รวมงานธรรม


พุทธสัจจะ

วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า

อจ.ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี LL.B M.A

พระพุทธเจ้าทรงสอนพุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา หรือบุคคลทั่วไปทั้งเทวดาและมนุษย์

ตามพระนามที่ได้รับการยกย่องว่า สตฺถา เทวมนุสฺสานํ ทรงเป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย และ

มีคำเสริมพระคุณว่า อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ แปลว่า เป็นสารถีฝึกคนได้ไม่มีใครยิ่งกว่า

พระนามเหล่านี้ ส่อแสดงความหมายในตัวว่า ปราชญ์และพุทธศาสนิกชนทั้งหลายเคารพบูชาและยกย่องเทิดทูนพระองค์ในฐานะทรงเป็นนักการสอนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทรงมีพระปรีชาสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการอบรมสั่งสอน และได้ทรงประสบผลสำเร็จในงานนี้เป็นอย่างดี เนื้อพระธรรมคำสอน หลักการสอน และวิธีการสอนของพระพุทธองค์นั้น ปรากฏอยู่แล้วในพระไตรปิฎก และคัมภีร์อธิบายมีอรรถกถาเป็นต้นแล้ว แต่คัมภีร์เหล่านั้นมีเนื้อหามากมาย

มีขนาดใหญ่ การศึกษาวิธีสอนของพระพุทธเจ้าจึงเท่าเป็นการศึกษาวิธีสอนตามหลักพระพุทธศาสตร์และเราอาจจะได้หลักการบางอย่างเพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในหลักการศึกษาของเราปัจจุบันได้


วิธีการสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าสรุปวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าโดยการนำเอาหลักที่สามารถเชื่อมโยงกับวิธีการสอนของพระภาวนาวิศาลเถระ (บุญมี โชติปาโล) โดยการศึกษาวิธีการสอนของพระพุทธเจ้าจากการเรียบเรียงของ

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), ศาสตราจารย์แสง จันทร์งาม, วศิน อินทสระ และ พ.ท. ประสาท ทองภักดีจำแนกหลักวิธีการสอนเป็นขั้นตอนดังนี้


1 หลักทั่วไปในการสอน

ในเรื่องหลักทั่วไปของการสอน จากการเรียบเรียงของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือ


1) เกี่ยวกับเนื้อหาหรือเรื่องที่สอน

1. สอนจากสิ่งที่รู้เห็นเข้าใจง่ายหรือรู้เห็นเข้าใจอยู่แล้ว ไปหาสิ่งที่เห็นเข้าใจยากหรือยังไม่รู้ไม่เห็นไม่เข้าใจ

ตัวอย่างที่เห็นชัด คือ อริยสัจ ซึ่งทรงเริ่มสอนจากความทุกข์ ความเดือดร้อน ปัญหาชีวิตที่คนมองเห็นและประสบการณ์อยู่โดยธรรมดา รู้เห็นประจักษ์กันอยู่ทุกคนแล้ว ต่อจากนั้นจึงสาวหาสาเหตุที่ยากลึกซึ้ง และ

ทางแก้ไขต่อไป

2. สอนเนื้อเรื่องที่ค่อยลุ่มลึกยากลงไปตามลำดับชั้น และความต่อเนื่องกันเป็นสายลงไปอย่างที่เรียกว่า

สอนเป็นอนุบุพพิกถา ตัวอย่างคือ อนุบุพพิกถา ไตรสิกขา พุทธโอวาท 3 เป็นต้น

3. ถ้าสิ่งที่สอนเป็นสิ่งที่แสดงได้ ก็สอนด้วยของจริง ให้ผู้เรียนได้ดู ได้เห็น ได้ฟังเองอย่างที่เรียกว่าประสบการณ์

ตรง เช่น ทรงสอนพระนันทะที่คิดถึงคู่รักคนงาม ด้วยการทรงพาไปชมนางฟ้า นางอัปสรเทพธิดา ให้เห็นกับตา

4. สอนตรงเนื้อหา ตรงเรื่อง คุมอยู่ในเรื่อง มีจุด ไม่วกวน ไม่ไขว้เขว ไม่ออกนอกเรื่องโดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องในเนื้อหา

5. สอนมีเหตุผล ตรองตามเห็นจริงได้ อย่างที่เรียกว่า สนิทานํ

6. สอนเท่าที่จำเป็นพอดีสำหรับให้เกิดความเข้าใจ ให้การเรียนรู้ได้ผล ไม่ใช่สอนเท่าที่ตนรู้ หรือสอนแสดงภูมิว่า

ผู้สอนมีความรู้มากเหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าเมื่อประทับอยู่ในป่าประดู่ลายใกล้เมืองโกสัมพี ได้ทรงหยิบใบไม้ประดู่ลายเล็กน้อยใส่กำพระหัตถ์ แล้วตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ใบประดู่ลายในพระหัตถ์ กับในป่า ไหนจะมากกว่ากัน

ภิกษุทั้งหลายทูลว่า ในป่ามากกว่า จึงตรัสว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้แต่มิได้ทรงสอน เหมือนใบประดู่ลายในป่า ส่วนที่ทรงสั่งสอนน้อยเหมือใบประดู่ลายในพระหัตถ์ และทรงแสดงเหตุผลในการที่มิได้ทรงสอนทั้งหมดเท่าที่ตรัสรู้ว่า เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นประโยชน์ มิใช่หลักการดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ไม่ช่วยให้เกิดความรู้ถูกต้องนำไปสู่จุดหมาย คือนิพพานได้ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2544 : 34)

7. สอนสิ่งที่มีความหมาย ควรที่เขาจะเรียนรู้และเข้าใจ เป็นประโยชน์แก่ตัวเขาเอง อย่างพุทธพจน์ที่ว่า พระองค์ทรงมีพระเมตตา หวังประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ดังที่ว่า

“อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ และประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ตถาคตรู้วาจาที่ไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่วาจานั้นเป็นที่รัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ตถาคตไม่กล่าววาจานั้น อนึ่ง ตถาคตรู้วาจาที่จริง ที่แท้

ที่ประกอบด้วยประโยชน์ และวาจานั้นเป็นทีรัก เป็นที่ชอบใจของคนอื่น ในข้อนั้น ตถาคตรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะตถาคตมีความเอ็นดูในหมู่สัตว์ทั้งหลาย” (ม.ม. 13/86/88)


2) เกี่ยวกับตัวผู้ศึกษา

1. รู้คำนึงถึง และสอนให้เหมาะตามความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น คำนึงถึงจริต 6อันได้แก่ โทสจริต โมหจริต ศรัทธาจริต พุทธิจริต และวิกลจริต (วิสุทธิมรรค ปริเฉทที่ 3) และรู้ระดับความสามารถของบุคคล

2. ปรับวิธีสอนผ่อนให้เหมาะกับบุคคล แม้สอนเรื่องเดียวกันแต่ต่างบุคคล อาจใช้ต่างวิธี

3. นอกจากคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ผู้สอนยังจะต้องคำนึงถึงความพร้อม ความสุกงอม ความแก่รอบแห่งอินทรีย์หรือญาณ ที่บาลีเรียกว่า ปริปากะ ของผู้เรียนแต่ละ

4. สอนโดยให้ผู้เรียนลงมือทำด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนแม่นยำและได้ผลจริง เช่น ทรงสอนพระจุฬปันถกะผู้โง่เขลาด้วยการให้นำผ้าขาวไปลูบคลำ เป็นต้น

5. การสอนดำเนินไปในรูปที่ให้รู้สึกว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีบทบาทร่วมกัน ในการแสวงหาความจริง ให้มีการแสดงความคิดเห็น โต้ตอบเสรี หลักนี้เป็นข้อสำคัญในวิธีการแห่งปัญญาซึ่งต้องการอิสรภาพในทางความคิด และโดยวิธีนี้เมื่อเข้าถึงความจริง ผู้เรียนก็จะรู้สึกว่าตนได้มองเห็นความจริงด้วยตนเอง และมีความชัดเจนมั่นใจหลักนี้เป็นหลักที่พระพุทธเจ้าใช้เป็นประจำ

6. เอาใจใส่บุคคลที่ควรได้รับความสนใจพิเศษเป็นรายๆ ไปตามควรแก่กาละเทศะและเหตุการณ์ เช่นชาวนาคนหนึ่งตั้งใจไว้แต่กลางคืนว่าจะไปฟังพุทธเทศนา บังเอิญวัวหาย ไปตามได้แล้วรีบมาแต่กว่าจะได้ช้าก็มา คิดว่าทันฟังท้ายก็ยังดี ไปถึงวัดปรากฎว่าพระพุทธเจ้ายังทรงประทับรออยู่นิ่งๆ ไม่เริ่มแสดง ยิ่งกว่านั้นยังให้จัดอาหารให้เขารับประทาน

จนอิ่มสบาย แล้วจึงทรงเริ่มแสดงธรรม

7. ช่วยเหลือเอาใจใส่คนที่ด้อย ที่มีปัญหา เช่นเรื่องพระจุฬปันถกเป็นต้น


) เกี่ยวกับตัวการสอน

1. การสอนนั้น การเริ่มต้นเป็นจุดสำคัญมากอย่างหนึ่ง การเริ่มต้นที่ดีมีส่วนช่วยให้การสอนสำเร็จผลดีเป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็เป็นเครื่องดึงความสนใจ และนำเข้าสู่เนื้อหาได้พระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้าด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่เช่น เมื่อทรงสนทนากับควานช้าง ก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง พบชาวนาก็เริ่มสนทนาเรื่องการทำนา

2. สร้างบรรยากาศในการสอนให้ปลอดโปร่ง เพลิดเพลิน ไม่ให้ตึงเครียด ไม่ให้เกิดความอึดอัดใจ และให้เกียรติแก่ผู้เรียน ให้เขามีความภูมิใจในตัว

3. สอนมุ่งเนื้อหา มุ่งให้เกิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่สอนเป็นสำคัญไม่กระทบตนและผู้อื่น ไม่มุ่งยกตน ไม่มุ่งเสียดสีใครๆ

4. ใช้ภาษาสุภาพ นุ่มนวล ไม่หยาบคาย ชวนให้สบายใจ สละสลวย เข้าใจง่าย อย่างที่ว่า


ลีลาการสอน

เมื่อมองกว้างๆ การสอนของพระพุทธเจ้าแต่ละครั้ง จะดำเนินไปจนถึงผลสำเร็จ โดยมีคุณลักษณะซึ่งเรียกได้ว่าเป็นลีลาในการสอนดังนี้ (พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต),2544 : 45)

1) สันทัสสนา อธิบายให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง เหมือนจูงมือไปดูเห็นกับตา

2) สมาทปนา ชักจูงใจให้เห็นจริงด้วย ชวนให้คล้อยตาม จนต้องยอมรับและนำไป

ปฏิบัติ

3) สมุตเตชนา เร้าใจให้แกล้วกล้า บังเกิดกำลังใจ ปลุกให้มีอุตสาหะแข็งขัน มั่นใจว่าจะทำให้สำเร็จได้ ไม่หวั่นระย่อต่อความเหนื่อยยาก

4) สัมปหังสนา ชโลมใจให้แช่มชื่น ร่าเริง เบิกบาน ฟังไม่เบื่อ และเปี่ยมด้วยความหวังเพราะมองเห็นคุณประโยชน์ที่ตนจะพึงได้รับจากการปฏิบัติ



วิธีสอนแบบต่างๆ

1) แบบสากัจฉา หรือสนทนา

วิธีนี้เป็นวิธีที่ใช้บ่อยไม่น้อยกว่าวิธีใดๆ โดยเฉพาะในเมื่อผู้มาเฝ้าหรือทรงพบนั้น ยังไม่ได้เลื่อมใสศรัทธาในพระศาสนา ยังไม่รู้ ไม่เข้าใจหลักธรรม ในการสนทนาพระพุทธเจ้ามักจะทรงเป็นฝ่ายถามนำคู่สนทนาเข้าสู่ความเข้าใจธรรมและความเลื่อมใสศรัทธาในที่สุด แม้ในหมู่พระสาวกพระองค์ก็ทรงใช้วิธีนี้ไม่น้อย และทรงส่งเสริมให้สาวกสนทนาธรรมกัน อย่างในมงคลสูตรว่า “กาเล ธมฺมสากจฺฉา เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ

การสนทนาธรรมตามกาลเป็นมงคลอันอุดม”


2) แบบบรรยาย

วิธีสอนแบบนี้ น่าจะทรงใช้ในที่ประชุมใหญ่ในการแสดงธรรมประจำวัน ซึ่งมีประชาชน หรือพระสงฆ์จำนวนมากและส่วนมากเป็นผู้ที่มีพื้นความรู้ความเข้าใจกับมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่แล้ว มาฟังเพื่อหาความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติม และหาความสงบสุขทางจิตใจ นับได้ว่าเป็นคนประเภทและระดับใกล้เคียงกันพอจะใช้วิธีบรรยายอันเป็นแบบกว้างๆได้ลักษณะพิเศษของพุทธวิธีสอนแบบนี้ที่พบในคัมภีร์บอกว่า ทุกคนที่ฟังพระองค์แสดงธรรมอยู่ในที่ประชุมนั้น แต่ละคนรู้สึกว่าพระพุทธเจ้าตรัสอยู่กับตัวเองโดยเฉพาะ ซึ่งนับว่าเป็นความสามารถอัศจรรย์อีกอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า


3) แบบตอบปัญหา ผู้ที่มาถามปัญหานั้น นอกจากผู้ที่มีความสงสัยข้องใจในข้อธรรมต่างๆแล้ว โดยมากเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่น บ้างก็มาถามเพื่อต้องการรู้คำสอนทางฝ่ายพระพุทธศาสนาหรือเทียบเคียงกับคำสอนในลัทธิของตน บ้างก็มาถามเพื่อลองภูมิ บ้างก็เตรียมมาถามเพื่อข่มปราบให้จน หรือให้ได้รับความอับอาย ในการตอบพระพุทธองค์ทรงสอนให้พิจารณาดูลักษณะของปัญหาและใช้วิธีตอบให้เหมาะสม ในสังคีติสูตร ท่านแยกประเภทปัญหาไว้ตาม

ลักษณะวิธีตอบเป็น 4 อย่างคือ (พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), 2544 : 47)


เอกังสพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงตอบตรงไปตรงมาตายตัว พระอรรถกถาจารย์ยกตัวอย่างเช่น

ถามว่า จักษุเป็นอนิจจังหรือ พึงตอบตรงไปได้ทีเดียวว่า ถูกแล้ว ความดีมีผลเป็นสุขความชั่วมีผลเป็นทุกข์ หรือกุศลเป็นสิ่งควรบำเพ็ญ อกุศลเป็นสิ่งควรละ


ปฏิปุจฉาพยากรณียปัญหา ปัญหาที่พึงย้อนถามแล้วจึงแก้ ท่านยกตัวอย่างเช่นเขาถามว่าโสตะก็เหมือนจักษุหรือ พึงย้อนถามก่อนว่า ที่ถามนั้นหมายถึงแง่ใด ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นเครื่องมองเห็น พึงตอบว่า ไม่เหมือน ถ้าเขาว่า ในแง่เป็นอนิจจัง จึงควรตอบรับว่า เหมือน


วิภัชชพยากรณียปัญหา ปัญหาที่จะต้องแยกความตอบ เช่น เมื่อเขาถามว่า สิ่งที่เป็นอนิจัง ได้แก่ จักษุใช่ไหม พึงแยกความออกตอบว่า ไม่เฉพาะจักษุเท่านั้น ถึงโสตะ ฆานะ ก็เป็นอนิจจัง

ฐปนียปัญหา ปัญหาที่พึงยับยั้งเสีย ได้แก่ ปัญหาที่ถามนอกเรื่อง ไร้ประโยชน์ อันจักเป็นเหตุให้เขา ยึดเยื้อ สิ้งเปลืองเวลาเปล่า พึงยับยั้งเสีย แล้วชักนำผู้ถามเข้าสู่แนวเรื่องที่ประสงค์ต่อไป ตัวอย่างเรื่องพระมาลุกกยะมาทูลถาม เรื่อง โลกเที่ยงหรือไม่เที่ยง ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกันหรือคนละอย่าง เป็นต้น ทรงเห็นว่าไม่จำเป็นที่พระมาลุงกยะจะรู้เรื่องนี้ จึงทรงนิ่งเฉยไม่ตอบ แต่ทรงชี้แจงให้พระมาลุงกยะเข้าใจว่า ปัญหานี้ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่งเพื่อตรัสรู้ และเพื่อนิพพาน (ม.ม. 13/128/141)


4) แบบวางกฎข้อบังคับ เมื่อเกิดเรื่องมีภิกษุกระทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นครั้งแรก พระสงฆ์หรือประชาชนเล่าลือโพนทะนาติเตียนกันอยู่ มีผู้นำความมากราบทูลพระพุทธเจ้าพระองค์ก็จะทรงเรียกประชุมสงฆ์ สอบถามพระภิกษุผู้กระทำความผิดเมื่อเจ้าตัวรับได้ความเป็นสัตย์จริงแล้ว ก็จะทรงตำหนิ ชี้แจงผลเสียหายที่เกิดแก่ส่วนรวม พรรณนาผลร้ายของความประพฤติไม่ดี และคุณประโยชน์ของความประพฤติที่ดีงาม แล้วทรงแสดงธรรมกถาที่สมควรเหมาะสมกันกับเรื่องนั้น จากนั้นจะตรัสให้สงฆ์ทราบว่า จะทรงบัญญัติสิกขาบท โดยทรงแถลงวัตถุประสงค์ในการบัญญัติให้ทราบ แล้วทรงบัญญัติสิกขาบทข้อนั้นๆไว้ โดยความเห็นชอบพร้อมกันของสงฆ์ ในท่ามกลางสงฆ์ และโดยความรับทราบร่วมกันของสงฆ์


ในการสอนแบบนี้ พึงสังเกตว่าพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทโดยความเห็นชอบของสงฆ์ ซึ่งบาลีใช้คำว่า สงฺฆสุฏฺฐุตาย แปลว่า เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ท่านอธิบายความหมายว่าทรงบัญญัติโดยชี้แจงให้เห็นแล้วว่าถ้าไม่รับจะเกิดผลเสียอย่างไร เมื่อรับจะมีผลดีอย่างไร จนสงฆ์รับคำของพระองค์ว่า ดีแล้ว ไม่ทรงบังคับเอาโดยพลการ


4 กลวิธีและอุบายประกอบการสอน

1) การยกอุทาหรณ์ และการเล่านิทานประกอบ การยกตัวอย่างประกอบคำอธิบาย และการเล่านิทานประกอบ ช่วยให้เข้าใจความได้ง่ายและชัดเจน ช่วยให้จำแม่นยำ เห็นจริง และเกิดความเพลิดเพลิน ทำให้การเรียนการสอนมีรสยิ่งขึ้น เช่น เมื่อจะอธิบายให้เห็นว่า คนมีความปรารถนาดี อยากช่วยทำประโยชน์ แต่หากขาดปัญญา อาจกลับทำลายประโยชน์เสียก็ได้ ก็เล่านิทานชาดกเรื่อง ลิงเฝ้าสวน หรือ คนขายเหล้า เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงใช้อุทาหรณ์และนิทานประกอบกรสอนมากมายเพียงใด จะเห็นได้จากการที่ในคัมภีร์ต่างๆมีอุทาหรณ์และนิทานปรากฏอยู่ทั่วไป เฉพาะคัมภีร์ชาดกอย่างเดียวก็มีนิทานถึง 547 เรื่อง


2) การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา

คำอุปมาช่วยให้เรื่องที่ลึกซึ้งเข้าใจยาก ปรากฏความหมายเด่นชัดออกมา และเข้าใจง่ายขึ้น โดยเฉพาะมักใช้ในการอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมเปรียบให้เห็นชัดด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือแม้เปรียบเรื่องที่เป็นรูปธรรมด้วยข้ออุปมาแบบรูปธรรม ก็ช่วยให้ความหนักแน่นเข้า เช่น พระพุทธองค์ทรงเตือนภิกษุทั้งหลายว่า ให้ทำตนเช่นผ้ากาสี อย่าทำตนเป็นเช่นผ้าเปลือกไม้ ผ้าเปลือกไม้มีลักษณะ 3 อย่าง คือ สีไม่สวย สัมผัสหยาบ ราคาถูก ทำนองเดียวกับภิกษุบางรูปซึ่งเป็นผู้ทุศีล มีธรรมเลว ให้ทุกข์ให้โทษแก่ผู้คบหาสมาคม ทำปัจจัยที่ทายกถวายให้มีค่าน้อย หรือมีอานิสงส์น้อย

(วศิน อินทรสระ, 2548 : 48-49)


3) การใช้อุปกรณ์การสอนในสมัยพุทธกาล

ย่อมไม่มีอุปกรณ์ชนิดต่างๆ ที่จัดทำขึ้นไว้เพื่อการสอนโดยเฉพาะเหมือนสมัยปัจจุบัน เพราะยังไม่มีการจัดการศึกษาเป็นระบบขึ้นมาอย่างกว้างขวาง หากจะใช้อุปกรณ์บ้าง ก็คงต้องอาศัยวัตถุสิ่งของที่มีในธรรมชาติ หรือเครื่องใช้ต่างๆ ที่ผู้คนใช้กันอยู่


4) การทำเป็นตัวอย่าง วิธีสอนที่ดีที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะในทางจริยธรรม คือการทำเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นการสอนแบบไม่ต้องกล่าวสอน เป็นทำนองการสาธิตให้ดู แต่ที่พระพุทธเจ้าทรงกระทำนั้นเป็นไปในรูปทรงเป็นผู้นำที่ดี การสอนโดยทำเป็นตัวอย่างก็คือพระจริยาวัตรอันดีงามที่เป็นอยู่โดยปกตินั่นเอง พระพุทธองค์จึงทรงวางเป็นหลักการไว้ในพระธรรมบทว่า (ประสาท ทองภักดี, 2513 :119-120)


อตฺตานเมว ปฐมํ ปฏิรูเป นิวสาย

วางตนไว้ในความดีงามก่อน

จึงค่อยสอนใครๆในภายหลัง

บัณฑิตชนขนขวายหมายระวัง

ไม่พลาดพลั้งเศร้าหมองเรื่องของตน


อตฺตานญฺเจ ตถากกริยา

ยถญฺญฺมนุสาสติ

ถ้าสอนคนอื่นไว้อย่างไรบ้าง

ตนควรริสร้างตัวเหมือนที่เตือนเขา

พึงฝึกตนให้ดีหนอทีเรา

ตนนี้เล่าฝึกยากลำบากจริง (ประสาท ทองภักดี, 2513 :119-120)


5) การเล่นภาษา เล่นคำ และใช้คำในความหมายใหม่ การเล่นภาษาและการเล่นคำ เป็นเรื่องของความสามารถในการใช้ภาษาผสมปฏิภาณ ข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระพุทธเจ้าที่มีรอบไปทุกด้าน เมื่อผู้ใดทูลถามมาเป็นคำร้อยกรอง พระองค์ก็ทรงตอบเป็นคำร้อยกรองไปทันที ทำนองกลอนสด บางทีเขาทูลถามหรือกล่าวข้อความโดยใช้คำที่มีความหมายไปในทางไม่ดีงาม พระองค์ก็ตรัสตอบไปด้วยคำพูดเดียวกันนั้นเอง แต่เป็นการพูดในความหมายที่ต่างออกไปเป็นฝ่ายดีงาม คำสนทนาโต้ตอบแบบนี้ มีรสอยู่แต่ในภาษาเดิม แปลออกสู่ภาษาอื่นย่อมเสียรสเสียความหมาย


6) อุบายเลือกคน และการปฏิบัติรายบุคคล เป็นอุบายสำคัญในการเผยแพร่พระศาสนาในการประกาศธรรมของพระพุทธเจ้า เริ่มแต่ระยะแรกประดิษฐานพระพุทธศาสนา จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าทรงดำเนินพุทธกิจด้วยพระพุทโธบายอย่างที่เรียกว่า การวางแผนที่ได้ผลยิ่ง ทรงพิจารณาว่าเมื่อจะเข้าไปประกาศพระศาสนาในถิ่นใดถิ่นหนึ่งควรไปโปรดใครก่อน เมื่อครั้ง ตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์


7) การรู้จักจังหวะและโอกาส ผู้สอนต้องรู้จักใช้จังหวะและโอกาสให้เป็นประโยชน์ เมื่อไม่ถึงจังหวะ ไม่เป็นโอกาสเช่น ผู้เรียนยังไม่พร้อม ยังไม่เกิดปริปากะแห่งญาณหรืออินทรีย์ ก็ต้องมีความอดทน ไม่ชิงหักหาญหรือดึงดันทำ แต่ก็ต้องตื่นตัวอยู่เสมอเมื่อถึงจังหวะหรือโอกาส เช่น ในระยะแรกประกาศศาสนา ณ วันมาฆบูรณมี ณ เวฬุวัน พระสงฆ์สาวกมาชุมนุมพร้อมกัน ณ ที่นั้นเป็นโอกาสเหมาะ พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ สำหรับหลักยึดถือร่วมกันของสงฆ์ ที่จะแยกย้ายกับไปบำเพ็ญศาสนกิจ

8) ความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการในการสอนนั้น มุ่งผลสำเร็จในการเรียนเป็นสำคัญกลวิธีในการสอนก็จะต้องยืดหยุ่น เพื่อให้เหมาะสมกับการเรียนรู้ ดั่งพุทธพจน์ว่า “เราฝึกผู้ที่ควรฝึกได้ด้วยวิธีแบบสุภาพบ้าง วิธีแบบรุนแรงบ้าง วิธีทั้งแบบสุภาพบ้างและแบบรุนแรงบ้าง” (องฺ.จตุกฺก.21/111/170)


5 สรุปวิธีสอนของพระพุทธเจ้า

ในวิธีการสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ทรงพิจารณา เนื้อหาที่จะสอนก่อน เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมคำสอนได้อย่างชัดเจนโดยเรียงจากเรื่องง่าย จากเรื่องที่รู้อยู่แล้วไปสู่เรื่องที่ลุ่มลึกต่อไป โดยใช้เหตุผลที่ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้และยังเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียนอีกด้วยต่อจากนั้นพระพุทธองค์ทรงพิจารณา ผู้เรียน เพื่อการแสดงธรรมให้เป็นที่เหมาะสมแก่ผู้เรียนจะรับรู้และเข้าใจ ซึ่งพระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความแตกต่างของผู้เรียน ก่อนที่จะเข้าสู่การสอนนั้นพระองค์ยังสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนเพื่อชักจูงให้ผู้เรียนมีความสนใจพระธรรมคำสอนพระพุทธเจ้าทรงมีวิธีเริ่มต้นที่น่าสนใจมาก โดยปกติพระองค์จะไม่ทรงเริ่มสอนด้วยการเข้าสู่เนื้อหาธรรมทีเดียว แต่จะทรงเริ่มสนทนากับผู้ทรงพบหรือผู้มาเฝ้าด้วยเรื่องที่เขารู้เข้าใจดี หรือสนใจอยู่เช่น เมื่อทรงสนทนากับควานช้าง ก็ทรงเริ่มสนทนาด้วยเรื่องวิธีฝึกช้าง เป็นต้นวิธีการสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้ามีวิธีการสอนอยู่ 4 แบบ คือ สอนแบบสากัจฉา หรือสนทนา สอนแบบบรรยาย สอนแบบตอบปัญหา และสอนแบบวางกฎข้อบังคับ


นอกจากนั้น พระองค์ทรงใช้เทคนิคในการสอนคือ การยกอุทาหรหรือนิทานประกอบ การเปรียบเทียบด้วยข้ออุปมา การใช้อุปกรณ์การสอน การเล่นภาษาเล่นคือหรือการให้ความหมายใหม่อุบายเลือกคนและปฏิบัติรายบุคคล การรู้จักจังหวะและโอกาส และความยืดหยุ่นในการใช้วิธีการด้วยลักษณะการสอนที่มีความเข้าใจง่าย ลุ่มลึก ทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดประโยชน์สูงสุด นำหลักธรรมไปใช้ได้ถูกต้อง ตามหลักทางพุทธปรัชญา__

หมายเลขบันทึก: 594969เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2015 11:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ตุลาคม 2016 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท