696. เรียนรู้ศาสตร์ OD จาก "สามก๊ก" (ตอนที่ 26)


ผมดูศึกษาสามก๊กมาสักพัก พยายามมองหลายมุม แน่นอนสามก๊กสะท้อนให้เห็นช่วงชีวิตมนุษย์คนหนึ่งที่มีทั้งรุ่งเรืองและล่มสลาย เมื่อพิเคราะห์ดูเราจะเห็นอะไรบางอย่างที่หลายครั้งผมรู้สึกตื่นตื่นใจไม่น้อย คราเมื่อดูถึงตอนเล่าเจี้ยง ผู้ครองเสฉวน ดินแดนที่ใหญ่มากๆ มีกองทหาร มีทรัพยากร มีปราการที่อดุมสมบูรณ์ กุนซือก็เก่ง ทหารก็กล้าหาญ เล่าเจี้ยงต่างหากที่ควรจะลุกขึ้นมาประกาศตัวเป็นฮ่องเต้ราชวงค์ฮั่น จากนั้นก็ระดมขุนศึกทุกทิศมาปราบกบฏ ขงเบ้ง ชีซี จูล่ง และวีรบุรุษจากทุกค่าย ควรรีบขี่ม้าแห่กันไปหาเล่าเจี้ยงแต่แรก เราควรจะเห็นเทพเจ้ากวนอูไปยืนอยู่หลังเล่าเจี้ยง มิใช่หรือ

นอกจากไม่ใช่แล้ว ยังตรงข้าม ไม่มีผู้กล้าหรือนักปราชญ์แห่งยุคคนใดไปหาเล่าเจี้ยง นอกจากนี้เตียวสง อัจฉริยะที่เล่าเจี้ยงไว้ใจก็แปรพักต์ แม่ทัพระดับฝีมือขั้นเทพก็ไปเข้ากับเล่าปี่ ที่สุด ไม่มีคนเก่งเหลือ และไม่มีแผ่นดินจะอยู่

อะไรครับที่ทำให้เล่าเจี้ยงต้องเผชิญกับหายนะชั่วข้ามคืนขนาดสิ้นตระกูลไปครับ

คุณจะเห็นครับว่า เล่าเจี้ยงตั้งแต่ต้นเลย ไม่ค่อยดึงคนเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เล่าเจี้ยงไม่ฟังใครนอกจากฟังตนเอง ดูเหมือนท่ามกลางคนเก่งที่อยู่รอบตัว เล่าเจี้ยงไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง ไม่มีการดึงพลังสมองคนเก่งมาช่วย เล่าเจี้ยงไม่ทำอะไรเลย ตอนจะเชิญเล่าปี่เข้ามา คนห้ามก็ไม่ฟัง เล่าเจี้ยงทำงานคนเดียวชัดๆ เล่าเจี้ยงไม่ดึงคนเข้ามามีส่วนร่วม ที่สุดก็ตามเล่าปี่ไม่ทัน

เล่าเจี้ยงพังเพราะไม่เน้นการมีส่วนร่วมครับ สรุปได้

ในขณะที่เล่าปี่ โจโฉ ซุนเซ็ก (พี่ชายซุนกวน) นี่ไม่มีอะไรเลย ในตอนแรก แต่รู้จักปรึกษาหารือ ดึงการมีส่วนร่วมจากคนรอบตัว ทำให้สามารถดึงความรู้ ความสามารถของคนรอบตัว มากลั่นเป็นความรู้ที่เฉียบคม ที่ทำให้เกิดการตัดสินใจที่เฉียบขาดมีวิสัยทัศน์

ที่สำคัญการดึงการมีส่วนร่วมของผู้นำสามคนนี้ ได้ดึงดูดผู้กล้าจากทั่วทิศเข้ามาร่วมงานด้วย

กุยแกนี่ชมโจโฉเลยว่า เน้นการมีส่วนร่วมมากๆ ไม่สนใจยศฐาบรรดาศักดิ์ ทุกคนเท่าเทียมกัน และครั้งหนึ่งถึงกับบอกเลย ถ้าเทียบกับอ้วนเสี้ยวแล้ว การเน้นการมีส่วนร่วมของโจโฉนี่ถือเป็นจุดแข็งและทำให้โจโฉเหนือการอ้วนเสี้ยวแน่นอน

การดึงการมีส่วนร่วมนี่ทางพัฒนาองค์กรเราถือมาครับ เราถือเป็นหัวใจของการพัฒนาองค์กร (Organisation Development-OD) เลยทีเดียว

เราถือว่าเป็นตัวตัดสินเลยว่าใครจะทำ OD เป็นต้องเข้าใจตัวนี้ครับ

การมีส่วนร่วม (Inclusion) พูดง่ายๆคือ “เราต้องดึงทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร” หรือ “Every voice is heard.”

คุณจะเห็นว่าเล่าเจี้ยง ไม่เคยสนใจ “เสียง” ของใครเลย ในขณะที่ผู้นำสามก๊ก จะมีความเหมือนกันคือ พยายามได้ยิน “เสียง” ของทุกคน หรือการพยายามดึงการมีส่วนร่วมจากทุกคน ไม่ใช่คิดเอง เออเองง ทำเอง

การมีส่วนร่วมสำคัญอย่างไร เช่นลูกศิษย์ผม ทำร้านสุกี้อยู่ในอำเภอแห่งหนึ่งในขอนแก่น แนวคิดเธอก็จัดเต็มมาจากร้านดังในตอนแรก ก็ดีครับ แต่มีวันหนึ่งป้าที่เป็นแม่บ้านเดินมาเปรยๆ ตอนเธอกินข้าวว่า “คนบ้านนอกไม่เข้าร้านอาหารที่ติดกระจก ติดแอร์หมดหรอก มันดูแพง”

ลูกศิษย์ MBA ผมแทนที่เธอจะมองว่านี่มันเสียงของแม่บ้านเท่านั้น ไม่ใช่หรอก แต่เธอกลับ “ได้ยิน” เธอจัดการเอากระจกออก เท่านั้นยอดขายขึ้นทันที ต่อมาแม่บ้านก็เลยมาแนะนำอีก “น้อง ทำไมไม่เชิญนายอำเภอมากินที่ร้านล่ะ นายอำเภอมากิน เดี๋ยวคนอื่นตามมาเป็นพรวน” เธอจัดให้เลยครับ เป็นจริงดังว่า

ชัดไหมครับนี่แหละพลังของการมีส่วนร่วม ดังนั้นเราจะเห็นชัดเลยว่าเมื่อดึงการมีส่วนร่วมเข้ามา เท่ากับเราดึงวิธีการที่ดีที่สุด แนวคิดที่ดีที่สุดของคนรอบตัวมา ทำให้เราไม่ต้องไปเสียเวลามาก แถมเมื่อดึงคนเข้ามาส่วนร่วมได้ ก็จะได้สิ่งดีๆ คนดีๆมาช่วยมากขึ้นไปอีก

และแน่นอนตอนล่มสลาย หรือเกิดความเสียหายเล่าปี่ เล่าเสี้ยนก็พอกันครับ ไม่ฟัง ไม่ดึงคนมามีส่วนร่วมที่สุดก็เป๋ เล่าปี่ไปก่อนใครครับ เล่าเสี้ยนนี่ก็มั่วอีก นี่ไม่ฟังอย่างแรง พอๆกับเล่าเจี้ยง ที่สุดราชวงค์ฮั่นก็หมดไปบริบูรณ์

อย่าลืมนะครับจะเป็นผู้นำ จะพัฒนาใครได้ เริ่มจากการฟังเสียงคนอื่นมากๆ ไม่ใช่ฟังแต่เสียงตัวเอง

Inclusion is everything… การดึงการมีส่วนร่วมคือทุกอย่าง ครับ

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

บทความโดยดร.ภิญโญ รัตนาพันธุ์

www.aithailand.org

หมายเลขบันทึก: 593556เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2015 11:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากๆเลยค่ะ

การมีส่วนร่วมสำคัญมากในการทำงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท