ผ้าขาวเปื้อนหมึก
กานนา สงกรานต์ กานต์ วิสุทธสีลเมธี

โอวาทพระสุปฏิปันโน


โอวาทพระสุปฏิปันโน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก

วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

นิพพานเป็นบรมสุข

ได้มีสุภาษิตกล่าวไว้ แปลว่า "นิพพานเป็นบรมสุข คือ สุขอย่างยิ่ง" นิพพาน คือความละตัณหา ในทางโลกและทางธรรมทั้งหมด ปฏิบัติโดยไม่มีตัณหาทั้งหมด คือ การปฏิบัติถึงนิพพาน ได้มีผู้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า "ธรรม" (ตลอดถึง "นิพพาน" ที่ว่า "เป็นสันทิฏฐิโก อันบุคคลเห็นเอง" นั้น อย่างไร?) ได้มีพระพุทธดำรัสตอบโดยความว่าอย่างนี้ คือ ผู้ที่มีจิตถูกราคะ โทสะ โมหะ ครอบงำเสียแล้ว ย่อมเกิดเจตนาความคิดเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง ผู้อื่นบ้าง ทั้งสองฝ่ายบ้าง ต้องได้รับทุกข์โทมนัสแม้ทางใจ เมื่อเกิดเจตนาขึ้นดังนั้น ก็ทำให้ประพฤติทุจริตทางไตรทวาร คือ กาย วาจา ใจ และคนเช่นนั้นย่อมไม่รู้ประโยชน์ตนเองประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง แต่ว่าเมื่อละความชอบ ความชัง ความหลงเสียได้ ไม่มีเจตนาความคิดที่จะเบียดเบียนตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่าย ไม่ประพฤติทุจิตทางไตรทวาร รู้ประโยชน์ตนประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองตามเป็นจริง ไม่ต้องเป็นทุกข์โทมนัสแม้ด้วยใจ "ธรรม (ตลอดถึง) นิพพาน" ที่ว่า "เห็นเอง" คือเห็นอย่างนี้ ตามที่ตรัสอธิบายนี้ เห็นธรรมคือ เห็นภาวะหรือสภาพแห่งจิตใจของตนเอง ทั้งในทางไม่ดีทั้งในทางดี จิตใจเป็นอย่างไรก็ให้รู้อย่างนั้นตามเป็นจริง ดังนี้เรียกว่า เห็นธรรม ถ้ามีคำถามว่า จะได้ประโยชน์อย่างไร? ก็ตอบได้ว่า ได้ความดับทางใจ คือ จิตใจที่ร้อนรุ่มด้วยความโลภ โกรธ หลงนั้น เพราะมุ่งออกไปข้างนอก หากได้นำใจกลับเข้ามาดูใจเองแล้ว สิ่งที่ร้อนจะสงบเอง และให้สังเกตจับตัวความสงบนั้นให้ได้ จับไว้ให้อยู่ เห็นความสงบดังนี้ คือ เห็นนิพพาน วิธีเห็นธรรม เห็นนิพพาน ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายไว้ จึงเป็นวิธีธรรมดาที่คนธรรมดาทั่ว ๆ ไปปฏิบัติได้ ตั้งแต่ขั้นต่ำธรรมดา ตลอดถึงขั้นสูงสุด

อริยสัจ ไตรลักษณ์ และนิพพาน "เป็นสัจธรรม" ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ทรงแสดงสั่งสอน (ดังแสดงในปฐมเทศนาและในธรรมนิยาม) เรียกได้ว่าเป็น "ธรรมสัจจะ" สัจจะทางธรรมเป็นวิสัยที่พึงรู้ได้ด้วยปัญญา อันเป็นทางพ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา แต่ทางพระพุทธศาสนา ก็ได้แสดงธรรมในอีกหลักหนึ่งคู่กันไป คือ ตาม "โลกสัจจะ" สัจจะทางโลก" คือแสดงในทางมีตน มีของตน เพราะโดยสัจจะทางธรรมที่เด็ดขาดย่อมเป็นอนัตตา แต่โดยสัจจะทางโลกย่อมมีอัตตา ดังที่ตรัสว่า "ตนแลเป็นที่พึ่งของตน" ในเรื่องนี้ได้ตรัสไว้ว่า "เพราะประกอบเครื่องรถเข้า เสียงว่ารถย่อมมีฉันใด เพราะขันธ์ทั้งหลายมีอยู่ สัตว์ย่อมมีฉันนั้น" ธรรมในส่วนโลกสัจจะ เช่น ธรรมที่เกี่ยวแก่การปฏิบัติในสังคมมนุษย์ เช่น ทิศหก แม้ศีลกับวินัยบัญญัติทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้น แม้จะปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ทางจิตใจตามหลักธรรมสัจจะ ส่วนทางกายและทางสังคม ก็ต้องปฏิบัติอยู่ในธรรมตามโลกสัจจะ ยกตัวอย่างเช่น บัดนี้ตนอยู่ในภาวะอันใด เช่น เป็นบุตรธิดา เป็นนักเรียน เป็นต้น ก็พึงปฏิบัติธรรมตามควรแก่ภาวะของตน และความพยายามศึกษานำธรรมมาใช้ปฏิบัติขึ้นทุก ๆ วัน ในการเรียน ในการทำงาน และในการอื่น ๆ เห็นว่า ผู้ปฏิบัติดังนี้จะเห็นเองว่า ธรรมมีประโยชน์อย่างยิ่งแก่ชีวิตอย่างแท้จริง.

(ที่มา "หนังสือพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนอะไร" จัดพิมพ์ขึ้นเนื่องในวาระดิถีวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เมื่อวันที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๕๑๐)

หลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

ของดีมีอยู่กับตัว

ของดีมีอยู่กับตัวเรา ทุกคนก็พากันปฏิบัติเอา ทำเอา เมื่อเวลาตายแล้วจึงวุ่นวายหานิมนต์พระมากุสลามาติกา ไม่ใช่เกาถูกที่คัน ต้องรีบแก้เสียบัดนี้ คือ เร่งทำความดีแต่บัดนี้ จะได้หายห่วงอะไร ๆ ที่เป็นสมบัติของโลก มิใช่สมบัติอันแท้จริงของเรา ตัวจริงไม่มีใครเหลียวแล สมบัติในโลกเราแสวงหามา หามาทุจริตก็เป็นไฟเผา เผาตัวทำให้ฉิบหายได้จริง ๆ ข้อนี้ขึ้นอยู่กับความฉลาดและความโง่เขลาของผู้แสวงหาแต่ละราย

ท่านผู้พ้นทุกข์ไปด้วยความอุตส่าห์สร้างความดีใส่ตน จนกลายเป็นสรณะของพวกเรา ท่านไม่เคยมีสมบัติเงินทอง เครื่องหวงแหน เป็นคนร่ำรวย สวยงามเฉพาะสมัย จึงพากันรัก พากันห่วง จนไม่รู้จักเป็นรู้จักตาย สำคัญตนว่าจะไม่ตาย และพากันประมาทจนลืมตัว เพลิดเพลินตักตวงเอาแต่สิ่งไม่เป็นท่าใส่ตนแทบหาบไม่ไหว อย่าสำคัญว่าตนเก่งกาจสามารถฉลาดรู้กว่าเขาเลย ถึงกับสร้างความมืดมิดปิดตาทับถมตัวเองจนไม่มีวันสร่างซา เมื่อถึงเวลาจนตรอกอาจจนยิ่งกว่าสัตว์ ถ้าไม่เตรียมทราบไว้เสียแต่บัดนี้ ซึ่งอยู่ในฐานะอันควร อาตมาขออภัยด้วยถ้าพูดหยาบคายไป แต่คำพูดที่สั่งสอนคนให้ละชั่ว ทำความดี จัดเป็นหยาบคายอยู่แล้ว โลกเราก็จะถึงคราวหมดสิ้นศาสนา เพราะไม่มีผู้ยอมรับความจริง การทำบาปหยาบคายมีมาประจำแทบทุกคน ทั้งให้ผลเป็นทุกข์ ตนยังไม่อาจรู้ได้ และตำหนิมันบ้างพอมีทางคิดแก้ไข แต่กลับตำหนิคำสั่งสอนหยาบคาย ก็นับเป็นโรคที่หมดหวัง

(ที่มา นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ ๘๒ ฉบับที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐)

ครูบาเจ้าศรีวิชัย

มหาโพธิสัตว์เจ้า นักบุญแห่งล้านนาไทย

อานิสงส์ของศีล

ศีล ๕ เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นของความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เป็นบันไดแก้ว สำหรับก่ายขึ้นไปอยู่สวรรค์ สมดั่งพระบาลีว่า

"สีเลนะ สุคะติงยันติ"....ศีลให้เป็นที่จำเริญไปด้วยความสุข...

"สีเลนะ โภคะสัมปทา"....ศีลให้เป็นที่จำเริญไปด้วยโภคทรัพย์ทั้งมวล

"สีเลนะ นิพพุติงยันติ"...ศีลทำประโยชน์ให้มีความสุขไปตราบถึงนิพพาน อันเป็นความสุขอย่างยิ่งได้แท้จริง.....

"ตัสสมา สีลัง วิโสทะเย"....เหตุนั้นศีลเป็นของดีวิเศษยิ่งนัก หาอันใดจักเปรียบไม่ได้ สมดั่งพุทธภาษิตว่า..."อัพพยา ปัชชัง สุขัง โลเก"....ความไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน เป็นความสุขในโลก....

พระธรรมคำสั่งสอนคือ ศีล ๕ เป็นธงไชยเฉลิมโลก ถ้ามนุษย์ทั้งหลายพากันถือศีล ๕ ได้ทั้งโลก มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งมีในโลกก็มีความสุข ธรรมก็มีความจำเริญ โลกกับธรรมถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน......

ดังนี้แล้ว แผ่นดินโลกก็จักได้กลายเป็นแผ่นดินเมืองสวรรค์ (แผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง) น้ำตาของมนุษย์อันเป็นทะเลนองท่วมโลกมาแล้วแต่ก่อน ก็จักเหือดแห้งหายไป สมดั่งภาษิตว่า ให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประเทศบ้านเมืองจะมีความสุข ความจำเริญ อันความรักชาติศาสนาและพระมหากษัตริย์ ก็คือผู้ที่มั่นอยู่ในศีล ๕ นี้แล ถ้าผู้ไม่มีศีล ๕ กับตนแล้ว ก็แปลว่าเป็นผู้ล้มชาติ ขุดขุมฝังตัวไว้ในชาตินี้เสียแล้ว จะไปติโทษผู้ใด

ปุถุชนทั้งหลาย อย่าได้สงสัยว่า พระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว จะบำเพ็ญอย่างใด ก็ไม่ได้ถึงมรรคผลและนิพพานนั้น ความจริงพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อท่านถึงนิพพานไปแล้ว ผู้ที่ปฏิบัติถูกต้องตามพระธรรมคำสั่งสอน ก็ได้เป็นอรหันต์ ได้ถึงนิพพานเหมือนกัน ถ้าผู้ใดเล็งเห็นว่า พระธรรมคำสั่งสอนเป็นความจริงบริสุทธิ์ ผู้นั้นย่อมเล็งเห็นพระพุทธเจ้าได้ทุกเมื่อ แม้นว่าท่านยังทรมานอยู่ก็ดี ผู้ใดมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องธรรม ก็ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์ได้ ข้อปฏิบัติที่จะให้พ้นทุกข์ได้ ก็คือรักษาศีลบริสุทธิ์เสียก่อน ความตั้งมั่นก็จะมีขึ้น

เพราะฉะนั้น ปุถุชนทั้งหลาย ผู้แสวงหาความสุขใส่ตัว จงพากันรักษาศีลให้บริสุทธิ์เถิด เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิความตั้งมั่นก็จักเกิดมีมาแล้ว ให้ปลูกปัญญาๆ ก็หากจักเกิดมีขึ้น ให้หมั่นระลึกถึงตนอยู่บ่อยๆ ว่ามิใช่ตัวตน เป็นธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ ๕ ทั้งอาการ ๓๒ โสโครก เป็นตัวทุกข์ตัวแก่ ตัวเจ็บ ตัวตาย มิใช่ตัวอันจักตามไปในโลกหน้า ให้เห็นแจ้งด้วยปัญญาของตนเองแน่นอนลงไปแล้ว จึงเป็นสมุจเฉทปหาน กิเลสหมดแล้ว จักเป็นวิมุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ได้เป็นอรหันต์จริง

(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-preach-index-page.htm)

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

วัดกลางชูศรีเจริญสุข อ.บางระจัน จ.สิงห์บุรี

กายเดียวจิตเดียว

มีหนังแผ่นเดียว มีจิตดวงเดียวเท่านั้น ก็หนังแผ่นเดียวมันหุ้มอยู่ทั้งหมดกับทะลุ ๙ ช่อง นะวะทะวารัง ทะลุทางตา ๒ หู ๒ จมูก ๒ ปาก ทวารหนัก ทวารเบา หนังแผ่นเดียวนี้ก็ไม่มีเจ้าของ นามรูปไม่มีเจ้าของใช้ได้แล้ว เข้าทางแล้ว รูปฌานเป็นเจ้าของไม่ได้ อรูปฌานก็เป็นเจ้าจองไม่ได้

จับก็จับไปซิ จับแต่หนัง ไม่ได้จับตัว ตัวมีที่ไหนล่ะ พออริยมรรค ๔ อริยผล ๔ ทำงาน พอหมดแล้วไม่มีเจ้าของแล้ว...

หนังแผ่นเดียวมันรักษาง่าย อยู่ในท้องก็มีเท่านี้แหละ ออกจากท้องมาแล้วก็มีเท่านี้แหละ หมดไป ๑๐๐ ชั่วโมง ๑๐๐ วัน ก็มีหนังแผ่นเดียวเท่านี้แหละ ตื่นขึ้นมาก็มีหนังแผ่นเดียว จะดับไปก็หนังแผ่นเดียว...

จะมาเกิดอีกก็มีแค่หนังแผ่นเดียวเท่านี้ ยังไม่เชื่อกัน ไม่เชื่อธรรมะก็ตามใจซิ อยากดูหนังก็ให้ดูหนังเรามีให้ดูตลอดเวลา ดูตามนี้ธรรมะดีขึ้น หนังมันดีลง จะไปติดอะไรกับหนัง จะไปเสียดายอะไรกับหนัง แค่กระดาษห่อขนมปังเท่านั้นเอง คนรู้นะ เขาทิ้งกระดาษห่อขนมปังทั้งนั้น พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ท่านรู้อย่างนี้ ท่านไม่หลงไม่ลืม แล้วเราจะอวดดีไปหลงไปลืมทำไม.....

(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-preach-index-page.htm)

พระราชนิโรธรังสี คัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย

สติปัฏฐานภาวนา

...ใจมีอันเดียวมิได้มีมาก ที่ว่ามาก ๆ นั้นเป็นอาการของใจต่างหาก ผู้ที่ยังมิได้ฝึกอบรมชำระอาการของใจให้ยังเหลือหนึ่งแล้ว สัจธรรมของจริงจะไม่ปรากฏให้เห็นเลย จะเห็นก็แต่อาการของใจ (คือกิเลส) นั่นแล พระพุทธองค์ เมื่อทรงบำเพ็ญทุกขกิริยาอยู่หกปี ได้ทรงนำเอาหลักวิชาที่ได้ศึกษามาทดสอบหาความจริงไม่เป็นผลสำเร็จ มีแต่จะทำใจให้ฟุ้งเฟ้อส่งส่ายไม่สงบลงได้ แม้แนวปฏิบัติก็เต็มไปแล้วด้วยลัทธิวิธีกดบีบบังคับ ไม่เป็นไปเพื่อความสละปล่อยวาง จึงไม่สามารถทำให้พระองค์ทรงตรัสรู้สัจธรรมของจริงได้ เมื่อพระองค์ทรงย้อนมาดำเนินตามแนวฌาน-สมาธิ ที่พระองค์เคยได้เมื่อสมัยยังทรงพระเยาว์อยู่โดยบังเอิญซึ่งไม่มีใครๆ สอนให้ แล้วจิตก็สงบเข้าถึงองค์ฌานได้ จนสำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง นี่แสดงถึงเรื่องฌาน-สมาธิมัคคปฏิบัติเป็นเครื่องกำจัดชำระกิเลสอารมณ์เครื่องเศร้าหมองของจิตแล้ว จิตจึงจะบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อจิตผุดผ่องใสสะอาดอยู่โดยปกติเฉพาะปัจจุบันแล้ว สิ่งอื่นนอกจากจิต อาการของจิต อารมณ์ของจิต (กิเลสและธรรมทั้งหลาย) ที่จะเกิดมีขึ้นก็จะมาปรากฏให้เห็นชัด ณ ที่แห่งเดียวนี้ทั้งนั้น ความรู้อันนั้นจึงเป็นไปเพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์แล้วก็ได้ธรรมอันบริสุทธิ์ของจริง ของแท้ขึ้นมา จึงสมกับพุทธภาษิตที่ว่า “ธรรมทั้งหลาย มีใจถึงก่อน มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จแล้วด้วยใจ ถ้าจะพูดภาษาไทยๆ ของเราก็เรียกว่าธรรมทั้งหลาย เกิดปรากฏขึ้นที่ใจ รู้เฉพาะใจของตน (ปัจจัตตัง) ฉะนั้น ใจจึงประเสริฐกว่าทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะใจเป็นผู้ให้สำเร็จกิจทุกกรณี”

(ที่มา หนังสือ ประมวลแนวปฏิบัติธรรม)

พระสุพรหมยานเถระ (หลวงปู่ครูบาพรหมา พฺรหมฺจักโก)

วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

พื้นฐานของสมาธิ

เมื่อบุคคลผู้ใด มาตั้งสติสัมปชัญญะ คือรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ มีความระลึกได้ รู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอ มีหิริโอตตัปปะละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาปอยู่เสมอ มีความสำรวมอินทรีย์ทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อยู่ตลอดเวลา มีศีลบริสุทธิ์การทำอะไร การพูดอะไร ตั้งอยู่ในปกติอันดี เป็นสุภาพชน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมเป็นความดี ความชอบ ที่ผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะเป็นเบื้องต้นจักได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท ไม่ประมาทในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ประมาทในปฏิปทา อันเป็นเครื่องดำเนินของจิตใจ ที่จะให้ได้ ซึ่งสมมติธรรมจะให้ได้ซึ่งวิปัสสนาปัญญา อันเป็นทางพ้นทุกข์ต่อไป เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีสติ มีหิริโอตตัปปะ มีความสำรวมอินทรีย์ดี มีศีลบริสุทธิ์แล้ว ก็จัดว่า ได้สร้างหลักฐานหรือพื้นฐาน อันบริสุทธิ์สะอาดขึ้น ให้เป็นบาทของสมาธิ หรือสมถภาวนาต่อไป

(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-preach-index-page.htm)

หลวงปู่ครูบาเจ้าชัยยะวงศาพัฒนา(ครูบาวงศ์)

วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม อ. ลี้ จ.ลำพูน

ตัดบาปตัดกรรมตัดเวร

อย่าเข้าใจว่า มาทำบุญที่นี่จะตัดบาปตัดกรรมตัดเวรได้นะ ตัดไม่ได้ เว้นแต่กรรมที่เบาที่อโหสิกรรมตัดได้ พวกนั้นตัดได้ ก็พระพุทธเจ้ายังจะตัดไม่ได้ พระมหาโมคคัลลาห์มีฤทธิ์สุดขีดไม่มีองค์จะมาเทียมถึง ก็ตัดไม่ได้ จึงขอฝากไว้ อย่าหลับหูหลับตาฟังแต่คนไม่รู้ หาว่าท่านครูบา หลวงพ่อวัดพระพุทธบาทจะมาตัดกรรมตัดเวร ตัดไม่ได้หรอก แต่ถ้าเป็นอโหสิกรรม ได้ทำผิดพูดผิดต่อใครๆ เจ้าตัวเองต้องขอตัดเอาเอง อโหสิกรรมถือว่าตัดได้ ก็ต้องตัดเอง จะต้องขอเอง ให้คนอื่นไปขอไม่ได้ ไม่พ้นจากกรรม เราต้องขอเอง ต้องอ่อนน้อมกล่าวคำสารภาพกับตัวเขา เขาจึงจะอโหสิงดโทษให้เรา

(ที่มา :อภิมหามงคลธรรม : คำสอนโดยย่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวม ๗๕ โอวาทพระสุปฏิปันโนแห่งแผ่นดินสยาม)

หลวงปู่แหวน สุจินโน

วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

กามกิเลส

การต่อสู้กามกิเลส เป็นสงครามอันยิ่งใหญ่ กามกิเลสนี้ร้ายนัก มันมาทุกทิศทาง ความพอใจ ก็คือกิเลส ความไม่พอใจ ก็คือกามกิเลส กามกิเลสนี้ อุปมาเหมือนแม่น้ำ ธารน้ำน้อยใหญ่ ไม่มีประมาณ ไหลลงสู่ทะเล ไม่มีที่เต็ม ฉันใดก็ดี กามตัณหาที่ไม่พอดี ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นแหล่งก่อทุกข์ ก่อความเดือดร้อนไม่มีที่สิ้นสุด ทั้งหมดอยู่ที่ใจ สุขก็อยู่ที่ใจ ทุกข์ก็อยู่ที่ใจ ใจนี่แหละคือตัวเหตุ ทำความพอใจให้อยู่ที่ใจนี่ กามตัณหา เปรียบเหมือนแม่น้ำ ไหลไปสู่ทะเล ไม่รู้จักเต็มสักที อันนี้ฉันใด ความอยากของตัณหามันไม่พอ ต้องทำความพอจึงจะดี เราจะต้องทำใจให้ผ่องใส ตั้งอยู่ในศีล ตั้งอยู่ในทาน ตั้งอยู่ในธรรม ตั้งอยู่ในสมาธิก็ดี ทุกอย่างเราทำความพอดี ความพอใจก็นำออกเสีย ความไม่พอใจก็นำออกเสีย เวลานี้เราจะพักจิต ทำกายของเรา ทำใจของเราให้รู้แจ้ง ในกายในใจของเรานี้ รู้ความเป็นมา วางให้หมด วางอารมณ์ วางอดีต อนาคตทั้งปวงที่ใจนี่แหละ

(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-preach-index-page.htm)

หลวงปู่ขาว อนาลโย

วัดถ้ำกลองเพล อ.เมือง จ.หนองบัวลำพู

อนาลโยวาทะ

กุลบุตรผู้รักษาศีล ถึงพร้อมด้วยศีลบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีความสุข แม้จะเข้าไปคบหาสมาคมกับบริษัทใด ๆ ก็ตาม บริษัทกษัตริย์ก็ตาม บริษัทคหบดีก็ตาม บริษัทสมณพราหมณ์ก็ตาม เป็นผู้องอาจกล้าหาญ ไม่มีความครั่นคร้ามต่อผู้คน เพราะคิดว่าเราบริสุทธิ์ดีแล้ว ถึงไม่มีความรู้ก็ตาม ไม่คิดกลัวว่าคนอื่นเขาจะมาโทษเราว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิ์อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่คิดอย่างนั้น ไม่กลัว แล้วก็เป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นที่รักแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยกัน คนผู้มีศีลดีแล้วย่อมใจเย็น จิตมันหยั่งเข้าไปถึงกัน

(ที่มา หนังสือ อนาลโยวาทะ)

พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน)

วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี

ผู้มุ่งธรรม

...ด้านวัตถุล่ะเป็นสำคัญมาก เป็นอันตรายต่อ เฉพาะอย่างยิ่งต่อจิตตภาวนาของพระ ต่อพระกรรมฐานของเรา วัตถุนี้เกลื่อน ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยว่า วัตถุนั้นคือ ตัวภัย ถือเป็นความสะดวกสบายทุกสิ่งทุกอย่างไปหมดด้วยกัน กิเลสนี้แฝงไปตลอดเวลา ไม่ว่าสถานที่อยู่ ที่กิน ที่หลับ ที่นอน เรื่องกิเลสนี้จะแฝงไปๆ...

...นี่ผู้ท่านเสาะแสวงหามรรคหาผล ท่านไม่ได้หรูหราข้างนอก แต่ท่านหรูหราใน ศีล สมาธิ ปัญญา ของท่าน เรื่องมรรคผลนิพพานหรูหราๆ สว่างจ้าภายใน ข้างนอกอยู่ที่ไหนอยู่ได้สบาย อยู่ง่าย กินง่าย นอนง่าย ไปง่าย ไม่มีใครเกินผู้มุ่งธรรม...

(ที่มา หนังสือ พระธุดงคกรรมฐาน)

พระราชพรหมยานเถระ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ)

วัดจันทาราม (ท่าซุง) อ.เมือง จ.อุทัยธานี

จิตติดในโลกธรรม

ถ้าบุคคลทั้งหลายยังทำใจคล้ายกับน้ำในทะเล ที่ยังรับสัมผัสการกระทบกระทั่งจากคลื่น จากลม ลมทำให้น้ำมีคลื่นและก็ยังยืนอยู่ในท้องทะเลฉันใด บุคคลประเภทนั้นจะหาความสุขไม่ได้ในชีวิต ชื่อว่าการจบกิจของบุคคลนั้นยังไม่มี แต่ถ้าหากว่าบุคคลใด ทำจิตใจของตนนี้เหมือนกับคนที่ยืนอยู่บนตลิ่ง ลมและน้ำไม่สามารถจะทำจิตใจของเธอให้กลิ้งไปได้ ไม่มีคลื่นใหญ่ ไม่มีคลื่นเล็ก ไม่มีการกระทบฝั่งฉันใด จิตใจของบุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้พ้นแล้วจากกิจที่จะพึง เกิด แก่ เจ็บ ตาย ต่อไปในภายภาคหน้า

(ที่มา หนังสือ ธรรมปฏิบัติ ๒๕)

พระโพธิญาณเถระ (หลวงปู่ชา สุภัทโท)

วัดหนองป่าพง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี

ปัญญามาก่อนศีล สมาธิ

การรักษาศีล ปัญญาต้องมาก่อน แต่เราพูดว่ารักษาศีลก่อน ตั้งศีลก่อน ศีลจะสมบูรณ์อย่างนั้นจะต้องมีปัญญา ต้องค้นคิด กายของเรา วาจาของเรา พิจารณาหาเหตุผล นี่ตัวปัญญาทั้งนั้น ก่อนที่จะตั้งศีลขึ้นได้ต้องอาศัยปัญญา

เมื่อพูดตามปริยัติก็ว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อาตมาพิจารณาแล้ว การปฏิบัตินี้ต้องปัญญามาก่อน มารู้เรื่องกายวาจา ว่าโทษของมันเกิดขึ้นมาอย่างไร ปัญญานี้ต้องพิจารณาหาเหตุผลควบคุม กายวาจาจึงจะบริสุทธิ์ได้ ถ้ารู้จักอาการของกายวาจาที่สุจริตทุจริตแล้ว ก็เห็นที่ปฏิบัติ ถ้าเห็นที่ปฏิบัติแล้ว ก็ละสิ่งที่ชั่ว ประพฤติสิ่งที่ดี ละสิ่งที่ผิด ประพฤติสิ่งที่ถูกเป็นศีล ถ้ามันละผิดให้ถูกแล้วใจก็แน่วแน่เข้าไป อาการที่ใจแน่วแน่มั่นคง มิได้ลังเลสงสัยในกายวาจาของเรานี้เป็นสมาธิ ความตั้งใจมั่นแล้ว เมื่อตั้งใจมั่นแล้ว รูปเกิดขึ้นมาเสียงเกิดขึ้นมา พิจารณามันแล้ว นี่เป็นกำลังตอนที่สอง เมื่อรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ เกิดขึ้นมาบ่อยๆ ได้พิจารณาบ่อยๆ ด้วยอาการที่เราตั้งใจมิได้เผลอ จึงรู้อาการของสิ่งเหล่านี้ มันเกิดตามความเป็นจริงของมัน เมื่อรู้เรื่อยๆไปก็เกิดปัญญา เมื่อรู้ตามความเป็นจริง ตามสภาวะของมัน สัญญาจะหลุด เลยกลายเป็นตัวปัญญา จึงเป็นศีล สมาธิ ปัญญา คงรวมเป็นอันเดียวกัน

ถ้าปัญญากล้าขึ้น ก็อบรมสมาธิให้มั่นคงขึ้นไป เมื่อสมาธิมั่นคงขึ้นไป ศีลก็มั่น ก็สมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อศีลสมบูรณ์ขึ้น สมาธิก็กล้าขึ้นอีก เมื่อสมาธิกล้าขึ้น ปัญญาก็กล้ายิ่งขึ้น สามอย่างนี้เป็นไวพจน์ซึ่งกันและกัน สมกับพระศาสดาตรัสว่า มรรคเป็นหนทาง เมื่อสามอย่างนี้กล้าขึ้นมาเป็นมรรค ศีลก็ยิ่ง สมาธิก็ยิ่ง ปัญญาก็ยิ่ง มรรคนี้จะฆ่ากิเลส โลภเกิดขึ้น โกรธเกิดขึ้น หลงเกิดขึ้น มีมรรคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ฆ่าได้

(ที่มา หนังสือ กุญแจภาวนา ๑)

พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)

วัดป่าสาลวัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ทำสมาธิถูกทาง ไม่หนีโลก ไม่หนีปัญหา

ผู้ที่มีจิตเป็นสมาธิที่ถูกต้องนี่ สมมติว่ามีครอบครัว จะต้องรักครอบครัวของตัวเองมากขึ้น หนักเข้าความรักมันจะเปลี่ยน เปลี่ยนจากความรักอย่างสามัญธรรมดา กลายเป็นความเมตตาปรานี

ในเมื่อไปเผชิญหน้ากับงานที่ยุ่งๆ เมื่อก่อนรู้สึกว่ายุ่ง แต่เมื่อปฏิบัติแล้ว ได้สมาธิแล้ว งานมันจะไม่ยุ่ง พอประสบปัญหาเข้าปุ๊บ จิตมันจะปฏิวัติตัวพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ซึ่งมันจะเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

ทีนี้บางทีพอเราหยิบปัญหาอะไรขึ้นมา เรามีแบบแผนตำรายกขึ้นมาอ่าน พออ่านจบปั๊บ จิตมันวูบวาบลงไป ปัญหาที่เราข้องใจจะแก้ได้ทันที อันนี้คือสมาธิที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน แต่สมาธิอันใดที่ไม่สนใจกับเรื่องชีวิตประจำวัน หนีไปอยู่ที่หนึ่งต่างหากของโลกแล้ว สมาธิอันนี้ทำให้โลกเสื่อมและไม่เป็นไปเพื่อทางตรัสรู้ มรรค ผล นิพพานด้วย

(ที่มา หนังสือ สมาธิเพื่อชีวิต)

หลวงพ่อสำราญ ธัมมธุโร (หลวงพ่อกล้วย)

วัดป่าธรรมอุทยาน จ.ขอนแก่น

จิตดูจิต ดูอย่างไร? ต่างกับวิปัสสนาอย่างไร?

เราต้องพยายาม “สร้างสติ” เข้าไปทำความเข้าใจกับจิต...มันถึงจะถูก

ถ้าเราแยกรูป แยกนามได้ ถึงจะเรียกว่า “วิปัสสนา

ถ้ายังแยกรูป แยกนามไม่ได้...ไม่ใช่วิปัสสนาเด็ดขาด

ถึงจะพิจารณาในธรรมข้อไหน หรือยกธรรมข้อไหนขึ้นมาพิจารณา

มันก็ยังเป็นกิเลสธรรม ยังเป็น “ปัญญาโลกีย์” อยู่

(ที่มา หนังสือหลวงพ่อเพียงแต่เล่าให้ฟัง)

หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ

วัดป่าสุคะโต อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ

ไม่มี ไม่เป็นอะไรกับอะไร

“อยู่ตรงที่ไม่มีไม่เป็นอะไรกับอะไรเลย เนี่ย..ทำไมจึงอยู่ได้ เพราะกรรมฐาน พาให้เราถึงสภาพเช่นนี้ได้ ในชีวิตของเรานี้ไม่ใช่วิเศษ ยังมีรูปธรรมยังนามธรรมอยู่ แต่มันไม่มีทุกข์ มีปัญหา เพราะการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เนี่ย... ถึงอยากจะประกาศว่าความไม่มีไม่เป็นอะไรกับอะไรนี้เป็นของจริงในชีวิตเรา มาตรฐานชีวิตของเราแน่นอนที่สุด”

(ที่มา หนังสือ ไม่มี ไม่เป็นอะไรกับอะไร)

พระธรรมมังคลาจารย์ วิ. (หลวงปู่ทอง สิริมังคโล)

วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ผู้สอนง่ายว่าง่ายเป็นมงคลอันหนึ่ง

สุวะโจ เป็นผู้สอนง่ายว่าง่าย เป็นมงคลอันหนึ่ง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เทศนาว่า ความว่าง่ายสอนง่ายเป็น สุวะโจ สุวะจา สุภา สิตา สุวะจา สุวะโจ หมายความว่า ว่าง่าย สอนง่าย เหมือนไม้อ่อนแล้วดัด ขี้ผึ้งที่มันอ่อนแล้วจะปั้นเป็นอย่างใดก็ได้ เพราะฉะนั้น ตัวทิฏฐินั้นสำคัญที่ว่า เราไม่มีมานะ คือ สำคัญว่าเราเลิศกว่าเขา เลว เสมอ เลิศ เป็นตัวมานะ เป็นตัวปิดกั้นพระนิพพาน อย่างพระโปฐิละ ที่ยอมให้กับสามเณรอายุ ๗ ขวบ ทำให้ท่านนั้นอ่อน แล้วท่านจึงปั้นได้เลย เป็นพระอรหันต์ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องสุวะโจนี้จึงมีความสำคัญ ขอให้คุณธรรมข้อนี้ ความว่าง่ายสอนง่ายมีในใจทุกคน

(ที่มา หนังสือ ธรรมะจากหลวงปู่ ๑๑)

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัล ฐิตธัมโม)

วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

การเจริญสติปัฏฐาน ๔

บารมีสร้างแล้วก็ต้องมีวิริยะ ตั้งสติด้วยการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ในเมื่อเรามีสติกำหนดจิตได้ มันก็ครบเครื่องเรียกว่า บารมีเกิดขึ้น ปัญญาก็เกิดขึ้น สติก็ดี สมาธิก็เกิด การแก้ปัญหาก็เกิดปัญญาในตัวขึ้นมาให้แก่ตัวเอง เป็นต้น บางคนทำได้ สอนเขา แต่ตัวเองนั้นไม่เคยทำไม่เคยปฏิบัติหน้าที่อันนั้นแต่ประการใด เช่นนี้ บารมีก็โรยราและห่างไกล สติก็หมดไป สมาธิไม่มั่นคง จิตใจจะอยู่ที่ไม่ได้ เลือนรางไปตามลำดับ ท่านจะไม่ได้อะไรเลยตรงนี้ฝากนักกรรมฐานไว้ด้วย

(ที่มา http://www.dharma-gateway.com/monk-preach-index-page.htm)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)

วัดญาณเวศกวัน อ.สามพราน จ.นครปฐม

สุขคือโอกาส ทุกข์คือแบบฝึกหัด

... “สุข” แปลว่า คล่อง ง่าย สะดวก เมื่อมีความสุข จะทำอะไรก็ทำได้ง่าย ได้คล่อง ได้สะดวก ความสุขจึงเป็นโอกาส มีอะไรควรทำก็รีบทำ จะได้ผลมาก ดังนั้น ยามสุข เมื่อเราไม่ประมาทก็ทำการดีงามสร้างสรรค์ได้มากที่สุด ความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอนิจจัง เกิด-ดับ มี-หมด กลับกลายได้ ถ้าเรารู้ทันความจริง และไม่ประมาท เมื่อโชคหรือโลกธรรมที่ดีมีมา เราเป็นสุข เราก็ใช้โชค เช่น ลาภ ยศ เป็นเครื่องมือเพิ่มพูนแผ่ขยายความสุข คือใช้มันทำความดี ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์ ทำให้ความสุขขยายจากตัวเรา แผ่กว้างออกไปสู่ผู้คนมากมายในโลก นี่ก็คือ ใช้ความสุขเป็นโอกาสสร้างสรรค์แผ่ขยายความสุข...

(ที่มา หนังสือ มองธรรมถูกทางมีสุขทุกที่)

คติธรรมของพระธรรมวิสุทธิกวี (พิจิตร ฐิตวณฺโณ)

เจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร

เจ้าคณะภาค ๑๖, ๑๗, ๑๘ (ธ)

๑. วันใดไม่มีศีล วันนั้นถือว่าขาดทุน และไม่ควรออกจากบ้านเพราะมันไม่เป็นมงคล

๒. คืนใดไม่ได้สวดมนต์ก่อนนอน คืนนั้นถือว่าขาดทุนและไม่ควรนอนเพราะมันไม่เป็นมงคล

๓. คนไม่มีศีลเหมือนคนไม่อาบน้ำ ส่วนคนไม่มีธรรมะเหมือนคนไม่แต่งตัว เพราะการมีศีลเหมือนการอาบน้ำ ส่วนการมีธรรมะเหมือนการแต่งตัว

๔. ใครก็ตาม เมื่อรักษาศีลแล้ว ยังเดือดร้อนเพราะการรักษาศีล แสดงว่ารักษาศีลไม่เป็น เหมือนคนอาบน้ำ ถ้าอาบแล้วยังไม่สดชื่นหรือยังสกปรกอยู่ ก็แสดงว่าอาบน้ำไม่เป็น

๕. ใครก็ตามเมื่อประพฤติธรรมแล้ว ยังเดือดร้อนเพราะประพฤติธรรม แสดงว่าประพฤติธรรมไม่เป็น เหมือนคนแต่งตัว ถ้าแต่งตัวแล้วไม่สวย ไม่หล่อ ไม่งาม ก็แสดงว่าแต่งตัวไม่เป็น

หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม

วัดแพร่ธรรมาราม อ.เด่นชัย จ.แพร่

ในชีวิตประจำวันให้เปิดโอกาสให้เรารักษาศีล ทำสมาธิ ทำใจให้หนักแน่น เจริญสติ เจริญปัญญา เพื่อสร้างคุณธรรม อย่าไปโทษอากาศร้อนหนาว อุปสรรคปัญหา คนนั้นคนนี้ มันช่วยให้เราได้สร้างบารมี มันเป็นบวกไม่ใช่ลบ

(ที่มา หนังสือ อริยเมตตา)

หมายเลขบันทึก: 596701เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2015 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2016 19:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท