ขับเคลื่อน PLC เทศบาลเมืองมหาสารคาม _๓๗ : PLC เทศบาลบ้านวิทย์น้อย ร.ร. เทศบาลโพธิ์ศรี


วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ทีม CADL ไปเยี่ยมครูเพื่อศิษย์ที่โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี คราวนี้ไม่ได้ไปเพียงทีมเราเท่านั้นครับ ครูอนุบาลโรงเรียนเทศบาลบูรพาพิทยาคารทั้งหมดที่เราไปเยี่ยมเมื่อวันก่อนโน้น (อ่านที่นี่) มาร่วมเป็นขบวน .... สิ่งที่เราพูดถึงมานาน เรื่องการเปิดห้องเรียนให้เพื่อนครูมาเรียนรู้ เป็นจริงขึ้นมาแล้วไม่คาดคิด ขอบคุณทั้งเจ้าบ้านและที่มาเยี่ยมดูงานครับ ใจผมคึกคักมากว่า PLC จริงๆ เริ่มก่อตัวแล้ว....

จุดเด่นที่เป็น "โอกาส" สำคัญของนักเรียนที่มาเรียนโรงเรียนปฐมวัยในสังกัดเทศบาลคือ ๑) เทศบาลให้การสนับสนุนทรัพยากรครูและดูแลสนับนุนทุนงบประมาณอย่างดี แต่ละโรงเรียนมีอุปกรณ์เครื่องมือ สื่อ ไม่ขาดแคลน และ ๒) มีนักเรียนไม่มาก ยิ่งพิจาราณเทียบกับจำนวนครูและน้องนักศึกษาที่เข้าไปฝึกงานในแต่ละปี ทำให้มีโอกาสที่จดูแลและพิเคราะห์เด็กเป็นรายบุคคลได้ ๓) ฟรี ต้องบอกว่า ผรีจริงๆ ผู้ปกครองไม่ต้องจ่ายค่าเทอม โรงเรียนสนับสนุนค่าหนังสือ ค่าอาหารกลางวัน และมีแจกเสื้อผ้าด้วย ... เรียกว่า "เทศบาลเพื่อชุมชน" จริงๆ

... พักเรื่องนี้ไว้ที่นี่ก่อนนะครับ ไปดูอนุบาลบ้านวิทย์น้อยที่ ร.ร.เทศบาลโพธิ์ศรี ต่อ...

โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี มีกิจกรรมเตรียมนักเรียนหน้าเสาธงต่างไป โดยใช้การบริหารร่างการประกอบเพลง ที่น่าสนใจคือ ครูทุกคนพร้อมใจกันทำจังหวะเป็นแบบอย่างและทำท่าทางต่างๆ ไปพร้อมๆ กับนักเรียน ....


โรงเรียนเทศบาลโพธิ์ศรี มีนักเรียนปฐมวัย ๓ ห้อง เตรียมอนุบาล ๑ ๒ และ ๓ อย่างละห้อง กระบวการตรวจเยี่ยมวันนี้คือ ให้ทุกห้องเตรียมทำการทดลองให้ผู้มาเยี่ยมดู โดยครูทุกคนจะเข้าเยี่ยมพร้อมๆ กัน หลังห้อง

ห้องที่ ๑ ครูละมัย "วงล้อหลากสี"

ครูละมัยกำหนดให้นักเรียนมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น คือ เด็กทุกคนจะต้องเตรียม "แกนกระดาษชำระ" มาจากบ้าน ... ประเด็นนี้ดีมาก อยากให้ครูทุกคนใช้วิธีนี้ครับ เพราะวิธีการมอบหมายให้เอาอะไรมา แบบนี้เป็นการฝึกให้เด็กๆ สื่อสารกับผู้ปกครอง ฝึกความรับผิดชอบของเด็ก และฝึกการวางแผน หรือฝึก "ความจดจ่อ" ต่อสิ่งที่ทำของเด็กๆ .... เพียงแต่ต้องไม่ยากเกินไป และไม่ให้ใช่ของที่ไม่มีราคาแพง

อุปกรณ์ทั้งหมดคือ ๑) แกนกระดาษชำระ ๑ อัน ๒) หนังยางหรือกาว ๓) สีเทียนหรือสีช็อค ๔) กระดาษขาว ๕) ไม้บรรทัด และ ๖) ดินสอ และ ๗) กรรไกร ... หากเป็นเด็กเล็ก อนุบาลหนึ่ง ครูละมัยทำให้ง่ายขึ้นด้วยการ เตรียมกระดาษขนาดพอดีที่ขีดเส้นเรียบร้อย จึงไม่จำเป็นต้องมี อุปกรณ์หมายเลข ๕) ถึง ๗)

วิธีการคือ

  1. ให้นักเรียนระบายสีลงในกระดาษ ช่องตารางละสี ให้หลากสีตามต้องการ
  2. เอากระดาษสีที่ระบายแล้ว มาม้วนล้อมแกนกระดาษ แล้วติดให้แน่น อาจใช้กาวหรือหนังยาง ครูละมัยให้ใช้หนังยาง ดีครับ ไม่อันตรายและเลอะง่ายเกินไปสำหรับเด็กเล็ก
  3. กลิ้งเล่นไปมา สายตาเด็กจะมองไม่ทัน ทำให้เหมือนสีผสมกัน






สาระของการทดลองนี้อยู่ที่ การผสมสีที่หลอกตา อะไรที่เคลื่อนไหวไวๆ ดวงตาของคนจะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นสีอะไร ขอแนะนำให้พาเด็กๆ ทำแบบ ลูกข่างหลากสีจะดีครับ จะเห็นชัดกว่าในประเด็นนี้ (ดูคลิปได้ทั่วไปครับ เช่น ที่นี่)

แม้จะเป็นการทดลองง่ายๆ สบายๆ แต่เด็กๆ ก็ยังคงชอบและสนุกกับการ "เล่น" ได้ ส่วนที่ยังต้องเพิ่มเติมคือ "ฝึก" ทักษะกระบวนการตาม "วัฏจักรนักวิทย์น้อย" ๖ ขั้นตอน ได้แก่

  • ทำให้สงสัย
  • ชวนให้คิดหาคำตอบ
  • พาตรวจสอบคำตอบนั้น
  • ให้แบ่งปันอธิบาย
  • ให้ระบายบันทึก
  • ให้ฝึกสรุปผล

เพื่อให้ได้ทั้ง "เล่น" ได้ "เพลิน" ได้ "learn" ได้ "รู้" จากการ "Do" และ "เห็น"



ห้องที่ ๒ "การละลายของน้ำตาล" ของครูตุ๊กตา

ครูตุ๊กตา ตั้งใจมาก จริงจังมาก เสียงดังฟังชัด อยากให้เด็กๆ รู้เยอะๆ ท่านเตรียมอุปกรณ์อย่างดี มีอุปกรณ์ครบทุกอย่าง ได้แก่ น้ำตาล สีผสมอาหาร จาน แก้ว น้ำเปล่า และน้ำมัน เอามาวางบนโต้

วิธีการคือ

  • เอาจานท้องแบนมาใส่น้ำใส แล้วให้เด็กๆ เอาน้ำตาลวางลงตรงกลางจาน เวลาผ่านไป น้ำตาลจะหายไป .... น้ำตาลหายไปไหน?
  • เพื่อให้เห็นชัดขึ้น ลองเอาสีผสมอาหารหยดลงตรงก้อนน้ำตาลก่อน แล้วนำไปวางตรงกลางจาน ... เด็กๆ จะสังเกตเห็นว่าน้ำตาลไปไหน ...
  • ลองเปลี่ยนน้ำใสเป็นน้ำมัน ...น้ำตาลไม่ละลายในน้ำมัน ดังนั้น เหตุการณ์จะไม่เหมือนน้ำตาลในจานน้ำ ... ชี้ให้สังเกตความแตกต่าง คือแนวทางของการพัฒนาการคิดวิเคราะห์

การวางน้ำตาลหลายๆ สี ลงห่างกันอย่างพอดี จะทำให้สีเดินทางมาชนกัน สวยงาม.... สอนงานศิลปะได้เลย

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น วิธีของครูตุ๊กตาดีมากครับ ท่านให้เด็ก เอาน้ำตาลใส่แล้วใช้วัสดุคล้ายแท่งแก้วคนๆ น้ำตาลหายไปในน้ำ ...



  • ท่านตั้งใจมาก จึงอยากให้เด็กได้ดังใจ จึงเหมือนจะเร่งรีบไป จนเด็กไม่ได้ "เล่น" ต้องเข้มและเนี๊ยบ
  • ท่านจริงจังมาก จึง อยากจะให้เด็กๆ ได้รู้ว่า น้ำตาลหายไปไหน น้ำตาลละลายในน้ำ น้ำตาลไม่ละลายในน้ำมัน .... ท่านเฉลยไวไปนิดครับ ...
  • แต่ที่แปลกคือ แม้ท่านจะเสียงดังเหมือนดุ แต่ เด็กๆ เหมือนไม่ได้กลัวคุณครูคนนี้เลยครับ ยังคงสนุกสนานได้เหมือนเดิม

จุดเด่นของครูตุ๊กตาคือ ท่านเตรียมตัว ท่านเตรียมการทดลองเป็นส่วนๆ ทั้งที่ต้องการสาธิต และส่วนที่จะให้เด็กลงมือทำ อีกอย่างหนึ่งคือการตั้งปัญหา ตั้งปัญหาได้ดีมาก โดยเฉพาะการสอนไปหลายๆ วิชา ไปกับการทดลอง เช่น "น้ำตาลภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า....." "สีผสมอาหารกินได้ไหม......" ฯลฯ เป็นการสอนแบบบูรณาการทั้งด้านวิชาการและด้านทักษะชีวิต

การทดลองนี้ สาระอยู่ที่ทำให้เด็กเข้าใจ "การละลาย"

ห้องอนุบาล ๓ เรื่อง "เมล็ดพืชเต้นระบำ" ครูปุ๊ก

ครูปุ๊กเก็บเด็กได้เยี่ยมยอดมากครับ ไม่เชื่อลองดูคลิปด้านล่าง ศน.ต้น ให้คอมเมนต์ว่า เทคนิคการซ่อนอุปกรณ์ไว้ก่อน แล้วพูดเกริ่นนำให้สนใจ.... ถึงเวลาแล้วค่อยเอาออกมา ทำให้ทั้งเด็กทั้งผู้มาเยี่ยมตื่นเต้นไปด้วย ส่วนผมชอบตรงที่ ครูปุ๊กออกแบบกิจกรรม ให้เด็กๆ ได้ลงมือทำเอง ตั้งแต่ยกโต๊ะมาเอง เปิดขวดน้ำเอง รวมทั้งเปิดขวดโซดาเอง... ครูปุ๊กบอกว่า สำหรับเด็กๆ ในชุมชนโพธิ์ศรี เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา ทำได้สบาย....

อุปกรณ์ของ "เมล็ดพืชเต้นระบำ" ครูปุ๊กเตรียมไว้ให้ครบทุกกลุ่ม ดังนี้ครับ ขวดน้ำเปล่า ขวดโหลแก้วมีฝาปิด ช้อน โซดา เมล็ดถั่วเขียว ลูกโป่ง ผ้าเช็ดโต๊ะ ที่เปิดขวด

วิธีการของครูปุ๊ก เริ่มหลังจากเด็กสนใจและใคร่อย่างเห็นอย่างทำเต็มที่ กระบวนการของครูปุ๊กเป็นแบบ "นำทำ" คือให้เด็กๆ ทำที่ละขั้นตอนไปพร้อมๆ กัน แล้วสังเกตเรียนรู้โดยใช้คำถามของครูทุกขั้นตอน

  • ตัวแทนกลุ่มใช้ช้อรตักเมล็ดถั่วเขียวเทใส่ในแก้วน้ำเปล่า ... สังเกต.... ถั่วจมหรือลอย?....
  • เปิดขวดโซดา แล้วเทใส่ในขวดโหลแก้วประมาณครึ่งขวด
  • ลองตักเมล็ดถั่วเขียวลงในขวดโหลแก้วที่เปิดโซดาเทใส่ไว้แล้ว ....เมล็ดพืชเต้นระบำ...ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?...
  • ทุกกลุ่มเอาลูกโป่งปิดปากขวดโซดา ... สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น ...

สาระสำคัญของการทดลองนี้คือ

  • น้ำกับโซดาต่างกัน แม้จะดูด้วยตาไม่เห็นว่าต่างกัน สิ่งที่ต่างกันคือ โซดา คือ น้ำอัดก๊าซ (น้ำ H2O + ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 = กรดคาร์บอนิก) ... ซึ่งการทดลองนี้จะพิสูจน์ให้เด็กๆ เห็น
  • การเปิดขวดโซดา ทำให้ก๊าซ (คาร์บอนได้ออกไซด์)ที่ละลายอยู่ในน้ำ คลายออกมา
  • ทำไมโซดาจึงต้องใช้ขวดแก้ว? ใช้ขวดพลาสติกเหมือนน้ำได้ไหม?.... ไม่ได้ เพราะในโซดามี "แรงดัน" สูง .... ครูสามารถแสดงให้เด็กๆ ดูได้ด้วยการเทน้ำตาลทรายใส่ขวดโซดาแล้วปิดปากขวดด้วยลูกโป่ง น้ำตาลจะช่วยเร่งให้เกิดการคายตัวของก๊าซเร็วขึ้น ... หรือเปิดขวดโซดาให้มีเสียง...โป๊กซซ..... แต่ต้องระวังความปลอดภัยนะครับ ....
  • ทำให้เด็กน้อยรู้จักคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งประโยชน์และโทษ ... และรักต้นไม้ ....

ผมตีความว่า โครงการบ้านวิทยาศาสตร์น้อย ให้ความสำคัญกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาก หัวเรื่องแรกๆ ของโครงการนี้คือ คือ อากาศ น้ำ แสงสีและการมองเห็น และคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ... กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งปรากฎการณ์ ที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยตนเอง




เราจบด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แบบ PLC ที่มีสมาชิกทุกคนแสดงความเห็น และชื่นชมสิ่งดีๆ ที่เราได้ทำร่วมกันเพื่อเด็กๆ

หมายเลขบันทึก: 598176เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2015 19:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มิถุนายน 2016 14:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท