"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

​ศาสนบุคคล…พุทธบริษัท ๔


ศาสนบุคคล…พุทธบริษัท ๔

เราลองมองย้อนกลับไปดูประวัติของพระพุทธเจ้า หรือลองดูซีรี่ส์เรื่อง พระพุทธเจ้าฯ ในปัจจุบันดูก็ได้ เราจะเห็นว่า หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ปรารภผู้รับฟังธรรมหรือ ผู้ที่จะรู้เห็นตามที่พระองค์ทรงค้นพบ ตอนแรกนำ “พระธรรม” ไปแสดงให้ฟังก่อน ต่อมาพอมีสาวกมากแล้วก็ไม่ต้องไปแสวงหาผู้ฟังเพิ่มอีก กลับมีผู้อยากฟังธรรม มาหาพระองค์เอง...

ผู้ที่เดินทางมาหา มาขอรับฟังธรรมนั้นเรียกกันว่า “สาวก” “สาวโก” พอบวชแล้วก็เรียกกันว่า“สาวกสังโฆ” หรือ “สาวกสงฆ์” หมายถึง สงฆ์ผู้ยอมรับฟัง ...แสดงให้เห็นว่าผู้ที่ยอมรับนับถือแต่แรกนั้น เรียกกันว่า “สาวก” ที่บวชแล้วก็เรียกว่า “พระสาวก” ...

ต่อมาเรียกพระสาวกท่านที่เป็นชายตามลักษณะที่พบเห็นว่า “ภิกษุ” และที่เป็นหญิงว่า “ภิกษุณี” มีความหมายว่า ผู้ขอ (ขออาหาร เป็นต้น) และ ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ...ปฏิบัติธรรม รักษาวินัย ภายใต้การกำกับดูแลของพระพุทธเจ้า สิ่งใดที่ปฏิบัติกันไม่เหมาะไม่ควรก็ “บัญญัติห้าม” เพิ่มเติมกันขึ้นมาในแต่ละเรื่องแต่ละประเด็น มิได้มีการกำหนดข้อห้ามไว้ล่วงหน้าว่า ภิกษุมีศีล ๒๒๗ ข้อนะปฏิบัติตามได้ไหม? ภิกษุณีมีศีล ๓๑๑ ข้อนะ ปฏิบัติตามได้ไหม? การบัญญัติพระวินัยนี้มีข้อยุติเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว...

หากเป็นสมัยปัจจุบัน ศีลของพระภิกษุ และภิกษุณี(เดิม)คงไม่อยู่ที่ ๒๒๗ และ ๓๑๑ ข้อหรอก แม้หลักการของพุทธบริษัทก็คงจะมีเพิ่มขึ้น น่าจะมีเพิ่มมากกว่าเดิมอีกไม่น้อย...

หลักการปฏิบัติของสงฆ์ทั้งสองฝ่าย เน้นที่ “ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นสำคัญ...

เมื่อมีพระสาวกผู้ช่วยถ่ายทอดธรรมะมากขึ้น มีผู้ศรัทธายอมรับนับถือมากขึ้น ก็มี “กลุ่มชาวบ้าน” ที่ไม่ได้บวชแสดงตนยอมรับนับถือพุทธ เรียกกันว่า “พุทธมามกะ” กลุ่มที่เป็นชายเรียกชื่อตนเองว่า “อุบาสก” ส่วนที่เป็นหญิง เรียกชื่อตนเองว่า “อุบาสิกา” พวกเราชาวพุทธทุกคนเรียกตนเองว่า “อุบาสก” “อุบาสิกา” ถือว่ามีความถูกต้องที่สุด ไม่ใช่ “คฤหัสถ์” หรือ “ฆราวาส” ...หลักการปฏิบัติของ ผู้ครองเรือน เน้นที่ “ทาน ศีล ภาวนา” เป็นสำคัญ...

พระพุทธศาสนาจะเจริญหรือเสื่อมก็อยู่ที่พุทธบริษัททั้ง ๔ ที่จะช่วยกันทำให้เกิดความเจริญธรรม ๓ ด้าน คือ...

  • ต้องศึกษา เรียนรู้ ทำความเข้าใจหลักคำสอนของพุทธศาสนาให้ละเอียด ลึกซึ้ง ถูกต้อง(ปริยัติธรรม)
  • สามารถนำหลักคำสอนของพุทธศาสนาไปปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ไม่คลาดเคลื่อน ออกนอกลู่นอกทาง(ปฏิบัติธรรม)
  • เมื่อปฏิบัติอย่างเหมาะสมแล้วจักเกิดผล เห็นผลตามความเป็นจริง ค้นพบได้ด้วยตนเอง และเมื่อมีใครกล่าวจาบจ้วง ดูหมิ่นเหยียดหยาม กล่าวผิดเพี้ยน บิดเบือนจากความจริง ก็สามารถปรับแก้วาทะ (แก้ต่าง) แสดงความจริงที่ถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผล ต่อผู้นั้นหรือต่อสาธารณชนได้(ปฏิเวธธรรม)...

คำว่า “คฤหัสถ์”และ “ฆราวาส” บ่งบอกสถานะที่ไม่ได้ออกบวช เป็นผู้ครองเรือน เป็นปุถุชนคนทั่วไป เป็นคำกลางๆ เรียกได้ทั้งชาวพุทธ ชาวบ้านที่ยอมรับนับถือศาสนาอื่น ๆ ชาวพุทธเรานิยมนำมาใช้ให้ดูแตกต่างระหว่าง “พระ” กับ “ชาวบ้าน” ดูเหมือนจะเกิดความชัดเจนและเห็นความแตกต่างได้ง่ายกว่า ส่วนคำที่ถูกต้องตามศาสนบุคคลผู้ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาฝ่ายฆราวาสก็คือ “อุบาสก” “อุบาสิกา” นั่นแหละครับ...

หากมีใครมาถามเราว่า “คุณอุบาสก(อุบาสิกา)..วันนี้ไม่ไปวัดเหรอ ?” ก็อย่าไปถือโทษโกรธเขานะครับ ถือว่าเขาให้เกียรติเราอย่างสูงก็แล้วกัน อย่าไปต่อยเขาเสียก่อนล่ะ...

..........................................................

“พี่หนาน”

19/8/2558

............................................................................................................................

ขอขอบคุณหนังสือ “คำวัด” ของพระธรรมกิตติวงศ์ คำว่า “บริษัท” (ไฟล์พีดีเอฟ)หน้า๔๔๒.

file:///C:/Users/pornphot/Desktop/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94.htm

ขอบคุณเว็บไซต์ ทรูปลูกปัญญาดอทคอมต่อไปนี้...http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/knowl...

ขอบคุณบทความดีๆ เกี่ยวกับศาสนธรรมและศาสนบุคคล ของม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ต่อไปนี้...

http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article...

หมายเลขบันทึก: 593659เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 12:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท