ฌ กะเชอ บนเส้นทางบ้านในสวน


ตอนสายสาย ของวันแม่ที่ผ่านมา นั่งดูไลน์ที่ส่งผ่านถึงกัน มีภาพ มีดอกไม้ มีคลิป มีบทเพลงที่บ่งบอกถึงความรักความผูกพันที่ลูกมีต่อแม่ ดูไลน์แล้วย้อนดูตัว เงยหน้าจากจอเล็กๆ เห็นรูปแม่ที่ข้างฝาผนัง เหลือบขึ้นไปบนตู้เก็บของที่ระลึก

บนตู้มีกระเชอ สิ่งของที่แม่ทะนุถนอมมากๆ สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ฌ กะเชอ ทำให้จิตใจล่องลอยไปกับภาพในอดีต เห็นภาพแม่ทูนกะเชอ เดินนวยนาดแกว่งแขนเนิบนาบ ทุกวันพระ ไม่ว่าจะข้างขึ้นหรือข้างแรม ทั้งแปดค่ำและสิบห้าค่ำ หากไม่มีกิจธุระจำเป็นสำคัญ แม่ก็จะต่ืนนอนตั้งแต่ไก่ขัน สมัยก่อนไม่มีนาฬิกา สิ่งบอกเวลาที่ดีที่สุดคือเสียงไก่ขัน เอ้กอีเอ้กเอ้ก ตอนไกล้รุ่ง หลังจากทำธุุระส่วนตัว แม่ก็เข้าครัวทำกับข้าวคาวหวาน สำหรับวัสดุอาหารไม่ว่าจะเป็นผักผลไม้แม่ก็จะเตรียมไว้ ตั้งแต่เมื่อวาน ขนมบางอย่างที่ใช้เวลาในการทำเช่นข้าวหมากแม่ก็จะเตรียมไว้ล่วงหน้า แม่จะเตรียมอาหารเสร็จเมื่อรุ่งสางพอดี อาหารทุกอย่างจะถูกบรรจุไว้ในกระเชออย่างพอเหมาะ อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ ก็จะมีเสียงกู่ เป็นสัญญานบอกว่าพร้อมแล้ว คือบ้านข้างเคียงทั้งป้า น้า อา ก็จะออกจากบ้านสู่เส้นทางสายหลักสู่วัด ที่อยู่ไกล้ตลาด ทางเดินเป็นทางเกวียนข้างทางมีต้นไม้หลายหลากพันธ์ บนเส้นทางมีคนเดินกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละครอบครัว หรือสองครอบครัว พูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องราวการปลูกผัก ปลูกข้าว การออกหาปลาในทะเล หรือในทุ่งนา ล้วนแต่เป็นเรื่องราวของความสนุกในชีวิตประจำวัน

เมื่อถึงวัดก็จะนำถ้วยชาม มาตักแกงที่ เตรียมกันมา ในแต่ละถาดจะเป็นอาหารคาวหวานของแต่ละกลุ่มครอบครัวซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเครือญาติไกล้ชิด ในถาดจึงมีขนมและแกงอย่างหลากหลาย มีผลไม้หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่จะปลูกไว้ข้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นทับทิม กล้วยหอม กล้วยไข่ สับปะรด ขนุน ลูกจันท์ มะม่วง ส้ม ละมุด ฯลฯ เสียงกลองบอกเวลา พระภิกษุสงฆ์มายังโรงธรรม เมื่อพระนั่งเรียบร้อยแล้ว พิธีกรศาสนา ก็จุดธูป เทียน กล่าวอาราธนาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล อาราธนาธรรม กล่าวถวายภัตตาหาร

รับพรพระ พระเริ่มฉันภัตตาหารเช้า อุบาสกอุบาสิกา ก็สวดมนต์กันต่อจนถึงขั้นตอนสำคัญท้ายสุด คือกรวดน้ำอิมินา และแผ่เมตตา กล่าวบูชาพระรัตนตรัย ก็เป็นอันจบพิธี พระอ่ิ่มและลุกจากที่ สำรับกับข้าวก็ถูกยกมาวาง ทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆซึ่งกำลังหิวพอดี จะล้อมวงกัน ลักษณะรวมญาติ กินอาหารกันไปผู้ใหญ่ก็ทักทายเด็ก และให้ขนมกับลูกหลาน ด้วยความรักความเอ็นดู เป็นเช่นนี้ และสิ่งนี้ มันซึมซับอยู่ในจิตใจ สิ่งที่ซึมซับก็คือศีลขั้นพื้นฐาน เรื่องของบุญกับบาปเมื่อไม่มีศีล การมีเมตตา ย้อนภาพวันนั้นมาถึงวันนี้ ทำให้เราเข้าใจถึงคำว่าภูมิต้านทานชีวิต ที่มันเป็นภูมต้านทานที่ถูกสอดใส่และซึมซับอยู่ในก้นบึ้ง ที่ในปัจจุบันใช้คำสละสลวยว่าจิตวิญญาณ นั่นแหละ ยอมรับว่าเราไม่ได้ไม่ผิดศีล แต่เมื่อเราผิดเรารับรู้ว่าสิ่งที่เราทำไปแล้วมันผิด แต่แม้ว่าจะมีสิ่งใดมากระตุ้นให้เราทำผิดมากขึ้น ภูมิต้านทานที่ถูกปลูกไว้ จะออกมาต่อต้านอย่างเต็มเหนี่ยว ซึ่งเรียกให้สละสลวยว่าความมีมโนธรรมสำนึก

กะเชอจึงมีค่าและมีความหมายมากมาย และรู้แล้วล่ะว่าทำใมแม่จึงหวงกะเชอนัก

หมายเลขบันทึก: 593488เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2015 13:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2015 04:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เสาวภาคย์ เคียร์ซาคาลลี

กาลเวลาเปลียนไป...สิ่งต่างๆที่มันเปลี่ยนไปตามกาลเวลารวดเร็วเหลือเกิน เด็กรุ่นปัจจุบันไม่รัจักกะเชอและไม่รู้จักการเรียนรู้ ขาดความสนใจ ในเรื่องเก่าๆ น่าเสียดายที่ต่อไปในอนาคต กะเชอ จะไม่มีคนรู้จัก และรู้ถึงความสำคัญของกะเชอในรุ่นบรรพบุรุษ

อ่านแล้วเห็นบรรยากาศวิถีโบราณ..น่าประทับใจมากๆค่ะ

ขอบคุณ ที่ นำ กะเชอ มาให้ชื่นชม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท