"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​ชีวิต..เป็นอย่างไร ...ชีวิตเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์


ชีวิต..เป็นอย่างไร ...ชีวิตเป็นไปตามหลักไตรลักษณ์

...

มีพุทธพจน์แสดงหลักไตรลักษณ์ที่กำหนดเป็นกฎของธรรมชาติ เอาไว้ว่า...

“ตถาคตทั้งหลาย จะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ธาตุนั้นก็ดำรงอยู่ เป็นธรรมฐิติ เป็นธรรมนิยามว่า

  • สังขาร ทั้งปวง ไม่เที่ยง...
  • สังขาร ทั้งปวง เป็นทุกข์ ...
  • ธรรม ทั้งปวง เป็นอนัตตา ...

ตถาคตตรัสรู้ เข้าถึงหลักนั้นแล้ว จึงบอก แสดง วางเป็นแบบ ตั้งเป็นหลัก เปิดเผย แจกแจง ทำให้เข้าใจง่ายว่า “สังขารทั้งปวง ไม่เที่ยง ...สังขารทั้งปวง เป็นทุกข์ ...ธรรมทั้งปวง เป็นอนัตตา”

คำว่า “สังขาร” กับคำว่า “ธรรม” ลองทำความเข้าใจนิดหนึ่ง

คำว่า “สังขารทั้งปวง” ในที่นี้ หมายถึง สิ่งทั่งปวงที่เกิดจากปัจจัยต่าง ๆ ปรุงแต่ง หรือที่เกิดจากส่วนต่าง ๆ ประชุมกันหรือรวมกันเข้า เช่น คน สัตว์ พืช ต้นไม้ ก้อนหิน เป็นต้น เป็นทั้ง “รูปธรรม” และ “นามธรรม” ต่างจาก “สังขาร” ในขันธ์ ๕ ที่หมายถึง การปรุงแต่งจิตด้วยความดีหรือความชั่ว ที่เรียกว่า “เจตสิก” (อภิธรรม) เป็นได้แต่ “นามธรรม” อย่างเดียว

...

ส่วนคำว่า “ธรรม” หมายถึง สภาวะหรือทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งที่มีชีวิต และไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นสสาร เป็นพลังงาน เป็นธาตุ เป็น “รูปธรรม” เป็น “นามธรรม” ตามที่ท่านกล่าวถึงไว้คือ เป็นได้ทั้ง “อุตุนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับอุณหภูมิหรือฝน ฟ้า อากาศ” ... “พีชนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับการสืบพันธุ์ การถ่ายทอดพันธุกรรมของมนุษย์ สัตว์และพืช” ... “จิตนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับกระบวนการทำงานของจิต” ... “กรรมนิยาม กฎธรรมชาติเกี่ยวกับเจตจำนง พฤติกรรมของมนุษย์ และกระบวนการให้ผลของกรรม” ...”ธรรมนิยาม กฎของธรรมชาติเกี่ยวกับสภาวะแห่งธรรมดาทั่วไป เป็นเหตุเป็นผล เป็นความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ ของกันและกันของสิ่งทั้งหลาย” ...

คำว่า “ธรรม” ในที่นี้ จึงครอบคลุมกฎแห่งนิยามต่าง ๆ ดังกล่าวมาทั้งหมด ...

...

สิ่งที่ควรพิจารณาให้ลึกลงไปก็คือว่า “สังขาร” ที่หมายเอา หรือ แสดงถึง “ทุกขอริยสัจ” นั้น พระพุทธองค์ทรงมุ่งหรือเน้น ไปที่ “มนุษย์” หรือ “คน” เพราะ “สังขาร”ที่เป็นตัวก่อให้เกิดทุกข์นั้นคือ สังขาร ใน “ขันธ์ ๕” นั่นเอง

“สังขาร” และ “ธรรม” ในไตรลักษณ์นั้น จะคลอบคลุม “สังขาร” และ “ธรรมอารมณ์” ในขันธ์ ๕ อีกทีหนึ่ง ...ลองสังเกตและทำความเข้าใจ ...

และที่ว่า “ทุกข์” ก็คือ “อุปาทานขันธ์ ๕” ตามพุทธธรรมที่กล่าวมาในหัวข้อขันธ์ ๕ แต่เบื้องต้น ... ขันธ์๕ แบบขยายกล่าวถึงมาอย่างเดียว ไม่ทุกข์ เท่าไหร่ แต่ที่ทุกข์มากเพราะมี “อุปาทาน”(ความยึดมั่นถือมั่น) และ มีตัณหา(ความอยาก ความใคร่) เกาะเกี่ยวอยู่ บังคับ ควบคุมอยู่ (อุปาทาน + ขันธ์๕ = อุปาทานขันธ์๕) มันจึงเป็น “ทุกขอริยสัจ” คือ มันทำให้คนเราทุกข์ จะทุกข์มาก ทุกข์น้อย ก็อยู่ที่ความยึดมั่นถือมั่น และตัณหาที่ควบคุมคนเราอยู่นั่นแหละครับ...

ทีนี้ทำไม คนถึงทุกข์เพราะไตรลักษณ์ เพราะขันธ์ ๕ เป็น “สังขารทั้งสองอย่าง” คือ เป็นทั้งสังขารของกฎธรรมชาติเอง และเป็น สังขารของขันธ์ ๕ ด้วย ก็ย่อมต้องหนีกฎธรรมชาติของ “ความไม่เที่ยง” คือ ความไม่คงที่ ไม่นอน ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วแปรเปลี่ยนไป ไม่พ้นเหมือนกัน...ทำให้คนที่เกิดมาแล้ว อยากอยู่เป็นเด็กไปตลอด ไม่อยากเปลี่ยนสภาพ ปรับสภาวะไปเป็นวัยรุ่น ไม่อยากเปลี่ยนวัยไปเป็นผู้ใหญ่ อยากเป็นวัยรุ่นนาน ๆ ได้ไหม อยากหล่อนาน ๆ อยากสวยนาน ๆ ได้ไหม? ก็ในเมื่อมันไม่ได้ คือ ไม่ได้ดั่งใจของเรา “มันจึงทุกข์” ไงครับ...

ขันธ์ ๕ ยังเป็นสังขารตามกฎธรรมชาติข้อที่ ๒ ด้วย คือ เป็น “เป็นทุกข์” ตามความหมายคือ ภาวะบีบคั้นให้ตั้งอยู่นานไม่ได้ ที่เกิดแล้วก็จำต้องสลายตัว ...หากเป็นภาษาสมัยใหม่ก็คงจะกล่าวว่า “ไม่ได้ดั่งใจ” เมื่อมันไม่ได้ดั่งใจมันก็คือ “ทุกข์” นั่นแหละ ลองยกตัวอย่าง...

  • รูปภายใน ...นาย ก. อายุ ๒๐ ปี เกิดผมหงอกก่อนวัย และผิวหน้าเหี่ยวแห้งผิดปกติ ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ(ไม่เที่ยง) เจ้าของพยายามทำทุกวิถีทางที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้ แต่...ไม่ได้ดั่งใจ ...เกิดความทุกข์
  • รูปภายนอก ...ภรรยาสาวแสนสวยของนาย ก. มาท่องเที่ยวเมืองไทย ประสบเหตุระเบิดเสียชีวิต หมดความสวย นาย ก. คิดว่า เป็นไปได้ยังไง เกิดขึ้นได้ยังไง ทำไมเมียเราต้องมาตายด้วยนะ ไม่น่าตายเลย ...ไม่ได้ดั่งที่ใจคาดหวังไว้ ..เกิดความทุกข์
  • รูปในอนาคต ... นางสาว น. ฝึกซ้อมกีฬาวอลเล่ย์บอลตั้งแต่มัธยมต้น มาจนถึงระดับอุดมศึกษาปีสุดท้าย จนชำนาญช่ำชอง และแล้ววันหนึ่งเกิดแขนหัก หมอบอกว่า เล่นวอลเล่ย์บอลไม่ได้ตลอดชีวิต นางสาว น. ก็นำความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มาทบทวนซ้ำไปซ้ำมาว่า ไม่น่าเกิดขึ้นได้ เกิดขึ้นได้ยังไง ...คิดถึงวันพรุ่งนี้ อนาคตของตนเองในวันข้างหน้าต่อไปทีไร ... ทุกข์ใจ เศร้าใจ ทุกที
  • คนที่แก่ก่อนวัย หรือแก่ตามวัย ก็ต้องทุกข์ที่จะต้องทำการย้อมผม ทำผม แต่งหน้า นวดหน้า ขัดหน้า ดึงหน้า ฉีดสารกันหย่อนยาน ดิ้นรนกันไปถึงต่างประเทศ ที่เป็นอย่างนี้เพราะเราไม่สามารถห้ามหรือบังคับ บัญชาให้ร่างกายหรือ ขันธ์ของเรา “ไม่แก่” “ไม่หย่อนยาน” หรือ อยู่ในสภาพเดิมไปตลอดได้
  • คนที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ทั้งที่เป็นบางส่วนหรือเป็นทั้งตัว ไม่สามารถบังคับร่างกายของตนเองได้ตามปกติ(คนไม่เป็นคงเข้าไม่ถึงความรู้สึกนี้หากจิตไม่ละเอียดพอ) ต้องนอนให้ญาติ เช็ดเนื้อเช็ดตัว ป้อนข้าวป้อนน้ำ ประคับประคอง พาขับถ่าย ฯลฯ ...

ความไม่ได้ดั่งใจ ความตั้งมั่นอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ นี่แหละ คือ “ทุกข์” ...

อีกประการหนึ่ง “ธรรมทั้งปวง” ว่าด้วยตัวสภาวะหรือกฎธรรมชาติทุกสิ่งทุกอย่าง “เป็นอนัตตา” ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ สิ่งของ สสาร พลังงาน รวมทั้ง ธรรมะที่เป็นองค์ประกอบของ อริยสัจจ์ทั้งหมด ล้วนก็แต่เป็นอนัตตา คือ “ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีตัวตนที่แท้จริง ไม่เป็นเจ้าของครอบครองสั่งบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างที่ตนหรือสิ่งนั้นๆ ต้องการได้ ...

เพราะความที่ไม่ใช่เจ้าของ ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีอำนาจบังคับสั่งการใดๆ ได้นี่เอง ทำให้คนเรา “ทุกข์มาก” ยิ่งขึ้น ..มองตามหลักขันธ์ ๕ ในเวลาปกติ องค์ประกอบของขันธ์แต่ละอย่างทำงานได้ปกติ ก็ไม่ค่อยจะทุกข์เท่าไหร่ แต่ เมื่อขันธ์ใดเกิดบกพร่องไม่ทำงาน ไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ คนเราก็จะยิ่งทุกข์มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น ...

ความจริงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ หากนั่นคือ “ตัวตนของเรา” คือ สิ่งที่เราบงการได้ หรือบังคับบัญชาได้ แต่...มันไม่ใช่ ...มันมีความเป็น “อนัตตา” ครอบงำเราอยู่อีกทีหนึ่ง

แม้แต่ “พระนิพพาน” สภาพที่ว่าเป็นการดับกิเลส อาสวะ ตัณหา อุปาทานหมดไม่มีเหลือแล้วนั้น ก็จัดเข้าใน “ธรรมทั้งปวง” ที่ “เป็นอนัตตา” ในที่นี้ด้วยเหมือนกัน ...

...

คงจะพอตอบคำถามที่ว่า “ชีวิต..เป็นอย่างไร?” กันได้บ้างแล้ว …

...ชีวิตเป็นไปตาม “ไตรลักษณ์” หรือ ลักษณะสามัญทั่วไปแก่สรรพสิ่งทั้งปวง รวมทั้งขันธ์ ๕ (ร่างกาย)ของเราที่กล่าวถึงมาแต่ต้น นั่นคือ...

  • “ไม่เที่ยง” แปรเปลี่ยน เคลื่อนไป จากการเกิดเป็นทารก จากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นวัยรุ่น จากวัยรุ่นเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่เป็นกลางคน จากกลางคนเป็นผู้สูงอายุ จากผู้สูงอายุเป็นคนแก่ จากคนแก่เป็นคนเจ็บ จากคนเจ็บสู่ความตาย ...จากความตายสู่การเกิด จากการเกิดเป็นทารก ... (วนไปไม่มีสิ้นสุด จนกว่าจะเข้าถึงนิพพานได้)
  • “เป็นทุกข์” พบกับสภาวะทุกข์ และสภาวะที่บีบรัด กดทับจิต ไม่ได้ดั่งใจ ไม่ได้ดั่งต้องการ ไม่ตั้งมั่น ...แทนที่จะมีร่างกายหล่อ สวย ผิวขาว ผมดก ปกไหล่ตลอดกาล กลับไม่ได้ดั่งใจ ...กายหย่อนยาน ผิวห่อเหี่ยว ผมหล่นหัวล้าน หรือเปลี่ยนเป็นสีขาวทั้งหัว ...เมื่อรู้เข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้นกับตนได้ก็ไม่ทุกข์ หากรับกับสภาพที่เกิดขึ้นไม่ได้ มันก็จะทุกข์หนักมาก
  • “เป็นอนัตตา” ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่มีความเป็นตัวตน หรือ “ตัวกู ของกู” แบบที่ท่านหลวงพ่อพุทธทาสว่า เมื่อแยกธาตุ แยกขันธ์ ออกหมดได้ก็จะไม่เหลืออะไร ...เพราะหากเป็นตัวกู ของกูจริง ต้องบังคับบัญชา สั่งการได้สิ แต่นี่ไม่ได้เลย สังเกตจากตอนที่ ร่างกายเจ็บป่วยไข้ นอนซม ถูกรถชน เป็นอัมพาต เสียเส้นประสาทส่วนเอวถึงเท้า ไม่สามารถรับรู้เวทนาในส่วนนั้นได้ ฯลฯ ...เมื่อเรารู้และยอมรับตามความเป็นจริงได้ก็จะไม่ทุกข์(มาก) หากยอมรับกับสภาพที่เป็นที่เกิดขึ้นไม่ได้ ก็จะยิ่งเสียใจทุกข์ใจซ้ำเป็นทวีคูณ ...ท่านถึงให้เรากำหนดรู้ไง

* แล้วทำไม..คนส่วนใหญ่ ถึงมองไม่ออกว่า ชีวิต “ไม่เที่ยง” “เป็นทุกข์” และ “เป็นอนัตตา”?

...ที่คนส่วนใหญ่มองไม่ออก ท่านแสดงไว้ว่า...

  • ประการแรก ที่เห็นว่า “ขันธ์๕ เป็นของเที่ยง” เพราะไม่ได้มนสิการหรือน้อมจิตไปในความเกิดและความดับ ความเกิดขึ้นหรือความเสื่อมสิ้นไป จึงถูก “สันตติ-ความสืบเนื่อง สืบต่อ” ปิดบังเอาไว้ ... ความจริงในร่างกายของเรานี้จะมีการ เกิด-ดับ-เกิด-ดับ-เกิด-ดับฯลฯ อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ดังที่กล่าวมาแต่เบื้องต้น ... คนที่ไม่ศึกษา ไม่เข้าใจสภาวธรรม ไม่ได้เรียนรู้ธรรม ก็จะเห็นว่า ร่างกายของเรานั้น สืบต่อ สืบเนื่อง ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ แต่ในทางการแพทย์จะเข้าใจได้ดีว่า “เซลล์” ในร่างกายของมนุษย์นั้นมีพัฒนาการ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด ไม่ได้คงสภาพเดิม เที่ยงแท้ อยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง สังเกตจากการที่เราห่างจากคนเคยรู้จักเป็นระยะเวลานาน ๒-๓ ปี แล้วมาพบกันอีกครั้ง เราจะสังเกตเห็นความแตกต่างได้ชัดเจน คือ จากเด็ก ก็จะเป็นหนุ่มน้อยขึ้นมา หรือจากหนุ่มใหญ่ก็จะเปลี่ยนสภาพเป็น คนชรา อย่างเห็นได้ชัดเจน ...
  • ที่เห็นว่า “ขันธ์ ๕ ไม่เป็นทุกข์” ร่างกายไม่ได้รับความบีบคั้น ไม่อึดอัด ไม่เมื่อย ไม่เจ็บปวด ทนอยู่ในสภาวะเดิมได้นาน ...เพราะว่าเราถูก “อิริยาบถ-ความยักย้าย เคลื่อนไหว เปลี่ยนอิริยาบถ” ปิดบังไว้ เมื่อมีการเคลื่อนไหวจึง “ไม่รู้สึกว่าทุกข์” (ทุกขเวทนา) เวลายืนนานๆ เมื่อย เราก็นั่ง เวลานั่งนานๆ เมื่อย เราก็ลุกเดิน เมื่อเดินมากๆ เมื่อย เราก็นั่ง การเปลี่ยนอิริยาบถนี่แหละคือปิดบังทุกข์ หากลองนั่งนานๆ แบบนั่งสมาธิ ขัดสมาธิกันดูซิ เอาสัก ๑๐ นาที ขี้คร้านจะบ่น ปวดขา ปวดกระดูกต้นขา ปวดหลัง ปวดคอ อาจปวดถึงในกะโหลกศีรษะ ...การนั่ง การยืน การเดิน การนอน โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ จะเห็นความทุกข์ได้ชัดเจน ...แต่ก็ต้องมนสิการความบีบคั้นกดดันที่มีอยู่ตลอดเวลาในร่างกายให้ลึกๆ ลงไปพร้อมกันด้วย ถึงจะเข้าใจ...
  • ที่เห็นว่า “ขันธ์ ๕ เป็นอัตตา” มีตัวมีตน มีเรา มีเขา หรือมี ตัวกู นั้น ...เพราะไม่ได้มนสิการแยกย่อยออกเป็นธาตุต่างๆ จึงมี “ฆนะ –ความเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เป็นแท่ง เป็นอัน เป็นมวล เป็นหน่วยรวม” ปิดบังเอาไว้ ความเป็นอนัตตาจึงไม่ปรากฏ ยกตัวอย่าง เสื้อผ้า กระสอบ พอเราแยกด้าย แยกป่าน ออกให้หมดแล้วก็ไม่เหลือ เสื้อ ไม่เหลือกระสอบ... มอเตอร์ไซค์ พอเราแยกโครง แยกอะไหล่ แกะออกจนหมด ก็ไม่เหลือความเป็นมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ...

หากอยู่ใกล้ชิดกัน อยู่ด้วยกันทุกวันก็ไม่ค่อยเห็นความเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร พระท่านจึงกล่าวว่า ถ้าอยากเห็นความไม่เที่ยงต้อง “มนสิการความเกิดและความดับ” น้อมจิตเข้าไปในกายในจิตของตน ฝึกอบรมมากๆ ถึงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี

เอาเป็นว่า ลองหัดนั่งสมาธินานๆ ดูก่อนก็แล้วกัน แล้วจะรู้ว่าขันธ์๕ มันทุกข์ยังไง

หากเราน้อมจิตหรือน้อมใจอย่างเพ่งพินิจพิจารณาเข้าไปในสิ่งต่างๆ และร่างกายอย่างลึกๆ แล้ว จะสามารถมองเห็นความจริง เช่น ความสวยความงามของคนเรา ก็จะติดใจกัน ชอบกัน อยู่ที่ผิวหนัง ความเนียนสวย ผิวขาวใส ใบหน้าสะสวย เท่านั้น ไม่ได้เห็นภายในหรือ เนื้อในว่า เบื้องหลังผิวขาวเนียน สวยใสนั้น มีอะไรบ้าง ...

เวลาพระท่านบวชใหม่ อุปัชฌาย์จึงให้อารมณ์กัมมัฏฐานที่ว่า “เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ(หนัง)...” เพื่อนำไปพิจารณาให้เห็นความจริงที่ว่า แท้จริงแล้วร่างกายคนเราไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ากกกอดเลย(จริงจริ๊ง)...

พี่หนานเองก็พยายามพิจารณาเหมือนกัน แต่มันไม่ทะลุเข้าไปภายในสักทีเลย(ฮา) ติดอยู่ที่ขาวหนอ สวยหนอ อวบหนอ อึ๋มหนอ นี่แหละครับ ...ต้องจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า “รู้ปริยัติ” ไม่นำไป “ปฏิบัติ” จึงไม่ได้รับ “ปฏิเวธ” กับเขาสักทีเลย

...

เขียนมายาวเกินไปแล้ว พอมาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงพอมองออกกันบ้างนะครับว่า “ทำไมสิ่งต่างๆ (ธรรม) ที่กล่าวถึงมาทั้งหมดนี้ ถึงจัดเข้าไว้ในหมวดทุกขอริยสัจ...เพราะมันส่งผลให้คนเราทุกข์กาย ทุกข์ใจ นั่นเอง”

...

หากใครมีข้อคิดเห็นสิ่งใดเพิ่มเติม อยากชี้แนะ สั่งสอนอะไรก็เชิญนะครับ ...ยินดีน้อมรับฟังข้อคิดเห็นด้วยความเต็มใจยิ่ง

.............................

“พี่หนาน”

19/802558

............................................................................................

ขอบคุณหนังสือพุทธธรรม แสดงเรื่องของ “ไตรลักษณ์” หน้า ๖๓ จากเว็บไซต์...

http://www.watnyanaves.net/uploads/File/books/pdf/...

หมายเลขบันทึก: 593672เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 20:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2015 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอขอบคุณครู อาจารย์ กัลยาณมิตรที่ให้กำลังใจ และติดตามอ่านทุกท่านมากครับผม...

  • Wasawat Deemarn
  • GD
  • for far
  • วินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ (น.ม.)
  • ….. อ่านต่อได้ที่: https://www.gotoknow.org/posts/593672

    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท