บุคคลจะมีกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนและระยะเวลาในการเรียนรู้ ซึ่งนักวิชาการได้ศึกษากระบวนการ การเรียนรู้ 8 ขั้นตอนของกาเย่ เป็นนักการศึกษาที่มีผลงานด้านการจัดการกระบวนการเรียนรู้ เทคนิคการสอน การจัดกระบวนการสอน ได้เสนอทฤษฏีการเรียนรู้ 8 ขั้นตอน ที่ทำให้คนเกิดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหานั้น ๆ เป็นแนวทางในการนำการเรียนรู้มาพิจารณากับแนวทางในการแก้ปัญหาให้กับบุคคลและองค์การ และเป็นแนวทางในการวางแผนวิจัยและพัฒนาองค์การ แนวทางของทฤษฏี มี 8 ขั้นตอนดังนี้
1 ขั้นจูงใจ ( Motivation Phase) เป็นขั้นเริ่มต้น ที่ทำให้ผู้ต้องการเรียนรู้ เกิดความสนใจถึงประเด็นปัญหา หรือองค์ความรู้ที่จะนำมาพัฒนาป้องกัน แก้ไขปัญหา ดึงดูดความสนใจให้เห็นความสำคัญ เกิดความตระหนักที่จะต้องติดตาม ค้นหารายละเอียดต่าง ๆ ที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง ขั้นนี้เป็นขั้นที่มีความสำคัญมาก นอกจากเป็นขั้นเริ่มต้นแล้ว ยังเป็นขั้นสร้างพลังในตัวผู้เรียน ให้มีศักยภาพในการเรียนรู้ สามารถขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ให้เคลื่อนไหวจนครบทุกขั้นตอนหรือไม่ เป็นขั้นสร้างความรู้สึกที่เกิดจากภายในตัว ให้เรียนรู้ต่อไป หากสิ่งนั้นมีแนวทางที่จะนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา แก้ไขปัญหา หรือนำไปสู่แนวทางการพัฒนาตามที่ต้องการก็จะสนใจติดตามต่อไป หรือไม่น่าสนใจ จนยกเลิกที่จะเรียนรู้ องค์การที่ต้องการมีผลงานในประเด็นที่ต้องการ หรือต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการก้าวผ่านปัญหา จึงส่งเสริมให้สมาชิกในองค์การเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้เพื่อเป็นต้นแบบทางความคิด ที่จะเกิดพลังอยากเรียนรู้ อยากพัฒนา สู่เป้าหมาย ที่สามารถก้าวข้ามปัญหา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามความหวังได้
2. ขั้นรับรู้ตามเป้าหมาย ( Apprehending Phase) เป็นขั้นที่บุคคลรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ตามประเด็นที่ต้องการ เป็นขั้นของการเรียนรู้ด้วยการรับฟัง ติดตาม การสนทนาพูดคุยกับบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ มีความเข้าใจในเรื่องนั้น การอ่าน การได้เห็น ได้สังเกต และสัมผัสต่าง ๆ ความรู้ในรายละเอียดต่าง ๆ จะเคลื่อนผ่านการรับรู้ ทำให้ผู้เรียนหรือผู้สนใจ ได้รับทราบในเนื้อหา รายละเอียด ขั้นนี้บุคคลจะทุ่มเทความสนใจ เวลาติดตาม แสวงหาผู้รู้ การไปดูงาน ได้พบกับบุคคลที่เห็นว่ามีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่ต้องการ จะพยายามสอบถาม พูดคุย พยายามเข้าร่วมอบรม ประชุมเรียนรู้ แสวงหาข้อมูลข่าวสารในเรื่องนั้นอย่างจริงจัง
3. ขั้นปรุงแต่งสิ่งที่รับรู้ ( Acquisition Phase) เป็นขั้นต่อเนื่องจากขั้นที่สอง เมื่อบุคคลได้รับข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ จะเกิดความคิด มีการนำเอาข่าวสารนั้นมาจัดระบบโดยอัตโนมัติ นำเอาความรู้จากประสบการณ์เดิมที่มีอยู่ ความรู้จากภูมิปัญญาของคนในชุมชนที่ผ่านการเรียนรู้จากคนรุ่นก่อน ๆ อย่างต่อเนื่อง มาเรียนรู้คิด ใคร่ครวญหาข้อสรุปเป็นบทเรียนที่มีค่าของตน แล้วนำมาเป็นฐานในการประมวลความรู้ใหม่ ๆ การพยายามคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ การประมวลความรู้เป็นความสามารถเฉพาะของบุคคล ซึ่งมาจากประสบการณ์เดิม และฐานความรู้เดิม มาผสมผสานประมวลให้เป็นระบบ และมี สังเคราะห์เบื้องต้น พร้อม ๆ กับการปรุงแต่งข้อมูลเพิ่มเติม กลายเป็นความคิดรวบยอดในเรื่องที่เรียนรู้ ขั้นนี้ค่อนข้างระมัดระวัง และพยายามรอบครอบ เกรงจะทำให้การตัดสินใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามแนวความคิดแล้วจะล้มเหลวหนักกว่าเดิม
4. ขั้นความสามารถในการจำ ( Retention Phase) เป็นขั้นที่ผู้เรียนรู้ เก็บประเด็นหลัก ๆ จากการเรียนรู้ กลายเป็นความจำ ความจำหมายถึงความระลึกได้ ในประเด็นหลัก ๆ หรือรายละเอียดต่าง ๆ ที่เคยรับรู้ หรือสิ่งที่ได้พบเห็นสัมผัสมาก่อน บุคคลที่มีศักยภาพในการจัดระบบความรู้ที่ดี และมีทักษะในการจำที่ดี ก็จะสามารถจำประเด็นความรู้ได้ดี ขั้นนี้เกษตรกรพยายามจำในเนื้อหา ที่ตนเองเชื่อมมั่น และพยายามนำเอาความจำนี้มาทบทวน หรือตรวจสอบตนเองเป็นบางครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าตนเองยังคงจำได้ คงรอบรู้เชิงหลักการสำคัญ ๆ ในสิ่งนั้นอยู่
5. ขั้นความสามารถในการระลึกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้แล้ว ( Recall Phase) เป็นขั้นที่ผู้เรียน มีการจัดระบบเนื้อหาจากการเรียนรู้ ให้เป็นระบบ เชื่อมโยงกันในเชิงเหตุผล ความสามารถของบุคคลในการจัดระบบความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของข้อมูลความรู้นั้น เกษตรกรจะพยายามเอาความรู้ที่มีอยู่นั้น มาพูดคุยกับบุคคลที่สนใจคล้อย ๆ กัน หรือสนใจในเรื่องเดียวกัน ทำให้สามารถนึกย้อยกลับเกี่ยวกับเนื้อหา หลักการสำคัญ ๆ โยงถึงเหตุการณ์ สถานการณ์ที่เคยเรียนรู้มาแล้ว การเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ จะช่วยให้สมองเกี่ยวกับความจำ จะสามารถนึกกลับไปสู่เนื้อหาที่จำมานั้นได้ และสามารถนำเอาผลของการเรียนรู้จากประสบการณ์เดิม ๆ มาใช้ได้ตามที่ต้องการ
6. ขั้นประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรียนรู้มาแล้ว ( Generalization Phase) ขั้นนี้เป็นขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ที่ได้รับมาใหม่ ผสมผสาน เชื่อมโยงกับความรู้เดิมที่มีอยู่ มาจัดระบบ จัดรูปแบบใหม่ขึ้นมา ทำให้เกิดองค์ความรู้ ภูมิรู้ของตนเองขึ้นมา ขั้นนี้เกษตรกรจะพยายามนำเอาความรู้จากขั้นตอนต่าง ๆ มาทดลองเล็ก ๆ เพื่อตรวจสอบ ประเมิน ประมวลและพัฒนาปรับปรุงในสิ่งเล็ก ๆ ที่ทดลองนั้น กระบวนการนำความรู้มาประยุกต์ใช้ เป็นขั้นตอนที่เกษตรกรจะให้ความสำคัญอย่างมาก ส่วนใหญ่จะทุ่มเท พยายามใช้ความคิด ใช้แนวทางที่จะประยุกต์ ค้นหาเทคนิควิธีต่าง ๆ ของตนขึ้นมา ติตามประเมินการเคลื่อนไหว ขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด
7. ขั้นการแสดงพฤติกรรมที่เรียนรู้ ( Performance Phase) ขั้นนี้เป็นขั้นที่บุคคลที่เรียนรู้เกิดความเชื่อมั่น มั่นใจในรายละเอียดจากประเด็นที่ได้รับรู้ ได้เรียนรู้มาแล้ว จึงพยายามแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวกับเนื้อหาจากการเรียนรู้ออกมา
บุคคลที่พยายามเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของตน จากการบอกเล่าของคนรุ่นก่อน แล้วพยายามคิดวิเคราะห์ จนเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมา เกิดความมั่นใจ จึงแสดงออกด้วยการพยายามทดลอง หรือสอบถามพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์ กับผู้รู้ ตรวจสอบความรู้ของตนจนมั่นใจ จึงแสดงความรู้ ประสบการณ์นั้น ๆ ไปยังคนรอบข้างในองค์การ และกับคนที่สนใจตามโอกาส
8. ขั้นแสดงผลการเรียนรู้กลับไปยังต้นทางของการเรียนรู้ ( Feedback Phase) เป็นขั้นที่ต่อเนื่องจากขั้นที่ 7 เพื่อตรวจสอบว่า ความรู้ ความเข้าใจที่เรียนรู้มานั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือมีประเด็นที่ไม่ชัดเจน ผิดพลาด ไม่ถูกส่วนไหนอย่างไร การแสดงออกตามขั้นตอนที่ 7 ผู้เรียนหรือบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์ จะแสดงพฤติกรรมตอบโต้ต่อการได้เห็นพฤติกรรมตามขั้นที่ 7 หากเป็นไปในลักษณะการยอมรับ หรือยืนยันพฤติกรรมการเรียนรู้นั้น ผู้เรียนจะเก็บจำเพื่อนำไปใช้ต่อไป หากการแสดงออกในขั้นที่ 7 แล้วมีปฏิกิริยาตอบรับบางส่วน ขัดแย้งบางส่วน จะทำให้ผู้เรียนรู้ทบทวน ปรับเปลี่ยนแนวคิดเดิม และหาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้การเรียนรู้ถูกประมวลใหม่
การเรียนรู้ตามแนวความคิดอย่างมีขั้นตอน 8 ขั้นตอนของกาเย่ แนวนี้ สามารถนำมาศึกษา การเรียนรู้ของบุคคลในองค์การ โดยบุคคลที่เรียนรู้มีความมั่นใจในองค์ความรู้ของตน และจะเริ่มนำมาใช้ในกลุ่ม หรือทีมงาน ด้วยการทดลองขนาดเล็ก เมื่อมีการประเมินตรวจสอบ มั่นใจมากขึ้นแล้ว จะพยายามขยายผลไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ในองค์การ ให้สมาชิกในองค์การได้เรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหา และพัฒนาตามแนวทาง จากนั้นจะพยายามขยายผลไปยังบุคคลหรือกลุ่มคนที่สนใจต่อไป
แผนภูมิ แสดงกระบวนการการเรียนรู้เพื่อสร้างนวัตกรรม
จากทฤษฎีการเรียนรู้ 8 ขั้นตอน มาจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อการวางแผนให้สมาชิกในองค์การ เพื่อเป็นบุคคลหลักขององค์การที่จะดำเนินงาน พัฒนาองค์การสู่อนาคตที่ต้องการ องค์การที่มีบุคคลแห่งการเรียนรู้ ทำให้องค์การมีโอกาสในการสร้างนวัตกรรมได้มาก และบุคคลแห่งการเรียนรู้ จะเป็นบุคคลที่จะเข้ามามีบทบาทนำในองค์การ ในชุมชน ของสังคมอนาคต ทฤษฎีการเรียนรู้ 8 ขั้นตอน สามารถเป็นแนวทางในการสร้างคนคุณภาพให้กับองค์การ ให้กับสังคม บุคคลกลุ่มนี้จะเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของอนาคต และนำพาทิศทาง แนวทางในการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวกิจกรรมของโครงการ กิจกรรมของหน่วยงาน องค์การ และชุมชน สู่อนาคต
…………………………..
(สำหรับการอ้างอิง)
ปัญญา เลิศไกร ( 2558) ทฤษฏีการเรียนรู้ 8 ขั้นตอนของกาเย่ กับการพัฒนาองค์การ
นครศรีธรรมราช นาคบุตรวิชาการ : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
อิทธิบาท ๔
ฉันทะ (ความพอใจ)
....เริ่มด้วย ชื่นชอบ เป็นหลัก
เพลิดเพลิน ขยันผลัก ฉุดเสมอ
การกิจ ที่ยาก นะเกลอ
เหมือนเจอ จับกล้วย ปลอกกิน
วิริยะ (ความเพียร)
....พานพบ พอใจ ในสิ่ง
ยากยิ่ง มิท้อ ฝันถวิล
หยาดเหงื่อ น้ำตา หลั่งริน
ไม่สิ้น เพียรทน ทำการ
จิตตะ (ความคิด)
....ให้ใจ กายเฝ้า ครุ่นคิด
มุ่งพิชิต เช้าค่ำ สืบสาร
ไถ่ถาม ค้นคว้า จดจาร
สำราญ ฝึกประลอง เชิงเชาว์
วิมังสา (ความไตร่ตรอง)
....สิ่งใด ได้รู้ เรียนลอง
ไตร่ตรอง อย่าง่าย เชื่อเขา
อาจอ้าง ผิดหลง มัวเมา
พิเคราะห์ ขัดเกลา จึ่งดี