สังคมชนบท คนชราพึ่งพาลูกหลาน สังคมเมือง คนชราพึ่งพาเมือง


สังคมชนบท คนชราพึ่งพาลูกหลาน สังคมเมือง คนชราพึ่งพาเมือง

15 ตุลาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

สังคมไทยในชนบททุกวันนี้กำลังก้าวย่างเข้าสู่ “สังคมคนสูงวัย” หรือ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging Society) หรือ “คนชรา” เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยเพราะมีผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น เป็นไปตามคาดการณ์ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขว่าในอีก 20 ปี ข้างหน้าใน พ.ศ. 2578 ประเทศไทยจะ “เข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” โดยมีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปในสัดส่วนที่มากกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด [2] วันนี้ลองเหลียวหลังมามองปรากฏการณ์สังคมสูงวัยในท้องถิ่นในข้อเท็จจริงที่กำลังเกิดขึ้นกัน

สังคมชนบท การศึกษาคือการลงทุน

ปรากฏการณ์ที่ลูกหลานต้องเลี้ยงดูแลหรือส่งเสียเงินดูแล “ผู้เฒ่าผู้แก่” ตามบ้านนอกในสังคมชนบทมีพบเห็นอยู่จนชินตานานมาแล้ว ไม่ว่าในสังคมชนบทอีสาน ภาคใต้ หรือภาคเหนือทั่วไป เพราะในสังคมชนบทนั้นเป็น “สังคมเกษตรกรรม” บรรพบุรุษรุ่นพ่อรุ่นแม่ล้วนทำการเกษตร เพื่อส่งเสียให้ลูกหลานได้เล่าเรียนในเมืองใหญ่ มีทั้งลูกหลานที่รักดี เรียนจบ และมีงานการที่ดี เลี้ยงตัวเอง สร้างครอบครัวได้ ในเมืองใหญ่ที่ว่า ก็คือ เมืองหลวง “กรุงเทพมหานคร” และเมืองใหญ่ ๆ เมืองอุตสาหกรรมตามภูมิภาค ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่ นครศรีธรรมราช สงขลา เป็นต้น

ในสังคมชนบทที่แข่งขันกันส่งลูกหลานไปเล่าเรียน ในอีก 20 ปีต่อมา สังคมนั้นก็จะเห็นการแข่งกันทำบุญ แข่งกันสร้างบ้าน แข่งกันออกรถ แข่งกันทำสาธารณะกุศล รวมถึงการก่อสร้างงานธุรกิจบริการต่าง ๆ เช่น สร้างรีสอร์ท ฯ และแน่นอนว่า ตามฝาบ้านจึงเต็มไปด้วยใบปริญญา วุฒิบัตรการศึกษาของลูกหลานที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากเมืองใหญ่แปะติดไว้ แสดงถึงความโก้ ความเก่งไว้อวดอ้างเพื่อนบ้าน

แม้พ่อแม่บางคนอาจจะผิดหวังจากการส่งลูกหลานไปเรียนในเมืองใหญ่แต่เล่าเรียนไม่จบ ดังมีบทเพลงบรรยายสะท้อนภาพชีวิต เช่น เพลงตาผุยชุมแพ ๆ แกส่งลูกเรียนๆ อยู่ปีสุดท้าย ที่เคยได้ยิน การที่ลูกหลานชนบทที่พ่อแม่ส่งไปเรียนแล้วไม่จบจึงเป็นอะไรที่ร้ายแรงมาก เหมือนกับลงทุนทำธุรกิจแล้วขาดทุนนั่นเอง เพราะพ่อแม่คาดหวังและมีความเชื่อว่า เมื่อลูกหลานได้จบการศึกษาออกมาแล้ว ก็คงเป็นหลักประกันให้มีงานทำ มีสถานะทางสังคมที่เป็นเจ้าคนนายคนได้

แต่กาลปรากฏว่าว่า หลังจากที่ลูกหลานได้เรียนจบการศึกษาจนมีงานทำมีหน้ามีตาแล้ว ก็แทบไม่มีใครคนใดได้กลับมาทำงานที่บ้านของตัวเองเลย

พนักงานส่วนท้องถิ่น คือ แกนนำหลักในการพัฒนาสังคมชนบท

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 – 2542 ได้มีการยกฐานะสภาตำบลขึ้นเป็น “องค์การบริหารส่วนตำบล” หรือ “อบต.” และมีการยกฐานะ “สุขาภิบาล” ขึ้นเป็น “เทศบาลฯ” ก็ปรากฏว่ามีจำนวน “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หรือ “อปท.” ดังกล่าวเกิดขึ้นมากมาย เป็นจำนวนนับพันแห่ง [3] จนครอบคลุมครบทุกจังหวัดทุกอำเภอ ทั้งบ้านนอกและเมืองใหญ่

บรรดาลูกหลานทั้งหลายที่ได้ไปร่ำเรียนมาจากเมืองใหญ่ก็ได้มีโอกาสกลับมาทำงานอยู่บ้าน หรืออยู่ใกล้บ้านได้ ในตำแหน่งต่าง ๆ ของ อปท. ที่พอจะรับคนเหล่านี้เป็นเจ้าหน้าที่ได้ ทั้งตำแหน่งด้านช่าง ด้านการเงิน การบัญชี รวมปริญญาตรีทุกสาขา เหล่าคนบ้านนอกที่จบการศึกษาเหล่านี้จึงได้มีโอกาสกลับมาทำงานในถิ่นเกิดและมาพัฒนาบ้านของตนได้

แต่เดิมนั้น “ครู” ถือเป็นแกนนำหลักของสังคมในชนบท เพราะครูเป็นผู้ที่ทรงความรู้มากที่สุดในท้องถิ่น จึงมีเพียงอาชีพครูเท่านั้น ที่มักจะกลับมาทำงานที่หมู่บ้าน และตำบล ฉะนั้น ในสมัยก่อนครู จึงมีส่วนช่วยสร้างสรรค์สังคมชนบทไว้มาก แต่ในปัจจุบันเมื่อเกิดมี อปท. ขึ้น ได้แก่ อบต. และ เทศบาล จึงทำให้ อปท. เป็นแหล่งในการช่วยสร้างสังคมท้องถิ่นได้มากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า อปท. ได้เข้ามาทำหน้าที่ “แทนครู” ที่เคยทำหน้าที่ในการสร้างสรรค์ชี้นำสังคมมาแต่ก่อน โดยเป็นผู้คอยเติมช่องว่างทางสังคมต่าง ๆ ที่บกพร่องที่ขาดหายไป ทำให้สังคมท้องถิ่นชนบทมีความเข้มแข็งขึ้น

ปัจจุบัน อปท. มีผู้เชี่ยวชาญในเกือบทุกด้าน ไม่ว่าด้านก่อสร้างโยธาวิศวฯ ด้านการเงินการคลัง ด้านกฎหมาย ด้านการพัฒนาชุมชน หรือด้านการสร้างความเข็มแข็งของชุมชน ฯลฯ จึงถือเป็นแกนนำที่อยู่กับชุมชน และคอยช่วยเหลือสังคมได้แทนที่ครู และ ด้วยบทบาทหน้าที่ที่ต้องพัฒนาชุมชน และเข้ากับชุมชน จึงอาจเรียกได้ว่า อปท. ได้เข้ามามีบทบาทแทนที่ ครู และทุกหน่วยงานในพื้นที่ก็ว่าได้

คนสูงวัยบ้านนอกอยู่บ้าน ลูกหลานคนทำงานอยู่ไกลบ้านคอยส่งเสียดูแล

ในปรากฏการณ์ที่ลูกหลานไปศึกษาเล่าเรียน และทำงานต่างบ้านต่างเมืองไกลนั้น พบว่า “คนสูงวัย” ในชนบทมักจะอยู่กับลูกหลาน คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือไม่ได้เรียนสูง ๆ ซึ่งจะมีอาชีพทำการเกษตร รับช่วงต่อจากพ่อแม่ โดยได้รับมรดก เป็นที่ดินและบ้านของพ่อแม่ แต่สำหรับลูกหลานคนที่ได้รับการศึกษาดี เรียนสูงมักไปทำงานแสวงหาโอกาสดีในต่างบ้านต่างเมืองไกล ๆ ได้ทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ทำได้แค่เพียงส่งเงินมาให้พ่อแม่ได้ใช้สอย และส่งเงินให้พี่น้องที่ดูแลแม่พ่อและทำการเกษตรอยู่ที่บ้านนอก

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ตรุษจีน หรือวันหยุดยาว บรรดาลูกหลานที่ทำงานต่างจังหวัด หรือทำงานตามเมืองใหญ่ก็จะได้โอกาสกลับบ้าน จึงไม่เป็นที่แปลกใจว่า รถโดยสารสายอีสาน สายใต้ สายเหนือ จะติดยาวในช่วงเทศกาลดังกล่าว

บรรดาผู้สูงวัยที่เริ่มแก่ชรามากขึ้นมัก ก็จะไม่ไปอาศัยอยู่กับลูกหลานที่มีการศึกษาสูง ซึ่งมีงานทำในเมือง เพราะความไม่คุ้นเคยในสังคมใหญ่ แต่ผู้สูงวัยในชนบทเหล่านี้ก็มีลูกหลานที่ทำงานในเมืองฯ เป็นผู้คอยดูแล และส่งเงินมาเลี้ยงดูเป็นรายเดือน จะเดือดร้อนก็เฉพาะผู้สูงวัยที่ลูกไม่ได้รับการศึกษา หรือเล่าเรียนไม่จบเท่านั้น ที่มักมีงานไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ไม่พอจะเลี้ยงตัวเองเพราะมีรายได้น้อย ลูกหลานเหล่านี้จึงไม่สามารถดูแลและส่งเงินให้พ่อแม่ผู้สูงวัยที่แก่ชราในชนบทได้

ผู้สูงวัยในเมือง พึ่งพาสังคมเมือง

เพราะการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานในสังคมเมืองใหญ่มักไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ บรรดาผู้สูงวัยหรือคนชราในสังคมเมือง มักเป็นคนชราในรุ่นที่ 2 หรือรุ่นที่ 3 ที่ออกจากบ้านนอกมารับการศึกษาและมีงานทำในเมือง สำหรับคนชรารุ่นที่ 1 คือรุ่นปู่ย่าตายายก็ยังคงอยู่ที่บ้านนอกเหมือนเดิม ในกรณีตัวอย่างเช่น เทศบาลนครปากเกร็ดพบว่า มีจำนวนผู้สูงวัยจำนวนประมาณ 8 หมื่นคน ซึ่งมีกิจกรรมของเทศบาลฯจัดให้ผู้สูงวัย (เรียกว่าผู้เชี่ยวชาญชีวิต) ทุกวัน พบข้อมูลว่า ผู้สูงวัยจำนวนมากไม่ประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์จากรัฐบาล คิดรวมเป็นเงินงบประมาณปีละหลายล้านบาท เพราะผู้สูงวัยเหล่านี้ส่วนใหญ่มีงานทำ มีเงินสมทบผู้ประกันตน มีบำเหน็จบำนาญแล้ว ไม่ต้องพึ่งเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาท [4] จากรัฐบาลแต่อย่างใด และหากไม่มีผู้เลี้ยงดู ก็มักจะอยู่บ้านพักคนชรา ซึ่งในทางกลับกันผู้สูงวัยหรือคนชราในสังคมบ้านนอกยังมีความจำเป็นต้องพึ่งพาเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600 – 1,000 บาทจากรัฐบาลอยู่ เพราะมีสภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคมที่แตกต่างจากสังคมเมืองใหญ่

ในเมืองใหญ่จึงพบว่า แม้จะเป็นผู้สูงอายุ หรือแก่ชราทำงานไม่ได้ก็ยังมีเงินเลี้ยงชีพ โดยไม่เป็นภาระแก่ลูกหลาน และยังมีกิจกรรมของเมืองใหญ่ที่ให้โอกาสผู้สูงอายุได้เข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตที่ดี มีจิตใจแจ่มใส และสามารถช่วยเหลือบริการสังคมในด้านต่าง ๆ ได้ตามที่ตนถนัดได้

นี่คือความแตกต่างกันของสังคมผู้สูงอายุ หรือสังคมผู้สูงวัยในชนบทและในเขตเมือง ทั้งนี้ทั้งนั้น บทบาทในการพิทักษ์ดูแลช่วยเหลือผู้สูงวัยก็คงไม่พ้นภาระหน้าที่ของ “อปท.” ที่กระจายอยู่ทุกหย่อมหญ้าของประเทศ จะได้ช่วยกันดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุเหล่านั้นให้ดีที่สุด เพราะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า “สังคมผู้สูงอายุ” จะถือเป็นสังคมส่วนใหญ่ของประเทศ



[1] สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 4 วันศุกร์ที่ 16 - วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม 2558, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] สธ.เตรียมพร้อมรับอีก 20ปีข้างหน้า ไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”, สำนักข่าวไทย , 23 เมษายน 2558, http://www.tnamcot.com/168674 & ว่าด้วยเรื่อง…สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และท่านจะเตรียมตัวเตรียมใจอย่างไรเมื่อวัยนั้นมาถึง?, 22 กันยายน 2557, https://betterlifeaging.wordpress.com/2014/09/22/ว่าด้วยเรื่อง-สังคมผู้/

[3] สรุปข้อมูลจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 7,853 แห่ง แยกเป็น (1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง (2) เทศบาล 2,440 แห่ง (เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 178 แห่ง เทศบาลตำบล 2,232 แห่ง) (3) องค์การบริหารส่วนตำบล 5,335 แห่ง (4) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) 2 แห่ง, ส่วนวิจัยและพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง สำนักพัฒนาระบบ รูปแบบและโครงสร้าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, ข้อมูล ณ วันที่ 9 มีนาคม 2558, http://www.dla.go.th/work/abt/

[4] เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับเป็นอัตราขั้นบันได คือ (1) อายุ 60 - 69 ปี รับเดือนละ 600 บาท (2) อายุ 70 - 79 ปี รับเดือนละ 700 บาท (3) อายุ 80 - 89 ปี รับเดือนละ 800 บาท (4) อายุ 90 ปีขึ้นไป รับเดือนละ 1,000 บาท

หมายเลขบันทึก: 596215เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2015 00:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท