วิชาการพัฒนานิสิต (๒๕) ว่าด้วยหลักคิดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน (โครงการเพื่อการพัฒนานิสิต)


ว่าด้วยแนวคิดของการจัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือหลักคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน เป็นการปูพรม หรือติดอาวุธทางปัญญาให้กับนิสิตก่อนลงสู่ชุมชน มิใช่ปล่อยลงชุมชนแบบไม่มีหลักคิด-ไม่มีเครื่องมือ กรีดกรายในชุมชนอย่างน่าหดหู่ใจ หรือไม่มีทักษะในการเรียนรู้นั่นเอง

การเรียนการสอนรายวิชาการพัฒนานิสิต เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2558 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นประเด็นการเรียนรู้เกี่ยวกับแนวคิดของการจัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือหลักคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน ซึ่งผู้สอนคือ ดร.มลฤดี เชาวรัตน์



ดร.มลฤดี เชาวรัตน์ ปัจจุบันสังกัดคณะเทคโนโลยี ดำรงตำแหน่งรองคณบดี เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม อดีตคือผู้นำนิสิต –

การเรียนการสอนในวันดังกล่าว ยังคงดำเนินการตามขนบ หรือครรลองเดิมๆ เหมือนเช่นทุกครั้ง นับตั้งแต่การแจกใบงาน ตรวจทานการแต่งกาย เปิดวีดีทัศน์ให้นิสิตได้ดู-ได้เรียนรู้ รวมถึงการนำเสนอผลการเรียนรู้ในชั่วโมงที่ผ่านมาของนิสิต ทั้งปวงนั้นจะบริหารจัดการโดยทีมกระบวนกร และนิสิตควบคู่กันไป




การเรียนการสอนในเรื่องดังกล่าวนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้นิสิตได้มีความรู้เกี่ยวกับแนวทางของการจัดกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับชุมชน หรือเรียกเป็นวาทกรรมง่ายๆ คือ “ลงชุมชน” นั่นเอง

การลงชุมชนในมิติรายวิชาการพัฒนานิสิต หมายถึงการลงไปจัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิตบนฐานคิดของการ “เรียนรู้คู่บริการ” ซึ่งการเรียนรู้คู่บริการ คือ กิจกรรม หรือกระบวนการที่เกิดจากการบูรณาการโจทย์อันเป็นความต้องการของนิสิตกับชุมชนเข้าด้วยกันเป็นหัวใจหลัก ส่วน “ชุมชน” ในที่นี่ก็เป็นได้ทั้งภายในมหาวิทยาลัย และภายนอกมหาวิทยาลัย




ดร.มลฤดี เชาวรัตน์



ด้วยเหตุนี้การลงชุมชนในรายวิชาพัฒนานิสิต จึงสัมพันธ์กับการจัดการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นชั้นเรียน – ใช้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และเน้นการเรียนรู้เป็นทีมผ่านกิจกรรม เป็นหัวใจหลัก

เช่นเดียวกับการบรรยายในชั้นเรียนของวันนี้ ก็มุ่งเน้นสู่ประเด็นหลักคิดสำคัญๆ 9 ประการ คือ

  • รู้ตัวตนโครงการ
  • ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า
  • เราไม่ใช่นักเสกสร้าง
  • ทุกเส้นทางมีปัญหา
  • คลังปัญญาชุมชน
  • เราคือคนต้นแบบ
  • อย่าแยกส่วนการเรียนรู้
  • หันกลับไปดูบ้านเกิด
  • ก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่




ทั้ง 9 ประการ/ประเด็น เป็นหลักคิดพื้นฐานจากหลักคิดของ “คนทำค่าย” ที่ผมได้สั่งสมและขีดๆ เขียนๆ ไว้เมื่อหลายปีก่อน จนที่สุดก็นำมาผนึกเป็นส่วนหนึ่งในประเด็นการเรียนรู้ของรายการวิชาพัฒนานิสิต โดยให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ เป็นต้นว่า

  • รู้ตัวตนโครงการ : คือการรู้ว่าตนเองจะไปทำอะไร ทำที่ไหน ทำอย่างไร ทำกับใคร เพื่ออะไร อะไรคือแรงบันดาลใจ อะไรคือโจทย์การเรียนรู้ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือกระบวนการต้นน้ำที่เป็นเสมือนการย้ำเน้นให้นิสิตได้มียุทธศาสตร์ในการทำงาน มิใช่ไม่รู้ว่าตัวเองคิดอะไร จะทำอะไร...เพื่ออะไร
  • ทุกถิ่นฐานมีเรื่องเล่า : คือการเน้นย้ำให้นิสิตตระหนักถึงเรื่องราวบริบทชุมชน (ทุนทางสังคม) โดยเฉพาะการมุ่งให้นิสิตได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ชุมชน
  • เราไม่ใช่นักเสกสร้าง : คือการเน้นย้ำให้นิสิตตระหนักในบทบาทของตนเองว่าเป็นเสมือน “ผู้เรียนรู้” ไม่ใช่นักสร้างที่สามารถเนรมิตสิ่งใดๆ ได้อย่างเสร็จสรรพ เป็นการซ่อนสัญญะให้นิสิตได้รับรู้ว่า ชุมชนมีความรู้ และการงานที่ดีต้องเป็นการงานของการเรียนรู้คู่บริการ ที่หมายถึงทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างนิสิตกับนิสิต และนิสิตกับชุมชน



หรือกระทั่งประเด็นอื่นๆ เช่น การเชื่อมโยงให้เห็นการเรียนรู้แบบไม่แยกส่วน เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการผ่านวาทกรรมสำคัญๆ เช่น คลังปัญญาชุมชน (ชุมชนคือห้องเรียนที่เต็มไปด้วยความรู้และขุมทรัพย์หลากมิติที่นิสิตต้องสืบค้นให้เจอ)

หรืออย่าแยกส่วนการเรียนรู้ที่หมายถึงการมุ่งให้นิสิตได้ตระหนักความเชื่อมโยงอันเป็นหนึ่งเดียวของชุมชนที่ประกอบด้วยโครงสร้างสำคัญๆ คือ “บวร” –บ้าน-วัด-โรงเรียน (ราชการ)




นี่คือส่วนหนึ่งของประเด็นการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาพัฒนานิสิตที่ว่าด้วยแนวคิดของการจัดโครงการเพื่อการพัฒนานิสิต หรือหลักคิดของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการกับชุมชน เป็นการปูพรม หรือติดอาวุธทางปัญญาให้กับนิสิตก่อนลงสู่ชุมชน มิใช่ปล่อยลงชุมชนแบบไม่มีหลักคิด-ไม่มีเครื่องมือ กรีดกรายในชุมชนอย่างน่าหดหู่ใจ หรือไม่มีทักษะในการเรียนรู้นั่นเอง

เพราะเชื่อว่า การให้กรอบแนวคิดเบื้องต้นเช่นนี้ เป็นเสมือนการเตรียมเสบียงอาหารการกินให้นิสิตได้เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้ชีวิตดีๆ นั่นเอง และเป็นการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำร่วมกันอย่างเป็นทีม ทั้งนิสิตกับนิสิตและนิสิตกับชุมชน โดยเชื่อว่า "การลงมือทำ" ไม่ได้ก่อเกิดแต่เพียงทักษะชีวิตเท่านั้น หากแต่เป็นกระบวนการบ่มเพาะความเป็นเยาวชนจิตอาสาให้แก่นิสิตไปในตัว

ด้วยเหตุนี้ การเรียนรู้ที่มุ่งสู่การลงมือทำจริงในรายวิชาพัฒนานิสิต จึงเป็นหลักคิดที่เชื่อว่า การลงมือทำ คือบ่อเกิดแห่งปัญญา (ปัญญาปฏิบัติ)

ทั้งปวงอยู่ที่นิสิต-ผู้เรียนเองนั่นแหละว่าจะ "ใส่ใจ" ต่อการเรียนรู้แค่ไหน !



ภาพ : ทีมกระบวนกรวิชาการพัฒนานิสิต

หมายเลขบันทึก: 592590เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 08:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กรกฎาคม 2015 09:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท