ทอดเทียนพรรษา : อีกหนึ่งกระบวนการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชน


กิจกรรมทอดเทียนสามารถเป็นชุดบทเรียนในหลายๆ เรื่องแก่นิสิตได้ เป็นต้นว่า ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการทำงานร่วมกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ทักษะการทำงานทางสังคมกับชุมชน ทักษะการเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติและท้องถิ่น ทักษะและความรู้เกี่ยวกับวิถีศาสนา รวมถึงการสะกิดเตือนให้นิสิตได้หวนกลับไปทบทวนความทรงจำที่มีต่อบ้านเกิดของตนเอง

การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ถือเป็น 1 ใน 4 ภารกิจของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศไทยที่ต้องดำเนินการ ซึ่งภารกิจทั้ง 4 ด้านประกอบด้วย การสอน การบริการวิชาการ การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการวิจัย

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้ความสำคัญกับภารกิจด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไม่แพ้ภารกิจด้านอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากนโยบายเชิงรุกในชื่อ 1 คณะ 1 ศิลปวัฒนธรรม” ที่บูรณาการผ่านการเรียนการสอนและการวิจัย โดยในปัจจุบันยังคงดำเนินการในเรื่องนี้อย่างข้นเข้มและต่อเนื่อง




ในทำนองเดียวกันนี้ ยังมีกิจกรรมย่อยๆ ให้ขับเคลื่อนในเทศกาลสำคัญๆ อย่างไม่ว่างเว้น เช่นเดียวกับห้วงนี้ก็คือ “ทอดเทียนพรรษา” หรือ “ถวายเทียนพรรษา”

กิจกรรมดังกล่าวมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนโยบายให้ทุกคณะ และทุกหน่วยงานในมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมทอดเทียนพรรษาขึ้นในชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมอำเภอเมืองและอำเภอกันทรวิชัย




โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมมองว่ากิจกรรมการทอดเทียนพรรษา เป็นกิจกรรมง่ายงามและสะท้อนถึงวิถีสังคมไทยที่ผูกพันสนิทแน่นและเป็นหนึ่งเดียวกับพระพุทธศาสนาอย่างน่าชื่นชม การทอดเทียนพรรษาในมิติของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อาจไม่ใหญ่โตเหมือนเทศกาลทอดเทียนพรรษาในระดับจังหวัด หรืออำเภอใดๆ ทั้งสิ้น เพราะวัตถุประสงค์มีชัดเจนว่า มุ่งไปสู่การทอดเทียนพรรษาตามกครรลองเดิมอย่าง “ง่ายงาม” ไม่ใช่จัดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การท่องเที่ยว หรือกระแสหลักอื่นๆ

พูดง่ายๆ ก็คือ มุ่งเน้นการจัดกิจกรรมตามครรลองชุมชน ไม่เน้นวิธีการใหญ่โตในเชิงการท่องเที่ยวให้เปล่าเปลือง หรือทำให้สิ้นเปลืองเสมอเหมือนช้างเหยียบนาพญาเหยียบเมืองที่ยิ่งทำ ยิ่งเหมือนทำคนทำทั้งที่เป็นมหาวิทยาลัยและชุมชนเกิดสภาวะเหนื่อยทั้งกายและใจ แทนที่จะได้บุญ กลับกลายจะได้บาปมาแทน


ใช่, ผมชื่นชมกิจกรรมตามนโยบายนี้มาก มองในมุมหน่วยงานที่เป็นคณะ (การเรียนการสอน) อย่างน้อยช่วยให้อาจารย์ นิสิตและเจ้าหน้าที่ในคณะนั้นๆ (ซึ่งมีทั้งหมด 20 คณะ) ได้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยใช้ “ชุมชนเป็นห้องเรียน” เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ อันเป็นหน่วยงานสนับสนุนการเรียนการสอนอีกร่วมๆ 20 หน่วยงานก็ช่วยให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในองค์กรได้ทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกันอย่างน่าชื่นใจ


ครับ, ในด้านทรัพยากรนั้น มหาวิทยาลัยฯ จะจัดเตรียมเทียนพรรษาและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจัดสรรให้กับทุกหน่วยงาน มีกระบวนการสมโภชตามประเพณีและศาสนพิธีร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัย จากนั้นจึงเป็นช่วงที่แต่ละหน่วยงานจะเดินทางไปประสานตรงกับชุมชนที่ได้รับมอบหมาย เพื่อออกแบบการจัดกิจกรรมร่วมกัน นับตั้งแต่การนัดหมายวันเวลาของการทอดเทียนพรรษา การระดมทุน (บอกบุญ) หรือปัจจุบันต่างๆ ตามพลังศรัทธาของแต่ละหน่วยงาน ---

กองกิจการนิสิตเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งแท้ที่จริงจะว่าไปแล้วกิจกรรมทำนองนี้กองกิจการนิสิตได้ขับเคลื่อนมายาวนานเกิน 10 ปีแล้วก็ว่าได้



ปีนี้กองกิจการนิสิตได้รับมอบหมายให้จัดกิจกรรมทอดเทียนพรรษา ณ ชุมชนบ้านโนนสะแบง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม


ถึงแม้ผมจะไม่ใช่คนรับผิดชอบหลักในการงานครั้งนี้ แต่ก็ได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้ประมาณว่า “ควรเชิญองค์กรนิสิตมาร่วมในกิจกรรมนี้ด้วย นับตั้งแต่การพานิสิตลงประสานชุมชน ให้นิสิตไปจัดกิจกรรม “บอกบุญ” เพื่อระดมทุนปัจจัยใจจากเพื่อนๆ นิสิต รวมถึงการมอบหมายให้นิสิตได้เดินทางไปทอดเทียนพรรษาและเป็นแกนหลักในการทำหน้าที่เป็นผู้นำในการประกอบศาสนพิธีที่ว่าด้วยการทอดเทียนพรรษา”



ครับ, วิธีคิดเช่นนี้ไม่มีอะไรมากมายเป็นพิเศษ ผมคิดแค่ว่ากองกิจการนิสิตมีหน้าที่กำกับดูแลวิถีชีวิตและการเรียนรู้โดยตรงกับนิสิต ด้วยเหตุนี้จึงสมควรต้องชวน หรือเชิญนิสิตมาเป็นเจ้าภาพร่วมกัน เช่นเดียวกับการมองว่ากิจกรรมดังกล่าวถือเป็น “กิจกรรมนอกชั้นเรียน” ที่สามารถสร้างเป็นโจทย์การเรียนรู้ของนิสิตได้เป็นอย่างดี จึงไม่ควรลังเลที่จะนำพานิสิตออกสู่การเรียนรู้คู่บริการต่อชุมชน โดยใช้กิจกรรมการทอดเทียนพรรษาเป็นระบบและกลไกในการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยใช้วัฒนธรรมชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

เพราะกิจกรรมทอดเทียนสามารถเป็นชุดบทเรียนในหลายๆ เรื่องแก่นิสิตได้ เป็นต้นว่า ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการทำงานร่วมกับหน่วยงานในมหาวิทยาลัย ทักษะการทำงานทางสังคมกับชุมชน ทักษะการเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมประจำชาติและท้องถิ่น ทักษะและความรู้เกี่ยวกับวิถีศาสนา รวมถึงการสะกิดเตือนให้นิสิตได้หวนกลับไปทบทวนความทรงจำที่มีต่อบ้านเกิดของตนเอง

หรือกระทั่งการเพาะบ่มเรื่องจิตสาธารณะ-เยาวชนจิตอาสา สำนึกรักษ์บ้านเกิด รวมถึงหมุดหมายแห่งการเรียนรู้เรื่องความเป็นยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือวาทกรรมสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

  • การศึกษาเพื่อรับใช้สังคม
  • เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
  • ปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)
  • เอกลักษณ์มหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน)
  • อัตลักษณ์นิสิต (เป็นผู้ช่วยเหลือของสังคมและชุมชน)
  • ค่านิยมนิสิต (MSU FOR ALL : พึ่งได้)



ซึ่งก็เป็นที่น่าชื่นชมว่า เอาเข้าจริงๆ นิสิต โดยเฉพาะองค์การนิสิตก็ได้ทำหน้าที่แกนหลักในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างน่ายกย่อง -

อย่างไรก็ดีการงานในครั้งนี้ยังคงมีโจทย์ที่ต้องขบคิดต่อเนื่องไปสู่การเรียนรู้พัฒนาร่วมกัน เช่น

  • จะดีแค่ไหนหากจัดกิจกรรมวันดังกล่าวให้ตรงกับ “วันพระ” ซึ่งเป็นวันที่ชาวบ้านจะมารวมตัวกันที่วัดจำนวนมากๆ เพื่อที่จะได้ร่วมกันทอดเทียนพรรษาและถวายวัตถุปัจจัยต่างๆ ร่วมกันทั้งมหาวิทยาลัยกับชุมชน เสมือนการได้ “ทำบุญร่วมชาติตักบาตรร่วมขัน” กันให้คึกคัก โดยไม่ต้องเสียเวลานัดหมายให้ลำบากเป็นคนละวันกัน
  • จะดีแค่ไหนหากก่อนการจัดกิจกรรมมีกระบวนการลงเตรียมชุมชนให้เป็นรูปธรรม เช่น ศึกษาข้อมูลชุมชน สำรวจความต้องการชุมชน หรือกระทั่งความต้องการบางอย่างที่บางทีอาจประยุกต์จากเทียนพรรษาไปสู่สิ่งอื่นๆ ที่ใช้ได้จริงกับยุคสมัย
  • จะดีแค่ไหนหากลงชุมชนสำรวจความต้องการแล้วออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้เชิงสรรค์สรรค์ในแบบ “เรียนรู้คู่บริการ” หรือ “บันเทิงเริงปัญญา” ร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน ซึ่งอาจจะมีทั้งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ กิจกรรมเรียนรู้และแลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่น
  • จะดีแค่ไหนหากกิจกรรมเหล่านี้สามารถบูรณาการเข้ากับกิจกรรม 1 หลักสูตร 1 ชุมชน หรือกิจกรรม 1 คณะ 1 ศิลปวัฒนธรรมที่เป็นนโยบายเชิงรุกที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามกำลังขับเคลื่อน ซึ่งจะช่วยให้ลดขั้นตอนหรือความถี่ของชุมชนที่ต้องออกมาต้อนรับขับสู้ หรือเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีก เสมอเหมือนวาทกรรมที่กล่าวถึงในทำนองว่า “ชุมชนช้ำ”
  • จะดีแค่ไหนหากสามารถบูรณาการกิจกรรมดังกล่าวนี้เข้ากับแผนพัฒนาในชุมชน หรือกำหนดการทอดเทียนพรรษาของแต่ละหมู่บ้านที่จะมีขึ้นอยู่แล้ว... ไม่ใช่วันนี้มหาวิทยาลัยไปทอดเทียนพรรษา ถัดจากนั้นชุมชนก็จัดงานวันทอดเทียนพรรษาขึ้นอีกวัน –
  • ฯลฯ



ครับ, ถึงตรงนี้ผมก็ยังยืนยันว่า ผมเห็นด้วยกับนโยบายและแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เพราะช่วยให้ผู้คนในองค์กรได้ทำกิจกรรมทางสังคมร่วมกัน เป็นการทำงานแบบมีส่วนร่วมในอีกมิติหนึ่งซึ่งไม่ใช่จ่อมจมอยู่กับงานประจำ อีกทั้งยังช่วยการละลายพฤติกรรมคนในองค์กรผ่านกิจกรรมทางสังคมที่มีประโยชน์ทั้งในระดับองค์กรและสังคมอย่างไม่ต้องกังขา


ยิ่งหากสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้หลากหลายขึ้นมากกว่าการขับเคลื่อนตามนโยบาย และตอบตัวชี้วัด ผมยิ่งเชื่อว่ากิจกรรมเหล่านี้จะก่อเกิดพลังในหลายๆ เรื่อง เช่น มากกว่าเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในองค์กร มากกว่าเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน แต่อาจหมายถึงการหยั่งรากลึกถึงกระบวนการอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไทย หรือกระทั่งการได้เห็นบริบทชุมชนที่สามารถนำมากำหนดเป็น “แผนพัฒนาชุมชน” ได้อย่างไม่ยากเย็น

หรือกระทั่งการสกัดให้เห็นว่า ชุมชนแห่งนี้เหมาะที่จะเป็นห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ในเรื่องอะไร เป็นต้น

ผมว่าเป็นจริงได้ทั้งนั้น สำคัญว่าเรามีวิธีคิดอย่างไร มองเรื่องนี้ในมิติใด และจะออกแบบการเรียนรู้ตามครรลอง “เรียนรู้คู่บริการ” อย่างมีส่วนร่วมได้อย่างไรเท่านั้นเอง




หมายเหตุ ภาพ โดย งานประชาสัมพันธ์และสารสนเทศนิสิต / นิสิตจิตอาสา

หมายเลขบันทึก: 594349เขียนเมื่อ 4 กันยายน 2015 11:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2015 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุโมทนาบุญกุศลด้วยนะครับ ;)...

สวัสดียามเช้าจ้ะอาจารย์แผ่นดิน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท