สายอาหาร : ​พญ. วาลิกา รัตนจันทร์



ผู้ป่วยชายไทยโสด อายุ 39 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น มะเร็งโพรงจมูก เมื่อ 5 ปีก่อน ได้รับการรักษาโดยการให้รังสีรักษาและเคมีบำบัด ช่วง 6 เดือนหลัง ก้อนที่ยุบจากการรักษาก่อนหน้า กลับมาโตซ้ำและขยายขนาดเกินพื้นที่ครึ่งหน้าด้านซ้าย โดยก้อนดังกล่าวขยายขนาดจนกระทั่งปริแตกเป็นแผลมีเลือดซึมเวลาทำแผล มีกลิ่นเหม็น และ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างมาก

ผู้ป่วยอาศัยอยู่กับบิดามารดา พี่สาวและพี่เขย โดยมารดาเป็นผู้ดูแลหลัก คอยช่วยจัดยา ทำแผลที่ใบหน้า แต่ในระยะหลังอาการของผู้ป่วยเป็นมากขึ้นโดยเฉพาะอาการปวด ต้องมาพักรักษาตัวในรพ. เพื่อ ปรับยาแก้ปวด รวมทั้งสอนญาติเรื่องการดูแลแผลที่มีความซับซ้อน

แพทย์หูคอจมูก เจ้าของไข้ได้ ให้การวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็น โรคระยะลุกลาม ปรึกษาทางรพ.มะเร็งลำปางเรื่อง บทบาทของการรักษาแบบฉายแสง ซึ่งอาจช่วยเรื่องอาการปวด แต่ไม่สามารถจัดการกับโรคที่ลุกลามได้ และปรึกษาทีม palliative เพื่อพูดคุยวางแผนระยะยาวร่วมกับผู้ป่วย ในเรื่องการส่งตัวไปฉายแสงที่รพ.มะเร็งลำปาง (ระยะทางห่างจากรพ.น่านประมาณ 200 กม.) การดูแลหากผู้ป่วยกินไม่ได้เนื่องจากก้อนอุดกั้นทางเดินอาหาร รวมถึงการเจาะคอเพื่อช่วยหายใจกรณีก้อนอุดตันทางเดินหายใจ โดยการพูดคุยร่วมกับมารดา บิดา ผู้ป่วย พี่สาว แพทย์และพยาบาลทีมpalliative ซึ่งได้ข้อมูลจากแพทย์เจ้าของไข้ ว่าผู้ป่วยน่าจะมีชีวิตอยู่ได้อีกประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งอาจเสียชีวิตจาก ก้อนอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือ เลือดออกจากก้อนปริมาณมาก การติดเชื้อ

โดยก่อนที่ทางทีมจะได้สื่อสารถึงภาพรวมโรค ได้ซักถามถึงความเข้าใจโรคของผู้ป่วยและครอบครัว โดยผู้ป่วยสื่อสารได้ช้าๆ พูดไม่ชัดเนื่องจากก้อนที่หน้า บางครั้งต้องอาศัยการเขียน ซึ่งผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจว่าในขณะนี้เป็นมะเร็งระยะลุกลาม ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยรู้สึกทุกข์ทรมานจากอาการปวด แต่ไม่ต้องการเดินทางเพื่อรักษาที่ต่างจังหวัดอีกหากรักษาด้วยยาแก้ปวดได้ เนื่องจากเกรงใจพ่อแม่และพี่สาวที่ต้องมาดูแล สำหรับเรื่องการใส่ท่อช่วยหายใจผู้ป่วยไม่ต้องการทำเนื่องจากทราบว่าโรคที่เป็นอยู่รักษาไม่หาย การใส่ยิ่งจะทำให้ยืดความทรมาน ซึ่งทางครอบครัวเห็นด้วย แต่มีความเห็นต่างเรื่องการทำสายให้อาหารทางหน้าท้องซึ่งครอบครัวกลัวว่าผู้ป่วยจะขาดอาหารและทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น แต่ผู้ป่วยไม่ต้องการยืดความทรมานเช่นเดียวกับการปฏิเสธท่อช่วยหายใจ

ทางครอบครัวได้ขอพูดคุยกับผู้ป่วยเป็นการส่วนตัวและตกลงกันว่าจะขอใส่สายอาหารทางหน้าท้อง ทราบข้อดีข้อเสียของการรักษาดังกล่าว ทางทีมจึงได้ปรึกษาศัลยแพทย์ เพื่อทำการผ่าตัดใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง ในอีก 3 วันข้างหน้า วันรุ่งขึ้นผู้ป่วยได้สื่อสารผ่านทางกระดาษกับแพทย์อีกครั้งว่าไม่ต้องการใส่สายอาหาร เนื่องจากไม่อยากทรมานอีก อยากจากไปตามธรรมชาติและตอนนี้ไม่รู้สึกอยากอาหาร ทางทีมจึงได้ทำการประชุมครอบครัวอีกครั้งเพื่อปรึกษาหาข้อสรุป โดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสีย และสิทธิในการตัดสินในของผู้ป่วยบนพื้นฐานของข้อมูลทางการแพทย์และความต้องการของผู้ป่วย และได้ข้อสรุปตามที่ผู้ป่วยตัดสินใจว่าไม่ต้องสายอาหาร แต่ขอได้รับน้ำเกลือเพื่อความสบายใจของญาติ ในช่วงท้ายผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยมาก การให้ยาเปลี่ยนมาให้ทางใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยนอนหลับมากขึ้นและเสียชีวิตในรพ. หลังจากการทำประชุมครอบครัวดังกล่าว ประมาณ 4 สัปดาห์

ข้อคิดเห็น

ผู้ป่วยที่มีความสามารถในการตัดสินใจเอง แม้ว่ามีอุปสรรคในการสื่อสาร ควรใช้เวลาในการให้ข้อมูล ข้อดีข้อเสียของแต่ละทางเลือก รวมทั้งประชุมร่วมกับครอบครัวอาจต้องทำหลายครั้ง เพื่อให้ผู้ป่วยเป็นคนสำคัญในการตัดสินใจทางเลือกในการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับตนเอง


พญ. วาลิกา รัตนจันทร์

โรงพยาบาลน่าน

หมายเลขบันทึก: 594130เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2015 21:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มีนาคม 2016 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท