ระหว่างวันที่ 13-15 กรกฎาคม 2558 ที่ประชุมคณบดีและหัวหน้าสถาบันการศึกษาสาขาพยาบาลศาสตร์ของรัฐ (ทคพย.) ได้จัดการประชุมวิชาการเรื่องการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สู่การปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนพยาบาลศาสตร์สู่สังคมในศตวรรษที่ 21 ที่โรงแรมไมด้า ซิตี้ รีสอร์ท ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร มีผู้ลงทะเบียนเข้าประชุมเกือบ 300 คน
ดิฉันและทีมของสำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องย่อย รวมทั้งสถานที่และอาหาร คนทำงานจึงมีทั้งทีมอาจารย์ที่เข้าประชุมและนำเสนอผลงานของตนเอง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนอีก 2 คนคือคุณแหม่ม รัตนากร บุญกลาง ที่มีประสบการณ์ช่วยจัดการประชุมของเครือข่ายเบาหวานมาหลายเวที และคุณตาล กชพรรณ นุ่นสังข์ ที่เก่งเรื่องการใช้เทคโนโลยีและได้ร่วมนำเสนอผลงานการจัดการเรียนการสอนแบบ M Learning ด้วย
การประชุมครั้งนี้มีการบรรยายพิเศษวันละ 1 เรื่อง เวลาที่เหลือเป็นกิจกรรม ลปรร. ในห้องย่อย 2 ห้อง ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีอาจารย์พยาบาลจากสถาบันต่างๆ ส่ง best practice ด้านการจัดการเรียนการสอนมานำเสนอรวม 24 เรื่อง
เราออกแบบกิจกรรมในห้องย่อยโดยมี facilitators ประจำห้อง ทำหน้าที่ตั้งคำถามที่กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศเชิงบวก เราจัดเวลาสำหรับการนำเสนออย่างเพียงพอ ไม่เร่งรัดหรือเร่งรีบ ให้ผู้นำเสนอได้เล่ารายละเอียดที่เป็น How to และผลที่เกิดขึ้น ส่วนผู้ฟังก็ขอให้ฟังอย่างตั้งใจ คอยฟังให้ได้ว่าเจ้าของเรื่องมีเทคนิค/วิธีการอย่างไร เราใช้เทคนิค “ไฟจราจร” และ “สองดาว หนึ่งหวัง” ที่เคยใช้ได้ผลดีมาแล้ว (อ่านที่นี่) เป็นเครื่องมือให้ผู้ฟังได้มีส่วนร่วมอย่าง active เมื่อสิ้นสุดการนำเสนอในแต่ละวันเราให้ผู้เข้าประชุมเลือกเรื่องเล่าที่ตนเองประทับใจมากที่สุด พร้อมระบุ “สองดาว หนึ่งหวัง” ของเรื่องนั้นๆ
ตอนเช้าวันที่ 13 กรกฎาคม ดิฉันนัดทีมทำงานคุยเรื่องการดำเนินกิจกรรมในห้องย่อย ซักซ้อมความเข้าใจเรื่องกิจกรรมที่วางแผนไว้
ซักซ้อมทีมทำงาน
เราช่วยกันปรับคำพูด (ประเมินเทคนิค/วิธีการ) ให้มีลักษณะเชิงบวกมากขึ้น คือ
รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์ ประธาน ทคพย. ประธานจัดการประชุมวิชาการครั้งนี้ กล่าวต้อนรับผู้เข้าประชุม
เวลา 10.00-12.00 น. มีการบรรยายพิเศษเรื่อง แนวคิดการจัดการเรียนการสอนแบบ Transformative Learning โดย ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและดำรงตำแหน่งที่สำคัญซึ่งทำประโยชน์ให้แก่บ้านเมืองอีกหลายตำแหน่ง การบรรยายของอาจารย์วิจารณ์ให้ความรู้และข้อคิดที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการนำไปใช้พัฒนาการจัดการเรียนการสอน เราจะถอดเทปคำบรรยายมาจัดพิมพ์เป็นหนังสือต่อไป
การบรรยายพิเศษ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช
กิจกรรมในห้องย่อยเริ่มขึ้นในเวลา 13.00 น. แม้พวกเราหวั่นใจอยู่บ้างว่าวิธีการที่ออกแบบไว้นั้นจะใช้การได้ดีหรือเปล่า แต่ทีม facilitators ก็ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ดิฉันอยู่ประจำห้องย่อยที่ 2 ร่วมกับ รศ.ดร.สายฝน เอกพลากร ผศ.ดร.วิภาวรรณ ชะอุ่ม เพ็ญสุขสันต์ และ อ.ดร.กนิษฐ์ โง้วศิริ ผู้นำเสนอแต่ละคนเล่าเทคนิค/วิธีการจัดการเรียนการสอนของตนได้อย่างน่าสนใจ มีตัวอย่างกิจกรรมหรือเครื่องมือที่ใช้ให้ได้เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ฟังก็เปิดใจรับ ให้คำชื่นชมและตั้งคำถามในเชิงบวก ทำให้บรรยากาศดีมากๆ ต่างจากการนำเสนอผลงานวิชาการทั่วๆ ไป
ผู้ฟังในห้องย่อย ยกกระดาษสี "ไฟจราจร"
ผู้เข้าประชุมจำนวนน้อยที่มีการย้ายห้องย่อย เมื่อจบกิจกรรมวันแรกก็ได้รับทราบว่ากิจกรรมในห้องย่อยที่ 1 ซึ่งมี รศ.ดร.จรวย สุวรรณบำรุง รศ.ดร.พูลสุข หิงคานนท์ และ ผศ.ดร.เกียรติกำจร กุศล เป็น facilitators ก็ได้รับการตอบรับจากผู้เข้าร่วมประชุมดีมากๆ เช่นกัน ทีมทำงานจึงมีกำลังใจที่จะทำงานให้ดียิ่งขึ้นในวันต่อๆ ไป
หลังเสร็จสิ้นการประชุมในวันแรก ทีม facilitators สรุปการทำงานและช่วยกันออกแบบว่าวันรุ่งขึ้นจะนำเสนอข้อมูลใด อย่างไร ในห้องประชุมใหญ่ เพื่อให้ผู้เข้าประชุมทุกคนได้รับรู้ว่าห้องย่อยแต่ละห้องมีการนำเสนอเรื่องเล่าใดบ้าง แต่ละเรื่องมีสาระสำคัญ (สองดาว หนึ่งหวัง) อะไร
ทีมงานจาก มวล. ไป enjoy อาหารเย็นร่วมกันที่ร้านแพรวที่อยู่ไม่ไกลจากโรงแรม
วัลลา ตันตโยทัย
บันทึกเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2558
ไม่มีความเห็น