วิจารณ์องค์บาก 3


เมื่อวานนี้ ผมได้ดูหนังเรื่ององค์บาก 3 ซึ่งเป็นตอนต่อจากองค์บาก 2 ในตอนจบของ องค์บาก 2 หนังทิ้งปมสำคัญไว้ว่าตัวละครอย่างเอกเทียน มีแนวโน้มที่จะละทิ้งการต่อสู้แบบโหดร้าย มุ่งหมายชีวิต มาเป็นการต่อสู้แบบศิลปะ อันอ่อนช้อยงดงามที่เชื่อมโยงกับ หลักคำสอนทางพุทธศาสนา

ขณะเดียวกัน ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งในตอนท้ายของหนังองค์บากภาค 2 ก็คือ การที่เทียนไม่สามารถจะต่อกรกับอำนาจรัฐที่มีศูนย์กลางคือออกญาราชเสนา ซึ่งผสมกลมกลืนอำนาจอ่อนอย่างแบบพิธีกรรมเข้ากับอำนาจแข็งอย่างชุมโจรผาปีกครุฑ และเหล่าทหารหาญ รวมทั้งนักสู้จอมขมังเวทย์ คือ อีกาได้อย่างลงตัว ในตอนเริ่มต้นของ ‘องค์บาก 3’ สุดยอดนักสู้ผู้แข็งแกร่งเชี่ยวชาญเพลงอาวุธและการต่อสู้นานาชนิดเช่นเทียน ต้องถูกทำลายอย่างย่อยยับจวนเจียนสิ้นชีวิต ด้วยอำนาจรัฐโบราณของออกญาราชเสนา

อย่างไรก็ตาม โครงเรื่องที่ดำเนินอยู่ จากภาค 2 กลับกลายจากการแย่งชิงอำนาจระหว่างชนชั้นสูง 2 คน เพื่อแยกตนเองออกจากอโยธยา กลับเป็นออกญาราชเสนาแย่งชิงบัลลังค์จากกษัตริย์กัมพูชาเอง (อย่างนี้ถือเป็นความไม่ลงตัวของโครงเรื่อง) ออกญาราชเสนาผู้สถาปนาตนเองเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ครุฑาเทพ และดูเหมือนจะสามารถยึดครองกัมพูชาไว้ได้โดยสมบูรณ์ ผ่านการใช้อำนาจอ่อนเชิงสัญลักษณ์และอำนาจแข็งในรูปกองกำลังรวมทั้งไสยเวทได้อย่างมีสมดุล กลับเกิดอาการหวั่นไหวหวาดระแวงกลัวว่าตนเองจะสูญเสียอำนาจขึ้นมา และออกญาผู้นี้ก็ค่อยๆ ทำลายล้างตัวของเขาเองลงไปในท้ายที่สุด ความอ่อนแอที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของออกญาราชเสนานำพาเขาเข้าสู่ด้านมืดซึ่งถูกครอบงำโดย อีกา ก่อนที่อีกาจะบั่นหัวออกญาราชเสนาแล้วแย่งชิงอำนาจมาครอบครองได้อย่างง่ายดาย

พูดให้ง่ายเข้าก็คือ ศูนย์กลางของอำนาจรัฐ ที่มีความอ่อนเชิงพิธีกรรม ผสานกับการใช้อำนาจแบบทหาร กลับมาพ่ายแพ้ไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นพิธีกรรมของชาวบ้าน โดยนัยยะนี้ศูนย์กลางอำนาจก็กลายมาเป็นไสยศาสตร์นั่นเอง (หากเราอ่านงานของสุจิตต์ วงศ์เทศ เรื่องศาสนาในภูมิภาคนี้ก็คือศาสนาที่นับถือผี พิธีกรรมก็เพื่อบูชาผี จะเข้าใจได้ดียิ่งขึ้น) ความมีชัยชนะเหนือออกญาราชเสนาของอีกาจึงอาจแสดงให้เห็นว่าพิธีกรรมไสยเวทแบบชาวบ้านสามัญชนที่แลดูต้อยต่ำนี่แหละ มีอำนาจจริงแท้เสียยิ่งกว่ารัฐพิธีกรรมซึ่งสวยงามแต่รูป ทว่าเนื้อในกลับกลวงเปล่า แม้กาจะสามารถพิชิตครุฑ ลงได้ แต่สุดท้ายแล้ว อีกาก็พลัดหลงก้าวถลำเข้าไปสู่ศูนย์กลางแห่งอำนาจรัฐอยู่ดี

ตรงนี้อย่าลืมมโนทัศน์เรื่องเทียนในการปกครองแบบสมัยโบราณ กล่าวคือ เทียน จะมีแสงสว่างจำกัดอยู่เฉพาะที่ หากต้องการความเข้มแข็ง เทียนจะต้องผูกมิตรกับเทียนหลายๆอย่างในแว่นแคว้นที่ต่างออกไป การผูกมิตรนิยมทำด้วยการให้ราชธิดาไปแต่งงานกับเทียนที่ใหญ่กว่า

ในตอนกลางเรื่อง เทียนได้ฟื้นฟูดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ โดยครูบัว ซึ่งได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ การฝึกสมาธิ ทำให้เทียนรู้จักอวิชชา ซึ่งต่างจากวิชชา ไสย ซึ่งต่างจากพุทธ นอกจากนี้หญิงสาวที่เคยเล่นกับเขาตอนเป็นเด็ก ก็เก่งในด้านการร่ายรำ ตอนต่อมาเทียนก็สำนึกว่าตนต้องการคู่รำ มิใช่การต่อสู้อีกต่อไป

ระหว่างการฝึกนั้น ถึงแม้เทียนจะรับรู้ว่าด้านมืดแตกต่างจากด้านสว่าง แต่ในกระแสสายธารของการคิด ศาสนาใดศาสนาหนึ่งอยู่ไม่ได้ด้วยตนเอง แต่กลับนำเอาข้อดีจากทุกศาสนามารวมกัน เช่น แม้เทียนจะได้รับคติทางพุทธ แต่ท่ารำ ก็ย่อมเป็นพราหมณ์ ท่ารำที่คิดขึ้นมาจากรวมศาสนาพุทธ+ศาสนาพราหมณ์ ย่อมทำให้ท่ารำมีความอ่อนช้อยพร้อมๆกับการฆ่าคนได้ด้วย และอีกาก็คือศัตรูที่เทียนต้องพิชิตด้วยท่ารำอันใหม่นี้

ในตอนเผชิญหน้ากัน มีการประจันหน้ากัน 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นการคิดของเทียนว่า หากกระทำด้วยความโกรธ ความหลง และความรักแล้ว ผลจะลงเอยเป็นเช่นไร แต่ด้วยการฝึกแนวคิดทางพุทธ ซึ่งสอนในเรื่องของความว่าง และความว่างนี้แหละ ที่สามารถเอาชนะจิตใจด้านมืดที่ปกคลุมด้วยกิเลสตัณหาของตนเอง ก็ทำให้เทียนสามารถฆ่าภูติอีกาลงได้อย่างไม่ยากนัก นี่จึงอาจเป็นรูปธรรมซึ่งแสดงให้เห็นว่าธรรมะอันสว่างไสวย่อมชนะอธรรมด้านมืดเสมอ

ในตอนสุดท้าย เทียนต้องระหว่างการขึ้นครองอำนาจเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป และการอยู่เป็นสามัญชนธรรมดา แต่เทียนเลือกการเป็นสามัญชนธรรมดา ทั้งนี้ผมคิดว่า หากเทียนเข้าครองอำนาจ ก็ยังอยู่ในวังวนของอำนาจ จนถอนตัวไม่ขึ้น ระหว่างอยู่ก็กีดกันผู้ที่เข้ามาครอบครองอำนาจคนใหม่ และสุดท้ายก็ต้องตายเหมือนว่าออกญาราชเสนา และอีกา ทว่าเขาเลือกที่จะเดินทางกลับไปหาหญิงสาวคนรักที่หมู่บ้านชนบท โดยมีพระพุทธรูปองค์บาก (ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อยึดเหนี่ยวชีวิตอันบอบช้ำของเทียนเมื่อคราวบาดเจ็บเจียนตาย) เป็นศูนย์รวมจิตใจสำคัญ และทอดทิ้งศูนย์กลางอำนาจรัฐ ซึ่งกลับกลายเป็นเพียงศูนย์กลางแห่งความว่างเปล่า ที่ร้างไร้ผู้สืบทอดอำนาจ เอาไว้ ณ เบื้องหลัง

ประเด็นที่ไม่สมควรละทิ้งก็คือ มีเพียงพุทธศาสนา และไสยเวทเท่านั้นที่เป็น metanarrative ก็คือ ทุกอย่างสามารถอธิบายได้ด้วยพุทธ และไสยเวทเท่านั้น นอกจากนี้โครงเรื่องที่ไม่ค่อยปกตินัก ก็สมควรมีการดัดแปลงให้เหมาะสมต่อไป

หมายเลขบันทึก: 596833เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน อาจารย์ ต้น ดู องค์บาก 2 มาแล้ว แต่องค์บาก 3 ยังไม่ได้ดู

อ่านวิจารณ์ ของอาจารย์แล้ว ชื่นชอบมากๆ

ในเรื่อง พิธีกรรม และไสยเวทย์ ฝังลึก ผูกพันธ์ ปนเปในศาสนา

พิธีกรรมประเพณี ต่างๆ ส่วนมากเป็นของพราห์ม ปนอยู่ในพุทธ และหลายพิธีกรรมก็หลุดมาอยู่ในอิสลาม

จึงมีการตีความถกแถลงกันในหมู่มุสลิม ว่า พิธีกรรมอะไรบ้างที่เข้าร่วมได้

และอะไรเข้าร่วมไม่ได้

ประเพณี สงกรานต์ ปีใหม่ ลอยกะทง เหล่านี้ มีการตีความให้ความเห็นกันมา

จะอย่างไรก็ตาม ประเพณี และพิธีกรรม นำให้คนหมู่มากมารวมกัน

และ พุทธ มุสลิม นอกจากชายแดนใต้แล้ว เราไม่รู้สึกต่าง ในกรอบสังคม

แต่ในวัตรปฏิบัติ ก็ตามแต่หลักศาสนาบัญญํติ

งานลากพระปีนี้ ที่บ้านจึงมีพี่น้องชาวพุทธ เอาแกง เอาต้ม มาให้ ยังกินไม่หมด.....

คุยวิจารณ์ องค์บากสุดท้ายมาลงงานประเพณีลากพระ ...ย้ำ ลากพระ ไม่ใช่ ชักพระ อย่างป้ายประกาศเชิญชวนมาเที่ยวงาน




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท