ปัญหามา ปัญญาเกิด (๒) : มองจากกระจกสะท้อน


เมื่อทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง LS จะพาเราไปถึงจุดที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของเรา และจุดนั้นจะเป็นจุดวิกฤติที่เราผ่านไปได้ยากที่สุด เป็นจุดที่ถ้าทีมไม่ชัดเจนในเป้าหมาย ไม่เข้มแข็ง และไม่เพียรพยายามมากพอเราจะล้มเลิกได้



คุณครูปาด เล่าว่า เมื่อย้อนหลังกลับไปมองในวันนี้ เราพบว่านับจากภาคเรียนจิตตะ หรือครึ่งปีหลังของปีการศึกษา ๒๕๕๕ เป็นต้นมา ก็เริ่มพบว่าการทำวง Lesson Study ของเพลินพัฒนายังไม่เกิดเพราะมีระบบการปฏิบัติงานรองรับ แต่เกิดขึ้นได้เพราะผู้บริหารระดับกลางคือหัวหน้าช่วงชั้นเห็นด้วยกับวิธีการนี้ จึงได้ช่วยอำนวยความสะดวกด้วยการเปิดพื้นที่ / จัดเวลาให้ฝ่ายวิชาการลงไปทำงานกับครูในช่วงชั้น และรอดูผลลัพธ์ว่าแผนการเรียนรู้ในแต่ละชุดที่ฝ่ายวิชาการลงไปทำงานกับครูจะไปก่อให้เกิดการพัฒนาผู้เรียน พัฒนาครู และสื่อการเรียนรู้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้ทีมทั้งหมดจึงเดินทางเข้าสู่ช่วงวิกฤตโดยไม่รู้ตัว เป้าหมายที่ตั้งไว้จึงช้ากว่ากำหนด เมื่อทำการ AAR กับทีมก็พบว่า ทางช่วงชั้นต้องเปลี่ยนจากการเล่นบทบาทเป็นเจ้าของพื้นที่ มาเป็นการแกนนำในการติดตั้งระบบ Lesson Study เข้าไปที่ช่วงชั้น และกำกับดูแลให้การทำงานของคุณครูเป็นไปตามแผนที่วางไว้ เป็นไปตามเวลาที่สร้างขึ้น


สิ่งที่ต้องทำ

คือ การตรวจสอบและยืนยันเป้าหมาย ต้องให้ทีมรวมตัวให้เหนียวแน่นและชัดเจนในเป้าร่วมกัน ให้รู้ตัวว่าเรากำลังทำงานในภาวะวิกฤต และสร้างสรรค์วิธีทำงานแบบใหม่ที่ต่างจากเดิม ทีมแกนนำขับเคลื่อนช่วงชั้น ที่ประกอบไปด้วยหัวหน้าช่วงชั้น ผู้ช่วยหัวหน้าช่วงชั้น ต้องลงมือติดตาม ตรวจสอบ และนำผลการปฏิบัติมาสะท้อนกับวงที่มีฝ่ายวิชาการเข้าร่วมประชุมด้วยอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าจุดไหนมีปัญหา ก็ต้องช่วยกันหาทางแก้ไข โดยเรียนรู้จากวิธีการของกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ


ใจกลางของปัญหา

กลางปี ๕๗ เริ่มเห็นจุดวิกฤต และเริ่มพบว่าเราจะผ่านสภาพวิกฤติไปไม่ได้ ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการทำงาน และยังทำงานแบบเดิมกันอยู่ ดังนั้นจึงเริ่มหาอาสาสมัครมาช่วยเติมเต็มงานในส่วนที่คุณครูเอื้อมไปไม่ถึง เช่น การทำชุดความรู้ การทำคู่มือการบ้านโครงงาน เมื่อสาวปัญหาไปเรื่อยๆ ก็พบว่าต้องยกเครื่องระบบ QA ที่เป็นการประกันคุณภาพการศึกษาที่แท้จริง ซึ่งสัมพันธ์กับระบบหลักสูตรและการเรียนการสอน เริ่มตั้งแต่โครงหลักสูตรใหญ่ไปจนถึงแผนรายครั้ง และทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งหมด

การที่เราพบว่าการทำ Lesson Study เป็นงานยาก ก็เพราะ LS เป็นกระจกที่ทำให้เรารู้ว่าระบบ QA และการเรียนการสอนพื้นฐานของเรายังไม่ดีพอ วงจร OLE คือ Objective - Learning และ Evaluation ของเราจึงยังไม่สมบูรณ์ การบริหารคุณภาพการศึกษาอยู่ที่ระบบการเรียนการสอนและ QA ลองไปตรวจสอบดีๆ ว่าท่านกำลังเจอปัญหาวิกฤต QA หรือเปล่า


บางโรงเรียนอาจจะไม่เจอจุดวิกฤตแบบเพลินก็ได้ให้โรงเรียนลองเช็คดูว่าเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าทำงานยาก ถอยหลัง คุมยาก ให้รู้ว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤตนี้ และเราต้องกอดคอกันให้ทะลุออกไปให้ได้ คิดว่าช่วง B – C นี้เป็นเหตุที่ทำให้แต่ละโรงเรียนไม่พ้นวงจรของความเสื่อม แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเราก็ได้หลุดพ้นไปแล้ว เราต้องมีความเพียร


โรงเรียนปัญญาประทีป

คุณครูออน ได้ดูแล LS มาปีครึ่ง ที่ครูปาดพูดมาคิดว่าเราพบจุดวิกฤตนี้ พอมาฟังแล้วปัญหาต่างกันแต่มุมมองเดียวกัน ที่โรงเรียนมีปัญหา เพราะคนที่เป็นคนดูแลคือตัวครูออนซ์เองอาจมีความรู้ไม่มากพอ มีความรู้แค่ทฤษฎี ไม่เคยเปิดห้องเรียน ไม่มีหลักการอะไรที่ชัดเจน กรณีที่ครูเปา ซึ่งเป็นผู้บริหารเข้าไปร่วมกับกลุ่มวิทย์ คณิต ค่อนข้างสมบูรณ์กว่า

ในช่วงแรกของการทำ LS กลุ่มครูที่มาทำเป็นครูที่สมัครใจมาร่วมกิจกรรม ครูก็อยากทำ เราก็อยากทำ ครูมีพลัง งานออกมาจึงราบรื่น เราเห็นรูปธรรมของชั้นเรียนว่าเป็นอย่างไร เด็กมีความสุขอย่างไร

พอมั่นใจวิธีการมากขึ้น มีนโยบายให้ครูทุกคนทำ ครูมี ๒๐ คน ครูออนจึงต้องเข้าสังเกตชั้นเรียนมากขึ้น เริ่มมีงานหนักขึ้น พบปัญหาการจัดการเวลาของฝ่ายบริหาร ที่โรงเรียนมีทั้งคนที่พร้อมและไม่พร้อม คนพร้อมทำ ก็ทำได้มีและมีฉันทะ คนไม่พร้อมก็ไม่มีฉันทะ เทอมที่ผ่านมาภาพการทำ LS ไม่ค่อยดีเท่าไร เมื่อเห็นหน้าครูออนก็คือมาขอเวลา มาประชุม เราอาจให้ข้อมูลครูไม่เพียงพอ ครูจึงไม่ตระหนักและไม่ยอมรับ หรือมาเข้าร่วมแบบไม่ตั้งใจ

ปัญหาที่ต้องแก้คือการเปลี่ยนทัศนคติของครูในการทำ LS และการสร้างฉันทะเมื่อเทอมที่แล้วต้นเทอมเห็นครูสะท้อนว่าครูมีความสุขรู้สึกดี แต่พอปลายเทอมครูกลับสะท้อนว่าไม่ได้อะไร


คุณครูเปา เรากำลังเจอวิกฤตแต่ไม่น่าจะเป็นวิกฤตลูกใหญ่ อาจเป็นวิกฤตช่วงต้นๆ ที่เราอาจไม่ได้จัดเตรียมเรื่องเวลาไว้ดีพอ ระบบส่วนอื่นๆ ยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไร จึงยังไม่อยากผลัก LS มาก พยายามทำความเข้าใจกับครูใครพร้อมทำก่อน ใครยังไม่พร้อมก็รอไว้ก่อน เราต้องกลับไปปรับโครงสร้างอื่นๆ ให้พร้อม LS ทำให้เราเห็นปัญหาในโครงสร้างอื่นๆ ชัดมากขึ้น


โรงเรียนทอสี

คุณครูปิยะ ครูที่ทำ LS มีหน้างานหลายงาน วิชาที่ทำคือภาษาไทย กับคณิตศาสตร์ และตารางสอนจะอยู่ช่วงเช้า พบปัญหาเรื่องของการจัดการเวลาและทัศนคติของครู

  • เวลา เพราะเวลาสอนตรงกันแต่พอจะหาเวลาที่คุยแผนได้ แต่ตอนสอนสอนพร้อมกัน แต่ไม่สามารถเข้าห้องสังเกตกันได้ จึงขาดกระจกที่จะสะท้อนกัน ในช่วงของการ post ก็เป็นการสะท้อนฝ่ายเดียวจากครูผู้สอน
  • ทัศนคติของครูไม่ได้แรงมากในการต่อต้าน มีปัญหาเรื่องเวลาเป็นหลัก ที่ภาระงานหลักก็มาก แต่เราเลือกที่จะทำแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป ไม่ทำให้ครูรู้สึกต่อต้านมากเกินไป

เท่าที่ได้สอบถามครูบอกว่าได้รับประโยชน์ เพราะการคิดแผนไม่ได้คิดคนเดียว การช่วยกันคิดทำให้ได้แผนที่ชัดเจนและร้อยเรียง แผนทำได้ร้อยเรียง ตัวผู้เรียนได้รับความรู้ มีคลังคำศัพท์มากขึ้น มีความสนใจมากขึ้น มีทักษะในการตั้งคำถามมากขึ้น

เมื่อโรงเรียนเปลี่ยนโครงสร้าง วางแผนจับคู่เป็นช่วงชั้น ๑ ๒ หัวหน้าสาระจะเข้าร่วมทำ LS ด้วย แต่ตารางสอนก็จัดได้แบบเดิม จึงเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสาระที่จะเข้าสังเกตการสอน และกลับมาพูดคุยกับครูที่ทำการสอน


คุณครูปาด งานงอกหรือไม่งอกมีสองส่วน ฝ่ายจัดตารางต้องจัดให้ราบรื่นและทำให้เป็นงานปกติ คำถามคือ ครูรู้หรือไม่ว่าหน้าที่ครูคือต้องเตรียมแผนการสอน บันทึกหลังการสอน หน้าที่ของ LS คือการรับใช้เป้าหมายที่เป็นหน้างานหลักของการทำหน้าที่ครู เป็นเป้าหมายที่มุ่งไปที่เด็ก ที่แผน และที่การพัฒนาตัวเองของครู และของทีม แต่ต้องให้เป้าหมายที่มุ่งไปที่การเรียนรู้ของเด็กเป็นเป้าหมายแรก

Lesson Study ที่ญี่ปุ่นจะต้องเป็น Open Approach ที่เด็กต้องสร้างความรู้เองจากความรู้เก่า และต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในมุมที่แตกต่างหลากหลาย เด็กต้องได้แรงบันดาลใจที่เป็นแรงขับ ความกล้า ความเป็นเจ้าของ ได้สมรรถนะต่างๆ ถ้าตั้งเป้าแบบนี้ LS จะไปได้ทันที เพราะครูคนเดียวทำไม่ได้ ครูจึงต้องมีทีมและต้องพากันไปสู่เป้าหมายทั้งทีม

เมื่อทำไปเรื่อยๆ วันหนึ่ง LS จะพาเราไปถึงจุดที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของเรา และจุดนั้นจะเป็นจุดวิกฤติที่เราผ่านไปได้ยากที่สุด เป็นจุดที่ถ้าทีมไม่ชัดเจนในเป้าหมาย ไม่เข้มแข็ง และไม่เพียรพยายามมากพอเราจะล้มเลิกได้

ในที่สุดแล้วต้องไม่เป็นงานงอก และต้องฟังก์ชัน คือต้องเกิดประโยชน์จริงกับทุกคน กรณีของครูออน อาจเป็นเพราะยังไม่ฟังก์ชัน ต้องสร้างแรงขับต้องสร้างขึ้นจากทีม ทีมต้องรู้เป้าหมายร่วมกัน และรู้ว่าตัวเองคนเดียวไปไม่ได้


หมายเลขบันทึก: 592470เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2015 18:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2015 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท