ตำรา..ในนาข้าว


นักเรียนหญิง..เดินเรียงหน้า ถอนหญ้าได้มากมายไม่มีหมด ได้ยินเสียงพูดคุยกันว่า ถ้าไม่ลงมาถอน ต้นหญ้าพวกนี้คงขึ้นงอกงามเต็มนาเป็นแน่แท้ คงมองไม่ออกว่าหญ้าหรือข้าว มีเสียงบอกกันว่าไม่ต้องถอนผักบุ้งที่เลื้อยทอดยอดยาว ไปตามกอข้าว อย่างร่าเริงและมีความสุข ในนาแปลงน้อยที่มีน้ำใสเย็นที่ไม่เคยเหือดแห้ง

ผมคิดอ่านอยู่หลายวัน..เมื่อติดตามผลงานการโยนกล้าในนาข้าวของโรงเรียน พบว่า..ต้นหญ้าขึ้นเยอะและยาว สูงกว่าต้นกล้าเสียอีก ผมยังคงเรียกว่า"ต้นกล้า" เพราะเพิ่งลงมือปลูกได้ไม่ถึงเดือน แต่ด้วยฝนตกบ่อย คันนาและในแปลงจึงเต็มไปด้วยวัชพืชมากมาย จริงๆสิ่งเหล่านี้มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศน์ แต่ถ้ามากไป จะดูไม่สวยงาม และมองดูไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย อาจเป็นอันตราย ถ้ามีนักเรียนไปเที่ยวชม..

ซักซ้อมกับนักเรียน ที่วันนี้แต่งชุดลูกเสือ..เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ว่าพวกเราจะบุกลงไปในนา ที่มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นกล้าไม่สูงนัก จากนั้น..ผู้ชายจะซ่อมแซมต้นกล้า ตรงไหนเป็นกอหนาและขึ้นเบียดเสียดกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็ให้ถอนแบบประคับประคอง ไปปักดำบริเวณที่ว่างๆ ซึ่งมักจะอยู่ติดกับคันนา และมีน้ำเพียงพอทำให้ปักดำง่าย

ผมสังเกตเห็นท่วงท่าการทำงานของนักเรียน มีความทะมัดทะแมง แบ่งหน้าที่กัน คนถอนกล้า ส่งให้คนปักดำ ที่เดินย่างสามขุม มองซ้ายมองขวา ก้มๆเงยๆอยู่พักใหญ่ ได้ต้นกล้ากระจายไปทั่วแปลงนา ..ต้นกล้าที่ถอนไปปักดำใหม่ ยังไม่ตั้งตรง นักเรียนบอกว่าสามวันก็ทรงตัวได้

นักเรียนหญิง..เดินเรียงหน้า ถอนหญ้าได้มากมายไม่มีหมด ได้ยินเสียงพูดคุยกันว่า ถ้าไม่ลงมาถอน ต้นหญ้าพวกนี้คงขึ้นงอกงามเต็มนาเป็นแน่แท้ คงมองไม่ออกว่าหญ้าหรือข้าว มีเสียงบอกกันว่าไม่ต้องถอนผักบุ้งที่เลื้อยทอดยอดยาว ไปตามกอข้าว อย่างร่าเริงและมีความสุข ในนาแปลงน้อยที่มีน้ำใสเย็นที่ไม่เคยเหือดแห้ง

นักเรียนไม่ถอนหญ้าใบเล็กๆ มีลำต้นเป็นปล้อง ต้นไม่สูงนัก จริงๆไม่ใช่ต้นหญ้า แต่เป็นผักสมุนไพรที่เรียกว่า.."ผักแว่น" หาทานยากแล้ว เป็นผักที่วางข้างเคียงกับน้ำพริก ทานกับลาบ ส้มตำ จะเข้ากันได้ดี แต่จะไม่ค่อยมีให้เห็นแล้ว ผักแว่น..จะขึ้นบริเวณที่ชุ่มชื้น ตามท้องนาที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์และไม่มีสารเคมีเจิอปนอยู่ในบริเวณนั้น.....

ครึ่งชั่วโมงผ่านไป..ความสดใสเข้ามาเยือนแปลงนาของโรงเรียน เหมือนต้นกล้าจะรับรู้ถึงความห่วงใย ที่เห็นนักเรียนมาเยี่ยมเยือน สร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ต้นกล้าที่ยังอยู่ในวัยเยาว์ถูกเบียดเบียน ..ผมให้นักเรียนไปล้างเนื้อล้างตัวที่ในสระน้ำ จากนั้นก็มารวมตัวกันเพื่อสรุปผลงานที่ได้ดำเนินการในวันนี้..

ผมบอกนักเรียน ป.๕..ช่วยไปเขียนเรื่องเล่าจากประสบการณ์ว่า..ได้ทำอะไรบ้าง บอกเล่ามาให้ชัดเจน ส่วนนักเรียนชั้น ป.๖ ผมให้ไปแต่ง ๕ ประโยค...เป็นประโยคคำถาม ที่ต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า..."ทำไม.." แล้วตอบคำถามให้มีเหตุมีผล

งานเขียนขั้นต่อไป..ผมตั้งใจจะให้นักเรียนเขียนเชื่อมโยงไปสู่สามห่วงสองเงื่อนไข..ตามหลักการของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เชื่อว่า..ในนาข้าว..จะเป็นจุดเริ่มต้น..แห่งการเรียนรู้ ที่ฉายภาพความเข้าใจที่ชัดเจน ในทุกมิติและมุมมอง ทั้งความพอประมาณ เหตุผล และภูมิคุ้มกัน เป็นตำราเล่มใหญ่ ที่เรียนไม่รู้จบ

วันนี้..ผมได้คิดว่า..ในนาข้าว..ที่ผมให้นักเรียนลงไป เหมือนได้บ่มเพาะต้นกล้า ทั้งพืชและคน ที่ต้องใช้เวลา..อดทน และรอคอย..กว่าจะถึงเป้าหมาย ที่ยาวไกล..ก็จะต้องเริ่มที่ก้าวแรกนี้เสมอ


ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๘

หมายเลขบันทึก: 593673เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 20:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อย่าลืมส่ง " หนังสือเล่มเล็ก " เรื่องเล่าจากประสบการณ์

ไปเข้าร่วมสนุกกับกิจกรรม

ห้องสมุด (สิ้นชีวิต) ของคุณมะเดื่อด้วยนะจ๊ะ

ก่อนสิ้นเดือน สิงหาจ้ะ



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท