"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​วิธีรักษาสิริมงคล


11/11/2558

*********

------------------------------***** วิธีรักษาสิริมงคล *****------------------------

...........สิริ แปลเอาใจความ หมายถึง มิ่งขวัญ ความสง่างาม แต่ถ้าแปลตามศัพท์หมายถึง ศรี (เพื่อนที่เป็นมหาให้ความหมายมา) พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้หลายอย่างที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกันคือ.. (สี) น. มิ่ง สิริมงคล ความรุ่งเรือง ความสว่างสุกใส ความงามความเจริญ เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม..ฯ..

...........ตามหนังสือตำราพรหมชาติ หน้า ๔๙๕-๔๙๗ ได้กล่าวถึงเรื่อง “ศรี” ของคนเราแตกต่างจาก “ศรี” ที่มีอยู่ในประวัติวันสงกรานต์อยู่หลายประการ พี่หนานขอหยิบยกมาเล่าให้เพื่อน ๆ กัลยาณมิตรฟัง(อ่าน) เพื่อเกิดการศึกษาเรียนรู้ และเทียบเคียงกับประวัติวันสงกรานต์หรือความเป็นเป็นมาของนางสงกรานต์ โดยสรุปเป็นสำนวนผสมภาษาสมัยใหม่พอให้เข้าใจดังต่อไปนี้...

..........ในกายของคนเราทั้งชายและหญิงจะมีสิริอยู่ ๘ ประการ และแต่ละคนก็จะมีเทพยดารักษาอยู่ เทพยดาที่รักษานั้นก็จะมีทั้งที่เป็นสิริ ให้คุณแก่คน และเทพยดาที่เป็นกาลกิณี ให้โทษแก่คนเรา

..........ยกนิยายโบราณที่อาจารย์ผู้รจนากล่าวถึงนั้น ท่านบอกว่า ...ณ กาลก่อนมีเทพยดา ๒ องค์ อยู่รักษาโลก องค์หนึ่งชื่อ “เทวพรหม” (ไม่ได้ชื่อท้าวกบิลพรหมดังประวัติสงกรานต์) อีกองค์หนึ่งชื่อ “โลกพรหม” (ไม่ใช่ธรรมบาลกุมารดังประวัติสงกรานต์) เมื่อพรหมทั้งสองมาพบกันเข้า เทวพรหม จึงมีการท้าทายถาม-ตอบปัญหา สิริปริศนา ๘ ประการ(ไม่ใช่มีศรีเพียง ๓ ประการดังประวัติสงกรานต์) แก่ “โลกพรหม” ว่า

ข้อ ๑. บุรุษอันเกิดมาในโลกนี้ จะสมัครสโมสรสังวาสด้วยหญิงนั้น(มีเพศสัมพันธ์กัน) อย่างไรจึงจะควรเป็นที่สรรเสริญแก่เทพยดาที่เป็นสิริ(เทวดาที่เป็นผู้สง่างามหรือเป็นมิ่งขวัญของตนเอง)จะได้รักษา

ข้อ ๒. เมื่อบริโภคอาหาร (ควร)จะบ่ายหน้า(หันหน้า)ไปทิศใด จึงจะสมควรให้เทพยดารักษา

ข้อ ๓. เมื่อจะถ่ายอุจจาระ (ควร)จะบ่ายหน้าไปทิศใด ...

ข้อ ๔. เมื่อจะไสยาสน์(นอน)กับสตรี (ควร)จะไสยาสน์อย่างไร ...

ข้อ ๕. เมื่อเวลากลางวัน กลางคืนก็ดี (ควร)จะนุ่งผ้าดังฤา(แบบไหน) ...

ข้อ ๖. เวลารุ่งเช้า สิริอยู่ในตัวมนุษย์ที่ใด ทำอย่างไร ...

ข้อ ๗. เวลาเที่ยง สิริอยู่ในตัวมนุษย์ที่ใด ทำอย่างไร ...

ข้อ ๘. เวลาพลบค่ำ สิริอยู่ในตัวมนุษย์ที่ใด ทำอย่างไร จึงจะสมควรให้เทพยดารักษา

............อันว่า สิริ ๘ ประการนี้ มีอยู่สำหรับโลก และท่านเป็นพรหมอยู่รักษาโลกทั้งปวง(ไม่ใช่มนุษย์เดินดินหรือเทวดาธรรมดาอย่างธรรมบาลกุมาร) ท่านจงวิสัชนาไป(ตอบปัญหา)ให้เราฟังในกาลบัดนี้เทอญฯ

...........ฝ่ายโลกพรหมจึงทูล(ตอบ)แก่เทวพรหมว่า อันอรรถปัญหาปริศนานี้ “ข้าพเจ้าจะขอผลัดไปตรึกตรองดูก่อนในเจ็ดวันแล้ว จึงจะมาวิสัชนาให้ฟัง” เทวพรหม จึงว่ากับ พรหมโลก ว่า “ท่านจงเร่งไปตรึกตรองไต่ถามเสียให้ได้ในเจ็ดวัน ครั้นครบเจ็ดวันแล้ว เราจะลงมาฟัง ถ้าท่านแก้อรรถปัญหาของเรามิได้ เราก็จะตัดศีรษะของท่านเสียไปประจานในโลก” (ดูเหมือนจะไม่ได้คุยกันอยู่บนโลกมนุษย์) ส่วนโลกพรหม ก็สะดุ้งตกใจกลัวยิ่งนัก จึงไปเที่ยวสืบถามปัญหาจากเทวดาทั้งหลาย แต่ก็ไม่มีท่านใดจะสามารถตอบปัญหาดังกล่าวมาให้ได้ เที่ยวถามไปจนครบหกวัน(มีความพยายามสูงมาก) ก็หาผู้ที่จะช่วยตอบสิริปริศนา ๘ ประการ นี้ได้ไม่มีเลย

..........พอเวลาค่ำโลกพรหมไปพบต้นไม้ใหญ่ไพศาลต้นหนึ่ง บนต้นไม้มีรังนกอินทรีแม่ลูกอาศัยทำรังอยู่(ไม่ใช่นกอินทรี ๒ ผัวเมียดังประวัติสงกรานต์) โลกพรหม เข้าไปอาศัยพักนอนใต้ต้นไม้นั้น พอตกตอนค่ำ แม่นกอินทรีกลับมารังของตน ลูกนกจึงถามแม่นกว่า “แม่ไปหาเหยื่อวันยังค่ำไม่ได้อะไรมาฝากข้าบ้างเลย” แม่นกจึงตอบว่า “วันนี้แม่หาเหยื่อมาฝากเจ้าก็ขัดสนนัก แม้แต่แม่จะกินก็ไม่มี เจ้าจงคอยพรุ่งนี้” “แม่จะได้เหยื่อที่ไหนมาให้ข้าเล่า” แม่นกจึงบอกลูกว่า “เวลาพรุ่งนี้เทวพรหมจะฆ่าและตัดศีรษะโลกพรหมเสีย แม่จึงจะได้เอาเนื้อโลกพรหมนั้นมาฝากเจ้า” ลูกนกจึงถามว่า “เหตุใดเทวพรหมจึงจะฆ่าโลกพรหมเสียเล่า”

...........แม่นกก็ตอบลูกนกในลักษณะว่า หากตอบปัญหา ๘ ประการดังกล่าวมาไม่ได้ก็จะตาย ลูกนกก็อยากรู้ แม่ก็ไม่อยากเล่า แต่ถ้าหากไม่เล่าให้ฟังลูกนกจะกลั้นใจตายทันที แม่นกจึงจำยอมต้องตอบสิริปริศนาสำหรับโลกให้ฟังทั้งหมด...

............ถ้าบุรุษสตรีผู้ใดรักษาสิริ ๘ ประการนี้ได้ เทพยดาที่เป็นสิริก็ให้พรและรักษาผู้นั้น ถ้าบุรุษสตรีใดไม่ได้ทำตามสิริสำหรับโลก ๘ ประการนี้ เทพยดาที่เป็นกาลกิณีก็สาปผู้นั้น ผู้นั้นจะถอยยศศักดิ์ การมงคลและความรู้จะเสื่อมสูญไปสิ้น(แสดงให้เห็นว่าแม้แต่เทวดาก็ยังมีเทวดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิและเทวดาที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ หรือกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า “เทวดาดี” และ “เทวดาร้าย” นับประสาอะไรกับคน) แม่นกอินทรีจึงบอกลูกว่าปริศนานั้นมีดังนี้...

ข้อ ๑. ให้บุรุษสตรีเว้นจากกามคุณ(มีเพศสัมพันธ์)ในวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม และวันตรุษ วันสงกรานต์ วันสูรย์(สุริยคราส) วันจันทรคาธ วันเข้าพรรษาและวันเกิดของตน (การกินเลี้ยงในวันเกิดจึงควรระวังการเสียตัว) ถ้าบุรุษหรือสตรีใด เว้นเสียซึ่งการร่วมรสสังวาสกามคุณในวันเหล่านี้แล้ว เทพยดาก็จะอวยพรและรักษาสิริให้เข้าอยู่ในตัวผู้นั้น

ข้อ ๒. ถ้าบุรุษและสตรีผู้ใดจะบริโภคอาหาร ให้บ่ายหน้าไปทิศบูรพา คือทิศตะวันออก ถ้าทำดังนั้นเทพยดาที่เป็นสิริจะให้พรและรักษาผู้นั้น

ข้อ ๓. ถ้าผู้ใดจะถ่ายอุจจาระ ให้บ่ายหน้าไปสู่ทิศปัจฉิม คือทิศตะวันตก เทพยดาอันเป็นสิริจะให้พรและรักษาผู้นั้น

ข้อ ๔. ถ้าผู้ชายจะนอนด้วยผู้หญิง จงให้ผู้หญิงนั้นนอนข้างซ้ายแล้วอย่าให้ผู้หญิงนั้นข้ามเท้า เทพยดาที่เป็นสิริก็จะให้พรและรักษาผู้นั้น

ข้อ ๕. ถ้าบุรุษและสตรีผู้ใดก็ดี ให้รู้จักผ้านุ่งกลางวันและกลางคืน ห้ามอย่าให้นุ่งร่วมกัน ถ้าจะนุ่งให้หมายเอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าเป็นผ้านุ่งกลางวันหรือกลางคืน เทพยดาอันเป็นสิริจึงจะให้พรและรักษาผู้นั้น

*ข้อ ๖. เวลารุ่งเช้า สิริอยู่ที่หน้าผาก ครั้นเวลาเช้าให้เอาน้ำล้างหน้าจึงจะเป็นสิริ เทพยดาที่เป็นสิริจึงจะรักษาผู้นั้น

*ข้อ ๗. เวลาเที่ยง สิริอยู่ที่อกและระหว่างทรวง ให้เอาน้ำพรมที่หน้าอกตรงหทัย(หัวใจ) จะเกิดเป็นสิริเทพยดาจึงจะรักษาผู้นั้น

*ข้อ ๘. เวลาเย็น สิริอยู่ที่หัวแม่เท้าและกลางใจเท้า เมื่อเข้าไสยาสน์(เข้านอน)เอาน้ำชำระกลางใจเท้า เทพยดาอันเป็นสิริจึงจะให้พรและรักษาผู้นั้น ข้าทาสกรรมกร ศัตรูทั้งปวง ไม่สามารถจะทำร้าย ก็ดลใจให้เรารู้สึกตัวกับตนเอง แล ฯ
............สิริทั้ง ๘ ประการนี้ ถ้าผู้ใดรักษาได้ เทพยดาอันเป็นสิริจะอวยพรให้แก่ผู้นั้น และจะเข้าอยู่รักษา(เป็นเทวดาประจำตัว) ถ้าผู้ใดมิได้รักษาสิริ ๘ ประการนี้ไซร้ เทพยดาอันเป็นกาลกิณีทราบแล้ว จะเข้าอยู่รักษาผู้นั้น ทำให้ผู้นั้นอับประภาค(น่าจะหมายถึง ตกต่ำ) ถอยอายุ(อายุสั้น)

...........แม่นกแสดงให้ลูกนกฟังดังนี้ โลกพรหมอยู่ใต้ต้นไม้ได้ยินทุกสิ่ง ครั้นวันรุ่งขึ้นเป็นวันคำรบเจ็ดวัน โลกพรหมก็ไปรอคอยเทวพรหมอยู่ พอถึงเวลาเทวพรหมก็เสด็จลงมา โลกพรหมก็แสดงแก้อรรถปัญหาปริศนา ๘ ข้อ ตามได้ยินมาจากคำแม่นกแสดงแก่ลูกนกทั้ง ๘ ข้อ เทวพรหมก็มีความยินดีสรรเสริญต่าง ๆ แก่โลกพรหม แล ฯ (จบ)

...........ตำราพรหมชาติมิได้กล่าวถึง การท้าทายแบบตัดศีรษะของกันและกัน แต่แสดงไว้เฉพาะว่า เทวพรหมจะตัดศีรษะของโลกพรหมเท่านั้น ...ข้อที่แสดงไว้ตรงกัน ๓ ประการคือ ๖-๗-๘ ที่ใส่สัญลักษณ์หน้าข้อไว้ คือ ศรีหรือความสง่างามของคนเราในแต่ละช่วงวันนั้น อยู่ตรงไหน? คำตอบที่ได้เหมือนกัน มีแตกต่างกันอยู่ตรงข้อสุดท้ายนิดหน่อย

...........สิริมงคลดังกล่าวมาทั้ง ๘ ประการ มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมประเพณีและการปฏิบัติตัวของคนไทยอยู่ไม่น้อย เช่น ...

ข้อ ๑. การหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการมีเพศสัมพันธ์ของสามีภรรยาในวันสำคัญทางศาสนา วันถือศีลกินเจ วันตรุษสงกรานต์ วันที่เกิดเหตุแปลกประหลาดต่อโลก วันเกิด วันเหล่านี้ควรทำบุญ เสริมบุญ เสริมดวง หรืออาจเรียกว่า เสริมชะตาราศีก็ได้ ...คนแต่ก่อนของเมืองเหนือก็สอนลูกหลานให้ปฏิบัติตาม ...ผญาคอง ๑๔ ของทางอีสานข้อหนึ่งก็ได้แสดงหรือกล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน ปัจจุบันคงจะมีน้อยคนนักที่จะสนใจหรือเอาใจใส่

ข้อ ๒. การรับประทานอาหาร ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปัจจุบันก็คงจะไม่ถือปฏิบัติกันแล้ว เน้นความเหมาะสมตามสถานการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรสังเกตคือ การกินข้าว ควรล้างมือ และถอดรองเท้าด้วยทุกครั้ง เพื่อสิริมงคล(ความสะอาดสง่างาม) แสดงออกถึงความเคารพและให้เกียรติ แม่โพสพ เห็นความสำคัญของข้าวที่ช่วยหล่อเลี้ยงเรามาตั้งแต่บรรพกาล ... ถึงแม้อาหารจะดูสดใหม่มากคุณค่าปานใด หากมือที่ยื่นออกไปรับหยิบจับ นำมาเข้าปากรับประทานนั้น สกปรกเหลือเกิน คุณค่าอันสดใหม่น่ารับประทานของอาหารนั้น คงจะด้อยค่าลงไปทันใด เหมือนความสะอาดสง่างามและกตัญญุตาคุณต่อแม่โพสพ ที่หายไปด้วยนั่นเอง

ข้อ ๓. ข้อนี้ก็คงไม่ค่อยมีผลหรือมีอิทธิพลต่อทัศนคติของคนไทยเท่าใดนัก ส่วนใหญ่จะถือตามพื้นที่ของบ้าน และถือตามหลักฮวงจุ้ยของจีนมากกว่า เช่น ห้ามเปิดประตูห้องน้ำทิ้งไว้ ไม่ควรทำห้องน้ำใต้บันไดบ้าน ไม่ควรทำห้องครัวติดกับน้องน้ำ ห้องน้ำชั้นบนไม่ควรตรงกับห้องน้ำชั้นล่าง เวลานั่งถ่ายหันหน้าไปทางถนนหน้าบ้านให้หากระจกเล็กๆ มาแปะไว้ตรงข้ามกับคนนั่ง เป็นต้น

ข้อ ๔. มีผลต่อพฤติกรรมการนอนของคนไทยมาก และน่าจะหมายรวมถึงคนชาติอื่นๆ ด้วย เห็นได้จากพิธีส่งตัวเข้าหอของบ่าวสาวไทยที่พ่อแม่ของบ่าวสาวจะแสดงการนอนให้ดู โดยฝ่ายหญิงนอนทางซ้าย ฝ่ายชายนอนทางขวา เสร็จแล้วก็จะมีการอวยพรให้ทั้งคู่อยู่กันด้วยหลักฆราวาสธรรม(อดทน สัตย์ซื่อ รู้ข่มใจ และเสียสละ)

ข้อ ๕. ผ้านุ่งกลางวัน ผ้านุ่งกลางคืน ปัจจุบันมีพัฒนาการก่อให้เกิดเป็นชุดต่างๆ มากมาย มักเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่า ชุดนอน ชุดทำงาน ชุดเที่ยว ชุดราตรี ชุดว่ายน้ำ แต่ก็แยกได้ว่า ชุดใส่กลางวัน และชุดใส่กลางคืน ก็ได้ ...บางท่านอาจพูดติดปากว่า “ชุดทำงาน ชุดเที่ยว ชุดเดียวกัน” แสดงให้เห็นได้ว่า ความสง่างามหรือความเป็นศรี เป็นมงคล มันจะหายไปได้เหมือนกัน หากไม่รู้จักการแต่งเนื้อแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะ หรือแต่งตัวให้เหมาะสมกับงาน

...........ฝากไว้พิจารณาและทำความเข้าใจกันไว้ ณ ที่นี้ บันทึกนี้ อาจจะยาวมากมายไปหน่อย มีทั้งเนื้อและน้ำ ก็เลือกเอาในสิ่งที่ดีที่ควร สิ่งใดไม่ดีไม่ควรก็ทิ้งไว้ให้ผู้เขียนก็แล้วกันครับ

.................ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม ...ขอบคุณหนังสือดีๆ เว็บไซต์ดีๆ ที่ให้ความรู้หลากหลายต่อไปนี้

...

===============================================================

ห้องโหรศรีมหาโพธิ์. ตำราพรหมชาติ ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์น, 2535.(หน้า ๔๙๕-๔๙๗)

https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AA%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B9%8C

https://www.gotoknow.org/posts/546116

http://home.kapook.com/view92476.html

http://women.mthai.com/wedding-plan/141385.html

หมายเลขบันทึก: 597214เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2015 14:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2015 16:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

-สวัสดีครับพี่หนาน

-ตามมาอ่านข้อควรปฏิบัติครับ

-เพิ่งทราบข้อควรปฏิบัติเช่นนี้ครับ

-คิดดี ทำดี เอาไว้ก่อน

-พี่หนานสบายดีนะครับ?

-ด้วยความระลึกถึงครับ..

เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่โบราณสรรเสริญ แต่ยุคใหม่ ไม่นำพาเท่าไหร่ ผมคิดว่า บริบท ทัศนะ ค่านิยม อุดมคติ คงหมดไปแล้วจากสังคมไทยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท