แนวทางจัดกิจกรรมการเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา


แนวทางการจัดกิจกรรมเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา ตอนที่ 1

ผู้เขียนได้รวบรวม และสังเคราะห์แนวคิด วิธีการจัดการเรียนรู้/วิธีสอน และเทคนิคการสอนจากนักวิชาการ และหน่วยงานด้านภัยพิบัติศึกษา รวมถึงประสบการณ์ตรงของผู้เขียนเอง เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจัดการเรียนรู้ภัยพิบัติศึกษา มีดังนี้

1. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) การจัดกิจกรรมภัยพิบัติศึกษาตามแนวคิดนี้จะทำให้นักเรียนมีส่วนร่วมในลักษณะกลุ่มในทุกขั้นตอนของการจัดกิจกรรม (Inter-Agency Network for Education in Emergency, 2010, pp.28-40) เช่น ให้นักเรียนทำกิจกรรมจิตอาสาเพื่อลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมโรงเรียน หรือชุมชนของตนเอง โดยนักเรียนจะมีส่วนร่วมเริ่มตั้งแต่แสดงความคิดเห็น ตัดสินใจเลือกรูปแบบกิจกรรมจิตอาสาที่สนใจ อาทิ ทำความสะอาดรางระบายน้ำ ขุดลอกคลองภายในโรงเรียน โดยครูทำหน้าที่คอยแนะนำ และเน้นให้นักเรียนทำในสิ่งที่ทำได้จริง ง่าย เล็ก ๆ ไม่ต้องใหญ่แต่มีคุณค่า จากนั้นให้นักเรียนวางแผน ลงมือปฏิบัติจริง ภายหลังสิ้นสุดกิจกรรมให้แต่ละกลุ่มสะท้อนการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกัน

2. การเรียนรู้แบบเรียนรวม (Inclusive Learning) การจัดกิจกรรมควรให้ทั้งเด็กปกติ เด็กพิเศษ หรือเด็กพิการ ภายในโรงเรียนทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรม (Inter-Agency Network for Education in Emergency, 2010, pp. 28-40) โดยไม่แบ่งแยกความบกพร่องของนักเรียน รวมถึงควรคละเพศ คละอายุ ทั้งนี้จะทำให้นักเรียนมีการช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง รู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่มีความบกพร่อง ที่สำคัญคือในสถานการณ์จริงเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือภาวะฉุกเฉิน เด็กพิการ หรือเด็กพิเศษ จะต้องได้รับการช่วยเหลือเป็นอันดับแรก เช่น จัดกิจกรรมอพยพหนีภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิควรให้เด็กพิเศษ เด็กพิการมาร่วมฝึกซ้อมกับเด็กปกติ มีตัวอย่างการฝึกซ้อมอพยพหนีน้ำท่วมที่โรงเรียนสัตยาไสของท่าน ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ที่นำแนวคิดนี้ไปใช้คือให้รุ่นพี่รับผิดชอบจูงมือรุ่นน้องวิ่งหนีขึ้นไปยังที่สูงที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย

3. แนวคิดจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงจิตสำนึกด้านในเกี่ยวกับภัยพิบัติ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ควรมุ่งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีสติ ใคร่ครวญ มองเห็นความเชื่อมโยงว่าตนเอง หรือมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยพิบัติ และเกิดความตระหนักในการมีส่วนร่วมลดผลกระทบ หรือแก้ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคม มีความรักความเมตตาช่วยเหลือครอบครัว และผู้อื่นเมื่อเกิดภัยพิบัติ นอกจากนี้การจัดกิจกรรมควรมุ่งการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ เผชิญสถานการณ์จริง ผู้เขียนใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในการเสริมสร้างจิตสำนึกในการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของนักเรียนในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมอำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 3 ขั้นตอน คือ “MAR” ได้แก่ ขั้นที่ 1 การสร้างสติ (M : Mindfulness ขั้นที่ 2 การลงมือปฏิบัติ (A : Action) ขั้นที่ 3 การสะท้อน (R : Reflection) ตัวอย่างกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น กิจกรรมเจริญสติโดยใช้แสงสว่าง (แนวของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา) การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว (แนวของหลวงพอเทียน) ซึ่งจะให้นักเรียนทำก่อนเริ่มจัดกิจกรรมการเรียนการสอน กิจกรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง และสุนทรียสนทนาเกี่ยวกับประวัติน้ำท่วม และบทเรียนจากสถานการณ์น้ำท่วมบางระกำปี 2554 จากผู้นำ ผู้รู้ คนทำงานจิตอาสาในชุมชน และผู้ประสบภัยน้ำท่วม กิจกรรมการแสดงละครการแก้ปัญหาน้ำท่วมบางระกำ กิจกรรมเขียนแผนที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมโรงเรียน กิจกรรมเขียนปฏิทินฤดูกาลของชุมชนบางระกำ กิจกรรมการศึกษาภาคสนาม : ศึกษาวิถีชีวิตการปรับตัวอยู่กับน้ำของชุมชนคลองปลากราย พื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมซ้ำซาก และแก้มลิงบางระกำ กิจกรรมเขียนบันทึกประจำวัน (Journal) สมุดบันทึกฉันภูมิใจ ช่วยลดภัยพิบัติ กิจกรรมฝึกทักษะชีวิตที่จำเป็นในการปรับตัวอยู่กับน้ำ (การพายเรือ การปฐมพยาบาลท่านจมน้ำ การเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ) เป็นต้น โดยหลังการเข้าร่วมกิจกรรมจะให้นักเรียนสะท้อนการเรียนรู้อาจโดยการพูด หรือการเขียนบันทึกการเรียนรู้

มีต่อตอนที่ 2 นะครับ

หมายเลขบันทึก: 595959เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 00:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2015 00:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท