จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๐ : สามเสียงอุปสรรคต่อจิตตื่นรู้ Part I เสียงแห่งการตัดสิน (Voice of Judgment)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๐ : สามเสียงอุปสรรคต่อจิตตื่นรู้ Part I เสียงแห่งการตัดสิน (Voice of Judgment)

แปดปีที่แล้วได้หนังงสือมาเล่มหนึ่ง แนะนำโดยอาจารย์ประเวศ วะสี คือ Theory U เขียนโดยออตโต ชาร์มเมอร์ (Otto Scharmer) ปรากฏว่าอ่านแล้วสนุกมาก นำมาทำเป็น workshop ต่างๆอยู่หลายปี วันนี้ได้ลองกลับไปย้อนอ่านดู ก็เห็นปรากฏการณ์อีกมากมายที่เกิดขึ้นจริง และนำเอาทฤษฎี (หรืออยากจะเรียกว่าเป็น "ข้อสังเกตจากการตกผลึก") มาอธิบายได้เป็นอย่างดี

ทฤษฎีสั้นๆคือ คนเรามี "การฟัง" หลายระดับ ตั้งแต่ I in Me (ฉันในฉัน) I in it (ฉันในมัน) I in You (ฉันในเธอ) และสุดท้ายคือ I in Now (ฉันในเดี๋ยวนี้) ซึ่งเรียงจากระดับตื้นสุดลงไปถึงการฟังแบบสุนทรีย์ (dialogue) ทั้งสี่ระดับนั้นเกิดขึ้นในคนธรรมดาๆ แต่ในสัดส่วนแตกต่างกันออกไป พบว่าถ้าเราลงมาอยู่ในระดับล่างๆจะมีบางสิ่งบางอย่างที่ดีมากๆเกิดขึ้นกับ ชีวิตได้
@ I in Me ก็คือฟังแบบใช้ของเก่ามาแปล ฉันมีอยู่เท่าไหร่ในอดีต ก็จะใช้อย่างนั้นแหละมาแปล เวลาเพื่อนพูดอะไร เราก็จะบอกกับตัวเองว่าฉันรู้หมดแล้วว่าอีตานี่ ยายคนนี้จะพูดอะไร
@ I in It ก็คือการฟังแบบพวกนักวิชาการ (ที่ดีๆ) คือไม่ได้ใช้ตัวเองเป็นหลักในการแปล แต่ใช้หลักฐานเบื้องหน้า แล้วก็ค่อยคิดวิเคราะห์ไปตามข้อมูล ใครมีข้อมูลเหนือกว่าก็จะเกิดความแตกฉานและเข้าใจมากขึ้นไปตามนั้น
@ I in You ก็คือการฟังแบบ "ใส่ใจ" ว่าคนที่กำลังพูดด้วยเขา "หมายความว่าอย่างไร" ซึ่งรวมไปถึงการอ่านและตีความใน "สิ่งที่ไม่ได้พูดออกมา" ด้วย ฟังจนรู้จัก เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจในคนๆนั้น
@ I in Now เมื่อฟังในระดับลึกมากๆอยู่ได้ที่แล้ว ภายในตนเองกับข้อมูลภายนอกเข้ามาประสมกลมกลืนประดุจน้ำกับน้ำนม (ไม่ใช่น้ำกับน้ำมัน) ก็จะเกิดการ "เปลี่ยนแปลง" เราจะ let it go คือสลัดละทิ้งตัวตนเก่าไป และ let it come อนุญาตเปิดพื้นที่ให้ตัวตนใหม่ถือกำเนิดขึ้นมา

ในแต่ละขั้น แต่ละระดับ จะมี "อุปสรรค" ขวางกั้น ซึ่งถ้าเรารู้จักอุปสรรคที่ว่านี้ เราจะได้จัดการได้อย่างมีระบบ ออตโต ชาร์มเมอร์เรียกอุปสรรคในระหว่างขั้นหรือระดับต่างๆนี้เป็น Voices หรือเสียง จะขอเขียนถึงเสียงแรกก่อน คือ "เสียงแห่งการตัดสิน (Voice of Judgment)"

เสียงแห่งการด่วนตัดสิน (Voice of Judgment)

https://www.gotoknow.org/posts/153045
เวลาคนเรามี judgmental attitude หรือนิสัยสันดานชอบด่วนตัดสินนั้น เราจะตกค้างการฟังของเราอยู่ในระดับตื้นเขินที่สุด คืออยู่ในโลกของ I in Me (ฉันในฉัน) เอาตัวเอง ความคิด ความรู้สึก ของตนเองเป็นใหญ่ เป็นหลัก หรือเป็นพื้นฐานเพียงอย่างเดียว

โดยทั่วๆไปนี่คือเรื่องปกติ แต่เราอาจจะไม่ได้สังเกต หรือมีสติรับรู้ เกือบทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำ (การไม่กระทำก็เป็นการกระทำแบบหนึ่งด้วย) เกิดจากที่เราได้ "วินิจฉัย" ว่าอะไรเป็นอะไร เสร็จแล้วเราก็จะกระทำไปสอดคล้องกับที่ที่เราคิด ในวิชาชีพแพทย์นี่จะชัดมาก เราจะรักษา/ดูแล/เยียวยาก็ "เฉพาะ" สิ่งที่เราวินิจฉัยว่าเป็นปัญหาเท่านั้น ซึ่งก็สมเหตุสมผล แต่ประเด็นก็คือในสิ่งที่เรามองไม่เห็น หรือว่าข้อมูลไม่ครบถ้วนนั้นมีหรือไม่ ถ้ามีเราจะเปลี่ยนวินิจฉัยไปไหม?

ในคลิปที่แนบมานี้ (https://youtu.be/cDDWvj_q-o8) ตั้งชื่อไว้ว่า Empathy เป็นภาพชีวิตคนที่เดินไปเดินมาใน ร.พ. แต่ได้ใส่ balloon ความคิดว่าแต่ละคนกำลังคิดอะไรอยู่ในใจ ซึ่งร้อยเปอร์เซนต์ที่เราไม่มีทางไหนเลยจะทราบจากสีหน้า ท่าทาง ว่าคนเหล่านั้น "กำลังคิดอะไร" เราอาจจะ "พอเดาได้" ว่ากำลังรู้สึกอะไร และเดาได้ใกล้เคียงยิ่งขึ้นถ้ายิ่งมีข้อมูลประกอบ ถึงกระนั้นเราจะพบว่าสิ่งที่เราคิดหรือคิดว่า "เข้าใจแล้ว" นั้น ยังคงห่างไกลจากความเป็นจริงอย่างมากมาย ในคลิปนี้เกิดคำถามว่า "แล้วถ้าเราเข้าใจได้ทั้งหมด เราจะยังคงทำ/ไม่ทำ เหมือนเดิมหรือไม่?

ถ้าคำตอบว่า "ไม่ เราคงจะทำอีกแบบหนึ่ง" คำถามต่อไปก็คือ "แล้วที่แล้วๆมานั้น ที่เราได้ "ตัดสินไป" แล้วกระทำอะไรลงไป เรามั่นใจสักแค่ไหนว่าเราพิจารณาจากทุกๆด้านเรียบร้อยไปแล้ว เป็นไปได้ไหมที่เราอาจจะขาดข้อมูลอะไรบางอย่างไป และหากเรารู้มาก่อน เราจะคิด สรุป พูด กระทำ แตกต่างจากเดิมไปอย่างสิ้นเชิง?

เครื่องมือที่ทรงพลังในการจัดการ voice of judgment ก็คือการ "ห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน (suspension of assumption)" อันเป็นทักษะที่ฝึกฝนได้ พัฒนาได้ แทนที่เราจะปักใจเชื่อว่าเราได้มีข้อมูลทั้งหมด เพียงพอแล้ว กลับเปิด "พื้นที่แห่งคงวามเป็นไปได้" เราจะได้ไม่ประหลาดใจเกินไป เราจะได้ไม่กระโดดลงไปทั้งตัวจนถอนตัวไม่ได้ เราจะได้สามารถ U-turn และกลับรถไปในทางที่ถูกต้องได้ทันท่วงที

ในชีวิตที่ได้รับฟังเรื่องราวชีวิตมามากมายจากการเป็นแพทย์ การเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ที่ว่านี้ได้ช่วยชีวิตคนเป็นจำนวนมาก แต่เป็น "ทักษะ" ที่ต้องฝึก เพราะหมอต้องวินิจฉัย คือตัดสินว่าอะไรเป็นอะไร เพียงแต่เราต้อง "ไม่ด่วนตัดสิน" มีติดเบรคไว้บ้าง และพร้อมที่จะมีแผนสอง แผนสามตามมา ชีวิตคนนั้นซับซ้อนมาก มากจนอาจจะกล่าวได้ว่าการด่วนตัดสินว่าอะไรเป็นอะไร ใครเป็นอะไร โดยเร็วนั้น มีโอกาสสูงมากที่เราจะตัดสินผิด ข้อสำคัญคือการตัดสินผิดของแพทย์มักจะมี consequences ตามมา ตั้งแต่ relationship ระหว่างแพทย์กับคนไข้และครอบครัว ตั้งแต่การ intervene ที่อาจจะไม่ได้ผล หรือแย่กว่านั้นคือทำให้ยิ่งทรุดลง และอาจจะทรุดลงไม่เพียงคนไข้คนเดียว แต่อาจจะทรุดทั้งครอบครัว ทุกข์ในทุกๆคนที่เกี่ยวข้อง

สังคมไทยตอนนี้กำลังมีพยาธิสภาพเรื่องการด่วนตัดสินที่รุนแรงมาก เป็นระยะลุกลาม แถมทำไปทำมา ไม่ได้แค่ตัดสินตรงการกระทำเท่านั้น แต่จะ "ตัดสินคน" ไปด้วย นั่นคือถ้าใคร "ทำอะไรผิด/ไม่ดี/เลว" แปลว่า "คนๆนั้นผิด คนๆนั้นไม่ดี และคนๆนั้นเป็นคนเลว" และเกิด fail logic หรือตรรกะวิปลาสตามมาคือ ทุกสิ่งทุกอย่างที่คนๆนั้นคิด พูด ทำ ต้องเลวไปหมด เมื่อมาคิดถึงวิชาชีพแพทย์ การด่วนตัดสินแบบนี้สามารถบอกได้เลยว่าพยากรณ์โรคน่าจะแย่มาก เพราะการรักษาทุกชนิดทางการแพทย์มีโทษหมด แต่เรายังคงทำเพราะประโยชน์มากกว่าโทษ แต่ถ้าทำไปโดยวินิจฉัยผิด เพราะเราด่วนวินิจฉัยเกินไป ไม่เพียงแต่คนไข้จะไม่หาย แต่คนไข้จะรับผลข้างเคียงจากการรักษาที่เราทำไปเต็มๆโดยไม่เกิดประโยชน์อะไร เลย

ทักษะการ "ห้อยแขวน ไม่ด่วนตัดสิน" จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกในการทำวิชาชีพแพทย์

และทุกๆอาชีพ

(ต่อ Part II เสียงแห่งความคลางแคลงใจ Voice of Cynicism ตอนหน้า)

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๗ นาที
วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 597271เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท