​ อากาศแปรปรวน ต้นไม้ก็รวนเร



นี่ก็ย่างเข้ากลางเดือนมิถุนายนแต่ภาพรวมเรื่องฝนเรื่องฟ้าดูจะน้อยหน้ากว่าสามสี่ปีที่ผ่านมา เพราะปริมาณน้ำฝนที่บรรจุลงสู่เขื่อนไม่เพียงพอต่อการทำไร่ไถนาของพี่น้องเกษตรกร รัฐบาลโดยการนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์จันทร์โอชา ก็มีมาตรการออกมาว่าในห้วงช่วงนี้ห้ามมิให้เกษตรกรทำนาให้กล้ำกลืนฝืนทนจนกว่าจะมีพายุลูกใหม่ในอนาคตเข้ามาแล้วจะต้องภาวนาให้ไปตกเหนือเขิ่อนที่มีแต่พืชไร่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดสมมุติว่าฝนตกลงมาน้ำก็จะบ่าไหลรี่ปรี่ลงสู่เขื่อนอย่างรวดเร็ว เพราะหน้าดินที่ตื้นจากพืชไร่ ไฉนจะเหมือนรากของสักทอง ตะแบก เหียง เต็ง รัง มะค่า ฯลฯ ที่สามารถใช้รากแก้วทิ่มแทงทะลุทะลวงดำดิ่งลึกลงไปให้หน้าดินสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 70 % ของปริมาณน้ำฝนทั้งปีที่เฉลี่ยออกมาได้ประมาณ 800,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

อากาศของทั้งโลกที่แปรปรวน ทำให้สรรพสิ่งหลายอย่างในผืนโลกต่างก็รวนเรไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคน สัตว์และพืช คน และสัตว์นั้นก็น่าจะได้รับผลกระทบ รับความเดือดร้อนเรื่องอาหารการกิน ที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น น้ำท่วม ฝนแล้ง ไม่น่าจะแตกต่างกันมาก ส่วนพืชนั้นแม้ว่าจะดูเงียบเรียบเฉย ไม่สามารถที่จะกระดิกพลิกตัวเคลื่อนย้ายเปล่งเสียงใดๆ ออกมาได้ แต่ก็ฟ้องแสดงออกมาทางสีของใบเมื่อไม่ได้รับแร่ธาตุและสารอาหารที่เพียงพอ หรือบางครั้งก็มีสาเหตุจากโรคแมลงรบกวน จวนจบให้พืชพบกับอาการที่ผิดแผกแตกต่างไปจากเดิม จากสีเขียวเป็นสีเหลือง แล้วค่อยๆออกส้มออกแสดแปดป่ายส่ายสลับกับน้ำตาลจนอันตรธานผ่านพ้นไปจากลำต้น

สภาพอากาศที่เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวน้ำท่วม เดี๋ยวฝนแล้ง พืชก็จะมีโรคที่หลากหลายสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนออกมาท้ายทายให้คนได้ยลและแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่า โรคใบดำ ใบด่าง ใบจุ ใบเหลือง ใบซีด ใบหงิกหยิกหยอย หรือสาเหตุของโรคที่ร้อนขึ้นทำให้แมลงศัตรูพืชมีการเพิ่มจำนวนระบาดกระจัดกระจายไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในห้วงช่วงปี 2553, 2554 ที่มีการระบาดของเพลี้ยไปทุกหย่อมหญ้าจนมีพระอาจารย์ดังจากวัดแถวสุพรรณบุรี ต้องออกมาสร้างยันต์กันเพลี้ยออกมาช่วยพี่น้องเกษตรกรชาวนาให้ไปปักไว้ตามหัวไร่ปลายนาก็มีมาแล้ว

ความจริงการที่จะช่วยให้พืชมีภูมิคุ้มกันทานทนต่อโรคแมลงเพลี้ย หนอน ไร ราและสภาพภูมิอากาศก็สามารถที่จะทำได้แล้วนะครับถึงแม้ว่าจะช่วยไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา จากการใช้กลุ่มของหินแร่ภูเขาไฟ (Zeolite) ที่นักวิชาการทั่วโลก (Silicon In Agriculture 2011) ต่างก็มุ่งไปในเรื่องของการใช้หินแร่ภูเขาไฟให้พืชมีสภาพทนทานต่อพื้นที่ดินเค็ม อากาศร้อนจัด หนาวจัด แตกต่างจากปี ค.ศ. 1999 ที่ต่างคนต่างก็คิดแต่จะนำเอาแร่ธาตุซิลิก้าจากหินแร่ภูเขาไฟหรือในแหล่งต่างๆ มาช่วยทำให้พืชแข็งแกร่งเพียงอย่างเดียวปัจจุบันนับว่าหินแร่ภูเขาไฟนั้นมีบทบาทที่โดดเด่นเป็นอย่างมากในเรื่องของการนำมาใช้ในการปรับปรุงสภาพดิน ให้มีความอุดมสมบูรณ์ ช่วยทำให้ดินมีแร่ธาตุสารอาหารที่ครบถ้วนเสริมจากการใส่ปุ๋ยหมักปุ๋ยคอกปุ๋ยอินทรีย์และเคมี มีหน้าที่ในการกักเก็บอุ้มน้ำอุ้มปุ๋ยด้วยค่า C.E.C. (Catch Ion Exchange Capacity) ทำหน้าที่ปลดปล่อยแร่ธาตุซิลิคอน (H4Sio4) ทำให้ผนังเซลล์ของพืชแข็งแรงต้านทานแมลงศัตรูพืชและโรคต่างๆการใช้หินแร่ภูเขาไฟ (พูมิช [Pumish], พูมิชซัลเฟอร์ [Pumish Sulpher], ม้อนท์โมริลโลไนท์ [Montmorillonite], ไคลน็อพติโลไลท์ [Clinoptilolite] ) ในอัตราเพียง 20-40 กิโลกรัมต่อไร่ก็จะช่วยให้พืชมีความทนทานต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง โรคแมลงเข้าทำลายได้น้อยหรือไม่แสดงอาการ ทำให้พี่น้องเกษตรกรบริหารงานบำรุง ดูแลรักษา แก้ปัญหาที่ปลายเหตุได้ง่ายขึ้น

มนตรีบุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com

หมายเลขบันทึก: 595516เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2015 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2015 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท