สื่อสารลูกดื้อให้ดีงาม


ขอบพระคุณหนังสือที่ดีมากจากรักลูกกรุ๊ป Andrew Fuller (เขียน) อมรรัตน์ ศรีสุรินทร์ (แปล) วิธีสร้างเด็กดีภายใน 6 สัปดาห์, 2551. และประสบการณ์ของผู้ปกครองลูกวัยรุ่นที่มาปรึกษานักกิจกรรมบำบัดจิตสังคมอย่างผม

ผมเดาไม่ผิดเลยว่าผู้เขียนหนังสือดีๆเล่มนี้มีประสบการณ์เป็นนักจิตวิทยาบำบัดปัญหาครอบครัว ณ ออสเตรเลีย ขอบพระคุณคุณ Andrew Fuller มากครับที่สื่อสารประเด็นตามที่ผมได้ศึกษา "โปรแกรมโรงเรียนการจัดการความสุข: สุขภาวะจิตสังคมด้วยกิจกรรมบำบัดครอบครัว" และมีความฝันอยากให้ทุกครอบครัวไทยได้เรียนรู้อย่างมีระบบและเป็นรูปธรรมจากสหวิชาชีพอย่างแท้จริง คลิกดูคลิปกิจกรรมบำบัด [ขอบพระคุณ Youtube.com และรายการสะพานสายรุ้งของมูลนิธิเด็ก] ได้ที่ คลิปสื่อสารเพศวิถี กับ คลิปสื่อสารสมาธิสั้น

เคล็ดลับ 10 ประการที่คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกทักษะการสื่อสารกับลูกๆ คือ

  • อย่าพยายามแก้ไขปัญหาลูกมากจนเหนื่อย...ควรเรียนรู้การปรับพฤติกรรม (ดัดจริตที่ไม่ดีและส่งเสริมจริตที่ดี) อย่างน้อยเป็นเวลา 6 สัปดาห์
  • ขณะลูกอารมณ์เสียและชวนทะเลาะ เสียเวลาเปล่าที่จะอธิบายเหตุผล เพราะเป็นกลไกให้สมองอารมณ์ทำงาน (ก้านสมองกับต่อมอามิกดาลา) แต่หยุดการทำงานที่ตั้งใจเรียนรู้จากการฟัง
  • อย่าเถียงลูกยิ่งทำให้เกิดความรุนแรง (โทสะ) และมีแต่ความคิดเลอะเทอะที่เต็มไปด้วยปมปัญหา
  • ไม่ว่าจะพูดอะไรกับลูกก็ไม่เท่าที่คุณชวนลูกลงมือทำด้วยความจริงใจ ใส่ใจ และเข้าใจ กลายเป็นการกำหนดธรรมเนียมปฏิบัติหรือกิจกรรมที่คุณทำเป็นประจำของครอบครัว เช่น การดูหนังกับครอบครัววันจันทร์ การดูแลสัตว์เลี้ยงด้วยกัน การเล่นกีฬาด้วยกัน การไปทำบุญวันอาทิตย์ การทำอาหารมื้อกลางวันวันเสาร์ ฯลฯ โดยไม่จำเป็นต้องเลื่อนหรือหยุดทำเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่มีปัญหา เช่น ดื้อไม่อยากทำ ร้องไห้เรียกร้องความสนใจ
  • ความยืดหยุ่นจะทำให้คุณมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง และไม่ต้องสร้างความคิดเชิงลบเมื่อลูกดื้อและสร้างปัญหา คุณสามารถแสดงความรักต่อลูกโดยไม่ต้องยอมตามใจลูกมากเกินไป แต่ให้เวลาพักผ่อนและดูแลตัวเองสักพักให้สุขภาพกายใจดี ช่วยลูกให้น้อยลง และพูดรักเขาอย่างเต็มใจและชัดเจน ย้ำกับตัวเองว่า "ถ้าไม่มีเรา ลูกต้องหัดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง สิ่งที่ท้าทายและยากลำบากย่อมสร้างทักษะชีวิตอันแข็งแกร่ง" ตลอดจนควรหาโอกาสให้ลูกได้พบเพื่อนใหม่ๆ เพื่อฝึกฝนทักษะทางสังคมจากมิตรภาพที่หลากหลาย และการค้นหาผู้ใหญ่คนนอกครอบครัวที่รักลูกเราได้มีบทบาททำกิจกรรมทักษะสังคมกับลูกเรามากขึ้น (มิใช่อบรมวินัย-แก้ปัญหาลูกดื้อ)
  • อย่าเข้านอนทั้งๆที่ยังทะเลาะกันระหว่างลูกกับพ่อแม่ เพราะความทรงจำที่ดีก่อนเข้านอนชวนให้ฝันระยะยาวผ่านจิตใต้สำนึกที่ดี
  • ทำความรู้จักกับเพื่อนๆของลูกกับผู้ปกครองของเพื่อนๆของลูก ผ่านกิจกรรมทักษะสังคม เช่น การเล้ยงอาหาร การจัดงานปาร์ตี้ การเป็นเจ้าภาพท่องเที่ยวต่างๆ
  • มองหาสื่อการเรียนรู้รอบๆตัวลูก เพื่อพยายามเริ่มต้นการสนทนาประเด็นสร้างสรรค์ เช่น พูดถึงครูที่โรงเรียน พูดถึงพ่อแม่เพื่อนๆของลูก รายการทีวีโปรดของลูก (ใช้เวลานั่งดูทีวีโปรดของลูก 3 สัปดาห์โดยไม่แสดงความคิดเห็น แล้วเริ่มสนทนาบ้าง)
  • เลือกจังหวะเวลาที่ลูกมีสติสัมปชัญญะและตื่นรู้ โดยบอกสิ่งที่คุณอยากให้เขาทำ แล้วเดินไปที่อื่น แล้วหวนกลับมาดูและพูดเป็นช่วงๆ ถ้าลูกเริ่มทำในสิ่งที่เราอยากให้เขาทำบ้าง ก็ปรบมือ หรือ ชื่นชม หรือ กอดด้วยความรัก เช่น ให้อาหารแมวด้วย แล้วเดินไปครัว กลับมาพูด ดีจัง ลูกขยับตัวบ้างแล้ว ก็เดินไปที่อื่น แล้วกลับมาพูด นี่แมวอยู่นี่ มาให้อาหารแมวกัน เป็นต้น
  • ลูกดื้อต้องการสัมผัสความรักจากพ่อแม่มากกว่าลูกที่ไม่ดื้อ เพราะอารมณ์ที่ไม่นิ่งย่อมเรียกร้องความรู้สึกที่ไม่แน่นอน จงสื่อสารให้ลูกรับรู้ความเป็น "กัลยาณมิตร" คือ ขณะที่ลูกเติบโต ลูกอยากได้อะไร ลูกจะเข้ามาต่อรองกับคุณ นั่นคือ ลูกจะอยู่ข้างคุณและเป็นแรงสนับสนุนที่ดีที่สุดของคุณเสมอ เพราะลูกจะดึงส่วนที่แย่ที่สุดของคุณออกมา เช่น ความอยากควบคุมลูก คุณควรดึงจุดแข็งหรือจุดบวกของลูกออกมามากกว่าคอยแก้ไขปัญหาพฤติกรรมของลูก ที่สำคัญช่วยดึงสิ่งที่เป็นลบหรือเป็นอันตรายกับลูกเชิงพฤติกรรมเลียนแบบออกมาให้เร็วและมากที่สุด มิใช่ปล่อยตามธรรมชาติด้วยความไร้เดียงสาของลูก และสุดท้ายคุณไม่จำเป็นต้องเอาชนะลูกทุกครั้งไป
หมายเลขบันทึก: 592598เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณมากครับสำหรับกำลังใจจากอ.นุ พี่ธิรัมภา คุณแม่ดีดี คุณ for far และคุณวินัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท