ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์
ผศ.ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์ อาจารย์ โทนี่ ปัญญโรจน์

ภาษากายไม่เคยโกหก


ภาษากายไม่เคยโกหก

โดย...ดร.สุทธิชัย ปัญญโรจน์

อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัย ม.พิษณุโลก

www.drsuthichai.com

อัลเบิร์ต เมห์ราเบี้ยน ได้ทำวิจัยพบว่า คนเรามีความสามารถในการสื่อสารแล้วให้ผู้ฟังโดนใจ มักจะเป็นคำพูดเพียงแค่ 7 % เป็นเรื่องของน้ำเสียง สุ้มเสียงต่างๆ อีก 38 % และเป็นเรื่องของภาษากายหรือ

อวัจนภาษาอีก 55%

นั้น แสดงว่า มนุษย์เราสามารถโกหกกันด้วยคำพูดได้ แต่ ภาษากายหรืออวัจนภาษานั้น โกหกกันได้ยาก เพราะ อวัจนภาษานั้น ใช้กิริยาท่าทาง สีหน้า การเคลื่อนไหวแทนคำพูด ฉะนั้นการเรียนรู้ภาษากายจึงเป็นการเรียนรู้แบบเจาะลึกไปยังเบื้องหลังหรือใต้คำพูดของคนเรา

สำหรับท่าทางพื้นฐานที่บ่งบอกถึงความรู้สึกต่างๆ เช่น

1.ใบหน้าที่ยิ้มแย้ม บ่งบอกถึง ความสุข

2.ใบหน้านิ่วคิ้วขมวด บ่งบอกถึง ความโกรธหรือความทุกข์

3.การพยักหน้า บ่งบอกถึง คำว่า ใช่

4.การส่ายศีรษะ บ่งบอกถึง คำว่า ไม่

5.การยักไหล่(ยกไหล่สูงขึ้น การแบมือและการเลิกคิ้วทั้ง 2 ข้าง) บ่งบอกถึง ไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ

6.ทุกอย่าง OK(การใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งจรดเป็นวงกลม) บ่งบอกถึง ทุกอย่างเรียบร้อยดี

สำหรับ การเรียนรู้ภาษากายที่ดีนั้น เราต้องเป็นคนที่รู้จักสังเกตและสนุกกับมัน วิธีง่ายก็คือ ควรที่จะมีการฝึกสังเกต 15-20 นาที ต่อวัน สำหรับสถานที่ที่เหมาะกับการฝึกฝนก็คือ งานสังคม งานเลี้ยงสรรค์ และก็สนามบิน เพราะสถานการณ์ในงานต่างๆเหล่านี้ เราจะสังเกตให้ลีลาท่าทางของคนในรูปแบบต่างๆ เช่น บางคนแสดงร่างกายออกในทางสนุกสนาน,บางคนแสดงอาการเบื่อหน่าย,บางคนแสดงท่าทางเศร้าโศกและอีกหลากหลายอารมณ์โดยแสดงผ่านกิริยาท่าทางต่างๆ

หลายคนอาจจะเคยเลี้ยง หมา แมว นก ช้าง ฯลฯ สัตว์เหล่านี้ไม่สามารถพูดจาภาษามนุษย์เราได้ แต่ ถ้าผู้เลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ลองใช้เวลา ศึกษาและสังเกตมันจริงๆ เราจะรู้ได้จากภาษากายหรือภาษาท่าทางของสัตว์เหล่านี้ว่า มันมีอาการ มีอารมณ์ มีความรู้สึก มีความต้องการอะไร

ฉะนั้น ภาษาท่าทางหรือภาษากาย หากพวกเราลองศึกษาอย่างจริงจัง จะพบว่า เราสามารถอ่านใจคนได้ เราสามารถจับโกหกของคนได้ เราสามารถรู้ว่าเขาเกลียดเราได้ เราสามารถรู้ทันความคิดของคนได้ ก็โดยการอ่านกิริยาอาการ ความคิด การเคลื่อนไหวโดยผ่าน ภาษากายหรือภาษาท่าทางนั่นเอง และถ้าหากว่าใครฝึกฝน เรียนรู้ สังเกต ศึกษาอย่างต่อเนื่อง เขาก็จะสามารถจับอารมณ์ต่างๆของผู้คนได้ เช่น รู้ว่าใครกำลัง โกหก อึดอัด ไม่ชอบ ชอบ รัก เกลียด เบื่อ สนุก อยากมีส่วนร่วม ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น

  • คนที่สงสัย มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ การมองด้วยหางตา,การมองลอดแว่นตา,การเอามือจับจมูกและถูไปมาเบาๆ เป็นต้น
  • คนที่กระวนกระวายใจ มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ การเอามือปิดปาก,นั่งไม่นิ่งกระสับกระส่ายตลอดเวลา,ชอบทำเสียงกระแอม,การใช้อุปกรณ์เช่นปากกาหรือนิ้วหรือมือเคาะโต๊ะเบาๆ ,การเอามือดึงติ่งหูเบาๆ เป็นต้น
  • คนที่เศร้า มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เดินก้มหน้าและเดินอย่างช้าๆ , หายใจเข้าออกช้าๆ , การใช้มือกอดตัวเอง เป็นต้น
  • คนที่มีความตื่นเต้น มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ หายใจเร็วและแรงมาก,เสียงสั่น,ตาโต,การถูมือถูแขนไปๆมาๆ เป็นต้น
  • คนที่ อาย มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ มีใบหน้าแดง,ไม่กล้าสบสายตาคน,บิดมือบิดแขนไปๆมาๆ,เคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่รู้ตัว เป็นต้น
  • คนที่ กำลังใช้ความคิดอยู่ มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เอามือเท้าคางแล้วเอานิ้วชี้ไว้บนแก้ม,ใช้นิ้วเคาะหัว,ใช้มือเกาหัว,การถอดแว่นตาแล้วใช้ปากคาบขาแว่นตา,เดินแล้วเอามือไขว้หลัง,ใช้มือลูบคางไปๆมาๆ เป็นต้น
  • คนที่ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ สายตาจ้องไม่กะพริบ,การใช้มือกอดอก,นั่งในท่าสบายเอนหลังพิงเก้าอี้,นั่งในท่าไขว้ห้าง,ใช้มือทำเป็นรูปสามาเหลี่ยม เป็นต้น
  • คนที่ มีความต้องการการเป็นส่วนตัว มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เคลื่อนไหวตัวหรือขยับตัวหนีเมื่อมีคนเข้ามาใกล้ๆ , วางสิ่งของอุปกรณ์ต่างๆไว้เต็มโต๊ะ,เลือกที่นั่งด้านในสุด เป็นต้น
  • คนที่โกหก มักจะแสดงกิริยา อาการ ผ่านท่าทาง คือ ไม่กล้าสบสายตาคู่สนทนา , น้ำเสียงเปลี่ยนไป , ใบหน้าที่เปลี่ยนไป , ตากะพริบบ่อยครั้ง , พูดติดอ่างหรือพูดเร็วเกินไป, หายใจไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
  • คนที่โกรธ มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ ใบหน้าแดงก่ำ , กำหมัดแน่น,เม้มปาก,เดินหนี,ชอบทำอะไรเสียงดัง,เหวี่ยงข้าวของทิ้ง,กระทืบเท้า,เสียงแข็งกระดากผิดปกติ เป็นต้น
  • คนที่เครียด มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ บีบมือของตัวเอง,กำมือหรือกำหมัดแน่น,มือประสานกันแน่น,เอามือไขว้หลังแล้วจับข้อมือ เป็นต้น
  • คนที่อึดอัด มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ จัดทรงผมหรือเอามือลูบผมบ่อยๆ,เอามือจับแขนของตนเอง,เอามือนวดท้ายทอย,การจุ๊ปากของตนเอง เป็นต้น
  • คนที่ ไม่ไว้ใจคนอื่น มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เอามือล้วงกระเป๋า,เอามือกอดอกขณะยืนหรือขณะนั่ง เป็นต้น
  • คนที่ ยอมรับหรือไว้ใจเรา มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เอนตัวหรือโน้มตัวเข้ามาใกล้,เขาฟังอย่างตั้งใจ,เขาเข้ามาสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายของเรา เป็นต้น
  • คนที่ กระตือรือร้น มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เอามือเท้าใส่เอว, ท่ายิ้มแบบเห็นฟัน, นั่งตัวตรงและนั่งอยู่ตรงขอบของเก้าอี้ เป็นต้น
  • คนที่ แสดงตัวเองว่า เขาชอบคุณ มักจะแสดงกิริยา อาการผ่านท่าทางคือ เขาจะจัดเสื้อผ้าอยู่แสดงเมื่ออยู่ต่อหน้าคุณ , เขาจะใช้สายตาชำเลืองหรือมองคุณอยู่บ่อยๆ , เขาจะชอบยืนใกล้คุณ , เขาจะโน้มหัวเข้าหาคุณ เป็นต้น

ฉะนั้น หากว่าเราหมั่นสังเกต กิริยา อาการต่างๆเหล่านี้ เราก็จะสามารถถอดรหัสได้ว่า คนที่เราคุยด้วย สนทนาด้วย มีความคิด มีความรู้สึก กับเราอย่างไร ทั้งนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและการสังเกติอย่างสม่ำเสมอ แล้วคุณก็จะเป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถในการอ่านใจคนได้และได้เปรียบในการทำงานหรือได้เปรียบในการแข่งขัน


หมายเลขบันทึก: 596962เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2015 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท