วิพากษ์ ร่าง พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ตอนที่ 3


วิพากษ์ ร่าง พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ... ตอนที่ 3

6 สิงหาคม 2558

สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ [1]

หลักการใหม่การจัดซื้อจัดจ้าง

ด้วยเกรงว่าอาจเกิดปัญหาในทางปฏิบัติในการปฏิบัติและบังคับใช้กฎหมายแก่องค์กรบริหารท้องถิ่น (อบท.) หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตต่อจากตอนที่แล้ว

(1) การจัดซื้อจัดจ้างเดิมเน้นที่ “วงเงินหรือราคา”แต่ตาม พรบ. ฉบับใหม่ “ไม่กำหนดวงเงินหรือราคา”

วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่แตกต่างจากเดิม กล่าวคือ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2535 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2553 ที่ถือปฏิบัติอยู่ปัจจุบัน การจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบนี้มี 5 วิธีหลัก ได้แก่ (1) วิธีตกลงราคา (2) วิธีสอบราคา (3) วิธีประกวดราคา (4) วิธีพิเศษ (5) วิธีกรณีพิเศษ หรือ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 7 พ.ศ. 2552 และ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 รวม 12 วิธี ได้แก่ (1) ตกลงราคา, (2) สอบราคา, (3) ประกวดราคา, (4) ประกวดราคาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction), (5) วิธีพิเศษ, (6) วิธีกรณีพิเศษ, (7) จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีตกลง, (8) จ้างที่ปรึกษาโดยวิธีคัดเลือก, (9) จ้างออกแบบโดยวิธีตกลง, (10) จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือก, (11) จ้างออกแบบโดยวิธีคัดเลือกแบบจำกัดข้อกำหนด และ (12) จ้างออกแบบโดยวิธีพิเศษ

สำหรับ พรบ. ฉบับใหม่นี้ วิธีการจัดซื้อจัดจ้างจะเปิดกว้างกว่าเดิม เน้นที่ “วิธีการแข่งขัน” เพื่อการแข่งขันกันเสนอราคา กล่าวอีกนัยหนึ่ง เดิมการจัดหาพัสดุกำหนดโดย “วงเงินหรือราคา”แต่ตาม พรบ. ฉบับใหม่ “ไม่กำหนดวงเงินหรือราคา” การจัดซื้อจัดจ้าง ยกเว้นการจ้างที่ปรึกษาและจ้างออกแบบและควบคุมงาน ตามมาตรา 54 [2] ได้แก่ (1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป (2) วิธีคัดเลือก (3) วิธีเฉพาะเจาะจง

กล่าวโดยสรุปการจัดซื้อจัดจ้างใช้วิธีประกาศเชิญชวนไปก่อน หากไม่ได้ผลก็ใช้วิธีคัดเลือก และหาก วิธีเชิญชวนและวิธีคัดเลือกไม่ได้ผลให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง จากผู้ประกอบการโดยตรงได้ตามมาตรา 54 (3) [3] และมาตรา 55 (2) (ข) [4] เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอื่นๆ เช่น จำเป็นเร่งด่วนเพิ่มเติม หรือ มีข้อจำกัดทางเทคนิค หรือ ราชการลับ

อย่างไรก็ตาม กฎหมายใหม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยด้วย และปัญหาอุปสรรคต่อการจัดซื้อจัดจ้างนั้น ไม่ใช่แค่เรื่องราคาเท่านั้น แต่มีเรื่องคุณภาพเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย [5] ซึ่งในร่าง พรบ.ใหม่มีเพิ่มเกณฑ์ในการคัดเลือกให้คำนึงถึง “คุณภาพ” ด้วย ไม่ใช่พิจารณาแค่ “ราคาต่ำสุด” เพียงอย่างเดียว ตามมาตรา 10 [6]

(2) นำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในทุกขั้นตอน

แต่เดิมกระบวนการจัดหาพัสดุทุกประเภทมีขั้นตอนที่ไม่อาจสลับได้5 ขั้นตอน คือ (1) การรายงานขอความเห็นชอบการจัดหาพัสดุ (2) การดำเนินการจัดหาพัสดุ (3) การขออนุมัติ (4) การทำสัญญา และ (5) การตรวจรับพัสดุ [7]แต่ต่อไปตามร่าง พรบ.พัสดุฯ ฉบับใหม่ ขั้นตอนเหล่านี้ต้องดำเนินการกับ “คอมพิวเตอร์ออนไลน์” หรือ “internet”

การจัดซื้อจัดจ้างใน 2 วิธี (ระบบ) [8] คือ (1) ระบบการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e - market) และ (2) ระบบการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e - bidding) โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในทุกขั้นตอน หรือการใช้ระบบสื่อสารออนไลน์เป็นหลัก และให้มีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบเครือข่ายสารสนเทศ [9]ของกรมบัญชีกลาง เพื่อให้เกิด “ความคุ้มค่า โปร่งใส มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการตรวจสอบได้” กล่าวคือ เกิดความสะดวก รวดเร็ว เปิดเผย โปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ เป็นไปตามเจตจำนงของการจัดหาพัสดุ ตามหลักมาตรา 8 [10]

สำหรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พรบ. ฉบับใหม่ หมวด 6 ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง (มาตรา 53-67) เน้นที่การตรวจสอบโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล ในทุกขั้นตอน อาทิเช่น

(1) ผู้ประกอบการก่อสร้างที่จะเสนอราคา ต้องขึ้นทะเบียน กับ กรมบัญชีกลาง เว้นแต่กรมบัญชีกลาง ยังมิได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้าง และ อาจมีการกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอื่น ไว้กับกรมบัญชีกลางก็ได้ ดูมาตรา 50 [11] มาตรา 51 [12] เพื่อให้การพิจารณาจัดชั้นผู้ประกอบการก่อสร้างเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการประเมินผลการปฏิบัติงานผู้ประกอบการ ตามมาตรา 101 [13]

(2) หน่วยงานของรัฐต้องประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง ตามมาตรา 62 [14]

(3) หน่วยงานของรัฐต้องประกาศเผยแพร่สาระสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ ลงนามแล้ว รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนสัญญาหรือข้อตกลงในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 93 [15]

(4) หน่วยงานของรัฐต้องส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค แล้วแต่กรณี และกรมสรรพากร ภายในสามสิบวันนับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลง ตามมาตรา 94 [16] เป็นต้น

จากหลักการดังกล่าวถือเป็นการแก้ไขปัญหาการสมยอมกันในการเสนอราคาให้มีน้อยลง เช่น กรณีข่าวสนามฟุตซอลโรงเรียนเชียงราย ปี 2555 ยังไม่ถึง 2 ปี สนามเสียหาย พบว่ามีการทุจริต สมยอมกันในเรื่องการเสนอราคามาตั้งแต่ต้นทาง กรณีของโรงเรียน หรือสถานที่ก่อสร้าง เป็นเพียงปลายทาง [17] หรือกรณีข่าวปัญหาเส้นทางถนนทรุดตัวช่วงภัยแล้งเขตจังหวัดปทุมธานี พบข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากการสมยอมกันในการเสนอราคาจนทำให้มีปัญหาด้านคุณภาพงานจ้าง จากกรณีการประมูลงานจ้างซ่อมถนนในปี 2556 จำนวน 149 โครงการ วงเงิน 1,865.1 ล้านบาท แต่มีผู้รับเหมาอย่างน้อย 3 รายได้รับการว่าจ้างจำนวนมาก และมีผู้รับเหมา 18 ราย ที่เสนอราคาเท่ากัน ผู้ชนะเฉือนเพียง 10,000 บาท [18]

ปัญหาทางปฏิบัติเดิมของท้องถิ่นในการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เกิดช่องว่างในระเบียบปฏิบัติ ทำให้มีการสมยอมกันในการเสนอราคากันมากขึ้น ตามผลการศึกษาของยุทธนา ปาลบุตร (2557) [19] พบว่า ปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนใหญ่มาจากการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มีวงเงินรวมเกินสองล้านบาท จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามประกาศกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์การซื้อหรือการจ้างโดยประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองโดย ข้อ 6 (6) ของประกาศดังกล่าวกำหนดว่า ผู้ค้าจะเสนอราคาที่ใดก็ได้ ยกเว้นสำนักงานของตลาดกลางนั้น การบัญญัติเช่นนี้เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และก่อให้เกิดปัญหาการสมยอมการเสนอราคาได้ง่าย กล่าวคือ การตรากฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ค้าจะไปดำเนินการเสนอราคาที่สถานประกอบการของตน เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผย อาจก่อให้เกิดการกระทำที่มีเจตนาทุจริตได้ เพราะว่าผู้ค้าอาจจะมีการแอบหรือลักลอบโทรศัพท์ถึงกันเรื่องของการเสนอราคา หรืออาจจะมีการสมยอมการเสนอราคากันได้ อีกทั้งผลของการเสนอราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน ย่อมเป็นเหตุให้ผู้ค้าจะทราบผลของการเสนอราคาในระหว่างผู้ค้าด้วยกันและทำให้ไม่เกิดการแข่งขันราคาโดยเสรีอย่างเป็นธรรมตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การตรากฎหมายลำดับรองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กำหนดว่า ผู้ค้าจะเสนอราคาที่ใดก็ได้ ยกเว้นสำนักงานของตลาดกลางนั้น ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย และเปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงขึ้นในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเป็นช่องทางให้ผู้ค้ามีการสมยอมการเสนอราคากันหรือมีการฮั้วประมูลเกิดขึ้นได้ง่าย

(3) มีข้อกำหนดเกี่ยวกับข้อตกลงคุณธรรมและการตรวจสอบจากภาคประชาชน

มี “ข้อตกลงคุณธรรม” (IP- Integrity Pact) ในสัญญาว่าจะไม่มีการรับหรือให้สินบน และใช้ “ระบบ CoST” (Construction Sector Transparency Initiative) ตามร่างมาตรา 16 [20] เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้มีโอกาสเข้ามาตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ลดช่องทางการหาประโยชน์จากผู้มีอำนาจ และเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล โดยเอกชนที่จะเข้ามาเสนอราคาในการลงทุนในโครงการรัฐหรือขายสินค้าให้กับภาครัฐต้องมีการลงนามในสัญญาคุณธรรม และบริษัทนั้นๆ ต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ชัดเจนด้วย

(4) หลักการอื่นที่สำคัญ

การเตรียมการที่สำคัญอย่างหนึ่งของการจัดจ้าง ก็คือ “การจัดทำราคากลางงานก่อสร้าง” หรือ “การคำนวณราคากลางงานก่อสร้างตามบทบัญญัติคำนิยาม “ราคากลาง” ตามมาตรา 4 [21] ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนการรายงานขอความเห็นชอบในการจัดหาพัสดุ หลักการใหม่ตามร่าง พรบ. การจัดซื้อจัดจ้างการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ...” กำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับราคากลางและขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ” เป็นหลักการใหม่ ต่อไปปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการคิดคำนวณราคากลางที่ไม่เหมือนกันและหรือไม่ถูกต้อง คงไม่มี

(5) บทกำหนดโทษตามร่าง พรบ.ใหม่ การเอาผิดผู้บริหาร

ตามร่าง พรบ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ เน้นลงโทษทางอาญาครอบคลุมถึงผู้สั่งการให้จัดซื้อจัดจ้าง ได้แก่ นักการเมือง ผู้บริหารส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ทุจริต แต่เดิมมีเพียง “โทษทางวินัย” ของใหม่ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะได้รับโทษอาญาถึงสองเท่าตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามร่างมาตรา 115 [22] โดยไม่ต้องรอถึงกฎหมายอาญามาตรา 157 เป็นการเสริมหลักการตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/7 [23] และมาตรา 103/8 [24] ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐแสดงราคากลางและวิธีคิดราคากลางโครงการจัดซื้อจัดจ้างทุกโครงการไว้บนเว็บไซต์ และให้คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการนั้นต่อกรมสรรพากร [25]

ข้อพิจารณา

อย่างไรก็ตาม การต่อต้านการทุจริตถือเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาล และ คสช. เนื่องจากการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำลายสังคมมานาน จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน การนำหลักการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร หรือหลักการ “Open data” [26] เป็นกฎหมายที่กำหนดแนวทางปฏิบัติ (Soft Law or Guideline) อย่างหนึ่งจากต่างประเทศมาใช้ในสังคมไทย หรือ การถือปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อเรียกร้องหรือตามพันธสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ (Convention or Agreement) นั้น จะต้องคำนึงถึงบริบทและข้อจำกัดต่าง ๆ ของประเทศไทยประกอบด้วย เช่น เรื่องค่านิยม พฤติกรรมความประพฤติที่เป็นอุปสรรค เหล่านี้ โดยมีมาตรการเสริมอื่น อาทิ การปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมให้กับประชาชน และเยาวชนในโครงการ “โตไปไม่โกง”[27] เป็นต้น โดยเฉพาะการนำมาใช้ใน อปท. หรือท้องถิ่น ในความคาดหวังสูงสุดก็เพราะการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นแหล่งจัดหาพัสดุแหล่งใหญ่ที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศขับเคลื่อนด้วยปริมาณเงินหมุนสะพัดจำนวนมาก การมีมาตรการควบคุมการทุจริตหรือการจัดหาพัสดุที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ประหยัดงบประมาณ และทำให้การจัดหาพัสดุได้ดีมีประสิทธิภาพสูง ในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ก่อให้เกิดการพัฒนาโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมได้



[1] สรณะ เทพเนาว์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม 2558ปีที่ 65 ฉบับที่ 22748 หน้า 10 <การเมืองท้องถิ่น> & ใน เจาะประเด็นร้อนอปท‬. , ‎สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์‬ ปีที่ 62 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ที่ 7 - วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม 2558 หน้า 80

[2] มาตรา 54 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทำได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้

(1) วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการทั่วไป ที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่หน่วยงานของรัฐกำหนดให้เข้ายื่นข้อเสนอ

(2) วิธีคัดเลือก ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนเฉพาะผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสามรายให้เข้ายื่นข้อเสนอ เว้นแต่ในงานนั้นมีผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดน้อยกว่าสามราย

(3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง และให้รวมถึงการที่หน่วยงานของรัฐได้ติดต่อเพื่อจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้นกับผู้ประกอบการโดยตรงภายใต้เงื่อนไขตามมาตรา 55 (2) (ข)

[3] มาตรา 54 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุอาจกระทำได้โดยวิธี ดังต่อไปนี้ ... (3) วิธีเฉพาะเจาะจง ได้แก่ การที่หน่วยงานของรัฐเชิญชวนผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดรายใดรายหนึ่งให้เข้ายื่นข้อเสนอ หรือให้เข้ามาเจรจาต่อรองราคากับหน่วยงานของรัฐโดยตรง และให้รวมถึงการที่หน่วยงานของรัฐได้ติดต่อเพื่อจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้นกับผู้ประกอบการโดยตรงภายใต้เงื่อนไขตามมาตรา 55 (2) (ข)...

[4] มาตรา 55 การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุให้หน่วยงานของรัฐเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปก่อน เว้นแต่...

(2) กรณีดังต่อไปนี้ ให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง

... (ข) การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีการผลิต จำหน่าย หรือให้บริการทั่วไป และมีวงเงิน ในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งหนึ่งไม่เกินวงเงินตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ...

[5] ข้อสังเกต 5 ประการโดยแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา, “รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการข้อเสนอผลกระทบจากการเจรจา Thai-EU FTA ที่มีผลต่อการจัดหายาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง”, 2558 ดูใน “จับตา ร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เปิดทางต่างชาติมากไป-ยกเว้นอาวุธยุทโธปกรณ์”, 7 กรกฎาคม 2558, http://www.prachatai.com/journal/2015/07/60215

[6]มาตรา 10 การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของพัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้าง ให้หน่วยงานของรัฐคำนึงถึงคุณภาพ เทคนิค และวัตถุประสงค์ของการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุนั้น

กรณีเป็นพัสดุที่มีคุณลักษณะเฉพาะที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อ หรือแหล่งกำเนิด หรือประเทศผู้ผลิต ให้ระบุหรือเทียบเท่าไว้ด้วย เว้นแต่พัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามวัตถุประสงค์นั้นมียี่ห้อเดียว

[7] เกร็ดความรู้จัดซื้อจัดจ้าง, สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง

[8] ดู หนังสือคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ ด่วนที่สุด ที่ กค(กวพ) 0421.3/ว 150 ลงวันที่ 10 เมษายน 2558 เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Market : e - market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bidding : e - bidding)

[9] มานะนิมิตรมงคล, “การจัดซื้อจัดจ้างกับการพัฒนา”, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กับการป้องกันคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, 14 กันยายน 2557, http://www.anticorruption.in.th/act-procurement/

[10] มาตรา 8 การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของหน่วยงานของรัฐต้องก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่สาธารณะ และต้องสอดคล้องกับหลักการดังต่อไปนี้

(1) คุ้มค่า โดยพัสดุที่จัดซื้อจัดจ้างต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์ ในการใช้งานของหน่วยงานของรัฐมากที่สุด มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน

(2) โปร่งใส โดยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุต้องกระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม มีหลักฐานการดำเนินงานชัดเจน และมีการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุในทุกขั้นตอน

(3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยต้องมีการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุล่วงหน้าเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุทุกปี

(4) ตรวจสอบได้ โดยต้องมีการเก็บข้อมูลการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุอย่างเป็นระบบเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

[11] มาตรา 50 ผู้ประกอบการก่อสร้างที่จะเข้าร่วมการจัดจ้างงานก่อสร้างกับหน่วยงานของรัฐต้องเป็นผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลาง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้างที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนด โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการก่อสร้างทุกรายมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา

ในการจัดจ้างงานก่อสร้างใดที่กรมบัญชีกลางยังไม่ได้จัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการก่อสร้าง ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่ง

[12] มาตรา 51 ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการกำกับราคากลางอาจกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการอื่นสำหรับพัสดุประเภทหนึ่งประเภทใดไว้กับกรมบัญชีกลางด้วยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนดโดยจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกรายมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา

[13] มาตรา 101 เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐ ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่จะเข้ามาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐ…

[14] มาตรา 62 ภายใต้บังคับมาตรา 61 ให้หน่วยงานของรัฐประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด และในประกาศและเอกสารเชิญชวนให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างด้วย

[15] มาตรา 93 ให้หน่วยงานของรัฐประกาศเผยแพร่สาระสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงที่ได้ ลงนามแล้ว รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนสัญญาหรือข้อตกลงในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลางและของหน่วยงานของรัฐตามวิธีการที่กรมบัญชีกลางกำหนด

[16] มาตรา 94 ให้หน่วยงานของรัฐส่งสำเนาสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ให้สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค แล้วแต่กรณี และกรมสรรพากร ภายในสามสิบวันนับแต่วันทำสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ทั้งนี้ ภายในวงเงินที่กำหนดในกฎกระทรวง

[17] “ป.ป.ช.ลุยสอบสนามฟุตซอลโรงเรียนเชียงรายส่อทุจริต ชี้สมยอมกันตั้งแต่เสนอราคา”, ASTVผู้จัดการออนไลน์, 24 กรกฎาคม 2558, http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9580000083980

[18] จ้างซ่อมถนน จ.ปทุมฯ‘ผู้รับเหมา18 ราย’ เสนอราคาเท่ากัน-ผู้ชนะเฉือน 10,000 บาท, 26 กรกฎาคม 2558, http://www.isranews.org/investigative/investigate-procure/item/40195-report_40195.html

[19] ยุทธนา ปาลบุตร, ปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, วารสารบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ปีที่ 7 ฉบับที่ 2, 2557, http://journalgrad.ssru.ac.th/index.php/issue14/article/view/81

[20] มาตรา 16 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ หน่วยงานของรัฐอาจจัดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใดก็ได้ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้มีการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ตามโครงการความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐเจ้าของโครงการและผู้เข้ายื่นข้อเสนอ โดยทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันว่าจะไม่กระทำการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง และอาจให้มีผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่จำเป็นต่อโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยผู้สังเกตการณ์ต้องมีความเป็นกลาง และไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในโครงการจัดซื้อจัดจ้างนั้น แล้วให้รายงานความเห็นพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการความร่วมมือทราบด้วย

ผู้สังเกตการณ์ที่ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างตามวรรคสอง หากพบว่า มีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนหนึ่งขั้นตอนใด นอกจากรายงานให้คณะกรรมการ ความร่วมมือทราบแล้ว ให้มีการเผยแพร่รายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนด้วย

ในกรณีที่เห็นสมควร คณะกรรมการความร่วมมืออาจกำหนดวิธีการอื่นเพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง

[21] มาตรา 4 “ราคากลาง” หมายความว่า “ราคามาตรฐานหรือราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนด เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นข้อเสนอได้ยื่นเสนอไว้ซึ่งสามารถจัดซื้อจัดจ้างได้จริง และให้หมายความรวมถึงราคาที่ได้มาจากฐานข้อมูลราคาอ้างอิงของพัสดุที่กรมบัญชีกลางจัดทำ จากการสืบราคาจากท้องตลาด ราคาที่เคยซื้อหรือจ้างครั้งหลังสุดภายในระยะเวลาสองปีงบประมาณ หรือวิธีอื่นใดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ”

[22] มาตรา 115 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้โดยทุจริต ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดนั้น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เกิดจากการสั่งการหรือไม่สั่งการของผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนั้น ผู้มีอำนาจหน้าที่นั้นต้องรับโทษเป็นสองเท่าของความผิดที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง

[23] มาตรา 103/7 ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าตรวจดูได้…

[24] มาตรา 103/8 ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่รายงานต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างตามมาตรา ๑๐๓/๗ วรรคหนึ่ง โดยหน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการดังกล่าว และให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่ติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวด้วย…

[25] เปิด “11 ประเด็นสำคัญ” ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ให้ครอบคลุม “รัฐวิสาหกิจ-องค์กรอิสระ” เพิ่มช่องทาง ปชช.ร่วมตรวจสอบ, 9 กรกฎาคม 2558, http://thaipublica.org/2015/07/gov-procurement/

[26] วรากรณ์ สามโกเศศ, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, “ใช้ Open Data ปราบคอร์รัปชัน”, 18 ธันวาคม 2557, ตีพิมพ์ครั้งแรกในคอลัมน์ “อาหารสมอง”, นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ฉบับอังคาร 16 ธันวาคม 2557, http://thaipublica.org/2014/12/varakorn-36/& จีราวัฒน์ คงแก้ว, “Open Data” ‘เปิด’ ข้อมูล ‘เปลี่ยน’ สังคม, 13 มีนาคม 2558, http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/637444

[27] “บิ๊กตู่” ย้ำ รัฐบาลจริงจังปราบโกงทุกรูปแบบ-เล็งตั้งกองทุนขจัดการทุจริต, 17 กรกฎาคม 2558, http://www.isranews.org/isranews-other-news/item/39995-news01_39995.html

หมายเลขบันทึก: 593180เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2015 00:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2015 00:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ในฐานะผู้ปฏิบัติงานผมเห็นด้วยกับหลักการมีส่วนร่วมและวิธีการแข่งขันเสนอราคาที่จะช่วยลดการทุจริตลง แต่ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการจัดซื้อจัดจ้างในพรบ.นี้ เพราะเพิ่มความยุ่งยากมากมายทั้งในส่วนของราชการและร้านค้ารายย่อย โดยเฉพาะการจัดซื้อเล็กๆน้อยๆ เช่นซื้อกระดาษหรือวัสดุสำนักงานเล็กๆน้อยๆ ซึ่งเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่บ่อยที่สุด ที่จะต้องทำประกาศเชิญชวนแล้วรอให้ร้านค้ามาเสนอราคา รอการคัดเลือก หากจังหวัดไหนมีร้านค้าน้อย มันก็เท่ากับเป็นการเวียนเทียนกันขายของ ทั้งๆที่ราคาก็ใกล้เคียงกัน ทางร้านก็หงุดหงิดถามราคาแล้วก็ไม่ซื้อ ไม่เลือกเขา หรือเป็นการเพิ่มความยุ่งยากแก่ร้านค้าที่ต้องไปลงทะเบียนกับภาครัฐ ท่านพอจะทราบไหมว่าเจ้าของร้านพวกนี้เขาไม่รู้เรื่องเทคโนโลยีหรอก เขารู้+ชินกับระบบเก่าอยู่มาก ส่วนราชการเองกว่าจะได้ของก็อาจสายเกินแกงก็ได้

ถามว่าจะมีสักกี่ร้าน กี่หน่วยงานเชียวที่จะต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ดูอลังการเช่นนี้ แบบนี้มันเหมาะกับโครงการขนาดใหญ่มูลค่าสูงมากกว่า แต่ตอนนี้คงไม่ทันแล้วละครับ กฏหมายออกมาแล้วนี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท