จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๙: ความลับผู้ป่วย


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๙: ความลับผู้ป่วย

Confidentiality เป็นหลักจริยธรรมที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวงการแพทย์ คำๆนี้มีความหมายถึง "เรื่องส่วนตัว" หรือความลับ แต่พอพูดเป็น "ความลับ" กลับมีโทนของเรื่องน่าอับอาย เรื่องที่ไม่ใคร่จะดี ดังนั้นความหมายที่น่าจะครอบคลุมกว่าคือ "เรื่องส่วนตัว" จะเป็นเรื่องลับๆหรือไม่ก็ตาม แพทยไม่มีสิทธิ และมีหน้าที่โดยตรง ที่จะไปเปิดเผยข้อมูลใดๆของผู้ป่วยไปให้คนอื่นทราบโดยมิได้รับอนุญาตโดยตรง จากผู้ป่วย หลังจากได้ชี้แจงว่าจะนำไปใช้ทำอะไร และแค่ไหน

ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ

ไม่เพียงเพราะโดยจริยธรรมที่ว่าเรื่องของใครก็เป็นเรื่องส่วนตัวของคนนั้น คนๆนั้นมี autonomy และมีสิทธิจะกำหนดให้เรื่องใดของตนเองเป็นเรื่องส่วนตัว (ตราบใดที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิของผู้อื่น) แต่ในทางการแพทย์นั้นมีประเด็นก็คือ แพทย์จะสามารถ "เข้าถึง" ข้อมูลส่วนตัวหลายๆเรื่องที่ sensitive ของผู้ป่วย (และบางครั้งก็ของญาติและครอบครัวด้วย) ในระหว่างปฏิบัติงาน เช่น ตั้งแต่เริ่มจะวินิจฉัย ก็ต้องถามประวัติ ตรวจร่างกายอย่างละเอียด เพราะมันจำเป็นจะต้องนำไปใช้ เราถึงถามคำถามอะไรที่มนุษย์มนาอาชีพอื่นๆเค้าไม่ถามกัน ประจำเดือนมาเมื่อไหร่ มากี่ครั้ง ลักษณะเป็นอย่างไร อึครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ฉี่สีอะไร มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ รุนแรงไหม? ฯลฯ จะเห็นว่าเป็นคำถามที่ไม่ได้เจอบ่อยในบทสนทนาของคนธรรมดาๆทั่วไป และแพทย์ก็คาดหวังจะได้คำตอบตรงตามความเป็นจริงด้วย แพทย์จะต้องเปิดผ้าดูร่างกายผู้ป่วย บางครั้งก็ทุกซอกทุกมุม ล้วงคลำควานบีบ อะไรต่อมิอะไร

ทั้งหมดนี้เพื่ออะไร? ก็เพื่อจะหาทางทำให้คนไข้หายทุกข์ (ทุกข์ที่เป็นสาเหตุแรกเริ่มที่พาคนไข้มาหาหมอนั่นเอง) ถ้าไม่ได้ช่วยให้หายทุกข์ก็คงจะไม่มีใครอยากจะตอบ อยากจะร่วมกิจกรรมดังกล่าวนั้น

ทีนี้เรื่องราวที่หมอได้ยินหลายๆเรื่อง ก็เป็นสิ่งที่คนไข้ไม่อยากให้คนอื่นๆที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการรักษามารับ รู้ด้วย บางครั้งคนอื่นๆนี่รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวด้วยซ้ำไป (บางคนคิดว่าสมาชิกในครอบครัว "ไม่ใช่คนอื่น" ดังนั้นจึงมีสิทธิจะรู้ทุกอย่างด้วย) ถ้าผู้ป่วยวางใจได้ว่าข้อมูลทั้งหมดจะเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น ไม่ได้เป็นหัวข้อเมาท์มอยของใครก็ไม่รู้ ที่ชอบเสือกส่ายสอดรู้เรื่องคนนู้นคนนี้ไปหมดให้ชีวิตตนเองมีความหมาย (เล็กๆน้อยๆ(ไปวันๆ)

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของเหตุผลที่ไม่ควรจะมีการอนุญาตให้ถ่าย บันทึก ภาพและเสียงคนไข้ใน ร.พ.ด้วยเครื่องมือใดๆก็ตาม อันทีจริงก็มีภาพ เสียง เรื่องราวอะไรมากมายที่ไม่ได้รบกวนสิทธิผู้ป่วยโดยตรง แต่ก็นั่นแหละ เวลาที่เราออกเป็นกฏ เป็นระเบียบ มันออกแบบให้เขียนจำเพาะเจาะจงมากๆไม่ได้ มันจะออกมาครอบจักรวาลแบบนั้นทุกที มิฉะนั้นจะมีปัญหาเวลาจะ reinforce กฏที่ออกมา จะยากเกินไป อีกประการเวลาที่เราถ่าย บันทึก ภาพ เสียง เรื่องราวของคนไข้คนหนึ่งหลังจากที่ขออนุญาตไปแล้ว เรายังต้องระมัดระวังถึงที่สุดที่อาจจะ "บังเอิญ" ไปติดภาพคนไข้คนอื่นๆใน background ไปโดยมิได้ตั้งใจ และอย่าลืมเชียวว่าเราจะนำภาพ เสียง เรื่องราวนั้นๆไปใช้ได้ก็เฉพาะสิ่งที่เราชี้แจงบอกและขออนุญาตผู้ป่วย เท่านั้น ไม่ใช่จะนำไปใช้กี่ครั้งก็ได้ หรือใช้ในงานอะไรต่อมิอะไรก็ได้

โรงพยาบาลไม่ใช่ circus หรือสถานที่เชิงสาธารณะอย่างเต็มที่ แต่มีคนที่กำลังทุกข์มาหาความช่วยเหลือ แค่ทุกข์ทางกายนั้นก็เหลือล้นเกินทนกันแล้ว ไม่ควรจะเพิ่มสาเหตุทุกข์ทางด้านอื่น จะมีใครรู้ไหมว่าฉันเป็นมะเร็ง ฉันเป็นเอดส์ จะมีใครเห็นหน้าฉันโทรมๆ ร่างกายๆทรุดๆไหม ฯลฯ เราไม่ควรที่จะทับถมซ้ำเติมคนที่กำลังทุกข์เข้าไปอีก

ถ้าเราละเมิดความลับ หรือความเป็นส่วนบุคคลของคนอื่นๆบ่อยๆ มันจะเกิดติดเแป็นนิสัย เป็นสันดาน พอมีคนสันดานไม่ดีเยอะๆ มันจะลามปามไปเป็นสันดานของสังคม สังคมก็ทรุด เพราะมีแต่คนไม่สนใจความเป็นส่วนตัวหรือสิทธิคนอื่นเลย ตนเองอยากจะรู้ อยากจะเห็น อะไรของใครเมื่อไหร่ ก็จะต้องทำให้ได้ ใครจะติดภาพอยู่ใน background ของรูป ของเรื่อง ของคลิป ก็ไม่สนใจ ไม่มีความ sensitive เหลืออยู่ในกมลเลย

เราอาจจะเริ่มเห็นสังคมแบบนั้นกันบ้างแล้ว (ไหม?)

น.พ.สกล สิงหะ เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล
ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๙ นาที
วันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 597209เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2015 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2015 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แพทย์ทราบครับ

แต่ที่น่ากลัวคือนักข่าวชอบถ่ายภาพแบบนี้จากโรงพยาบาลออกมา

น่าเป็นห่วงนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท