คำนำหนังสือ สุข...สงบใจในแสงสุดท้าย: ปัญญาปฏิบัติของพยาบาลการดูแลแบบประคับประคอง


คำนำ

ผู้เขียนขอขอบคุณ ชมรมพยาบาลแบบประคับประคอง ที่ให้ทั้งเกียรติและโอกาสแก่ผู้เขียนในการถอดบทเรียนการปฏิบัติงานของคนหน้างานคือ พยาบาล ในการดูแลแบบประคับประคอง/ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ซึ่งได้โรงพยาบาลสระบุรี จังหวัดสระบุรี และ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช อำเภอปัว จังหวัดน่าน เป็นกัลยาณมิตรแบ่งปันข้อมูลให้ได้ศึกษาเรียนรู้ทุกแง่มุมสำคัญ จนสามารถถอดบทเรียนชีวิตการทำงานผ่านร้อนหนาว อุปสรรคนานา และในที่สุดออกมาเป็น หนังสือ สุข...สงบใจในแสงสุดท้าย: ปัญญาปฏิบัติของพยาบาลการดูแลแบบประคับประคอง เป็นสิ่งที่หวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้อยู่ในวงการวิชาชีพเดียวกันเพื่อพัฒนางานการดูแลแบบประคับประคองในประเทศไทยให้ตอบโจทย์ที่ยังคงมีอยู่หลายประการได้ตรงตามบริบทแต่ละพื้นที่ ตลอดจนเป็นทั้งแรงบันดาลใจและเชื่อมโยงสร้างเครือข่ายกัลยาณมิตรช่วยกันขับเคลื่อนงานสำคัญนี้อย่างมีชีวิตชีวาและงดงาม

งานชิ้นนี้เป็นโอกาสให้ผู้เขียนได้ทบทวนตนเองในเรื่อง การตายดี การไปอย่างสงบ หากผู้เขียนได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ก่อนที่คุณแม่ตนเองจะเสียชีวิต คงทำหน้าที่ได้ดีกว่านี้ในการช่วยคุณแม่และพี่น้องที่ร่วมกันดูแลคุณแม่ซึ่งป่วยติดเตียงเป็นปีก่อนสิ้นลม ให้ทุกคนไม่ทุกข์ไม่เครียดอย่างที่เป็นไปแล้ว ถึงอย่างไรนับว่ายังไม่สายที่จะตระหนักรู้เพราะตนเองและบุคคลรอบตัวที่ยังอยู่สักวันล้วนต้องจากไปทั้งสิ้น

การถอดบทเรียนการดูแลแบบประคับประคองในหนังสือเล่มนี้ มุ่งที่ 2 ประเด็นหลัก คือ รูปแบบการดำเนินงาน และ การทำงานแบบไร้รอยต่อ ซึ่งพยายามวิเคราะห์ให้เห็นถึงการพัฒนางานตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจากแรงผลักดันภายในและภายนอกตนจนถึงปัจจุบัน ทำไปเรียนรู้ไป แสวงหาความรู้ไป ได้รับพลังความร่วมมือจากกัลยาณมิตรระหว่างทาง ปัญญา เกิดจากการลงมือทำอย่างมุ่งมั่น และยิ่งลงมือทำ ยิ่งเกิดปัญญา เพื่อทำให้ความปรารถนาไปสู่ความสำเร็จอย่างที่มุ่งหวังตั้งใจ

ปัญญาในที่นี้เป็นมากกว่า Intelligence แต่ หมายถึง Wisdom อันเป็นปัญญาที่มาจากการตกผลึกภายในจากความรู้และประสบการณ์ผ่านการได้ลงมือทำ ซึ่งคำว่า ปัญญาปฏิบัติ หรือ Practical Wisdom นั้นเป็นคำที่ตรงมาก เพราะเป็นปัญญาที่ใช้งานได้จริง ยิ่งใช้ยิ่งแหลมคมและลึกซึ้ง

การถอดบทเรียนการดูแลแบบประคับประคองในครั้งนี้ผู้เขียนสัมผัสถึงความลึกซึ้งใน มิติจิตวิญญาณ ของทั้งคนทำงานและผู้ป่วยจึงพยายามไม่นำกรอบวิชาการแข็งๆมาตั้งเป็นเกณฑ์ ทว่าพยายามวิเคราะห์ เชื่อมโยงให้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้นในเส้นทางการทำงาน กว่าจะสำเร็จ มีอุปสรรคหรือข้อจำกัดอะไร อะไรทำให้ก้าวข้ามข้อจำกัดได้

อย่างไรก็ตามแม้ผู้เขียนจะไม่ได้นำกรอบวิชาการมาระบุให้เห็นว่าใช้แนวคิดอะไรเป็นพื้นฐานในการถอดบทเรียน แต่การเรียบเรียง-การวิเคราะห์เนื้อหาจากหน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้ายใช้แนวคิดของการจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management –KM หรืออาจพูดให้ตรงที่สุดคือ Knowledge-based Management ซึ่งเน้นการปฏิบัติ เริ่มที่การปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างใช้ความรู้ มีใจรักที่จะทำ มุ่งมั่น ไม่ย่อท้อ ทบทวน วางแผน วัดผล ปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็คือ อิทธิบาท 4 อันเป็นคุณธรรมที่นำไปสู่การทำงานใดๆให้สำเร็จนั่นเอง ผู้เขียนยังได้ขมวดท้ายไว้ว่าการขับเคลื่อนงานการดูแลแบบประคับประคองควรนำหลักการ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Human KM มาใช้อย่างถูกต้องเพื่อพัฒนาคนและงานไปพร้อมๆกัน

ผู้เขียนหวังว่าสาระของหนังสือเล่มนี้จะสามารถเป็นได้ทั้งแรงบันดาลใจและแนวคิดการปฏิบัติให้แก่โรงพยาบาลอื่นๆอีกจำนวนมากที่งานการดูแลแบบประคับประคองเพิ่งจะอยู่ในขั้นเริ่มต้น อย่างน้อยท่านสามารถแน่ใจได้ว่าโรงพยาบาลทั้งสองแห่งที่เป็นกรณีศึกษาให้แก่การถอดบทเรียนครั้งนี้มีความยินดีที่ได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ และพร้อมที่จะมอบไมตรีแก่ผู้ที่ต้องการร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประโยชน์สุขของผู้ป่วยและผู้ร่วมทางวิชาชีพเดียวกันเสมอ.

ยุวนุช ทินนะลักษณ์

มูลนิธิสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

31 สิงหาคม 2558

-------------------------


หมายเลขบันทึก: 596206เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2015 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2015 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก

ชอบคำที่ลึกซึ้งนี้ "ปัญญาปฏิบัติ หรือ Practical Wisdom" ค่ะ ทำให้เกิดความรู้สึกว่า ถ้านำไปปฏิบัติจริงจะเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพราะงานแบบนี้ต้องใส่ใจลงไปปฏิบัติ เป็นงานที่ทำได้แต่ไม่ได้ดีทุกคน

ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณค่ะคุณ nui การได้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ช่วยยกระดับจิตใจตัวเองมากในเอาจริงกับการ วางใจ ให้ถูกที่ถูกทาง

เห็นด้วยมากค่ะว่างานด้าน Palliative Care นี้ใช่ว่าจะทำได้ดีทุกคน เพราะเป็นงานที่ใช้มิติจิตวิญญาณสูงมาก ต้องมีเมตตาแท้จริงต่อตัวเองและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มิฉะนั้นล่ะเครียดและหดหู่แย่เลยค่ะ

รออ่านเนื้อหาเลยครับ

ชอบใจงาน Palliative Health Care

ท่านพระไพศาล หมอเต็มศักดิ์ หมอสกล ทำเรื่องนี้อยู่ครับ

หนังสือกำลังอยู่ในขั้นตอนการจัดพิมพ์ค่ะ คงใช้เวลาอยู่

หนังสือเล่มนี้คงเป็นเล่มแรกที่ออกมาบนมุมมองและการปฏิบัติงานของพยาบาล น่าสนใจมากค่ะ

งานคุณหมอทั้งสองท่านและพระอาจารย์ไพศาลนั้นมีชื่อเสียงไม่มีใครไม่รู้จัก โดยเฉพาะพระอาจารย์ไพศาลนั้นทำให้การเข้าใจมิติจิตวิญญาณของเรื่องความตายเป็นที่เข้าใจในวงการแพทย์พยาบาลมากทีเดียวนะคะ

ผู้ที่ทำงานเรื่องนี้อย่างจริงจังต่อเนื่องมีจิตใจที่สูงมากค่ะ

"ปัญญาปฏิบัติ" .... เป็นการปฏิบัติด้วย / โดยใช้ปัญญา

เป็นการปฏิบัติที่เกิดคุณค่า ต่องาน อย่างแท้จริงนะจ๊ะ

สังคมอบอุ่น..คือ..take care..กันและกัน..นะเจ้าคะ...(ยายธีค่ะ)

มีดอกไม้นี้มาฝาก..ใบไม้นี้..ก็เป็นส่วนหนึ่ง..ที่สามารถต่อ..ชีวิตได้..แต่อย่างไรก็ตาม..ธรรมชาติบอกเราว่า

สรรพสิ่งอยู่ได้(ในโลก)ก็เพราะ ด้วยรัก..แล..เมตตาต่อกัน..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท