ขอให้มีความสุขกับการทำงาน


ความสุขมีอยู่ ๒ อย่างคือ (๑) ความสุขทางกายและ (๒) ความสุขทางใจ ความสุขทั้ง ๒ อย่างนี้หากอยู่ในบุคคลเดียวกัน บุคคลนั้นคงไม่ต้องแสวงหาสิ่งอื่นใดมาเสริมความบกพร่องของตนอีก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เราไม่มีความสุข เพราะถ้ามีความสุขจริง เราจะไม่แสวงหา

เมื่อหลายปีก่อน มีเพลงเกี่ยวกับความสุขอยู่เพลงหนึ่ง โดยขึ้นต้นว่า "งานคือชีวิต ชีวิตคืองาน บันดาลสุข ทำงานให้สนุก เป็นสุขเมื่อทำงาน..." เมื่อค้นเพลงนี้จากยูทูป จะเป็นเนื้อเพลงนี้เริ่มต้นนาทีที่ ๓๐.๑๕ เป็นเพลงในกลุ่มดอกไม้คุณธรรม จากยูทูปนั่นเอง ผู้ใส่ข้อมูลระบุว่า พ.ศ.๒๕๒๙ ซึ่งน่าจะประมาณนั้น เพลงชุดนี้จะได้รับการเปิดช่วงมีการอบรมคุณธรรมจริยธรรม เช่น อบรมสามเณรภาคฤดูร้อน อบรมเยาวชน เป็นต้น การได้ฟังอีกครั้งหนึ่งทำให้รู้สึกมีความสุข และหวนนึกไปถึงอดีตที่เคยใช้ชีวิตกับการทำงานแบบนั้นโดยไม่มีสิ่งตอบแทนใดๆที่เป็นเม็ดเงิน เนื้อหาของเพลงน่าจะมาจากแนวคิดของพุทธทาสภิกขุ และปัญญานันทภิกขุ ผู้พยายามต่อต้านแนวคิดเรื่อง "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" แต่ดูเหมือนว่า แนวคิดของพุทธทาสภิกขุ และปัญญานันทภิกขุจะพ่ายแพ้ต่อความคิดเรื่องงานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข

ทำไมเราจึงทำงานไม่เป็นสุข เพราะไม่ได้ทำงานเพื่อความสำเร็จของงาน แต่เราทำงานเพราะมีเงื่อนไขคือเงิน หมายถึง ถ้าไม่มีเงินฉันจะไม่ทำงาน แตกต่างจากการทำงานโดยไม่มีเงื่อนไขเรื่องเงิน จริงอยู่ ในปัจจุบัน เราอาจให้ความสำคัญกับเงินเป็นตัวหลัก เงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ชีวิตคน แต่หลายคนบอกว่า เงินไม่สามารถซื้อความสุขได้ จะเห็นว่า การตีความเรื่องความสุขของแต่ละคนนั้นต่างกัน นาย ก. อาจตีความเพียงว่า การซื้อรถหรูๆมาไว้ที่บ้านคือความสุข ขณะที่นาย ข. ตีความเพียงว่า การอยู่ในขณะที่จิตเป็นสมาธิคือความสุข จึงดูเหมือนว่า ความสุขที่แผ่ปกคลุมโลกนั้นมีชั้นของความสุข สิ่งที่น่าสนใจคือ ความสุขแบบนาย ก.นั้นเป็นความสุขแบบเคลื่อนย้าย หมายถึง มีรถหรูคันที่ ๑ แล้วก็อยากมีคันที่ ๒ อีก แตกต่างจากความสุขของ นาย ข. เมื่อได้ความสุขแล้วก็ไม่อยากได้สิ่งอื่นอีก

ในการทำงานนั้น เราได้ความสุขแบบใด?

เช้านี้ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการทำงาน งานอะไรก็ได้ที่ทำแล้วมีความสุข หรือว่า เรายอมที่จะจมอยู่กับการหาความสุขไม่ได้จากการทำงาน ถ้าอย่างนั้น ก็ขอให้มีความสุขจากการจมอยู่ในกองทุกข์ทั้งปวง

หมายเลขบันทึก: 596849เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 07:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ตุลาคม 2015 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

-สวัสดีครับ

-จงมีสุขกับการ"ทำงาน"และมีความสุขกับสิ่งที่ทำนะครับ

-รับทราบ/ถือปฏิบัติคร้าบ....

-ขอบคุณครับ

ผมเฝ้าสังเกตอุดมคติในด้านการคิด ความต้องการของสังคมมนุษย์ พบว่า ส่วนมากจะมีหมุดหมายปลายทางที่ "ความสุข" แล้วก็ได้แนวคิดด้านพุทธทัศน์ที่สอนให้รู้ถึงการใช้ชีวิตที่เท่าทันโลกความจริง รู้ตามที่มันเป็น ถ้าเช่นนั้น ความสุขที่มันเป็น (Being Happiness) มันเป็นจริงตามโลกที่สอดคล้องกับหลักพุทธศาสนาหรือไม่ ผมจึงพอเห็นเส้นทางที่ต่สงกันคือ

๑) ผู้คนส่วนมากต้องการความสุขในชีวิต เป็นอุดมคติ ซึ่งอะไรก็ได้ที่ทำให้มีความสุข (รวมถึงการเสพวัตถุกาม เพศกาม ธรรมกาม) ซึ่งจุดนี้ ผมว่า ยังไม่พ้นความอยากที่สุด เพราะยังมีสุขที่รออยู่อีกมากมาย สุขแบบนี้เรียกว่า "โลกิยสุข" (worldly happiness) ซึ่งพระพุทธศาสนาก็มิได้ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง หากแต่ให้รู้ความจริงหรือรู้เท่าทันมันเท่านั้น

๒) ความสุขที่เป็นแบบอุดมคติ ที่อยู่บนฐานปัญญา ที่สามารถมองเห็นภาพสุขได้อย่างถึงเนื้อ ถึงแก่นของมัน เห็นภาพตื้น ภาพลึกของมันได้ เพราะความสุขที่ว่านี้ คือ เยื่อใยหรือญาติของสุขแบบโลกิยะนั่นด้วย เพราะอาศัยฐานกายเป็นมูลนั่นเอง ส่วนความสุขที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญคือ ความสุขที่เป็นแบบอิสระหรือสุขแบบไร้สิ่งเสียดแทง (Transcendental Happiness) หรือจะเรียกว่า ชิมลางนิพพานก็ว่าได้ ซึ่งอยู่บนมูลฐาน ๒ อย่างคือ "จิตและปัญญา" เพราะความสุขแบบนี้ จะไม่มีกากหรือไม่มีซากศพแห่งความสุขเป็นหลักฐานให้เกิดเชื้อชาติต่อไป

เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับ ขอบคุณครับ

ขอคารวะด้วยใจครับท่าน ส. :-) ชอบความคิดที่เป็นระบบของท่าน (ซึ่งผมทำไม่ได้ คงต้องรออีกสักพักใหญ่) ภาษาที่เข้าใจได้ โดยไม่ยุ่งยากกับภาษาคัมภีร์ ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท