ฉบับที่ ๐๔๑ "มายด์แม็ป" (Mind Map) เคล็ดไม่ลับกับการพัฒนาสมอง 2 ซีก"


"มายด์แม็ป" (Mind Map) เคล็ดไม่ลับกับการพัฒนาสมอง 2 ซีก"

เมื่อวันที่ 12-13 พฤศจิกายน 2558 ณ อาคารศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ ทีมเจ้าหน้าที่ศจย. ได้มีโอกาสเข้าร่วมการอบรมพื้นฐานวิธีเขียน และการใช้งาน Mind Map อย่างถูกวิธี เพื่อพัฒนาศักยภาพภาคีด้านการวิเคราะห์และการคิดเชิงระบบ (Critical Analysis & Systematic Thinking) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญส่วนหนึ่งของการพัฒนาสมรรถนะด้านการเป็นผู้นำและผู้บริหารสุขภาวะ (Leadership & Management in Health Promotion) โดยมี อ.ธัญญา ผลอนันต์ ผู้บุกเบิกการใช้มาย์ด์แม็ปในเมืองไทย และ ลัดดาวัลย์ ชูช่วย แชมป์ความจำระดับประเทศในปี พ.ศ.2552 ได้สอนวิธีการใช้มายด์แม็ป และเทคนิคการจำอย่างมีจิตนาการให้กับภาคีเข้าร่วม 30 คน

อ.ธัญญา ผลอนันต์ เป็นผู้พัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการศึกษาอย่างต่อเนื่องระยะเวลากว่า 10 ปี และมีผลงานอย่างกว้างขวางจนได้รับพิจารณาจากกระทรวงสาธารณสุขให้อยู่ในทำเนียบนักคิดสร้างสรรค์ อ.ธัญญาเล่าถึงพัฒนาการด้านความคิดของมนุษย์เมื่อสองล้านปีที่แล้วว่า มนุษย์เริ่มมีกระโหลกที่โตขึ้น และเริ่มแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ความคิดจึงเริ่มพร้อมกับช่วงมนุษย์ผลิตเครื่องมือในยุคนั้น เราพยายามจดบันทึกข้อมูลมาเป็นแสนๆ ปีแล้วแต่มาตกผลึกเป็นภาษาเขียนเมื่อ 5 พันปีที่แล้ว โดยสองชาติแรกที่เริ่มค้นภาษาและมีความคล้ายกันในหลักการเขียนคือ จีนโบราณและอียิปต์โบราณ โดยเขียนจากบนลงล่าง และเป็นภาษาภาพ ต่อมามีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และทุกชาติมีภาษาเป็นของตัวเองโดยมีการเขียน 3 วิธีคือ 1 จากบนลงล่าง 2.ขวามาซ้าย 3.ซ้ายไปขวา
"สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในเรื่องการใช้ภาษา การเขียน การอ่าน ทักษะด้านตัวเลข เป็นสมองในส่วนของการตัดสินใจส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่ในเรื่องความเข้าใจ ความมีสุนทรียะด้านดนตรี และการใช้จินตนาการ จึงเป็นส่วนของการสร้างสรรค์เราเริ่มใช้สมองซีกขวาก่อนวัยเด็กช่วงชั้นอนุบาล และเมื่อขั้นวัยประถมศึกษาเราจะใช้สมองซีกซ้าย เพื่อเรียนรู้ทางด้านวิชาการมากกว่า" อ.ธัญญา อธิบายถึงการทำงานของสมองเพิ่มเติม

"มายด์แม็ป (Mind Map) หรือแผนผังความคิด จัดเป็นวิธีการเขียนแบบที่ 4 ซึ่งถูกคิดค้นมาเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว โดยโทนี้ บูซาน (Tony Buzan) ซึ่งการทำมายด์แม็ปเพื่อเชื่อมโยงการทำงานของสมองทั้งสองซีก สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาเรียน การทำงาน และช่วยบันทึกความคิดเพื่อให้เห็นภาพที่หลากหลายมุมมองลงบนกระดาษ โดยการใช้ภาพ สี เส้นและการโยงใยแทนการจดเป็นประโยคยาวๆ แบบเดิม" อ.ธัญญา กล่าว


"มายด์แม็ปสามารถเชื่อมโยงสมองทั้งสองซีกให้สมดุล แต่ต้องฝึกให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ สร้างเสริมจินตนาการของสองซีกซ้าย ฝึกการจัดระบบความคิดของตัวเราโดยนำมาประยุกต์ใช้ในวิชาเรียนการทำงาน ฯลฯ ถ้าความจำดีขึ้นแม้จะ 5-10% เราจะมีชีวิตที่ดีขึ้น" อ.ธัญญา บอกถึงข้อดีของมายด์แม็ป

ด้าน ลัดดาวัลย์ ชูช่วย ชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทำเวิร์กช็อปง่ายๆ ด้วยการให้จำตัวเลข 1-25 และเชื่อมโยงกับภาพต่างๆ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมถึงความสามารถในการจดจำของมนุษย์ว่า ความจำเป็นพื้นฐานการเรียนรู้ ถ้าเราจำไม่ได้เราก็ต่อยอดการเรียนรู้ไม่ได้ หลักการง่ายๆ สองหลักการที่ทำให้เราสามารถจดจำได้ดีคือ 1.จินตนาการ 2.ความเชื่อมโยง โดยจะต้องเชื่อมโยงจินตนาการทั้งหมาดเข้าด้วยกันเป็นเรื่องเดียว โดยอาศัยการฝึกบ่อยๆ

"กฏของการเขียนมายด์แม็ปคือ 1.ไม่ล้อมข้อมูลความคิดไว้ด้วยการตีกรอบ เพราะหมายถึงการกักขังความคิดเรา 2.ไม่เขียนคำใต้กิ่ง คำที่เขียนต้องอยู่บนเส้น 3.เขียนเป็นประโยค หรืวลี 4.ทุกเส้นต้องเชื่อมกันเสมอ ไม่ขาดตอน 5.ใช้สีเดียวต่อกิ่งที่ขยายออกไป เพื่อจัดระบบทางความคิด 6.จัดวางกระดาษเป็นแนวนอน เพื่อให้สายตาทั้งสองข้างทำงานได้อย่างเต็มที่ 7.ไม่ควรใช้กระดาษที่มีตาราง" ลัดดาวัลย์ แนะนำวิธีการเขียนเพิ่มเติม

อภิชนา ธรรมศิริ ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค บริษัทเอกชน อายุ 42 ปี เล่าถึงความประทับใจที่ร่วมกิจกรรมว่าเนื่องจากทำงานด้านวิทยาศาสตร์และใช้สมองซีกซ้ายเยอะเมื่อได้ความรู้จากการเขียนมายด์แม็ปก็จะมาประยุกต์ใช้กับงานที่ทำ รวมถึงเทคนิคการจำก็ทำให้เราจดจำได้ดีขึ้น ความรู้วันนี้จะนำไปสอนหลานต่อเพื่อจะได้พัฒนาความสามารถของเขาได้

การทำให้สมองทั้งสองซีกทำงานได้อย่างสมดุลกันนั้น เราจำเป็นที่จะต้องฝึกโดยฝสานหลักการและเหตุผลทางวิชาการพร้อมทั้งเชื่อมโยงจินตนาการ ศิลปะเข้าด้วยกัน การเขียนมายด์แม็ปจึงเป็นการฝึกสมองได้อย่างลงตัว

ผู้เข้าอบรมจะได้ความรู้จากการอบรม คือ มีความรู้ความเข้าใจกับสมองทั้ง 2 ซีก และการกระตุ้นการใช้สมองทั้ง 2 ซีกอย่างเต็มศักยภาพ และยังสามารถใช้ Mind Map เป็นเครื่องมือในการพัฒนาดำเนินงาน สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบขึ้น และการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

ศจย. (www.trc.or.th)

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕

หมายเลขบันทึก: 598555เขียนเมื่อ 18 ธันวาคม 2015 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มกราคม 2016 13:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Mind maps help with describing what we know and what we think or like (to do/have/be) but mind maps can reduce imaginative thinking with 'rules how to draw mind maps'.

(In Jedi lingo) 'Feel the force' and 'let the force be with you'. ;-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท