Thai DE : กระดาษสามสีและคำถามกระตุ้นความสนใจการเรียนรู้


เทคนิคที่ใช้ข้างต้นสามารถกระตุ้นความสนใจ (engagement) ของผู้เข้าอบรมได้อย่างดี มีผู้ยกมือตอบคำถามและให้ข้อแนะนำกันอย่างคึกคัก

สมาคมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน (Thai Association of Diabetes Educators, TDE) จัดอบรมผู้ให้ความรู้โรคเบาหวาน หลักสูตรพื้นฐานให้บุคลากรสหสาขาวิชาชีพด้านสุขภาพ รุ่นที่ 1/2558 จำนวน 100 กว่าคน ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2558 ณ ห้องประชุม ชั้นที่ 17 อาคารใหม่ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ

ดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นวิทยากรในหัวข้อ Education & Empowerment ซึ่งปีนี้จัดเวลาให้เป็น 2 ชั่วโมงสุดท้ายของหลักสูตรคือเวลา 10.00-12.00 น. วันที่ 22 พฤษภาคม 2558

ดิฉันออกเดินทางจากนครศรีธรรมราชช่วงหัวค่ำของวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ระหว่างที่อยู่บนเครื่องบินก็คิดหาวิธีการว่าจะจัดการเรียนรู้อย่างไรที่จะไม่ให้ทั้งตัวเองและผู้เข้าอบรมเบื่อหน่าย ผู้เข้าอบรมเกิดแรงบันดาลใจอยากจะไปทำหน้าที่ของผู้ให้ความรู้ฯ

ปกติขณะที่นั่งอยู่บนเครื่องบิน ดิฉันมักจะอ่านเอกสาร ตรวจรายงานต่างๆ หรืออ่านหนังสืออยู่เสมอ ปีที่แล้ว ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้หนังสือ การประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ (Embedded Formative Assessment) ซึ่งสำนักพิมพ์สานอักษร นำเนื้อหาที่อาจารย์วิจารณ์ได้บันทึกในบล็อก gotoknow.org ไปจัดพิมพ์เป็นหนังสือประกอบภาพ ทำให้อ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย และหนังสือเล่มเล็กๆ ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญา ชื่อ เทคนิคกระบวนการ Active Learning : จากการประเมินสู่การพัฒนาการเรียนรู้


หนังสือสองเล่มที่ได้รับจาก ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช


เนื้อหาข้างในหนังสือการประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้


ดิฉันอ่านหนังสือ 2 เล่มนี้บ่อยๆ และแนะนำลูกสาวและลูกชายที่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยให้อ่านด้วย รวมทั้งให้ส่วนส่งเสริมวิชาการของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ซื้อหนังสือการประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ ไปแจกจ่ายให้แก่อาจารย์ที่เข้าร่วมการประชุม/อบรมด้านการเรียนการสอน

คืนนั้นดิฉันเกิดปิ๊งเทคนิค "ไฟจราจร" "สองดาวหนึ่งหวัง" และ "การสรุปบทเรียน" ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้โดยไม่ต้องเตรียมอุปกรณ์ข้าวของอะไรมากมายและจะทำให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกับวิทยากรด้วย สิ่งที่จะต้องหาเพิ่มคือกระดาษ 3 สี เขียว เหลือง แดง

เมื่อออกจากสนามบินดอนเมืองได้ ก็รีบ search internet ว่า OfficeMate ที่อยู่ไม่ไกลจากบ้านพักปิดกี่ทุ่ม ข้อมูลบอกว่าปิด 21.00 น. ก็เลยรีบเดินทางไป การจราจรในเส้นทางคืนนี้เป็นใจเพราะรถไม่ติด ไปถึงหน้าร้านตอนประมาณ 20.40 น. พบว่าประตูปิดล็อกแล้วแต่ยังมีพนักงานอยู่ในร้านสองคน เคาะกระจกถามเขาก็พูดตอบ อ่านจากปากได้ความว่าปิดแล้ว หันมองที่หน้ากระจกก็จริงเพราะมีเวลาติดไว้ว่าปิด 20.00 น. (ฮา) แต่ที่กรุงเทพฯ เสียอย่างจะหาอะไรก็สะดวกไปหมด ดิฉันจึงเปลี่ยนที่หมายไปร้าน B2S ที่ตลาดสมัยใหม่สำหรับคนเมืองแถวถนนเกษตรนวมินทร์ ซึ่งปิดเวลา 22.00 น. ได้กระดาษ A4 สีเขียว เหลือง ส้ม มาสีละ 50 แผ่น

ดิฉันให้ทีมงานที่ช่วยจัดการอบรมเอากระดาษทั้ง 3 สี ตัดครึ่งแผ่น จัดเป็นชุดๆ ละ 3 สี แจกให้ผู้เข้าอบรมทุกคน พร้อมทั้งเตรียมหนังสือเรื่องเล่าเบาหวานเล่มที่ 1 ที่เหลืออยู่ 25 เล่มไปแจกผู้เข้าอบรมที่ร่วมกิจกรรมด้วย

ดิฉันแบ่งเวลาของกิจกรรมการเรียนรู้เป็น 2 ช่วง หนึ่งชั่วโมงแรกเป็นการบรรยายแนวคิดและหลักการ รวมทั้งกระบวนการของ Self-management Education และ Empowerment ชั่วโมงที่สองเป็นการนำเสนอตัวอย่างเทคนิค/วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เป็นเบาหวาน ซึ่งได้มีการใช้ปฏิบัติจริงมาแล้ว คราวนี้ก็ใช้เทคนิค "ไฟจราจร" หรือ "สองดาว หนึ่งหวัง" ได้

การใช้เทคนิค "ไฟจราจร" นั้น ดิฉันให้ผู้เข้าอบรมชูกระดาษสีที่ตรงกับความรู้สึกของตนเอง

  • สีเขียว = ดีกว่าที่ฉันจะทำได้ (หรือยอดเยี่ยมมาก ฉันทำไม่ได้อย่างนี้......)
  • สีเหลือง = พอใช้ได้ (หรือ ธรรมดา พบได้ทั่วๆ ไป...)
  • สีส้ม (แดง) = ไม่ดีเท่ากับที่ฉันจะทำได้ (หรือ ฉันทำได้ดีกว่านี้.....)

และมีคำถามเพิ่มเติมว่า ถ้าจะทำให้ดีกว่าเดิมควรปรับปรุงอย่างไรบ้าง ผู้เข้าอบรม (ที่ยกกระดาษสีเหลืองหรือส้ม) ก็จะได้เสนอประสบการณ์ของตนเอง หรือให้ข้อคิดเห็น


บรรยากาศในห้องประชุม


บางกรณีดิฉันก็ใช้เทคนิค "สองดาว หนึ่งหวัง" คือให้ผู้เข้าอบรม พิจารณาตัวอย่างเทคนิค/วิธีการส่งเสริมการเรียนรู้แต่ละวิธีแล้วให้บอกว่ามีประเด็นอะไรที่น่าชื่นชม 2 ประเด็น (สองดาว) ส่วน หนึ่งหวัง คือข้อแนะนำให้ปรับปรุง

เทคนิคที่ใช้ข้างต้นสามารถกระตุ้นความสนใจ (engagement) ของผู้เข้าอบรมได้อย่างดี มีผู้ยกมือตอบคำถามและให้ข้อแนะนำกันอย่างคึกคัก


การมีส่วนร่วมของผู้เข้าอบรม


ต่อจากนั้นดิฉันฉายวิดีโอกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงเบาหวานในโครงการการป้องกันโรคเบาหวานในชุมชนหรือ Thai DPP ซึ่งเป็นกิจกรรมของทีมโรงพยาบาลท่าศาลาที่ใช้ปรอทอารมณ์ช่วยให้กลุ่มเสี่ยงเรียนรู้วิธีการปรับ อ.ที่สามคืออารมณ์

ปิดท้ายด้วยการให้ผู้เข้าอบรมเขียนบันทึกการเรียนรู้ของตนเองตามประเด็นที่ตั้งให้ โดยให้ผู้เข้าอบรมเลือกตอบเพียง 2-3 ประเด็น ซึ่งก็คล้ายกับ AAR เช่น

  • วันนี้ฉันได้เรียนรู้................................................
  • ฉันสนใจเรื่อง....................................................
  • ฉันประหลาดใจเรื่อง...........................................
  • สิ่งที่ฉันไม่แน่ใจ/ไม่เข้าใจคือ................................
  • สิ่งที่ฉันอยากเรียนรู้เพิ่มเติมคือ.............................
  • ฉันน่าจะน่าจะเรียนรู้ได้มากกว่านี้ถ้า.......................
  • สิ่งที่ฉันจะเอาไปใช้ต่อคือ....................................

เวลาหมดเสียก่อน ดิฉันจึงไม่ได้ให้ผู้เข้าอบรมได้เสนอการเรียนรู้ของตนเอง คราวหน้าจะต้องพยายามจัดให้มีเวลาสำหรับกิจกรรมส่วนนี้ด้วย


กลุ่มผู้เข้าอบรมและคณะกรรมการสมาคมฯ ถ่ายภาพร่วมกัน


วัลลา ตันตโยทัย

บันทึกเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2558

หมายเลขบันทึก: 590687เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 19:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2015 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท