผมก็สามารถยืนสอนได้วันละ 6 ชั่วโมงสบายๆ MBA ของผมไม่ต้องเสียเงินจากใครมาสอน เพียงจับผมเดินตามคนมีพลังเก่งๆ สามสี่คนเท่านั้น จะว่าไปเรื่องพลังคนนี้ ทุกท่านต้องสั่งสมองค์ความรู้ขึ้นมา อย่าพึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) อย่างเดียว ท่านเองต้องเป็น HR ให้ตัวท่านเอง ..เล่าปี่ โจโฉ ซุนกวน สุมาอี้ก็ทำหน้าที่นี้เอง

3. นโยบายเจ๋งๆ ก็ต้องหาทางเรียนรู้มาครับในยุคสามก๊ก ส่วนใหญ่นักปราชญ์จะอิงกรณีศึกษาก่อนยุคของตนเอง ถ้าในยุคปัจจุบันทำได้ดังนี้ครับ เช่นบริษัทลูกศิษย์ของผมต้องการให้ยอดขายสินค้ามากขึ้น (KPI) เราจึงลองมาหา Performance Driver กัน หาง่ายๆครับหาจากประวัติศาสตร์ดีๆ ขององค์กรก็ได้ ด้วยการตั้งคำถามเชิงบวก เนื่องจากเขามีสาขาจำนวนมาก เราเลยถามว่าสาขาที่ยอดขายดีกับไม่ดีต่างกันตรงไหน น่าแปลกใจที่ตรงกันคือสาขาที่ขายดีมักออกไปหาลูกค้าแต่เช้า สาขาที่ยอดขายตกมักชอบทำงานเอกสารตอนเช้าๆ แล้วไปขายตอนสายๆ ...ผมฟังแล้วตื่นเต้นเลย เรื่องดูง่ายๆ แต่เจอแบบนี้มาในต่างอุตสาหกรรมหลายที่แล้ว เช้าดีกว่าสายครับ เราเลยกำหนดมาเป็นนโยบายที่เป็น Performance Driver กันคือออกไปขายแต่เช้า ที่สุดยอดขายขึ้นจริงๆ แปลกไหมครับ ... นโยบายดีๆสร้างพลังมหาศาล

4. หากลยุทธ์ดีๆ ครับ Performance Driver ยุคสามก๊กเด่นๆจะมีการรวมพันธมิตรกันของจ๊กก๊กกับง่อก๊กมาต้านโจโฉ สมัยนี้เราเรียกว่า Co-creation หรือการสร้างสรรค์ร่วมกัน เช่น Lego ต้องการออกแบบสินค้าใหม่ๆ ก็นำนักออกแบบไปเล่น Lego กับเด็กๆ ที่สุดสังเกตพฤติกรรมเด็กได้ ก็ออกแบบสินค้าใหม่ๆ ได้ ...นี่เรียกว่าการสร้างสรรค์ร่วมกัน เรียกว่าเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรคนเดียว เราสามารถใช้จุดแข็งของเราไปรวมกับพลังของคนอื่น กลายเป็น Performance Driver ที่ยอดเยี่ยมได้ กลยุทธ์ดีๆ ทำให้เราเติบโตแบบก้าวกระโดด เรื่องราวของกลยุทธ์นี้เป็นอะไรที่น่าศึกษามาก มีหาอ่านได้มากมายครับ ในฝั่งของผมผมเน้น Co-creation ครับ

วันนี้ผมคงพอเท่านี้ครับ เอาไปว่าวันนี้ผมได้สรุปสามก๊กจากเล่มหนาๆ ยาวๆ ลงเหลือเพียงคำเดียวคือคำว่า “พลัง” คนเราอย่างสำเร็จต้องมีวิสัยทัศน์ที่ทรงพลัง และต้องหมั่นเสาะแสวงหาป้อนพลังเข้าในคนองค์กร ต้องมหั่นรักษาสมดุลระหว่าง Outcome Measures และ Performance Driver ...อยากได้ผลเลิศ ต้องสร้างเหตุที่เลิศ

ทุกอย่างขึ้นกับ “พลัง” นั่นเอง

ถ้ารู้จักวิถีแห่งพลังนี้ดี คุณจะควบคุมมันไปสร้างสรรค์อะไรก็ได้ แต่หากไม่รู้จักมันดี...ความพยายามของคุณตลอดเวลานับสิบๆปี อาจถูก “พลัง” ที่มองไม่เห็นนี้ ทำลายไปในชั่วพริบตา

จริงไหมครับ

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

หมายเลขบันทึก: 598557เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2015 12:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 ธันวาคม 2015 12:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท