จากค่ายศิลปะ... สู่มหกรรมหนังสือภาคอีสาน


ศิลปะ คือ “อาวุธ” ที่ทำให้มีตัวตน มีพื้นที่ในสังคม

จากค่ายศิลปะ... สู่มหกรรมหนังสือภาคอีสาน



เครือข่ายศิลปินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดโครงการ “ค่ายศิลปะ สอนศิลป์ถิ่นทุรกันดาร” 4 ครั้งใน 4 จังหวัด คือ ขอนแก่น บึงกาฬ หนองบัวลำภู และสกลนคร โดยมุ่งหวังที่จะให้เด็ก ๆ และเยาวชนได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาทักษะศิลปะเฉพาะด้านกับศิลปินตัวจริง เสียงจริง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาและเติบโตมาในภาคอีสาน อาทิอังคาร จันทาทิพย์ ไพวรินทร์ ขาวงาม วสุ ห้าวหาญ นิด ลายสือ เพลิง วัตสารรวมทั้งพ่อครู แม่ครูกลอนลำมากหน้าหลายตา

การเข้าค่ายศิลปะได้จบลงแล้ว แต่ผลงานของเด็กและเยาวชนยังปรากฏอยู่ในโลกออนไลน์ ทั้งยังได้รับเกียรติให้เป็นการแสดงเปิดงาน “มหกรรมหนังสือภาคอีสาน I-San Book Fair 2015ณ ศูนย์การประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานในพิธี

งานนี้จัดเต็ม 9 วัน 9 คืน ตั้งแต่วันที่ 15-23 สิงหาคม ทั้งยังมี “บุฟเฟต์หนังสือ” คือ เด็กๆ จากโรงเรียนห่างไกล ขนาดเล็กจะได้รับแจกคูปองให้ไปเลือกหนังสือที่ตัวเองต้องการได้เท่ากับจำนวนเงินในคูปอง

สุขกันถ้วนหน้า ... ทั้งผู้ให้และผู้รับ

นับเป็นการจัดงานที่ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 โดยมุ่งหวังให้คนในพื้นถิ่นมีโอกาส “เข้าถืง” สื่อดี สร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ภายในงาน เครือข่ายศิลปินฯ ได้นำเสนอนิทรรศการ “เมือง 3 ดี วิถีสุข” ทั้งแนวคิด หลักการ รวมทั้งรูปธรรมที่เป็น “ต้นแบบ”อันสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับบริบทของแต่ละพื้นทีซึ่ง แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นผู้สนับสนุน

ในช่วงบ่ายหลังจากพิธีเปิดแล้วก็ต่อด้วยการเสวนา “เมือง 3 ดีดีอะไร สุขแบบไหน” มี พระครูบุญชยากร เจ้าคณะตำบลสาวะถี, พี่นิด ลายสือ และตัวแทนเด็กๆ จาก 4 จังหวัด ร่วมการพูดคุย ส่วนฉันทำหน้าที่เป็นพิธีกร ดำเนินรายการชวนคนทั้งด้านบนและล่างของเวที คุยกันแบบฟินๆ

สิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด เห็นจะเป็นข้อสรุปของเด็กๆ บนเวที

... ศิลปะ สร้างสมาธิ ...

... ศิลปะ เยียวยาอารมณ์ และจิตใจ ...

... ศิลปะ คือ “อาวุธ” ที่ทำให้มีตัวตน มีพื้นที่ในสังคม ...

... ศิลปะ คือ ภาคปฏิบัติการ คือความอดทนและการฝึกฝน ...

และ ศิลปะ เริ่มต้นด้วยการอ่าน ... เพราะการอ่านทำให้เรารู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น ... การอ่านทำให้เรามีทั้ง “ภูมิปัญญา” และ “ภูมิคุ้นกัน” เกิดความเท่าทันตนเอง เท่าทันสื่อ และเท่าทันสังคม




หมายเลขบันทึก: 593549เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2015 09:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2015 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท