เรียนรู้อยู่อาศัยใน มวล. : ป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก


โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของกิจกรรมการเชื่อมโยงงานการวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนานักศึกษา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้อยู่อาศัยในมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัย

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2558 ดิฉันได้ไปร่วมงานโครงการสร้างจิตอาสา “วลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก” เนื่องในวันแม่แห่งชาติ โครงการดังกล่าวเป็นตัวอย่างของกิจกรรมการเชื่อมโยงงานการวิจัย การบริการวิชาการ การพัฒนานักศึกษา และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อให้อยู่อาศัยในมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัย โดยมีงบประมาณสนับสนุนมาจากสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ ส่วนกิจการนักศึกษา และหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออก ซึ่งมี รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์เป็นหัวหน้าหน่วยฯ

โครงการนี้เริ่มต้นมาจากการที่สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์มีเป้าหมายพัฒนานักศึกษาให้เป็นผู้มีจิตอาสา และมองเห็นว่าหน่วยวิจัยและบริการวิชาการโรคไข้เลือดออกทำงานวิจัยและบริการวิชาการในเรื่องนี้กับชุมชนภายนอกอย่างต่อเนื่อง จึงต้องการให้ทำงานเรื่องไข้เลือดออกกับชุมชนภายในมหาวิทยาลัย เพราะไข้เลือดออกเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน เนื่องจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อยู่ในพื้นที่ที่มีปัญหาไข้เลือดออกระบาด มีนักศึกษา/อาจารย์ป่วยด้วยไข้เลือดออกอยู่เป็นประจำ

ปีที่ผ่านมา รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ได้นำนักศึกษาเก็บข้อมูลลูกน้ำยุงลายตามสถานที่ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัย กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง จัดกิจกรรมรณรงค์และให้ความรู้แก่นักศึกษา มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก (อ่านการทำงานที่ผ่านมาที่นี่ 1, 2)

เราใช้โอกาสวันแม่แห่งชาติปี 2558 จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่นักศึกษา โดยใช้การให้คะแนนหอพัก (คะแนนที่จะทำให้มีโอกาสได้อยู่หอพักของมหาวิทยาลัยในปีต่อๆ ไป) และคะแนนจิตอาสา (เงื่อนไขการกู้เงิน กย.ส.) เป็นเครื่องมือเชิญชวนนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม คนทำงานหลักคือนักศึกษาพยาบาลปี 2 และปี 4 ดิฉันได้ไปร่วมงานระหว่างเวลา 13.30 – 15.30 น.

กิจกรรมครั้งนี้จัดที่ห้องประชุมใหญ่ อาคารไทยบุรี คุณปิยวัชน์ คงอินทร์ หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษาแจ้งว่ามีนักศึกษาเข้าร่วมประมาณ 1,600 คน เต็มห้องประชุม ได้ทราบว่ามีกิจกรรมการทดสอบความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก มีการประกวดคำขวัญเกี่ยวกับการป้องกันโรคไข้เลือดออกด้วย ดิฉันได้ร่วมทำหน้าที่เป็นผู้มอบรางวัลแก่ผู้ที่คิดคำขวัญดีๆ ของรางวัลมีทั้ง พัดลม หม้อหุงข้าวไฟฟ้า ร่มกันฝน ไฟฉาย กระเป๋า สมุด


ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมกิจกรรม


รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง ได้ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออก เน้นในเรื่องพฤติกรรมและการดูแลตนเอง ตั้งแต่การจัดห้องที่หอพักไม่ให้รก การทำความสะอาดเสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า ไม่ให้เหม็น ความรู้เรื่องยุง นิสัยของยุง พฤติกรรมของยุง อัตราการเกิดโรคไข้เลือดออก อาการสำคัญ อันตรายที่ทำให้ถึงตายได้ เอาข้อมูลจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายเมื่อปีที่แล้วมาบอก เป็นต้น งานนี้มีการแจกหนังสือที่ให้ความรู้อีกด้วย


รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง กำลังให้ความรู้


สองพิธีกร


ต่อจากนั้นนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 2 แสดงละครสะท้อนคิดเรื่อง “ไข้เลือดออกภัยร้ายที่มองไม่เห็น” ในละครมีเรื่องราวของวงจรชีวิตยุงลาย ชีวิตของอาจารย์และนักศึกษาที่มียุงลายอยู่ใกล้ตัว มีโอกาสที่ยุงลายจะกัดได้ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านพัก หอพัก ห้องเรียน โรงอาหาร หรือห้องทำงาน หลังยุงลายที่ติดเชื้อมากัดอาจารย์และนักศึกษา ประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะเกิดอาการต่างๆ ของไข้เลือดออก


ที่บ้านพักครู


ที่หอพักนักศึกษา


ที่ห้องเรียนอาคารเรียนรวม


ละครเรียกเสียงเฮฮาได้ดี แต่ก็มีสาระ เดินเรื่องให้ความรู้ได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชา ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนาน เอาความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น คำขวัญประจำใจ "เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย" การทำ Big Cleaning Day หลัก 5 ป. ปราบยุงลาย + 1 ข. ขัดไข่ ฯลฯ

นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ดำเนินกิจกรรมตอบคำถามมีรางวัล นักศึกษาที่ตอบคำถามได้มาจากหลายสำนักวิชา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ สหเวชศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ ศิลปศาสตร์ สารสนเทศศาสตร์ การจัดการ พยาบาล เป็นต้น และยังมีรางวัลสำหรับคนที่เข้าไปโพสต์ Facebook วลัยลักษณ์ร่วมใจป้องกันภัยโรคไข้เลือดออก


ผู้ที่ตอบคำถามและผู้ที่โพสต์ Facebook เกี่ยวกับกิจกรรมวันนี้


ปิดท้ายด้วยด้วยการแสดงละครอีกเรื่องคือเป็นไข้เลือดออกตายได้ โดยนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 เล่าเรื่องแม่ค้าขายโอ่ง มีโอ่งมากมายซึ่งคงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลูกชายเล่นอยู่แถวนั้นโดนยุงกัดแล้วเป็นไข้ รักษาเองจนอาการหนัก ช็อค แพทย์และพยาบาลมาดูแลรักษา แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ เสียชีวิตในที่สุด


คุณนาย แม่ค้าขายโอ่ง ด้านหลังเป็นโอ่งหลายสี


ลูกชายเล่นอยู่แถวโอ่ง โดนยุงกัด


ละครสนุกสนาน มีเพลงและการเต้นประกอบ ดัดแปลงเพลง “ขอใจแลกเบอร์โทร” และปิดท้ายด้วยเพลงไข้เลือดออกของติ๊กซีโร่ พี่พยาบาลชั้นปี 4 พูดปิดท้ายฝากน้องๆ ชาวหอ ช่วยกันจัดระเบียบภายในห้องพักและดูแลบริเวณหอพัก


คุณหมอร้องเพลงบอกอาการของโรคไข้เลือดออก


ฉากปิดท้าย


ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในวันนี้ได้เรียนรู้เรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกและรู้ว่าเมื่อเจ็บป่วยควรได้รับการรักษา ในบรรยากาศที่สนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 593680เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 22:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 22:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท