๑๒. Small is Beautiful จิ๋วแต่แจ๋ว...จริงหรือ


เข้าใจปัญหาหรือบริบทโรงเรียนอย่างถ่องแท้ เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง ไม่เคยหนีปัญหาแล้วหาวิธีแก้ ในหลายๆวิธีที่มีความเหมาะสมกับเรื่องนั้นๆ แล้วนำไปแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ผมมักใช้คำว่า..เกาะติดสถานการณ์นั่นเอง

ยิ่งอยู่นาน..มิตรรักแฟนเพลงยิ่งมากขึ้น จึงทำให้โรงเรียนเล็กๆ แต่ไม่เคยเงียบเหงา ไม่เคยว่างเว้นผู้คนที่มาเยี่ยมเยือน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานอยู่เสมอ เช่นเดียวกับที่..โรงเรียนก็ไม่เคยเว้นช่วงนานของการได้รับ..รางวัล..ที่สำนักงานเขตพื้นที่ฯมอบให้ เรียกว่าได้รับอยู่เนืองๆในหลายๆกิจกรรม ทำให้ได้รับคำชื่นชมยินดี ในที่ประชุมและ พี่ เพื่อน น้อง ที่ย่างก้าวเข้ามาในบ้านหนองผือ..ทุกคนจะมีมุมมองและคำพูด...ประมาณว่า..จิ๋วแต่แจ๋ว

ผมมีความรู้สึกที่ดีกับคำพูดแบบนี้ และมีความคิดในทางบวก ตลอดจนถือว่าเป็นถ้อยคำมงคล แต่ผมก็ไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น เพราะเป้าประสงค์แต่เดิมที่เข้ามาบริหาร ไม่ได้ต้องการให้ดีกว่าใคร ไม่ได้ต้องการมุ่งสู่ความเป็นเลิศ จนลืมตัวตนที่แท้จริง เพียงแค่ต้องการกอบกู้ศักดิ์ศรีภาพลักษณ์ของโรงเรียนขนาดเล็ก และต้องการพัฒนาศักยภาพ มิใช่ด้อยค่าในสายตาผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรทางการศึกษา(บางคน)

ดังนั้น ผมจึงไม่เสียเวลา หลงใหลได้ปลื้มกับคำสรรเสริญเยินยอ แต่ทำงานทุกวันให้มีความสุขและทำงานให้เป็นปัจจุบัน เงินรางวัลและเกียรติบัตร..เป็นเพียงยาบำรุงกำลัง ไม่ให้ท้อต่อปัญหาและอุปสรรคตรงหน้า ต้องก้าวข้ามผ่านไปให้ได้..ทุกครั้ง

ความแปลกประหลาดส่วนตัวที่คิดว่าไม่เหมือนใครอยู่อย่างหนึ่ง ใครๆ(อาจจะ)มองว่าคิดไม่ถูกต้อง ก็ไม่เป็นไร แต่อยากให้ฟังเหตุผล คือ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเดินทางไปศึกษาดูงาน ยังไม่เคยไปดูงานที่ใด(แบบสมัครใจที่ไม่มีการบังคับ)นับตั้งแต่มาเป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะมีแนวคิดว่า..งานที่มีอยู่ก็ยังทำไม่หมด ..ไปดูเขาแล้วเราทำไม่ได้ก็ป่วยการ ..ไปดูในสิ่งที่ต่างกันทั้งบริบท คน เงิน สิ่งแวดล้อม ชุมชน และวัฒนธรรมองค์กร กลับมาก็สูญเปล่า เหมือนกับการศึกษาบ้านเราสูญเปล่าในเรื่องนี้มาหลายทศวรรษแล้ว

เคยมีคำแนะนำว่า...ก็น่าจะดูเพื่อนำส่วนที่ดีของเขามาประยุกต์ใช้..ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง แต่การประยุกต์ใช้เพื่อความดีเด่น หรืออะไรก็ตาม ยังต้องใช้ คน เงิน และเวลาอยู่ดี ควรศึกษาเรียนรู้จากงานที่ทำและพึ่งตนเองน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด เรียนรู้จากการอ่านและจากการรับฟังก็ได้ ศึกษาด้วย SWOT ปฏิบัติจริงด้วย PDCA มิดีกว่าหรือ..แล้วยิ่งได้เกาะติดสถานการณ์มากขึ้น เข้าใจวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกลมกลืนกับโรงเรียน กระบวนการทำงานยิ่งชัดเจน จนกลายเป็นโมเดลในการบริหารของผม..ตรงนี้ต่างหากที่ไม่ต้องเสียเวลาดูใคร แต่ต้องนำไปพัฒนาคน พัฒนางานให้เห็นผลเชิงประจักษ์

ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ...บทพิสูจน์โค้งสุดท้ายของ ชยันโตโมเดล ที่เห็นผลชัดเจนยิ่งนักโดยเฉพาะในด้านคุณภาพผู้เรียน..ที่เขตพื้นที่ฯมักจะหยิบยกประเด็นของการทดสอบระดับชาติชั้น ป.๓ (NT) โรงเรียนบ้านหนองผือ มีผลสัมฤทธิ์ที่ค่าเฉลี่ย ๓ วิชา สูงกว่าระดับประเทศ ทั้งในด้านคิดคำนวณ ด้านภาษา และด้านเหตุผล

การทดสอบระดับชาติ ป.๖ (O-NET) ค่าเฉลี่ยก็สูงกว่าระดับประเทศเช่นกัน เมื่อเขตพื้นที่ฯนำข้อมูลไปเปรียบเทียบและเผยแพร่ ก็พบว่าในจำนวนโรงเรียนทั้งหมด ๙๓ โรงนั้น โรงเรียนบ้านหนองผืออยู่ในอันดับที่ ๑๑ เมื่อเทียบเคียงกับโรงเรียนเล็กด้วยกันแล้ว อยู่อันดับที่ ๔ จากทั้งหมด ๔๒ โรงเรียน และมี ๒ สาระวิชาที่มีค่าเฉลี่ยสูงมาก ติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ โรงเรียนของเขตพื้นที่ คือ วิทยาศาสตร์ ได้อันดับ ๔ และสังคมศึกษา ได้อันดับที่ ๓.

ในส่วนของคัดกรองการอ่านระดับประถมศึกษา ที่ใช้แบบทดสอบจากส่วนกลางและเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการโดยเขตพื้นที่ฯ แต่งตั้งกรรมการกลางมาประเมินนักเรียนชั้น ป.๑ – ป.๖ ผลการประเมิน มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับดีเยี่ยม และติดอันดับ ๑ ใน ๑๐ โรงเรียนที่เขตได้มอบรางวัลเกียรติบัตรยกย่องในที่ประชุมผู้บริหาร

โรงเรียนบ้านหนองผือ..ทำได้อย่างไร ในสภาพที่ครูไม่ครบชั้นและครูไม่ถนัดในบางรายวิชา ไม่มีครูวิชาเอกหลักๆเลยแม้แต่คนเดียว..ผมต้องคอยตอบคำถาม ด้วยคำตอบที่มีเหตุผลไม่มากนัก สั้นๆง่ายๆ คือผม...เข้าใจ..เข้าถึง..และพัฒนา

เข้าใจปัญหาหรือบริบทโรงเรียนอย่างถ่องแท้ เข้าถึงปัญหาอย่างแท้จริง ไม่เคยหนีปัญหาแล้วหาวิธีแก้ ในหลายๆวิธีที่มีความเหมาะสมกับเรื่องนั้นๆ แล้วนำไปแก้ไข ปรับปรุงและพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ที่ผมมักใช้คำว่า..เกาะติดสถานการณ์นั่นเอง

ถ้าจะให้ขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น..ในสิ่งที่ทำแล้วเกิดเป็นความสำเร็จเล็กๆเบื้องต้น อันเกิดจากการทำหน้าที่..อำนวยการ..ให้ความสะดวกแก่ครูได้สอนเต็มที่ สนับสนุนส่งเสริมทุกรูปแบบ ทั้งเวลา วัสดุ อุปกรณ์ และเรี่ยวแรง ขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระครูตามสมควรแก่เวลาและโอกาส ไม่เคยขาดการให้ขวัญกำลังใจบุคลากร และพยายามทำให้โรงเรียนน่าอยู่น่ามอง ครูอยากมาสอน นักเรียนอยากมาเรียน ชุมชนอยากมาช่วย...ครับ..เท่านี้จริงๆ

นอกจากผลสัมฤทธิ์แล้ว งานโครงการฯก็บังเกิดผลสำเร็จเป็นที่น่าภูมิใจเช่นกัน จนทำให้ครูแปลกใจมาจนถึงทุกวันนี้..วันนั้น..พวกเราดีใจ..ที่เขตประกาศว่า..โรงเรียนบ้านหนองผือเป็นโรงเรียนต้นแบบโครงการอาหารกลางวัน....

“ผอ.คะ..เราจะผ่านหรือคะ โรงเรียน....เขามีโรงอาหารใหญ่กว่าเรา นักเรียนก็มากกว่า”

คุณครูเจ้าของโครงการฯเป็นห่วง เพราะเห็นครัวหนองผือเพิ่งริเริ่มก่อตั้งได้ไม่นาน

“คณะกรรมการจะดูตามเกณฑ์มาตรฐาน เล็กใหญ่ไม่สำคัญหรอกครับ” ผมบอกครู ทั้งที่รู้ว่า ด้วยปริมาณแล้ว มีไม่เท่าเขา..จริงๆ

วันต่อมา..ฝ่ายส่งเสริมการศึกษาของเขตพื้นที่ฯส่งคณะกรรมการออกมาประเมินที่โรงเรียน ผมสังเกตกรรมการแต่ละท่านจริงจังกับการประเมินมาก ทุกท่านแทบไม่สนใจความใหญ่โตของโรงอาหาร ทุกคนพุ่งเป้าไปในสิ่งที่โรงเรียนมีและเป็นปัจจุบัน โดยที่ผมไม่ต้องเตรียมไว้ล่วงหน้า..

เริ่มจาก..ดูเมนูอาหาร เยี่ยมชมห้องครัวที่สะอาด และแม่ครัวที่มีความพร้อม ดูระบบการล้างภาชนะ การกักเก็บไขมันและเศษอาหาร ที่โรงเรียนได้นำไปทำแก๊สชีวภาพ เศษผักผลไม้นำไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ใส่ขวดไว้สำหรับนำไปเป็นปุ๋ยให้แปลงผัก จากนั้นไปดูโรงสีข้าวขนาดเล็ก และเดินไปชมเล้าไก่ไข่ ไปถึง..สวนสมุนไพร แปลงนา และแปลงผักปลอดสารพิษ ที่สนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน.......

ก่อนกลับ..คณะกรรมการกล่าวชมว่า เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีกิจกรรมหลากหลายมาก..ยังนึกว่า..เข้ามาประเมินโรงเรียนรางวัลพระราชทานด้วยซ้ำ...

ครับ กรรมการพูดเช่นนั้นจริงๆ...แต่นั่นแหละ..โรงเรียน..จิ๋วแต่แจ๋ว..หรือไม่ ผมยังไม่แน่ใจ

ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๓๐ ตุลาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 596875เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 20:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 21:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เรื่องนี้มี 3ประเด็น คือ nt. o-net. และการอ่านระดับประถมศึกษาทั้ง 3 ประเด็น ที่ปฎิบัติ แต่ละประเด็น มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงก็ควรถอดบทเรียน ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ควรถอดบทเรียน

ทั้ง 3 ประเด็นผมอ่านพบความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเงื่อนไขความสำเร็จในภาพรวม คือ อำนวยความสะดวกแก่ครูได้สอนเต็มที่, สนับสนุน/ส่งเสริมทุกรูปแบบทั้งเวลา วัสดุอุปกรณ์ เรี่ยวแรง, แบ่งเบาภาระครูตามควรแก่เวลาและโอกาส, สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร, สร้างสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่น่ามอง

ที่ควรเสนอเพิ่มเติม คือ กระบวนการถอดบทเรียนทำอย่างไร, ผู้ร่วมกระบวนการเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง, อะไรเป็นสิ่งใหม่/ข้อมูลใหม่ของแต่ละประเด็

ประเด็น โครงการอาหารกลางวันมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นคือ. เงื่อนไขความสำเร็จการทำโครงการ ได้แก่ ความสะอาด. ความพร้อมของบุคลากร. ระบบกำจัดของเสีย/เศษอาหาร. การเลี้ยงไก้. การปลูกผักปลอดสารพิษ

ที่ควรเสนอเพิ่มเติม คือ กระบวนการถอดบทเรียนทะอย่างไร. ผู้ร่วมกระบวนการเกิดการเรียนรู้อะไรบ้าง อะไรเป็นข้อมูลใหม่ของโครงการอาหารกลางวั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท