ถอดบทเรียน KM FOR 2P2I (1): จากหัวใจ ครูอ๊อด คีรีบูน


“ผมอยากเป็นคนที่ทำแต่สิ่งดีๆ ให้สังคม” ครูอ๊อดกล่าว

คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดการประชุมวิชาการ การจัดการความรู้ : Share & Learn ประจำปี 2558 ในวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2558 ณ ห้องประชุมมิตรภาพ ชั้น 3 อาคารเรียนรวม ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีจนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กรก็ว่าได้

มีการเรียนรู้บทบาทของครูที่ดีจากวิทยากรภายนอกในงานเช่นเดียวกับทุกปี และจากการประเมินตนเองด้านการจัดการความรู้ขององค์กรในปีที่ผ่านมา ทำให้มีการปรับรูปแบบการจัดกิจกรรมกลุ่มจากการจัดแบ่งตามพันธกิจแบบเดิม เป็นการพยายามเน้นประเด็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ของคณะฯ ซึ่งมี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ Premium Professional International และ Innovation

เราใช้ชื่อย่องานกันง่ายๆ ว่าKM FOR 2P2I”

ภายหลังพิธีเปิดโดย รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ (ภาพบนขวา) ที่มี ผศ.ดร.ปิยธิดา คูหิรัญญรัตน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล (ภาพบนซ้าย) กล่าวรายงาน

รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ กล่าวถึงคำว่า “Share and Learn” ที่นำคำนี้มาใช้ รวมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 แล้วนั้น ผู้คิดคำนี้คือ รศ.จิตเจริญ ไชยาคำ

ผู้มีคุณูปการต่อ KM คณะแพทย์มาตั้งแต่ต้น รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ กล่าวช่วงท้ายว่า “...การนำเรื่องราวมาเล่าแบ่งปันทำให้เรามีประเด็นในการทำงานมากขึ้น หน่วยงานได้รับมรรคผล และคณะฯ มีภาพรวมที่ดีขึ้น และในฐานะที่เราเป็นโรงเรียนแพทย์ระดับโลกที่สร้างคุณประโยชน์ให้สังคม เรายินดีที่สร้างบรรยากาศที่ดีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปด้วยกัน...”

จากความสำคัญของ “ครูผู้เป็นผู้สร้างศิษย์” สู่คำคมของนักประพันธ์ผู้มีชื่อเสียง วิลเลียม อาเธอร์ วาร์ด จึงเป็นที่มาของการแสวงหา “ครู ผู้สร้างแรงบันดาลใจ” ดังกล่าว

การบรรยายในช่วงเช้าได้รับเกียรติจาก คุณรณชัย ถมยาปริวัฒน์ หรือ ครูอ๊อด คีรีบูน เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ เรื่อง การสร้างคนจากการเป็นครูของเรา “รอวันฉันรักครู

ครูอ๊อด คีรีบูน เคยเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปี2527-2528โดยเป็นนักร้องนำวงคีรีบูน มีบทเพลงที่มีชื่อเสียงคือ เพลง "รอวันฉันรักเธอ" ซึ่งเรานำชื่อเพลงของครูอ๊อดมาเป็นชื่อ session

ครูอ๊อด เล่าว่า ครูอ๊อดเกิดใน กทม.ก็จริงแต่ครูอ๊อดใช้ชีวิตแบบ “เด็กวัด” ได้ใกล้ชิดกับพระอาจารย์สายกรรมฐานและติดตามรับใช้พระอาจารย์ชินอยู่เสมอ ครูอ๊อดเรียนในโรงเรียนวัดเซิงหวาย มีความประทับใจในวิชาศิลปะเป็นพิเศษเพราะรู้สึกเป็นวิชาที่สร้างความสุข ซึ่งครูมักพาออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ จนมีโอกาสได้เป็นนักร้อง ครูอ๊อดเป็นนักร้องโด่งดังในปี 2527-2528 ขณะเดียวกันก็ติดตามช่วยงานพระอาจารย์ชินไปพร้อมๆกับเรียนหนังสือจนได้รับปริญญาบัตรจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ครูอ๊อดใช้ชีวิตติดกับวัดและพระอาจารย์มานาน ทำให้มีพื้นฐานการคิดติดอยู่กับหลักธรรมและปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม เป็นผู้ทำให้ผู้อื่นเสมอมา ครูอ๊อดบอกกับปากว่า “ผมเป็นเด็กที่มีนิสัยชอบความยุติธรรม ความถูกต้อง ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ” ดังนั้นในช่วงชีวิตบางช่วงจึงมีบทบาทที่แสดงออกซึ่งความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น

ขณะออกช่วยงานพระอาจารย์ เพียงประโยคเดียวของพระอาจารย์ชิน ที่กล่าวว่า “อ๊อดร้องเพลงก็ดีเนาะ ด้านหนึ่งก็ทำให้คนมีความสุข แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้คนหลงเหมือนกันเนาะ” ด้วยความที่เป็นเด็กและพระอาจารย์ก็ไม่ได้ขยายความให้ละเอียด ครูอ๊อดจึงตีความไปว่า การที่ทำให้คนหลง คงไม่ดี เป็นเหตุให้ครูอ๊อดตัดสินใจเลิกสัญญากับบริษัทค่ายเทป โดยมิได้แยแสกับรายได้ที่กำลังดีในขณะนั้น

“ผมอยากเป็นคนที่ทำแต่สิ่งดีๆ ให้สังคม” ครูอ๊อดกล่าว


ครูอ๊อดใช้เวลาช่วงต่อมาในบทบาทครู ร่วมไปกับพระอาจารย์ชิน สร้างงานให้กับเด็กๆ และสังคม เช่นสร้างโรงเรียน สอนหนังสือ ฝึกให้ชาวเขาเลิกฝิ่น เป็นต้น แต่อารมณ์สุนทรีย์ในเสียงเพลงของครูอ๊อดฝังในจิตวิญญาณ จึงบูรณาการบทเพลงเข้ากับบทเรียนแล้วถ่ายทอดให้กับเด็กๆ ที่สอนจนเกิดผลลัพธ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากมาย และตอนนี้ ครูอ๊อด” กลับพบว่า ดนตรีสร้างสรรค์งานและมีประโยชน์อื่นๆ อีกมากมาย

ครูอ๊อดมองว่าธรรมชาติของมนุษย์จะชอบบรรยากาศ “ผ่อนคลาย สนุก ตลก ตื่นเต้น ท้าทาย ได้ลุ้น” นี่จึงเป็นเครื่องมือที่ครูอ๊อดนำมาออกแบบการสอนให้เด็กๆ และนำมาเสนอให้ผู้ใหญ่รุ่นพ่อ-แม่ หรือย่า ยาย อย่างเราๆ ได้ทดลอง

ครูอ๊อดเล่าประสบการณ์ชีวิตที่เกี่ยวกับวัด พระอาจารย์ และหลักธรรมหลายเรื่อง สะท้อนพื้นฐานความคิดและจิตใจที่ซึมซับสิ่งดีมาโดยตลอด อาทิเช่น

“เขายิ่งทำ เขาจึงมี”

“ต้องให้ จึงจะได้”

ครูอ๊อดพูดว่า “เพราะการที่เป็นคนดี มันถูกตีกรอบ” ในตอนนั้นจึงตัดสินใจลาออกจากบริษัทค่ายเพลง เพียงเพราะคิดว่าเสียงเพลงทำให้คนหลง เมื่อเวลาผ่านไปจึงทราบว่าดนตรีสามารถสร้างสรรผลงานดีๆได้มากมาย

จะอย่างไรก็ตามเสียงเพลงของครูอ๊อดมิได้ทำให้ผู้ฟังหลงไหลไปในทางที่ผิดแต่อย่างใด แต่เสียงเพลงกลับทำให้ผู้คนผ่อนคลาย ผู้เขียนก็ใช้เสียงเพลงช่วยผ่อนคลายความเครียดให้ผู้ป่วยที่รู้ตัวขณะผ่าตัดภายใต้การได้รับยาชาเฉพาะส่วนอีกด้วย และผู้เขียนเองก็ใช้เสียงเพลงสร้างสมาธิในการอ่านหนังสือและทำงานมาโดยตลอด

คงไม่แพ้กันที่ รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ เองก็เล่าว่า ขณะนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ข้างหน้าต่าง ภายใต้บรรยากาศเย็นๆ พร้อมทั้งมีเสียงเพลง อ้อยใจ ของครูอ๊อด ลอยตามลมมาเบาๆ สร้างความสุขและประทับใจจนจดจำได้ถึงทุกวันนี้

อยากบอกครูอ๊อดว่า

เชื่อเถอะ เสียงเพลงของครูสามารถสร้างคนและสร้างงานในวงการสาธารณสุขได้มากมาย และมหัศจรรย์อย่างไม่น่าเชื่อ


กฤษณา สำเร็จ

27 กรกฎาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 592910เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2015 23:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 กรกฎาคม 2015 00:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท